อ่านแล้วเล่า

อ่อนโยนหนักหนาคือราตรี

เรื่อง อ่อนโยนหนักหนาคือราตรี
ผู้แต่ง ภาณุ ตรัยเวช
สำนักพิมพ์ P.S.
เลขมาตรฐานหนังสือ 9786168166437

ผู้เขียนพาเรากลับไปในทศวรรษแรกของศตวรรษที่ 20
คือก่อนปี ค.ศ.1910 เล็กน้อย ..
แบ่งตอนทีละหนึ่งทศวรรษ
แล้วค่อยๆ ปรากฏตัวละคร (ที่มีตัวตนอยู่จริง) เข้ามาในฉาก
โลดแล่น บอกเล่า ให้เราเรียนรู้

พวกเธอบ้างเป็น นักเขียน นักแสดง ศิลปิน
เป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือมากกว่าหนึ่ง

เริ่มต้นจาก เวอร์จิเนีย วูล์ฟ
เธอเกิดในครอบครัวที่ดี
เป็นครอบครัวใหญ่ ที่มีพี่น้องทั้งต่างพ่อและต่างแม่
พ่อของเธออยู่ในแวดวงวรรณกรรม ในขณะที่แม่เป็นแม่บ้าน
ที่บ้านของเธอมีห้องสมุด และมีหนังสือให้อ่านมาตั้งแต่เด็ก
เธอได้รับการศึกษาที่ดี

เราได้เห็นชีวิตวัยเด็กของเธอ
เห็นค่านิยมของครอบครัวและยุคสมัย
การอบรมเลี้ยงดู และเห็นความเป็นไปของเธอ
ได้เห็นเธอต่อสู้กับจิตใจตนเอง
ก่อนที่จะพบตัวตนอย่างแท้จริง ว่าเธออยากเป็นนักเขียน
และเริ่มต้นทำมัน

หนังสือยังเล่าถึงชีวิตของเธอต่อจากนั้นมาเรื่อยๆ
ผู้คนที่เธอพบปะ พบรัก และชีวิตรัก
สิ่งที่มีผลต่อตัวเธอ ทำให้เธอแปรรูปมันออกมาเป็นงานเขียน
เราได้เห็นหลากหลายแง่มุม นับตั้งแต่เกิด จวบจนวาระสุดท้าย

เนื้อหาไม่ได้เล่าเรื่องของเวอร์จิเนีย วูล์ฟ เพียงคนเดียวตั้งแต่ต้นจบนจบ
หากแต่ตัดสลับไปยังสตรีร่วมยุคสมัยคนอื่นๆ
ไล่เรียงไปตามลำดับเวลา

หญิงสาวคนต่อมาที่ผู้เขียนหยิบมาเล่าต่อคือ โดโรธี ปาร์กเกอร์
เธอเป็นอีกหนึ่งหญิงสาวที่เกิดจากครอบครัวที่มีฐานะดี
แต่ชีวิตก็มีขึ้นลง
หลังจากสูญเสียพ่อ เธอสูญเสียทรัพย์สมบัติทุกอย่าง
ใช้ความสามารถเท่าที่มีเลี้ยงชีพ
ก่อนเส้นทางชีวิตจะนำพาเธอเข้าสู่แวดวงนักเขียน
ชีวิตของเธอผ่านเหตุการณ์ต่างๆ มากมายมาไม่แพ้เวอร์จิเนีย
ซ้ำยังมีความเกี่ยวพันเชื่อมโยงกันในบางจังหวะชีวิตของตน และผู้คนรอบตัว

