เจ้าพ่อ
เรื่อง เจ้าพ่อ
ผู้เขียน อาจินต์ ปัญจพรรค์
สำนักพิมพ์ มติชน
เลขมาตรฐานหนังสือ 9789740208136
คำนำสำนักพิมพ์ในตอนต้นเล่ม ออกจะพาเราคิดไกลเกินจริงไปหน่อย
แน่นอนว่าหนังสือเล่มนี้เกี่ยวข้องกับ เจ้าพ่อ และ เจ้าเมือง ..
เพราะเป็นนิยายในชุดชื่อนั้น
แต่ความห้ำหั่นระหว่างเจ้าพ่อกับเจ้าเมือง ..
ยังไม่ได้ “ลบเหลี่ยม เฉือนคม” (อย่างที่คำนำบอก) กันถึงเพียงนั้น
ทั้งเจ้าพ่อและเจ้าเมือง ดูจะเป็นมิตรที่ดีต่อกันด้วยซ้ำ
ในเล่มแรกนี้เล่าถึงเพียงการก่อร่างสร้างบุญบารมีของทั้งสองฝ่าย
โดยที่ฝ่าย เจ้าพ่อ ก็ยังดูง่อนแง่น เพราะใช้แต่บุญเก่า
ยังไม่เห็นวี่แววจะเป็นเจ้าพ่อได้เลย
ออกจะเหมือนลูกเศรษฐีที่เอาแต่ผลาญเงินพ่อเสียมากกว่า
แต่ก็นั่นแหละ คำนำของทั้งเล่ม เจ้าพ่อ และ เจ้าเมือง ใช้คำนำเดียวกัน
ดังนั้น การห้ำหั่นที่ว่าอาจจะเกิดขึ้นในเล่มต่อมา (ซึ่งเรายังอ่านไม่ถึง) ก็ได้
เมื่อเราอ่านเพียงเล่มแรกเล่มเดียว ..
มันเลยรู้สึกแปลกๆ ที่จะใช้ชื่อ เจ้าพ่อ เป็นชื่อของหนังสือเล่มนี้
แต่ถ้าบอกว่ามันเป็นเล่ม 1 ของนวนิยายชุด เจ้าพ่อ – เจ้าเมือง น่าจะตรงกว่า
คุณอาจินต์ เริ่มต้นเรื่องด้วยฉากเรือเมล์ที่วิ่งล่องอยู่ในแม่น้ำท่าจีน (แม่น้ำสุพรรณ)
ฉากในเรื่อง เจ้าพ่อ เป็นฉากเดียวกันกับนิยายเรื่อง แม่น้ำยามศึก
ผิดแต่เพียงเวลาในเรื่องนั้นต่างกัน
แม่น้ำยามศึกเล่าถึงยุคสงครามโลกครั้งที่สอง
ขณะที่ เจ้าพ่อ เริ่มต้นเรื่องในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.6)
ในช่วงปลายของสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
(ซึ่งในเวลานั้น สงครามโลกมีผลกระทบต่อเราน้อยมาก)
ฉากที่คุณอาจินต์บรรยาย เป็นฉากสมัยรัชกาลที่ 6 ที่เราไม่เคยอ่านเจอจากที่ไหน
เพราะโดยมากเคยอ่านแต่เรื่องชาววัง
ส่วน เจ้าพ่อ เล่มนี้เป็นเรื่องของชาวบ้านแท้ๆ
มันแปลกใหม่และสมจริง
คุณอาจินต์ค้นข้อมูลจากเอกสารเก่าเพิ่มเติม
นำมาสอดแทรกเอาไว้ในนิยายได้ละเอียดมาก
อ่านแล้วเห็นภาพ และทึ่งกับเรื่องราวที่เราไม่เคยรู้มาก่อน
ภาษาที่ใช้ก็อ่านง่าย อ่านสนุก ไม่หนักเลย
เราได้รู้ว่าเรือเมล์สมัยก่อนเดินทางใกล้ๆ โดยใช้เวลาเป็นวัน
บนเรือมีมุมครัว มีพ่อครัวผัดข้าวผัดขาย ชงโอเลี้ยงขาย
ท่าเรือที่เรือจอด มีน้ำฝนบรรจุกระบอกขาย
แต่ถ้าหิวน้ำกันจริงๆ เราก็สามารถตักน้ำจากแม่น้ำมากินได้ มีกระบอกประจำเรือให้ยืมได้
คุณอาจินต์เล่าละเอียดไปถึงห้องน้ำห้องท่า ซึ่งมีแล้วในสมัยนั้น
แต่ก็เป็นห้องน้ำที่ต่างไปจากสมัยนี้อยู่มาก
ในส่วนของพล็อตนั้น .. คุณอาจินต์เล่าเรื่องเรียบง่าย ซื่อตรง
อ่านไปเพียงไม่เท่าไร ก็เดาตัวพระเอกนางเอกได้หมด
แต่เสน่ห์ของหนังสือเล่มนี้อยู่ตรงที่เนื้อหาอันบันทึกประวัติศาสตร์เอาไว้อย่างเห็นภาพ
ภาษาก็สละสลวย อ่านเพลิน จบหนึ่งหน้าเปิดหน้าต่อเนื่องได้ไม่รู้จบ
อีกหนึ่งเสน่ห์ของเรื่องที่เราชอบ อยู่ที่ชั้นเชิงในการพูดจาของตัวละคร
ภาษาดีมากๆ (ชมบ่อย และพูดกี่ครั้งเราก็ยังยืนยันว่าเราชอบภาษาของคุณอาจินต์)
ทั้งภาษาที่ใช้บรรยาย และภาษาที่เป็นบทสนทนา
เจ้าพ่อ ในเรื่องนี้ เป็นตระกูลลูกหลานกำนันท้องถิ่น
ซึ่งก็ไม่ได้เกกมะเหรกเกเร .. ดูมีคุณธรรม ศีลธรรมอันดี
มีความนักเลง กล้าได้กล้าเสีย
และมีทัศนคติแปลกๆ ที่คนรุ่นเราไม่ค่อยเข้าใจบางอย่าง
แต่พอจะเดาได้ว่ายุคนั้นน่าจะนับได้ว่าเท่ เป็นคนจริง!
ในขณะที่ (ว่าที่) เจ้าเมือง เป็นคนต่างถิ่นที่เข้าไปก่อร่างสร้างตัว
รับราชการไต่เต้าไปตั้งแต่ระดับล่างสุดของอำเภอ
ชีวิตระหกระเหินขึ้นๆ ลงๆ ให้ได้เอาใจช่วย
ตัวละครของคุณอาจินต์ไม่ได้ใสสะอาด
เจ้าพ่อ ก็ดูมีข้อด้อย เจ้าเมืองก็มีตำหนิ มีชะตาให้คอยเอาใจช่วย
โดยรวมๆ เรื่องนี้แล้วสนุกดีค่ะ
สนุกไปตลอดตั้งแต่เริ่มอ่าน ไม่ต้องรอเก็บสะสมไปสนุกเอาตอนใกล้จบ
อันที่จริงตอนจบเล่ม เรื่องนี้ไม่จบด้วยซ้ำ
เนื้อเรื่องจบคาเอาไว้ให้เราไปอ่านต่อในเล่ม เจ้าเมือง
ดังนั้น เดี๋ยวอ่าน เจ้าเมือง จบ แล้วเราจะมาเล่าต่อค่ะ 🙂
Comments are closed.