อ่านแล้วเล่า

ถ้าแม่ฟังอยู่ โปรดรู้ว่าหนูคิดถึง

เรื่อง ถ้าแม่ฟังอยู่ โปรดรู้ว่าหนูคิดถึง
ผู้แต่ง วีรา หิรานันดานิ
ผู้แปล แพน พงศ์พนรัตน์
สำนักพิมพ์ แพรวเยาวชน
เลขมาตรฐานหนังสือ 9786161831820

เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ.1947
ประเทศอินเดียได้รับเอกราชจากประเทศอังกฤษ
หลังจากถูกปกครองมายาวนานเกือบ 200 ปี
แต่การประกาศเอกราชในครั้งนั้น ทำให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงทางศาสนา
และตามมาด้วยสงครามการแบ่งแยกดินแดน
ระหว่างอินเดีย และปากีสถาน ในเวลาหลังจากนั้นไม่นาน

ตอนที่เหตุการณ์นี้เกิดขึ้น เด็กหญิงณิชามีอายุ 12 ปี
เธอและครอบครัวจะต้องอพยพไปยังพื้นที่ที่เรียกว่าอินเดียใหม่
ในความขัดแย้งเช่นนี้ เธอมีความสับสน ไม่เข้าใจ
และเต็มไปด้วยคำถามที่ไม่กล้าถาม
เธอจึงเลือกเขียนมันลงในสมุดบันทึกถึงแม่
ซึ่งก็คือหนังสือเล่มนี้

ด้วยความสมจริงในตอนแรก เราเผลอเข้าใจไปว่า หนังสือเล่มนี้คือเรื่องจริง
แต่แท้ที่จริงแล้ว ผู้เขียนเขียนมันขึ้นมา
จากบางส่วนของประสบการณ์ของญาติผู้ใหญ่ในครอบครัวของเธอ

เด็กหญิงณิชาและครอบครัวของเธอ เป็นเพียงตัวละครสมมติ
หากประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นในฉากหลังของเรื่อง เป็นเรื่องจริง

ก่อนเกิดการเปลี่ยนแปลง
ณิชา อาศัยอยู่ในครอบครัวที่ประกอบไปด้วยพ่อ ย่า
น้องชายฝาแฝดที่ชื่ออมิล ตัวเธอ และพ่อบ้านที่ชื่อว่าคาซิ
แม่ของเธอเสียไปตั้งแต่ตอนที่เธอและอมิลเกิด
บ้านของเธอตั้งอยู่ในเมืองที่ชือว่ามีร์ปุรคัส
ซึ่งกำลังจะกลายเป็นประเทศปากีสถาน
ภายหลังจากที่ได้รับอิสรภาพคืนจากประเทศอังกฤษ

ก่อนที่อินเดียจะได้รับอิสรภาพคืนจากประเทศอังกฤษไม่นาน
ความขัดแย้งระหว่างคนต่างศาสนา อันได้แก่ฮินดู ซิกข์ และมุสลิม
เริ่มปรากฏให้เห็นในหน้าหนังสือพิมพ์
เรื่องราวความขัดแย้งครั้งนี้ ถูกถ่ายทอดอย่างคลุมเครือ
ผ่านสายตาของเด็กหญิงวัย 12 ขวบ
ซึ่งไม่มีใครอธิบายให้เด็กหญิงตัวเล็กๆ อย่างเธอได้เข้าใจ
ท่ามกลางความสับสนครั้งนี้ เธอจึงเลือกที่จะเล่าความรู้สึกของเธอ
รวมไปถึงถามคำถามที่ไม่มีคำตอบ ต่อสมุดบันทึก ที่เธอเขียนถึงแม่ผู้ล่วงลับ

เธอได้บันทึกความรู้สึกของเด็กหญิงคนหนึ่ง ที่ไม่เคยเข้าใจเลยว่า ..
ผู้คนที่เธอรู้จัก เป็นเพื่อนบ้าน เป็นเพื่อน เป็นครู ฯลฯ
ได้กลายมาเป็นคนที่ต้องถูกนิยาม แบ่งประเภท
กลายเป็นเพื่อนบ้านที่เป็นชาวซิกข์ เพื่อนที่เป็นมุสลิม หรือคุณครูที่เป็นชาวมุสลิม
น้องชายและตัวเธอเอง เริ่มถูกเด็กๆ ในวัยเดียวกันปาก้อนหินใส่ระหว่างทางกลับบ้าน

นอกจากเรื่องจะสื่อถึงความขัดแย้งระหว่างศาสนาภายในประเทศแล้ว
ผู้เขียนได้นำความแตกต่างนั้นมาไว้ในตัวของณิชาด้วย
แม้ว่าครอบครัวของเธอจะเป็นฮินดู เพราะพ่อและย่าของเธอเป็นฮินดู
แต่แท้ที่จริงแล้ว แม่ที่เสียไปแล้วของเธอ เป็นมุสลิม
แน่นอนว่าข้อมูลนี้ต้องถูกเก็บเป็นความลับสุดยอด
นอกจากนี้ พ่อครัวประจำบ้านก็เป็นมุสลิมด้วยเช่นกัน

ความแตกต่างภายในตัวตนของเธอ
ก็เป็นอีกหนึ่งอย่างที่ทำให้เธอไม่เคยเข้าใจเลยว่า
เหตุใดคนเราจึงอยู่ร่วมกันบนความแตกต่างนี้ไม่ได้

เหตุการณ์ได้ดำเนินไปจนถึงปลายสุดแห่งความขัดแย้ง
เกิดการทำร้ายและฆ่ากันและกัน
ชาวมุสลิมฆ่าชาวฮินดู ชาวอิสลามฆ่าชาวมุสลิม
และท้ายที่สุด ครอบครัวของชาวฮินดูจะต้องอพยพจากเมืองมีร์ปุรคัส
ซึ่งได้กลายเป็นประเทศปากีสถาน
ย้ายออกไปยังพื้นที่ที่เรียกว่าอินเดียใหม่
ครอบครัวของเธอจะต้องเดินทางไปยังโชธปุระ
ซึ่งญาติที่ล่วงหน้าไปก่อนได้จัดเตรียมที่อยู่เอาไว้ให้
การเดินทางเป็นไปด้วยความยากลำบาก และความขัดแย้งเกิดขึ้นทุกหนทุกแห่ง

ถ้าแม่ฟังอยู่ โปรดรู้ว่าหนูคิดถึง เป็นวรรณกรรมเยาวชนที่ทำให้เราแห้งผาก
ทุกข์ตรม ปีติ 
และโลดเต้นขึ้นมาได้ตามปลายปากกาของผู้เขียน
เป็นหนังสือที่ควรค่าแก่การอ่าน
เป็นหนังสือที่ทำให้เราแปรประวัติศาสตร์ให้กลายเป็นบทเรียน
และจึงตั้งสติบนความขัดแย้ง
เป็นหนังสือที่เหมาะกับช่วงเวลา และอยากแนะนำให้ได้ลองอ่านกันค่ะ

Comments are closed.