อ่านแล้วเล่า

บ้านเล็กในป่าใหญ่

เรื่อง บ้านเล็กในป่าใหญ่
หนังสือชุดบ้านเล็ก เล่มที่ 1

ผู้แต่ง ลอร่า อิงกัลล์ส ไวล์เดอร์
ผู้แปล สุคนธรส
สำนักพิมพ์ แพรวเยาวชน
เลขมาตรฐานหนังสือ 9749804198

เราเลื่อนลำดับการอ่าน บ้านเล็กในป่าใหญ่ มาอ่านต่อจาก สาวน้อย อย่างตั้งใจ
เพราะเรารู้สึกว่ายุคสมัยของการเล่าเรื่อง สาวน้อย (สี่ดรุณี)
และหนังสือชุดบ้านเล็กฯ นั้นเกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาที่ใกล้เคียงกัน
และพอตรวจสอบดู ก็พบว่ามันเป็นอย่างนั้นจริงๆ เสียด้วย

สาวน้อย ถูกตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1868 และ 1869 (เนื้อเรื่องมีด้วยกัน 2 ภาค)
(ผู้เขียนมีชีวิตระหว่างปี ค.ศ. 1832-1888)
ส่วน บ้านเล็กในป่าใหญ่ เล่มนี้ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1932
(ผู้เขียนมีชีวิตระหว่างปี ค.ศ. 1867 – 1957)

แม้ว่าผู้เขียนทั้งสองคนจะเป็นอเมริกันชนเหมือนกัน และมีชีวิตอยู่ในช่วงใกล้ๆ กัน
แต่สภาพสังคมของทั้งสองเล่มนั้นแตกต่างกันไปคนละเรื่องทีเดียว
ฉากของสี่พี่น้องในสาวน้อยนั้น เกิดขึ้นในเมืองคอนคอร์ด รัฐแมสซาชูเซตต์
ซึ่งมีความเป็นเมืองมากกว่า มีสังคม มีชุมชน
และความเจริญรุ่งเรืองในความหมายของคนอเมริกัน
ในขณะที่ฉากของหนังสือ บ้านเล็กในป่าใหญ่ นั้น เกิดขึ้นในมลรัฐวิสคอนซิน ซึ่งยังคงความเป็นป่า
บ้านเล็กหลังที่ว่านี้ก็เป็นบ้านหลังเล็กๆ ที่สร้างด้วยไม้ซุงทั้งท่อน ตั้งอยู่กลางป่าใหญ่
ยังมีสัตว์ป่าอย่างหมาป่า หมี หรือกวางเข้ามาร่วมฉากได้เสมอ

ตอนที่อ่าน เราตื่นตาตื่นใจกับการล่าหมี หรือฆ่าหมู
ตลอดกระทั่งกรรมวิธีแปรรูปแบบฮาร์ดคอร์เพื่อเก็บไว้เป็นเสบียงในฤดูหนาว
แม้จะไม่มีฉากเลือดตกยางออก หรือการบรรยายที่น่าตื่นเต้น
แต่จินตนาการของเราเองก็ทำงานเต็มที่

ถึงจะอย่างนั้น แต่มันก็จะอินยากหน่อย
ในยุคสมัยและสภาพสังคมที่เราสามารถออกไปเซเว่นกลางดึก ตอนที่ท้องร้องไม่ถูกเวลา
เราถูกหัดให้เคยตัว จนไม่คิดจะกักตุนอะไรอีกแล้วนอกจากเงิน
ทุกสิ่งที่อย่างที่ต้องการ เราหาซื้อได้ด้วยเงินเกือบทั้งหมด

เราลองเสิร์ชหาคำวิจารณ์ของหนังสือเล่มนี้
หลายเจ้ามักจะพูดไปในทำนองว่าชีวิตในยุคนั้นลำบาก
แต่มองกันจริงๆ เราว่าลอร่ากับพี่สาวมีชีวิตที่มีความสุขมาก
แม้จะต้องลงมือทำอะไรๆ เองไปหมดทุกอย่าง
แต่ก็เป็นชีวิตที่อบอุ่น มีความสุขกว่าคนยุคเรา
ความลำบากของแต่ละยุคมันไม่เหมือนกัน
มนุษย์เรายังคงเสาะหาความลำบากใส่ตัวเสมอ
แม้จะอ้างว่าเพื่อความสะดวกสบายก็เหอะ!

