อ่านแล้วเล่า

รากนครา

119-1-%e0%b8%a3%e0%b8%b2%e0%b8%81%e0%b8%99%e0%b8%84%e0%b8%a3%e0%b8%b2

เรื่อง รากนครา
ผู้แต่ง ปิยะพร ศักดิ์เกษม
สำนักพิมพ์ อรุณ
ราคา 425 บาท

สารภาพว่า .. แม้จะได้ยินชื่อคุณปิยะพร ศักดิ์เกษม มานานแล้ว
แต่หนังสือเล่มนี้ คือผลงานเล่มแรกของผู้เขียนที่เราหยิบมาอ่านค่ะ
รากนครา เป็นนวนิยายที่โด่งดังมาก มาตั้งแต่เป็นละครเวอร์ชั่นแรก
แต่ความอยากอ่านไม่เคยเกิดขึ้นเลย ..
จวบจนกระทั่งได้เห็นรูปฟิตติ้งละครเวอร์ชั่นล่าสุด
มันดีงามมากจริงๆ ค่ะ ดีงามจนทำให้เราอยากที่จะรู้ว่า
หนังสือเล่มนี้มีเรื่องราวแบบไหนซ่อนอยู่
เรื่องราว .. ที่เป็นแรงบันดาลใจให้ทีมงานตั้งใจทำมากขนาดนี้

119-4-%e0%b8%a3%e0%b8%b2%e0%b8%81%e0%b8%99%e0%b8%84%e0%b8%a3%e0%b8%b2

พอเปิดบทแรกออกอ่าน .. มันเริ่มต้นด้วยความประทับใจค่ะ
ภาษาสวยมาก .. เป็นภาษาที่ให้ภาพ ให้ความรู้สึก
ผู้เขียนเปิดเรื่องได้น่าสนใจ และน่าติดตาม
บทนำบอกกับเราว่า เรื่องราวเรื่องนี้ .. ส่วนหนึ่งถูกขับเคลื่อนด้วยความแค้น

รากนครา เป็นนิยายพีเรียด ตรงกับยุคสมัยพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ของไทย
ไทม์ไลน์ตีคู่ไปกับประวัติศาสตร์ไทย โดยเฉพาะประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่
เรื่องราวเริ่มต้นขึ้นในปี พ.ศ.2427 ในยุคแห่งการล่าอาณานิคม
ณ ประเทศสมมติกลุ่มหนึ่ง ที่มีชัยภูมิตั้งอยู่ไม่ไกลจากม่าน (พม่า) และสยาม
เมืองสมมติเหล่านี้ เป็นเมืองเล็กเมืองน้อย
ซึ่งเดาว่าเป็นรัฐอิสระน้อยใหญ่ในพม่าปัจจุบัน
เมืองสมมติที่มีความสำคัญในเรื่อง มีอยู่ด้วยกันสามเมือง
คือเมืองของพระเอก (ไม่ปรากฏชื่อเมืองมั๊งนะ)
เมืองเชียงเงิน อันเป็นบ้านพี่เมืองน้องกับเมืองของพระเอก
แต่ตั้งอยู่ไกลจากเมืองอื่นๆ ในละแวกเดียวกัน
และเมืองมัณฑ์ เมืองขนาดใหญ่ที่มีอำนาจและความมั่นคงพอสมควร

แม้ว่าในรากนคราจะมีเมืองม่าน คือเมืองพม่า
เป็นองค์ประกอบอยู่ในภูมิประเทศแถบนี้แล้ว
แต่ผู้เขียนแทบไม่ได้เอ่ยถึงเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในเมืองม่านเลย
กลับจำลองเหตุการณ์เหล่านั้นมาเล่าซ้ำ
ในเมืองสมมติที่ชื่อว่า ‘เมืองมัณฑ์’ มากกว่า
แต่แท้จริงแล้ว กษัตริย์เมืองมัณฑ์ก็เทียบได้กับพระเจ้าสีป่อของพม่านี่แหละ
และเจ้านางหลวงปัทมสุดา พระมเหสี ก็คือพระนางศุภยาลัตแท้ๆ ทีเดียว

