แก้วกัลยาแห่งแผ่นดิน

เรื่อง แก้วกัลยาแห่งแผ่นดิน
ผู้แต่ง ทมยันตี
สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม
เลขมาตรฐานหนังสือ 9744463053
แก้วกัลยาแห่งแผ่นดิน เป็นหนังสือเล่มต่อจาก กษัตริยา
อันเล่าถึงอยุธยาในช่วงเสียกรุงครั้งแรก
ซึ่งในเล่มแรกนั้นจบลงเมื่อพระสุพรรณกัลยาต้องเสด็จไปยังหงสาวดี
(ในเล่มนี้เรียก หานตาวดี .. อันเป็นคำที่พม่าใช้)
เสด็จไปเพื่อทรงเป็นมีพะยาเง (มเหสีพระองค์เล็ก) ของพระเจ้าบุเรงนอง (ในเล่มนี้เรียกเมงเอกเระ)
และในเล่มนี้ จะเล่าต่อจากตอนนั้น ..
โดยเปลี่ยนถ่ายการเล่าจากมุมมองของสตรีหนึ่ง คือพระวิสุทธิกษัตรีย์
ไปยังมุมมองของอีกสตรีหนึ่ง ..
คือ พระสุพรรณกัลยา .. อะเมี้ยวโยง .. โยงเจ (ทั้งสามชื่อนี้คือคนเดียวกัน)
(อะเมี้ยวโยง แปลว่า นางผู้มีความเชื่อมั่นในเผ่าพันธุ์ตนเป็นที่ยิ่ง)
(โยงเจ แปลว่า เชื่อหมดใจ ไว้เนื้อเชื่อใจโดยแท้)
ถ้า กษัตริยา เป็นจินตนาการผสมประวัติศาสตร์
แก้วกัลยาแห่งแผ่นดิน ก็แทบจะเป็นจินตนาการล้วนๆ
ด้วยว่าพงศาวดารที่บันทึกถึงพระสุพรรณกัลยานั้นมีน้อยมาก
บางฉบับไม่เอ่ยพระนามด้วยซ้ำ .. และข้อความบางฉบับก็ขัดแย้งกัน
จนต้องใช้วิจารณญาณว่าควรเชื่อฉบับไหนกันแน่
ซึ่งผู้เขียนก็ให้มาทั้งข้อความที่ขัดแย้งกัน และวิจารณญาณของผู้เขียนเอง
เราอ่านประวัติศาสตร์ช่วงนี้ผ่านนิยายหลายเรื่อง
ทั้งยังฟังคลิปบรรยายของอาจารย์สุเนตร ชุตินธรานนท์ (ซึ่งผู้เขียนใช้อ้างอิง) สลับไปด้วย
เพลิดเพลินและสนุกไปกับกระบวนการตีความเหล่านี้มาก
เมื่อพงศาวดารไทยบ้าง พม่าบ้าง แต่ละฉบับ รวมไปถึงบันทึกคำให้การชาวกรุงเก่า,
บันทึกคำให้การขุนหลวงหาวัด ฯลฯ บันทึกเหตุการณ์ไม่ตรงกัน
นวนิยายอิงประวัติศาสตร์แต่ละเรื่อง จึงออกมาแตกต่างกันไปบ้าง
ขึ้นอยู่กับว่าผู้เขียนแต่ละท่านยึดถือพงศาสาดารฉบับไหน
สำหรับเล่มนี้ ตรงไหนผู้เขียนจินตนาการเอง ก็มีเขียนกำกับไว้ให้
บางจุดอ้างจากหนังสือเล่มไหน ก็ลงอ้างอิงไว้
แต่ก็มีบางจุดเหมือนกันที่ไม่ได้ระบุอะไรเลย
โดยรวมๆ จึงคิดว่าเหมาะสำหรับอ่านเอาสนุก รู้ประวัติศาสตร์บ้างนิดๆ หน่อยๆ
ถ้าสนใจ คงต้องไปหาหนังสืออ้างอิงเล่มอื่นๆ มาต่อเติมขยายความรู้ในภายหลัง
เมื่อแรกเริ่ม เราว่าเล่มนี้อ่านยากกว่าเล่มแรกนิดหน่อย
เพราะมีชื่อราชวงศ์พม่าพ่วงเข้ามาอีกมาก และประวัติศาสตร์ก็ไม่เคยคุ้น
แต่พออ่านจบ ชื่อพวกนี้ก็หลอนอยู่ในหัว ไม่หลุดไปหลายวันเหมือนกันนะ
ระหว่างอ่าน เราคิดว่า แก้วกัลยาแห่งแผ่นดิน เป็นหนังสือที่ปลูกฝังให้รักเผ่าพันธุ์
แต่ในขณะเดียวกันก็สร้างความเกลียดชังพม่าขึ้นในหัวใจ
(และถ้าพม่าได้อ่าน ก็คงเกลียดชังคนไทยไม่แพ้กัน)
มาอ่านในยุคนี้ (และใช้ความคิดเห็นแห่งยุคนี้ตัดสิน) ..
เราว่ามันเป็นหนังสือที่บ่มเพาะความแตกแยก ถ่างความต่างให้ยิ่งห่าง
ไม่ได้มองประวัติศาสตร์ในมุมสันติ
เทียบกับ พ่อ ของคุณปองพลแล้ว
เล่มนั้นมีความเป็นกลาง เล่าด้วยเหตุด้วยผลมากกว่านี้
กับเล่มนี้ .. เราว่าคนอ่านต้องตั้งสติดีๆ เลยล่ะ
แล้วก็พินิจพิเคราะห์แยกแยะอารมณ์ตัวเองให้ดี .. เดี๋ยวจะพาลโกรธหลงยุคเอาได้
ในเรื่องของภาษา เล่มนนี้ยังคงสละสลวยดีงาม ตามฟอร์มผู้เขียน
โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอนที่ประกอบในเรื่อง ล้วนไพเราะ งดงาม
เราว่ากลอนในเล่มนี้เพราะกว่าเล่มที่แล้วอีกนะ
แต่เนื้อหา จะย้ำซ้ำๆ เรื่องเดิมมากหน่อย .. เล่าวนไปวนมา
แต่ก็ช่วยให้เราจำเหตุการณ์ได้ด้วย จำชื่อตัวละครที่จำยากๆ ได้มากขึ้น
โดยรวมๆ ถ้าคิดว่าอ่านเอาสนุก ก็สนุกดีนะ
แล้วเรื่องทั้งหมดของเล่มนี้ ก็มาจบลงตรงที่ พระอุปราชมังกยอชวาสิ้นพระชนม์
พระสุพรรณกัลยาต้องดาบของพระเจ้านันทบุเรงสิ้นพระชนม์
และก็เล่าเลยไปถึงจุดจบของพระเจ้านันทบุเรง และหงสาวดีแบบรวบรัดด้วย
เรียกว่าปิดฉากหงสาวดี และในเล่มต่อไป ก็จะไปเล่าเหตุการณ์เดียวกัน
จากมุมของพระนเรศวรบ้าง .. ในเล่ม อธิราชา
Comments are closed.