หญิงสาวลำดับที่สามที่ปรากฏขึ้นในเล่มก็คือ เซลดา แซร์
เราไม่เคยได้ยินชื่อเธอมาก่อน แต่รู้จากหนังสือว่า
เธอคือภรรยาของ เอฟ. สกอตต์ ฟิตช์เจอรัลด์ ผู้เขียน the great gatsby
แม้จะได้ชื่อว่าเป็นภรรยานักเขียนใหญ่ แต่ตัวเธอเองก็มีผลงานเขียน
ความสัมพันธ์ฉันท์คู่ชีวิตของสองนักเขียน ไม่ได้สวยงามอย่างที่ควรจะเป็น
ความชอบความสนใจที่ไปในทางเดียวกัน ไม่ได้ทำให้พวกเขาเข้าอกเข้าใจกัน
ยิ่งผ่านวันเวลานานวัน มันกลับยิ่งเป็นอาวุธสร้างรอยแผลให้แก่กัน

ผู้เขียนทำให้เราได้เห็นวัตถุดิบของนักเขียน –
อย่างเวอร์จิเนีย โดโรธี หรือเซลดา
เห็นประสบการณ์สุขทุกข์ที่สั่งสม ก่อนที่หนังสือจะเกิดขึ้น
เราได้ทำความเข้าใจในความแปลกประหลาดของหนังสือบางเล่ม
หรือหนังบางเรื่อง ว่ามันมีที่มาอย่างไร ถูกบีบเค้นออกมาอย่างไร
หรือผู้เขียนต้องการจะสื่ออะไร

หญิงสาวคนถัดมา เราล้วนรู้จักกันดี
เธอคือ มาริลิน มอนโร
ที่ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าไร
เราก็ยังมีภาพจำของเธอตราตรึงอยู่ในหัว
เธอเป็นคนเดียวในทั้งหมด ที่เติบโตมาในครอบครัวที่ยากจน
มีชีวิตวัยเด็กที่ลำบาก
ครอบครัวที่หล่อเลี้ยงเธอมา ไม่สมควรจะเป็นครอบครัวของเด็กหญิงคนใดเลย
แม้เธอจะถีบตัวเองขึ้นมาในจุดที่เป็นที่จดจำของคนทั้งโลก
แต่ก็ดูเหมือนว่าเธอจะไม่เคยมีความมั่นใจในตัวเอง
ไม่เข้าใจตัวเอง ไม่เห็นใจคนอื่น
เป็นตัวปัญหาของกองถ่าย
แต่ก็มีเสน่ห์อันเป็นเอกลักษณ์ ที่ไม่อาจมีใครปฏิเสธได้
ในสายตาของเรา เรามองไม่เห็นความสุขของเธอเลย

หญิงสาวคนสุดท้ายของเล่มนี้ คือ โยโกะ โอโนะ
เรารู้จักเธอเป็นเพียงภาพจำภาพเดียวกันกับที่ใครๆ หลายคนรู้จัก
คือเป็นภรรยาของ จอห์น เลนนอน หนึ่งในสมาชิก เดอะบีเทิลส์
เราเพิ่งได้ทำความรู้จักตัวเธอ
และผลงานศิลปะของเธอครั้งแรก ผ่านหนังสือเล่มนี้
และเธอก็เป็นอีกคนหนึ่ง ที่เราไม่เข้าใจ ..

อ่อนโยนหนักหนาคือราตรี
เป็นงานเขียนชีวประวัติที่เต็มไปด้วยชีวิตชีวา
ชื่อนามที่คุ้นชิน ถูกเติมแต้มชีวิตและตัวตน
ให้เราได้รู้จักพวกเธอได้มากกว่าที่เคยรู้จักอย่างผิวเผิน

ชีวิตของเธอทั้งห้าไม่ได้ราบรื่น
ตลอดชีวิตของพวกเธอ มีความสวยงาม มีความพลั้งพลาด
เราไม่เคยเข้าใจความยาก หรือการทำให้ยากในการใช้ชีวิต
ไม่เข้าใจการสร้างปมยุ่งเหยิง แล้วก็ทุกข์ตรม
พวกเธอทั้งห้ามีความสามารถทางด้านนี้
เป็นสิ่งที่ยากจะเข้าใจ แต่ก็จะพยายามเข้าใจ

