อ่านแล้วเล่า

ราชมรรคา

เรื่อง ราชมรรคา
ผู้แต่ง อ็องเดร มาลโรซ์
ผู้แปล วัลยา วิวัฒน์ศร
สำนักพิมพ์ มติชน
เลขมาตรฐานหนังสือ 9789740212355

เราได้ยินที่มาที่ไปของหนังสือเล่มนี้มาก่อนแล้ว
จากหนังสือเล่มที่อ่านไปก่อนหน้ามันไม่นาน
ตามกลิ่นนางอัปสรา ตามหานครวัด นครธม
ที่มากกว่าเรื่องราวของหนังสือ คือประวัติส่วนตัวของผู้เขียน
ที่เคยลักลอบตัดภาพสลักศิลาจากปราสาทบันทายศรี
เพื่อจะนำไปขาย แต่ถูกจับได้เสียก่อน
แม้ว่าภายในเล่ม จะมีประวัติของเขาต่อจากช่วงนั้นอย่างละเอียด
แต่เราก็ติดภาพลบให้ตัวเขาไปก่อนแล้ว
เราจึงขอออกตัวไว้ก่อนเลยว่า
เราอ่านหนังสือเล่มนี้ด้วยอคติส่วนตัว
และรีวิวมันอย่างไม่เป็นกลางเท่าที่ควรค่ะ

ราชมรรคา (อ่านว่า ราด – ชะ – มัน – คา) เป็นนิยายที่ถูกเขียนขึ้นจากประสบการณ์
ในการลักลอบนำภาพสลักออกจากกัมพูชาของผู้เขียน
ผนวกกับจากหนังสือชีวิประวัติของนักสำรวจชาวฝรั่งเศสคนอื่นๆ
ผสมกับจินตนาการของผู้เขียนเอง
มีตัวละครหลักเพียงสองตัว คือโกล๊ด วานเนค กับเพร์เค่น
ซึ่งได้รู้จักกันบนเรือเดินสมุทร และตัดสินใจร่วมหัวจมท้าย
ออกล่าโบราณวัตถุไปตามเส้นทางสาย ราชมรรคา นี้ด้วยกัน

โดย ราชมรรคา นั้นหมายถึง เส้นทางโบราณ
เริ่มต้นจากปราสาทนครวัด กัมพูชา
เดินทางผ่านเทือกเขาพนมดงรัก ไปยังเมืองโบราณที่ชื่อพิมายปุระ
ซึ่งก็คืออำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา ของเรานั่นเอง

ในช่วงต้น ผู้เขียนเน้นไปที่ความยากลำบาก
ในการติดต่อหน่วยงานต่างๆ ของฝรั่งเศสซึ่งตั้งอยู่ในกัมพูชา
เพื่อขอเดินทางเข้าไปในป่าพงอันอุดมไปด้วยปราสาทที่ยังไม่ถูกสำรวจ

ระหว่างการเล่าเรื่อง ไม่ปรากฏคำบรรยายปราสาทอันสวยงาม
ไม่ได้บ่งบอกที่ตั้งปราสาทไปมากกว่าการบ่นถึงพื้นดินอันเฉอะแฉะ
หนทางเป็นป่ารกชัฏ และเต็มไปด้วยแมลง หอยทาก และสัตว์เล็กสัตว์น้อย
ตัวละครตั้งหน้าตั้งตาค้นหาภาพสลักอันสมบูรณ์
และมีขนาดพอเหมาะที่จะขุดตัดเจาะ และขนย้ายออกมาได้
(ด้วยคนงานพื้นเมืองที่จ้างมา)
พวกเขาเดินทางจากปราสาทหนึ่งไปยังอีกปราสาทหนึ่ง
โดยไม่ได้ตระหนักถึงคุณค่าใดไปมากกว่ามูลค่าของสิ่งที่กำลังค้นหา