119-3-%e0%b8%a3%e0%b8%b2%e0%b8%81%e0%b8%99%e0%b8%84%e0%b8%a3%e0%b8%b2

ณ เมืองของเจ้าน้อย ศุขวงศ์นั้น มีเจ้าครองเมืองคือเจ้าหลวงศรีวงศ์
เจ้าหลวงศรีวงศ์ เป็นเจ้าอาของเจ้าน้อย (ศุขวงศ์)
แต่เดิม เมืองนี้ถูกปกครองด้วยเจ้าปู่ของเจ้าน้อยกับเจ้าย่าเรือนคำ
โดยมีเจ้าศุษิระ เจ้าพ่อของเขาเป็นอุปราช
แต่เมื่อพ่อของเขาสิ้นลง
เจ้าอาศรีวงศ์จึงรับตำแหน่งนั้นแทน และได้ขึ้นเป็นเจ้าหลวงในที่สุด
เขาถูกส่งไปยังสยามตั้งแต่เล็ก ไปเรียนหนังสือที่สิงค์โปร์อยู่หลายปี
ก่อนจะกลับมาอย่างคนสมัยใหม่ มีความเป็นฝรั่งเต็มตัว
จนญาติพี่น้องคลางแคลงใจ
เจ้าน้อยเต็มใจที่จะอยู่ในตำแหน่งไม่สำคัญที่สุด .. เจ้าราชภาติยะ
เพื่อมีอิสระอย่างเต็มที่ที่จะทำเพื่อบ้านเมืองในแบบของเขา
แบบของคนที่มีสายตากว้างไกล ได้เห็นโลกมามาก

119-5-%e0%b8%a3%e0%b8%b2%e0%b8%81%e0%b8%99%e0%b8%84%e0%b8%a3%e0%b8%b2

 

ส่วนเมืองเชียงเงิน เป็นเมืองที่อยู่ห่างไกลจากสยามและเมืองของเจ้าน้อยที่สุด
ใกล้ชิดติดเขตแดนเมืองมัณฑ์
แม้ว่าเชียงเงินจะขึ้นตรงต่อสยาม
แต่เจ้าหลวงแสนอินทะ ญาติห่างๆ ของเจ้าน้อย
กลับมีความต้องการที่จะเป็นอิสระไม่ขึ้นต่อเมืองใดๆ
เจ้าเมืองจำเป็นต้องคานอำนาจให้สมดุล ระหว่างทั้งสยามและเมืองมัณฑ์
เพื่อดำรงตนอยู่อย่างเป็นไทที่สุด

119-7-%e0%b8%a3%e0%b8%b2%e0%b8%81%e0%b8%99%e0%b8%84%e0%b8%a3%e0%b8%b2

เจ้าแสนอินทะ เจ้าหลวงแห่งเชียงเงินนี้ มีลูกชายและลูกสาวทั้งสิ้นสามคน
โดยแรกเริ่มนั้นนั้น ทรงมีหน่อเมือง และแม้นเมือง ที่เกิดกับเจ้านางหลวงกาบแก้ว
เมื่อสิ้นเจ้านางหลวงกาบแก้ว
เจ้านางข่ายคำ น้องสาวของเจ้านางกาบแก้วจึงขึ้นเป็นเจ้านางหลวงแทน
เจ้าแสนอินทะมีลูกสาวที่เกิดกับเจ้านางข่ายคำหนึ่งคน คือมิ่งหล้า

ถ้าตัดความเป็นเจ้าหญิงเชียงเงินออกไป
แม้นเมืองก็เป็นเพียงเด็กสาวกำพร้าแม่ที่โดดเดี่ยว
เมื่อสิ้นแม่ แม้นเมืองนั้นจึงถูกลดความสำคัญลงไปมาก
กลายเป็นเพียงเด็กหญิงกำพร้าที่ถูกลดค่าให้ต่ำลงกว่ามิ่งหล้า น้องสาว
ในขณะที่ความเป็นชาย ทำให้หน่อเมืองยังคงความสำคัญแทบไม่ต่างจากเดิม

หน่อเมืองและแม้นเมืองนั้นเติบโตมากับเจ้าอุปราชสิงห์คำผู้เป็นอา
จนเมื่อพ้นวัยเด็ก เจ้าสิงห์คำจึงส่งแม้นเมืองกลับคืนหอหลวงตามราชประเพณี
แต่เพียงเวลาไม่กี่ปีนั้น สิงห์คำก็ได้ปลูกฝังความรักชาติบ้านเมือง
และความรักอิสระลงในหัวใจเด็กทั้งสองอย่างเต็มเปี่ยม

