เจ้ากรรมนายเวร

เรื่อง เจ้ากรรมนายเวร
ผู้แต่ง ฐา-นวดี : สุพล
สำนักพิมพ์ ดับเบิ้ลนายน์
เลขมาตรฐานหนังสือ 9746048597
เนื้อเรื่องข้างล่างนี้ จะสปอยล์เนื้อหาค่อนข้างเยอะนะคะ
แม้จะพยายามละเว้นตอนจบไว้ แต่ในตอนจบ มันก็ไม่เหลืออะไรให้เดาแล้วแหละ
ดังนั้น ใครที่ไม่อยากถูกสปอยล์ .. เราเตือนแล้วนะ ;P
เจ้ากรรมนายเวร เป็นหนังสืออีกเล่มที่ถูกเขียนขึ้นภายหลังจากที่ละครถูกสร้างขึ้น
ซึ่งจากละคร ก็นับเป็นเรื่องที่สนุกมาก
แหวกแนวไปจากละครเรื่องอื่นๆ ในยุคเดียวกัน (พ.ศ. 2543)
แปลกตั้งแต่ให้นางเอกเป็นใบ้ตั้งแต่ต้นจนจบเรื่อง
จะมีบทพูดบ้างก็ตอนที่เธอเกิดในชาติอื่น หรือถูกผีสิง (ผีสิงให้พูด!!)
มีพระเอกเป็นจิตแพทย์ ซึ่งเป็นผู้ที่ก่อกรรมเอาไว้กับเจ้ากรรมนายเวรทุกคน
เขาเป็นผู้ปลุกกระแสกรรมของทุกคนให้ตื่นขึ้นมา ..
และเขาจะต้องชดใช้ต่อสิ่งที่เขาได้กระทำลงไปทั้งหมด
เจ้ากรรมนายเวร มีตัวละครที่ระลึกชาติได้หลายคน
โดยที่ทุกคนเคยเกิดร่วมชาติกันครั้งหนึ่ง
และหลังจากนั้นต่างคนต่างก็ไปมีชีวิตของตนเองในอีกชาติที่ต่างๆ กันไป
จนกระทั่งในชาตินี้ ทุกคนก็กลับมาเกิดร่วมชาติกันอีกครั้งในยุคปัจจุบัน
ตัวละครทั้งหมดที่ว่า คือตัวละครที่มีชื่อว่า อิน จัน มั่น คง อยู่ ดี
ที่ถูกคัดเลือกมาทำพิธีสร้างประตูชัย ที่เมืองลพบุรี
โดยคนทั้งหก จะต้องถูกฝังเอาไว้ในเสาประตูแต่ละเสา
และสะกดวิญญาณเอาไว้ให้เฝ้าเสาเหล่านั้น
ในขณะที่ทำพิธีนี้เอง ได้มีร่างของบุคคลคนที่ 7 ที่ถูกนำมาวางรอไว้ในหลุมด้วย
และบุคคลคนที่ 7 นี่เอง ที่ทำให้พิธีกรรมเกิดพลิกผัน
และผูกพันกลายเป็นเวรกรรมต่อกันมา
ซึ่งเหตุการณ์อันเป็นต้นกระแสแห่งกรรมที่ผูกพันทุกคนร่วมกัน –
ได้เกิดขึ้นในยุคสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนั่นเอง
เรื่องถูกเปิดขึ้นกลางพิธีนั้นเอง ..