วิถีชีวิตของครอบครัวลอร่านั้น
มีแผนชีวิตเพียงแต่จะเกี่ยวกับข้าวปลาอาหาร และวิธีทำให้อิ่มท้องเพียงเท่านั้น
อาหารทุกชนิดต้องทำกันเอง
ตั้งแต่ฆ่าหมู ชำแหละ ทำความสะอาด รมควัน หรืออื่นๆ เพื่อให้เก็บได้นานที่สุด
เนื้อกวางก็กิน เนื้อหมีก็กิน
กับเนื้อกวางหรือเนื้อหมีก็ต้องแปรรูปเป็นเสบียงสำหรับฤดูหนาวเหมือนๆ กับเนื้อหมูด้วย
ขนมปังทำเอง อันนี้ธรรมดา เนยก็ทำเอง เนยแข็งก็ทำกันเอง
แม้แต่ลูกปืนตะกั่วที่จะใช้ล่าสัตว์ก็ต้องหลอมเอง
ปลูกข้าวสาลี เกี่ยวข้าว สีข้าว (เริ่มมีเครื่องจักรเข้ามา)
นอกจากเรื่องปากท้อง ..
พวกเขาก็มีชีวิตก็เรียบง่าย แทบจะไม่ต้องสะสมหรือแสวงหาใดๆ

สำหรับ บ้านเล็กในป่าใหญ่ ซึ่งเป็นเล่มแรกของหนังสือชุดนี้ (ซึ่งมีทั้งหมด 12 เล่ม) นั้น
ลอร่าผู้เล่าเรื่อง เพิ่งจะมีอายุเพียง 5 ขวบ ย่าง 6 ขวบ
เธออยู่ในบ้านหลังเล็กๆ ที่ประกอบไปด้วยพ่อ แม่ พี่สาวคือแมรี่ และน้องสาวคือแครี่เท่านั้น
ในละแวกเดียวกันที่ไม่ใกล้ไม่ไกลกันนั้น
ยังประกอบไปด้วยครอบครัวญาติๆ ของเธออีก 2 – 3 ครอบครัว
คือปู่ย่า มีอาและน้าสาวอาศัยอยู่รวมในบ้านของปู่ย่าด้วย และครอบครัวของลุงกับป้า
นอกจากนี้แล้ว การเดินทางเข้าเมืองซึ่งอยู่ห่างไกล จะต้องใช้เวลาไปกลับเป็นวันเลยทีเดียว

สำหรับเล่มแรกเล่มนี้ ผู้เขียนบอกเล่าวิถีชีวิตในแต่ละฤดูกาล
เล่ากิจวัตรของพ่อและแม่ และเด็กๆ อย่างพวกเธอ
การอ่านบ้านเล็กฯ นั้น ทำให้เราได้รู้ว่า
ฝรั่งสมัยก่อนก็ตีลูกกันเหมือนกันแฮะ

เราว่าบ้านเล็กฯ มันให้อารมณ์คล้ายๆ กับการอ่าน เมื่อคุณตาคุณยายยังเด็ก
แต่เล่มนี้เป็นเวอร์ชันวัฒนธรรมอเมริกา
ซึ่งก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ เสียด้วย เพราะเมื่อแรกเขียน ลอร่า (ผู้เขียน) –
ได้ตั้งชื่อหนังสือเล่มนี้ว่า “เมื่อคุณย่ายังเด็ก (When Grandma was a Little Girl)
(อ้างอิงจากเว็บ เรือนไทย ของคุณเทาชมพู หรืออาจารย์วินิตาค่ะ)

สิ่งที่เราไม่ค่อยชอบเลยก็คือ สำนวนแปลเก่าแก่ดั้งเดิมมาก (อันนี้แย่ไม่มาก)
วิธีเล่าก็ดูเรื่อยๆไปโทนเดียวนะ (อันนี้แย่มากหน่อย)
ความตื่นเต้นและความน่าทึ่งไปตกอยู่ที่วิถีชีวิตของคนยุคก่อน
ที่ไม่ธรรมดาเลยสำหรับคนยุคนี้
ผู้เขียนเน้นการบรรยายเหตุการณ์ ไม่เน้นการบรรยายอารมณ์ความรู้สึก
ปล่อยพื้นที่ให้ผู้อ่านจินตนาการเอง
ซึ่งถ้าอ่านหนังสือยุคนี้จนเคยตัว เราก็ว่าเล่มนี้มันออกจะจืดชืดไปหน่อย

Comments are closed.