119-6-%e0%b8%a3%e0%b8%b2%e0%b8%81%e0%b8%99%e0%b8%84%e0%b8%a3%e0%b8%b2

เมื่อเจ้าหน่อเมืองขึ้นเป็นอุปราชแห่งเชียงเงิน
เจ้าหน่อเมืองจะต้องไปแสดงตนรับตำแหน่งที่เชียงใหม่
จากผู้แทนพระองค์ของกษัตริย์สยาม ซึ่งบัดนี้ขึ้นมาประจำอยู่ที่เชียงใหม่
ขณะเดียวกัน เมืองมัณฑ์ก็เรียกร้องบรรณาการเพิ่มขึ้น
เพื่อให้มีศักดิ์และสิทธิ์ไม่ด้อยไปกว่าสยาม

อ่านแล้วดูเหมือนกับว่า เชียงเงินกลายเป็นเมืองขึ้นของทั้งสองเมือง
สับสนมาก ตกลงอยากเป็นไท หรืออยากมีเจ้านายสองเมืองกันแน่?
มีอะไรแบบนี้ด้วยหรือ .. เมืองอะไร เป็นเมืองขึ้นของเมืองใหญ่ตั้งสองเมือง?

บรรณาการสำคัญ ที่ถูกเรียกร้องให้ส่งไปยังเมืองมัณฑ์ คือมิ่งหล้า ..
หญิงสาวผู้ที่มีค่าสูงที่สุดในเชียงเงิน
จะถูกส่งไปเพื่อถวายตัวแด่กษัตริย์เมืองมัณฑ์!

เป็นเพราะเมืองเชียงเงินนั้นอยู่ห่างไกลจากความวุ่นวาย
ห่างไกลจากการรุกรานที่เริ่มมีให้เห็นในเมืองม่าน เชียงใหม่ และสยาม
ความรักความสงบ และปรารถนาจะเป็นอิสระอย่างแรงกล้า
โดยมิได้โอนอ่อนผ่อนตามแรงลมตะวันตก
จึงทำให้บางการตัดสินใจทำให้เรื่องราวนี้กลายเป็นโศกนาฏกรรม

119-2-%e0%b8%a3%e0%b8%b2%e0%b8%81%e0%b8%99%e0%b8%84%e0%b8%a3%e0%b8%b2

แม้ว่า รากนครา จะเป็นพีเรียดอิงประวัติศาสตร์ แต่ก็อ่านเพลินๆ สบายๆ
เล่าเรื่องไปอย่าซื่อตรงเป็นลำดับ
ไม่ได้มากชั้นเชิงอย่างงานของทมยันตี
ราชาศัพท์ก็ไม่เยอะด้วย ใช้ภาษาสามัญชนในการอธิบาย
แต่บางทีเราก็ไม่ชิน สงสัยคงอ่านงานของทมยันตีมาจนเคยตัว
ของง่ายไม่ชอบ ชอบยากๆ (ฮา)
สำนวนบางส่วนดีงามมาก แต่บางส่วนก็แปลกๆ ขัดๆ
มีสำนวนของภาษาปัจจุบันปะปนอยู่กับภาษาโบราณ ไม่กลมกลืน
และแม้ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะเป็นเรื่องราวแบบเจ้าชายเจ้าหญิง
แต่ผู้เขียนก็ไม่ค่อยใช้คำราชาศัพท์
อาจเป็นเพราะเราไม่ชินเองก็ได้
พออ่านนิยายเจ้าแล้วก็นึกถึงราชาศัพท์จ๋าแบบทมยันตีร่ำไป

พล็อตมีความเป็นนิยายสูง
เจ้าหน่อเมืองสุดไปทางหนึ่ง เจ้าน้อยศุขวงศ์สุดไปอีกทางหนึ่ง
(แม้ผู้เขียนจะพยายามบรรยายให้เป็นกลาง)
นางเอก .. เจ้าแม้นเมืองแก่นแก้วดื้อดึง ไม่เกรงใคร
ฉากรักแรกพบก็ดูนิยายมาก
หลายครั้งที่อ่านแต่เกริ่นนำ ก็พอจะเดาได้ว่าผู้เขียนจะนำพาเรื่องราวไปทางใดต่อ

ขัดใจนิดหน่อยตรงที่พระเอกที่ถูกวางตัวมาว่าฉลาด รอบคอบ
มีความคิดก้าวหน้า มองการณ์ไกล
แต่กลับไม่ได้ใช้ความฉลาดในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า
หรือใช้ความฉลาดมาทำให้ตนได้ในสิ่งที่ต้องการเลย
การตัดสินใจโดยตลอดเรื่องของเจ้าศุขวงศ์
ทำลายภาพพจน์อันดีงามที่เกิดขึ้นในตอนแรกไปทีละน้อยจนหมดสิ้น
พระเอกเรื่องนี้ไม่ฉลาด
และมันเป็นเหตุผลข้อใหญ่ที่ทำให้เราอ่านเรื่องนี้ไม่สนุก