ในขณะที่เชือกที่ผูกเสาถูกตัด และเสานั้นหล่นลงมาในหลุม
นอกจากร่างของนางดีที่ถูกวางไว้ที่ก้นหลุมของนางแล้ว
ยังมีร่างของท้าวทรงวาดซึ่งกำลังต้องครรภ์แก่ใกล้คลอดอยู่อีกคนด้วย
นาทีที่เสาตกลงมา ได้ทำให้เด็กที่อยู่ในท้องคลอดออกมา
และตายไปพร้อมกับคนทั้งสองในหลุมนั้นด้วย
เสียงร้องของเด็ก ได้ทำลายพิธีอันศักดิ์สิทธิ์
คนทั้งเจ็ดคนนี้จึงไม่ถูกสะกดวิญญาณ และได้กลับมาเวียนว่ายตายเกิดอีกครั้ง
นายอิน ได้กลับชาติมาเกิดเป็นจมื่นทองสุก ในค่ายบางระจัน
และได้สร้างเวรกรรมเอาไว้กับเพื่อนร่วมค่ายทั้งหลาย
เขาเกิดเป็น สหัสชาติ พระเอกหนุ่มชื่อดังแห่งยุคในปัจจุบัน
นายจัน ได้กลับชาติมาเกิดเป็นพระยาบำรุงราษฎร์ ในสมัยรัชกาลที่ 5
ในยุคที่การเลิกทาสกำลังดำเนินไป ..
เขาเป็นขุนนางคนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกันการปลดปล่อยทาสให้เป็นอิสระ
เป็นขุนนางใจร้าย ที่กระทำย่ำยีทารุณกรรมทาสในเรือนของตนอย่างสาหัส
เขาได้เกิดอีกครั้งในนาม สมภพ นักธุรกิจหนุ่มผู้ประสบความสำเร็จ
นายมั่น ได้กลับชาติมาเกิดเป็นตาบัว ชายผู้มีชีวิตอยู่ในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง
ตาบัวประกอบมิจฉาชีพโดยการฝึกเด็กๆ ให้ขโมยของในค่ายญี่ปุ่น
ทั้งเครื่องอุปโภคบริโภค รวมไปถึงเชื้อเพลิงสำคัญอย่างน้ำมัน
เจ้ากรรมนายเวรของตาบัวคือเด็กๆ ที่เขาฝึกขึ้นมาเหล่านี้นี่เอง
นายมั่น หรือตาบัว ได้กลับชาติมาเกิดอีกครั้งเป็น จ่าสนธิ
ตำรวจกงฉินยศต่ำคนหนึ่งแห่งยุคปัจจุบัน
นายคง ได้กลับชาติมาเกิดเป็นขุนกำราบไพรี ในยุคของจอมพล ป. พิบูลสงคราม
เขาเป็นข้าราชการหนุ่มที่หลงใหลการล่าสัตว์ป่า ..
ซึ่งสัตว์ป่าเหล่านั้นคือเจ้ากรรมนายเวรของเขานั่นเอง
นายคง หรือขุนกำราบไพรี ได้กลับชาติมาเกิดในชาตินี้
เป็น รำลึก เด็กหนุ่มที่เป็นนักศึกษาคณะสัตวแพทย์ปีสุดท้าย
นางอยู่ ได้กลับชาติมาเกิดเป็นแม่ชีนกเล็ก แม่ชีทุศีล
ผู้ที่อาศัยอาชีพแม่ชีทำผิดศีลหลายข้อ ทั้งการลักลอบอยู่กินกับชายหนุ่ม
ขโมยเงินบริจาค ตัดเศียรพระพุทธรูปขาย
และบาปหนักสุดที่ได้กระทำกับเจ้ากรรมในเวรของนางในชาตินี้ .. คือฆาตกรรม!
เจ้าอาวาสของวัดแห่งนี้คือเจ้ากรรมนายเวรของนาง
นางอยู่ หรือแม่ชีนกเล็ก ได้กลับชาติมาเกิดเป็นแม่ค้าปลาในตลาด ชื่อว่านางเกิด
นางดี ได้กลับชาติมาเกิดเป็นปานเทวี หญิงสาวในยุคบุปผาชน ผู้รักอิสระเสรี
ในขณะเดียวกัน ก็มีผู้หลงทางแห่งยุค ที่มัวเมาไปกับกัญชายาเสพติด
ใช้ชีวิตเสเพลไร้แก่นสาร .. ซึ่งปานเทวีเป็นหนึ่งในจำพวกคนหลงทางเหล่านี้
เธอได้หลงผิด กระทำปิตุฆาตมาตุฆาต ..
