วรรณคดีขี้สงสัย
เรื่อง วรรณคดีขี้สงสัย
ผู้แต่ง ปรามินทร์ เครือทอง
สำนักพิมพ์ อ่าน
เลขมาตรฐานหนังสือ 9786167158440
สมัยเรียน ตอนที่เรียนเขียนโคลงในวิชาภาษาไทย
มันจะมีโคลงอยู่บทหนึ่งที่อาจารย์ให้ท่องเป็นต้นแบบ
เพราะว่ามันเป็นโคลงบทที่มีฉันทลักษณ์ถูกต้องตรงตามแบบแผนเป๊ะๆ
คิดว่าหลายคนคงนึกได้ในทันที กับโคลงบทที่ขึ้นต้นว่า
“เสียงลือเสียงเล่าอ้าง อันใด พี่เอย ..”
เราท่องโคลงนั้นได้ขึ้นใจ
แต่จำได้น้อยเต็มทีว่าโคลงถูกนี้นำมาจากเรื่องอะไร
และยิ่งรู้น้อยลงไปอีก ว่าโคลงนี้อยู่ในส่วนไหน พูดถึงเรื่องอะไร
เพิ่งมาได้คำตอบกระจ่างแก่ใจ ก็ตอนอ่านเล่มนี้นี่เอง
และยิ่งไปกว่านั้น เราเพิ่งพบว่า
วรรณคดีไทยเรื่องนี้ เป็นอีกเรื่องที่มันช่าง .. อะไรกันนี่!!
โคลงบทนั้นมาจากเรื่องลิลิตพระลอ
โดยเนื้อหาในโคลง เป็นบทสนทนาระหว่าง
พระเพื่อน พระแพง กับพี่เลี้ยงทั้งสอง
ที่เมาท์กันถึงเสียงร่ำลือความงามของพระลอ
แค่ได้ฟัง ยังไม่เคยเห็นหน้าก็อยากจะได้เขาเสียแล้ว
พี่เลี้ยงทั้งสองจึงให้คนไปขับซอชมโฉมพระเพื่อนพระแพง –
ให้พระลอฟังบ้าง ซึ่งพระลอก็สนใจ แต่ก็ยังไม่ออกตัว
พี่เลี้ยงทั้งสองจึงต้องไปติดต่อปู่เจ้าสมิงพราย ให้มาทำเสน่ห์ให้
แล้วเรื่องทั้งหมดก็ดำเนินไปในทำนองนั้น ..
อืม .. วรรณคดีไทย!
หนังสือเล่มนี้ถูกแบ่งออกเป็นตอนไม่สั้นไม่ยาว
แต่ละตอน หยิบยกวรรณคดีและพงศาวดารไทยมาตั้งคำถาม
อย่าเพิ่งเกร็ง มันไม่ได้เป็นคำถามที่จริงจังจนน่ากลัว
จริงๆ แล้ว หากอ่านแต่คำถาม
มันเป็นคำถามที่ค่อนข้างไม่เป็นสาระเสียด้วยซ้ำ >,<
แต่เป็นเพราะผู้เขียนมีจังหวะการเล่าเรื่องที่ชวนติดตาม
มีกระบวนการค้นคว้าหาคำตอบที่น่าทึ่ง
นอกจากนี้ยังมีวิธีเล่า ที่นำพาเราคลำทางหาคำตอบไปเรื่อยๆ
แกล้งพาหลงทางสะเปะสะปะ แต่เก็บสาระได้ระหว่างทาง
ก่อนที่จะไปพบคำตอบในช่วงท้ายของแต่ละบท
มันเป็นหนังสือที่อ่านได้ขำๆ
เราจะได้ค้นพบความสนุกระหว่างทาง
ติดอยู่อย่างเดียวตรงที่ความสงสัยของผู้เขียน
มันไม่ค่อยตรงกับความสงสัยของเรา
พอเราไม่สงสัย มันเลยไม่ค่อยมีแรงขับเคลื่อนในการอ่าน
นอกจากนี้ อารมณ์ขันอ่านสนุกในช่วงต้น
กลับจืดจางลงไปมากในช่วงท้ายๆ
ช่วงใกล้จบ เรามัวแต่หงุดกับความชายแทร่ในวรรณคดีไทย
ก็เลยจบเล่มนี้แบบไม่ประทับใจเท่าไร
แต่ถ้าตัดอคติส่วนตัวออกไป
นี่ก็เป็นหนังสือที่สร้างสรรค์และอ่านเพลินอีกเล่มค่ะ 🙂
Comments are closed.