ส่วนอีกความเซ็งคือ พล็อตแบบนางเอกแสนดี
แม้นเมืองกับมิ่งหล้า เป็นสองพี่น้องต่างแม่
คนหนึ่งยึดมั่นถือมั่น หยิ่งทนงในศักดิ์และศรีของชาติบ้างเมือง
อีกคนเป็นเด็กเอาแต่ใจนิสัยเสีย สายแบ๊วแอบร้าย
ตื้นเขินอ่านง่ายและคิดอะไรไม่พ้นตัว
แม้นเมืองคือผู้ยอมน้องไปเสียหมดทุกอย่างไม่มีข้อแม้
บางทีมันก็รำคาญเหมือนกันนะ อ่านแล้วก็เหนื่อยๆ ไม่มีอะไรให้ลุ้น
ชีเปย์ตลอด ยอมให้น้องเอาเปรียบตลอด น้องบอกอะไรก็เชื่อ
แค่มุกตื้นๆ ของมิ่งหล้า
ก็สามารถปั่นหัวแม้นเมืองและศุขวงศ์ให้ผิดใจกันไปได้กว่าค่อนเรื่อง

ถ้าตัดฉากพีเรียดและกรอบความคิดสู้เพื่อชาติออกไป
รากนคราก็คืออีกหนึ่งพล็อตที่พระเอกนางเอกเข้าใจผิดกันไปมา
ทั้งพระเอกและนางเอกพร้อมจะเข้าใจผิดกันอยู่ตลอดเวลา
เพียงแค่ไปได้เห็นได้ยินอะไรมา ก็พร้อมคิดลบ ทำร้ายใจตัวเองตลอด
กว่าจะรู้ตัว กว่าจะเข้าใจกันก็สายเสียแล้ว ทำนองนั้น
เซ็งวนไปค่ะ

รากนครา มีส่วนดีหลายอย่าง แต่ส่วนผสมของทุกอย่างยังไม่ลงตัวพอดี
เป็นนิยายที่มีสิ่งดีๆ รวมอยู่หลายประการ
แต่ก็ยังไม่ใช่นิยายที่สมบูรณ์ ขาดบางสิ่งบางอย่างอีกเพียงนิดเดียว
จุดพลิกผันของเรื่องในแต่ละเปลาะๆ อ่อนเกินไป
เหมือนผู้เขียนอยากดำเนินเรื่องให้เป็นไปตามเส้นทางนี้
ก็หาเหตุมาอ้าง อ่านแล้วก็ขัดใจไปตลอดเรื่อง
เราพอจะเข้าใจพล็อตและกลการวางหมากของผู้เขียนนะ
แต่การโน้มน้าวให้เราเชื่อไปตามเนื้อเรื่อง ยังทำได้ไม่ดีนัก

เหตุการณ์สำคัญในเรื่องหลายช่วงถูกเล่าข้ามไปอย่างน่าเสียดาย
มีแต่ผลสรุปถ่ายทอดผ่านตัวละครเมื่อเหตุการณ์ทั้งหมดผ่านไปแล้ว
(ตัวอย่างที่ยกมาสปอยล์นะจ๊ะ)
อย่างเช่นตอนที่บุกไปชิงตัวเจ้ามิ่งหล้า
หรือตอนที่ทางสยามส่งคนขึ้นไปควบรวมอำนาจที่เชียงเงิน
หรืออีกหลายต่อหลายตอนเต็มไปหมด ฯลฯ

มีเพียงตอนใกล้จบเท่านั้นที่เริ่มรู้สึกถึงความสนุกของหนังสือเล่มนี้อย่างจริงจัง
เนื้อเรื่องขมวดปมมีความซับซ้อน เดาได้บ้าง ไม่ได้บ้าง
มีความลึกซึ้ง กินใจ.. ต่อให้ไม่อินก็ต้องอิน (เอ๊ะ ยังไง) ;P

119-8-%e0%b8%a3%e0%b8%b2%e0%b8%81%e0%b8%99%e0%b8%84%e0%b8%a3%e0%b8%b2

จบรากนคราไปแบบกึ่มๆ ค่ะ
เกือบจะชอบอยู่แล้วเชียว!

Comments are closed.