เรื่องราวที่เล่าในหนังสือ
เป็นมุมมองจากชาวตะวันตกที่มองกลับมายังคนเอเชีย
ช่วยไม่ได้ที่เราเอาใจช่วยตัวประกอบเล็กๆ น้อยๆ 
อย่างชาวบ้านหรือคนท้องถิ่นที่โผล่มาตลอดทั้งเรื่องมากกว่า
เราไม่เคยทุกข์กับความยากลำบากใดของตัวละครหลักเลย

เราอิสระที่จะฝัน
หากบ่อยครั้ง ความฝันนั้นก็พันธนาการเราเสียเอง
โกล๊ดผูกติดตนเองอยู่กับความฝัน ..
ที่จะนำภาพจำหลักงามๆ สักภาพ ออกจากปราสาทขอม
เพื่อเงินที่ไม่ได้จำเป็นต่อชีวิตของเขาเลย?
หากมันจำเป็นมากต่อความใฝ่ฝันของเขา

จุดเด่นของเรื่องนี้น่าจะอยู่ที่บทสนทนาในเรื่องต่างๆ ของตัวละคร
อย่างเช่นเรื่องความจำเป็นของเงินตรา
เรื่องการใช้ชีวิต เรื่องคุณค่าของชีวิต
เรื่องของความตาย การฆ่าตัวตาย และการเฝ้าดูการตายของตัวเอง ฯลฯ

ทั้งหมดถูกแปลออกมาด้วยภาษาสละสวยไพเราะ
หากแต่เนื้อหาก็ยังไม่สามารถเข้าถึงจิตใจของเรา
เราไม่ค่อยคล้อยตามกับความคิดใดๆ ของตัวละครสักเท่าไร
เหมือนเรากับตัวละครคิดกันคนละประเด็น

แล้วเรื่องราวของการลักลอบขโมยภาพจำหลัก
ก็กลายเป็นการรบกันระหว่างทหารกับชนเผ่าไปอย่างงงๆ
ความฝัน ความหวัง ที่เป็นแรงขับให้ตัวละครทำบ้าทุกอย่างมาตั้งแต่ต้น
จู่ๆ ก็อันตรธานหายไป
เราตีไม่ตก ขบไม่แตก ว่าผู้เขียนต้องการจะนำเสนอประเด็นอะไรกันแน่
จวบจนกระทั่งมาได้อ่านภาคผนวกท้ายเล่ม ..

ถ้าเราไม่อ่านภาคผนวกท้ายเล่ม
เราก็คงไม่เข้าใจว่าสิ่งที่เพร์เค่นทำคืออะไร
ผู้เขียนไม่ได้ให้รายละเอียดพอที่เราจะเข้าใจเรื่องได้ทั้งหมด
เว้นแต่เราจะมีพื้นฐานความรู้เกี่ยวกับสภาพสังคมและการปกครองภายในกัมพูชา
เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกัมพูชา (หรือไทย?) กับคนกลุ่มน้อย
รวมทั้งอำนาจของฝรั่งเศสในขณะนั้น (น่าจะในสมัยรัชกาลที่ 5) ฯลฯ
นอกจากนี้ ควรรู้ชีวประวัติของบางนักสำรวจฝรั่งเศสที่ผู้เขียนเอ่ยถึงด้วย
เราจึงจะเข้าใจแรงขับและที่มาที่ไปของความคิดฝันของตัวละคร
(ซึ่งเราก็มาเก็ตตอนอ่านภาคผนวกนี่แหละ)

ทั้งหมดทั้งมวลนี้ เราให้ดาวใน goodreads สำหรับหนังสือเล่มนี้ไป 3 ดาวค่ะ
หนึ่งดาวให้ผู้เขียน สองดาวให้กับสำนวนดีงามของผู้แปล
ให้กับการค้นคว้าหาข้อมูลมาอธิบายเพิ่มเติมที่ครบถ้วน ยอดเยี่ยม
และการตีความอันสุดจะเปิดโลกให้กับผู้อ่าน

ทั้งนี้ สติปัญญาผู้อ่านก็มีส่วนในการตัดสินหนังสือเช่นกัน
บางที เราอาจจะเป็นไก่ที่ไม่รู้คุณค่าของพลอยก็เป็นได้!

 

Comments are closed.