อ่านแล้วเล่า

ตามกลิ่นนางอัปสรา ตามหานครวัด นครธม

เรื่อง ตามกลิ่นนางอัปสรา ตามหานครวัด นครธม
ผู้แต่ง พิษณุ ศุภ.
สำนักพิมพ์ แพรวสำนักพิมพ์
เลขมาตรฐานหนังสือ 9747521571

ตามกลิ่นนางอัปสรา ตามหานครวัด นครธม เป็นหนังสือบันทึกประสบการณ์
การเดินทางไปเที่ยวชมปราสาทหินหลายแห่งในกัมพูชา
อันได้แก่ปราสาทแม่บุญตะวันออก, ปราสาทบันทายศรี (บันทายสรี),
นครวัด, นครธม, ปราสาทนาคพัน, ฯลฯ
พร้อมด้วยผู้ร่วมทางกิตติมศักดิ์ อันได้แก่ ..
ตัวผู้เขียนเอง, อาจารย์พุฒ วีระประเสริฐ, อาจารย์สมิทธิ ศิริภัทร์, ฯลฯ
(เป็นทริปที่น่าอิจฉามากกกก)

หนังสือที่เกี่ยวกับปราสาทขอมหลายเล่มที่เราอ่านในช่วงนี้
มักอ้างถึงหลักการสร้างปราสาทตามความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู
อันอ้างถึงการจำลองเอาสวรรค์ หรือดินแดนแห่งเทพเจ้าลงมาบนเมืองมนุษย์
เพื่อเป็นที่ประทับแห่งเทพเจ้า เพื่อเป็นสถานที่ที่กษัตริย์ใช้ติดต่อกับพระผู้เป็นเจ้า
เพื่อบวงสรวงบูชา หรือแม้แต่เพื่อแสดงอำนาจของกษัตริย์ในยุคสมัยนั้นๆ
การสร้างปราสาท จึง
มีมักเขาพระสุเมรุเป็นแกนกลางของจักรวาล
บ้างสร้างขึ้นบนเนินเขาจริงๆ
บ้างก็สร้างเลียนแบบขึ้นมาตามอิทธิพลของความเชื่อนั้น
ปราสาททั้งหลายในกัมพูชา ล้วนแล้วแต่สร้างขึ้นตามความเชื่อพื้นฐานอันนี้
ซึ่งเรามักจะอ่านพบคำอธิบายจากหลายๆ เล่มที่อ่านมา
แต่การอธิบายใน ตามกลิ่นนางอัปสรา ตามหานครวัด นครธม เล่มนี้
อธิบายหลักการสร้างปราสาทได้เป็นรูปธรรม และเข้าใจง่ายที่สุด
ภาพประกอบก็เป็นภาพวาดลายเส้นสวยมาก ดูเข้าใจตามได้ง่าย

การอ่าน (และการเรียน) ประวัติศาสตร์
จะสนุกก็ต่อเมื่อเรามองเห็นความต่อเนื่องเชื่อมโยง
เห็นที่มาที่ไป
ประวัติศาสตร์โดดๆ เดี่ยวๆ ไม่สนุกหรอก ท่องจำไปก็ลืม
ต่อเมื่อเรามองเห็นความเชื่อมต่อกัน
เห็นแรงบันดาลใจ เห็นที่มาของการเกิด การสืบต่อ การล่มสลาย
ได้เข้าใจเสียก่อน .. แล้วมันจึงสนุก

ทุกครั้งที่อ่านหนังสือประวัติศาสตร์โบราณสถานเชิงท่องเที่ยวเหล่านี้
เรามักจะอยากตามไปเห็นของจริงด้วยตาตัวเองเสียทุกครั้ง
แต่กับเล่มนี้ เป็นเล่มที่กระตุ้นต่อมอยากเราได้มากที่สุด
อ่านครั้งใดก็ปลุกความรู้สึกเดิมๆ กลับมาได้ทุกครั้ง
และขอตั้งใจแน่วแน่ว่า ถ้าได้ไปกัมพูชาจริงๆ จะพกเล่มนี้ติดตัวไปด้วยแน่นอน
อยากได้เห็น ได้รู้สึก ได้อินไปกับอารมณ์เดียวกับผู้เขียนบ้าง
คงจะฟินไม่ใช่น้อยทีเดียว

การอ่านประวัติขอมนั้น มักจะมีเรื่องให้มึนๆ งงๆ อยู่เรื่อยๆ
เพราะเหตุมันเกิดขึ้นนานมากแล้ว นานจนจำไม่ได้ .. เอ๊ย!
นานจนบันทึกที่หลงเหลืออยู่ก็น้อยนิด
เนื้อความก็ไม่ต่อเนื่องเป็นชิ้นเป็นอัน
ยกตัวอย่างเช่น เราอ่าน สุริยวรรมัน ของทมยันตี (ซึ่งก็นิยายอ่ะนะ)
ในเล่มนั้นบอกว่าพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 มีเชื้อสายของสุริยวรมันที่ 1
แต่ในเล่มนี้กลับบอกต่างออกไปว่า
ทั้งสองพระองค์ไม่ได้เกี่ยวพันกันเลย แค่เอาชื่อมาใช้เฉยๆ
งงดีมั๊ยล่ะ!?
อ่านไปเรื่อยๆ ก็มักจะมีเรื่องงงๆ แบบนี้โผล่มาเรื่อยๆ
จำได้บ้าง จำไม่ได้บ้าง หลังๆ ก็ไม่จำมันซะเลย
อ่านเอาไอเดีย เอาแรงบันดาลใจ เอาแนวความคิด เอาสำนวน
เอาเกร็ดสอดแทรก หรือแม้แต่อ่านสนุกๆ เฉยๆ ..
บางทีเราก็อ่านหนังสือเพื่ออ่าน
ไม่ได้จะเพื่อได้ความรู้ หรือเพื่อฉลาดขึ้น
อย่างที่เขาใช้เป็นข้อจูงใจให้คนหันมาอ่านหนังสือเอาเลยจริงๆ

โดยรวมๆ ตามกลิ่นนางอัปสรา ตามหานครวัด นครธม เล่มนี้นั้น
ถ่ายทอดออกมาด้วยสำนวนสนุก ผู้เขียนมีจินตนาการ มีอารมณ์ขัน
บรรยายให้เราเห็นภาพตามได้ แม้บางสถานที่จะไม่มีภาพประกอบก็ตาม
เนื้อหาไม่หนัก อ่านสบาย ..
แม้อ่านรอบที่สองแล้ว หนังสือเล่มนี้ก็ยังทำให้เรารู้สึกชอบเหมือนเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง

ปล. 1 อ่านประวัติของนายอองเดร์ มาลโรซ์
(ที่ลักลอบเข้าไปสกัดขโมยรูปสลักนางอัปสราที่บันทายศรี)
ผู้เขียน ราชมรรคา หนังสือที่วางแผนต่อคิวว่าจะอ่านในเร็ววันนี้แล้ว
แทบอยากจะปาหนังสือ (ราชมรรคา) ทิ้ง ไม่อ่งไม่อ่านมันแล้ว

ปล. 2 อ่านมาถึงเล่มนี้ เพิ่งได้ยินชื่อปราสาทปักษีจำกรง
แล้วหวนนึกถึงตอนอ่าน สร้อยแสงจันทร์
ที่มีปราสาทปักษาจำจองปรากฏอยู่ในเรื่องด้วย ..
อืม ผู้เขียนมีแรงบันดาลใจได้ชื่อปราสาทมาจากแถวๆ นี้นี่เอง 🙂

Comments are closed.