พวกเธอทั้งห้า ใช้ชีวิตเต็มที่
กล้าหาญที่จะมีความสุขในแบบที่เป็นตัวเองอย่างที่สุด
และแบกรับความทุกข์ตรอมตรม
ชีวิตขึ้นลงสุดขั้ว
เกินกว่าชีวิตคนธรรมดาอย่างเราจะกล้าแหกกฎออกจากกรอบ
ผู้เขียนเพียงบอกเล่า หากไม่ได้ตัดสิน
ไม่ได้ชี้นำให้เราตัดสินเสียด้วยซ้ำ
จากการอ่าน เราอาจเรียนรู้บางสิ่ง
แต่ไม่อาจชี้นิ้วตัดสินดีชั่วชีวิตใคร
เราอาจเป็นอย่าง .. หรือไม่เป็นอย่าง ..
แต่ก็ไม่อาจเทียบคุณค่า หรือวัดความถูกต้องกันได้เลย

นอกจากเรื่องราวของพวกเธอ
ภายในเล่มยังมีผู้คนสำคัญร่วมยุคสมัย
ปรากฏกายขึ้นตามจังหวะเวลา
ทั้งปิกัสโซ, เจมส์ จอยซ์, ซิกมุนด์ ฟรอยด์,
เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์, พี่น้องตระกูลไรต์, และอัลคาโปน ฯลฯ
เราได้เห็นภาพสภาพสังคม และการใช้ชีวิต
ของบุคคลในอดีตที่เราเคยได้ยินแต่ชื่อ

อันที่จริง หญิงสาวทั้ง 5 ไม่ได้เกิดร่วมรุ่นกันทั้งหมด
แต่เกิด เติบโต มีชีวิตลดหลั่นกันไปตามลำดับ
ในตอนที่คนหนึ่งรุ่งโรจน์ บางคนอาจร่วงโรย
และกำลังล่วงเข้าสู่ช่วงสุดท้ายของชีวิต
เราได้เห็นการเปลี่ยนผันของช่วงเวลาและค่านิยม ที่มีต่อผู้หญิง
สิ่งที่ผู้หญิงเหล่านั้นกระทำ หรือถูกกระทำ
และผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อจากนั้น

อีกหนึ่งส่วนดีงามของหนึ่งเล่มนี้ คือบทแปล
เวลาที่ผู้เขียนยกผลงานของหญิงสาวคนใดคนหนึ่งในห้าคนนี้มากล่าวถึง
ถ้อยคำเหล่านั้นสละสลวย ดีงามเสมอ
เราไม่แน่ใจว่านำมาจากต้นฉบับอื่นใดหรือไม่
แต่เนื่องจากไม่มีอ้างอิง
และโดยมาก เป็นสำนวนที่ไปในแนวทางเดียวกัน
เราจึงยกเครดิตถ้อยคำที่ถูกแปลเป็นไทยเหล่านี้ ให้ผู้เขียน

อ่านจบแล้ว อยากอ่านงานแบบนี้อีกจัง
เป็นนักเขียนชายบ้างก็ได้
หรือจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ นักดนตรี หรือศิลปินผู้สร้างผลงานศิลปะ
เราชอบสำนวน ชอบการผูกพันคาบเกี่ยวชีวิต
การส่งต่อ เชื่อมโยง จากคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่ง ต่อไปเรื่อยๆ
ยิ่งได้รู้จักพวกเธอ ก็อยากรู้จักงานของพวกเธอมากขึ้นไปอีก
หลังจากที่เคยฟังรีวิวหนังสือของเวอร์จิเนียมาอย่างน่าเข็ดขยาด
เราก็ไม่กล้าหยิบหนังสือของเธอออกจากกองดองเสียที
จวบจนกระทั่งได้อ่านหนังสือเล่มนี้
ตอนนี้ เริ่มอยากจะอ่าน ห้องส่วนตัว ขึ้นมาบ้างแล้วล่ะค่ะ 🙂

อ่าน “ห้องส่วนตัว” ต่อกันเถอะ!

Comments are closed.