และครอบครัวของเธอนี่เอง ที่เป็นเจ้ากรรมนายเวร
เธอได้กลับชาติมาเกิดอีกครั้งในภพนี้ ในนาม สัตตบงกช
หญิงสาวนักศึกษา ปี 1 ที่มีแม่ที่ป่วยเป็นอัมพาตให้ต้องดูแล
นอกจากนี้ ยังมีตัวละครอื่นๆ ที่มีชีวิตอยู่ในสมัยพระนารายณ์
และยังมีกรรมพัวพันกับตัวละครเหล่านี้ และได้กลับมาเกิดร่วมชาติกันอีกครั้ง
ได้แก่ ท้าวทรงวาด ได้กลับชาติมาเกิดเป็นรัญจวน ในชาติหนึ่ง
และได้เกิดอีกครั้งเป็น จุติพร
หญิงสาวกำพร้าที่เป็นใบ้หูหนวก เพราะเหตุการณ์ร้ายแรงที่เกิดกับเธอในวัยเด็ก
ชาตบดินทร์รับเธอมาเลี้ยงเป็นเด็กในบ้าน
ยาน แฟน ฟอสเซแมร์ ลูกครึ่งวิลาศมอญ ผู้กลับชาติมาเกิดเป็น ชาตบดินทร์
จิตแพทย์ที่เปิดกระแสกรรมของทุกคน
พระยาสุระเดโช ได้กลับชาติมาเป็นอนุชิต บิดาของชาตบดินทร์
เม้ยเจิง หญิงชาวมอญ มารดาของยาน แฟน ฟอสเซแมร์
นางได้กลับชาติมาเกิดเป็นป้าแจ่ม แม่บ้านของชาตบดินทร์
และบัวแก้ว ที่ได้กลับชาติมาเกิดเป็น นพีสี (ชื่อเล่นว่าแหมม .. คนอะไรชื่อแหมม!)
ทันตแพทย์สาว คู่หมั้นสาวของชาตบดินทร์
(มีแผนผังในภาพต้นเรื่อง แต่ไม่มีเรื่องเล่าถึงบัวแก้วในหนังสือเลย!?)
ในชาติปัจจุบัน เจ้ากรรมนายเวรของคนทั้งหก กำลังจะตามมารับการชดใช้จากพวกเขา
และ ชาตบดินทร์ซึ่งติดหนี้กรรมกับพวกเขา ด้วยเหตุการณ์ที่เกิดในชาติแรก
จะต้องช่วยลดทอนกรรมเหล่านี้ให้บรรเทาเบาบางลงไป
ช่วยให้ทุกคนหลุดพ้นจากเวรกรรมเหล่านี้
โดยมีจุติพรเป็นผู้ช่วยที่พูดไม่ได้
มีนพีสีทำหน้าที่เป็นนางอิจฉาในละครไทย (ซึ่่งนางก็น่าสงสารอยู่เหมือนกัน)
ตรรกะของเรื่อง ยังคงไม่สมจริงอยู่บ้าง มีตัวละครตกหล่นไปบ้าง
เนื้อเรื่องยังต่อกันไม่แนบเนียน มีบางประเด็นที่เปิดค้างทิ้งไว้ จบไม่สนิท ฯลฯ
แต่ด้วยความแน่นของพล็อต
จึงทำให้เรื่องนี้ดำเนินไปได้สนุกกว่า นิราศสองภพ
โดยรวมๆ นับว่า เจ้ากรรมนายเวร เป็นหนังสือที่อ่านได้สนุกดี
พล็อตแปลกแหวกแนว ตัวละครไม่น่ารำคาญเท่าไรนัก
มีฉากโหดอยู่บ้าง แต่ผู้เขียนไม่ได้บรรยายอะไรมาก
ภาษาเรียบร้อยดี ไม่มีอะไรติดขัด ..
แม้ไม่ใช่นิยายที่ดีเลิศ แต่ก็เป็นหนังสือที่อ่านได้เพลินๆ ค่ะ
Comments are closed.