เด็กหญิงผู้ชูธงขาว

เรื่อง เด็กหญิงผู้ชูธงขาว
ผู้แต่ง โทมิโกะ ฮิกะ
ผู้แปล ฉัตรนคร องคสิงห์
สำนักพิมพ์ มติชน
เลขมาตรฐานหนังสือ 9789740202660
หนังสือเล่มนี้คือเรื่อง “ข้างหลังภาพ” ที่แท้จริง
ในวันที่สงครามโลกครั้งที่ 2 ถึงกาลสิ้นสุด
ในวันที่ญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้สงคราม
ภาพภาพหนึ่งถูกถ่ายไว้ได้ ณ เกาะโอกินาวา สมรภูมิสุดท้ายแห่งประเทศญี่ปุ่น
มันคือภาพของเด็กหญิงวัย 7 ขวบ กำลังถือธงขาวที่ทำขึ้นด้วยมือ
ท่ามกลางกองทหารญี่ปุ่นที่เดินตามหลังมา
เธอยิ้มรับกล้อง .. มันเป็นรอยยิ้มที่สดใสและกล้าหาญ
ภาพถูกถ่ายเอาไว้โดยทหารอเมริกันคนหนึ่ง ชื่อจอห์น เฮนดริคซัน
มันถูกตีพิมพ์ลงในหนังสือเนิ่นนานหลายสิบปี ก่อนที่เด็กหญิงในภาพคนนั้นจะเห็น
และอีกนานต่อมา เธอจึงตัดสินใจเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับเธอในสงครามครั้งนั้น
เด็กหญิงผู้ชูธงขาว เล่มนี้ คือเรื่องราวหลังภาพภาพนั้นค่ะ
เรื่องราวที่เกิดขึ้นกับผู้เขียน .. ภายในเล่ม
แสดงให้เรารู้เลยว่า เด็กสมัยก่อนแกร่งและอึดมากเมื่อเทียบกับสมัยนี้
เด็ก 7 ขวบ ถูกทิ้งให้อพยพหนีสงครามเพียงคนเดียว
เพราะเธอพลัดหลงกับพี่น้อง
จากครอบครัวที่มีผู้ใหญ่คนเดียวคือพ่อ กับเก้าพี่น้อง
(ในเวลาก่อนสงคราม พี่น้องบางคนเติบโตและออกไปมีชีวิตของตนเอง
ภายในบ้านเหลือเพียงสี่พี่น้อง รวมตัวผู้เขียนด้วย)
เมื่อพ่อไม่กลับมา .. เหลือเพียงเด็กๆ ที่พากันหลบหนีสงครามไปจากบ้าน
และท้ายที่สุด เหลือเพียงตัวผู้เขียนคนเดียวที่ต้องคิดและทำทุกอย่างตามลำพัง
แต่ละช่วงเวลาที่เกิดขึ้นแต่ละช่วงภายในเล่ม เราว่าเหมือนมันผ่านมาไม่นานนะ
แต่โดยรวมแล้ว เธอ (น่าจะ) ใช้ชีวิตราวๆ ปีกว่า
กว่าญี่ปุ่นจะแพ้สงคราม และทหารอเมริกันมาพบ
แม้ว่าเรื่องนี้จะถูกเขียนขึ้นจากประสบการณ์จริง
แต่ไม่รู้ทำไม เรามีความรู้สึกว่ามันเหมือนมีเรื่องแต่งผสมอยู่กึ่งหนึ่ง
เพราะชีวิตของเธอมันเหลือเชื่อมาก
เธอพบความอดอยาก และใช้สัญชาตญาณเอาตัวรอดมาได้
เธอพบความโชคดีโดยบังเอิญหลายครั้ง
และครั้งสุดท้ายที่ทำให้เธอรอดชีวิตตลอดสงครามอันโหดร้าย
หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่เขียนสนุก น่าติดตาม อ่านได้เรื่อยๆ
ถ้าคนรู้จักภูมิประเทศของญี่ปุ่น คงวาดภาพตามไปด้วยได้
และได้รับรู้ประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นในยุคสงครามโลกในอีกมุมมองหนึ่ง ..
มุมมองจากเด็กตัวเล็กๆ อย่าง โทมิโกะ ฮิกะ
บันทึกความคิดเพิ่มเติมนิดนึง
อ่านบันทึกเกี่ยวกับสงครามเล่มนี้
แต่เรากลับสะดุดใจถึงนิสัยของคนญี่ปุ่นอีกอย่างหนึ่ง
เราเคยรู้กันอยู่แล้วว่า ในสมัยสงคราม
เมื่อญี่ปุ่นรู้ตัวว่าแพ้ พวกเขาพร้อมที่จะปลิดชีพตัวเอง
ด้วยการฮาราคีรี ตายเสียยังดีกว่าการมีชีวิตอยู่อย่างเป็นผู้แพ้
นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังมีหน่วยรบแบบที่เรียกว่ากามิกาเซ่
คือการผูกระเบิดไว้กับตัว และกระโดร่มลงในปล่องไฟของเรือรบฝ่ายตรงข้าม
ในเล่มนี้ เรายังอ่านเจอชาวบ้านธรรมดาๆ ที่ไม่ใช่ทหาร
ตัดสินใจจบชีวิตตัวเองและครอบครัวด้วยการระเบิดปิดปากถ้ำในภาวะสงคราม
คือยอมตายดีกว่าอยู่โดยไม่รู้ชะตาชีวิตข้างหน้า
ทัศนคติที่มีต่อการฆ่าตัวตายของญี่ปุ่น ไม่ได้เลวร้ายสุดๆ
และความตายก็คงจะไม่ได้น่ากลัวนัก ในมุมมองของพวกเขา
ความตายบางครั้งมีเกียรติกว่าการอยู่
นิสัยแบบนี้อาจยังคงฝังอยู่ในดีเอ็นเอ
แม้เมื่อข้ามผ่านยุคสงครามมาจนถึงตอนนี้
คนญี่ปุ่นก็ยังนิยมเลือกการฆ่าตัวตายเป็นวิธีต้นๆ ในการแก้ปัญหาชีวิตอยู่ดี
Comments are closed.