อ่านแล้วเล่า

รัตนโกสินทร์

34-1 รัตนโกสินทร์

เรื่อง รัตนโกสินทร์
ผู้แต่ง ว.วินิจฉัยกุล
สำนักพิมพ์ ทรีบีส์
ราคา 400 บาท

เชยมากเลยค่ะ หยิบรัตนโกสินทร์มาอ่านเพราะเข้าใจว่าเป็นเรื่องยุคเดียวกันกับสี่แผ่นดิน
ที่ไหนได้ รัตนโกสินทร์เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์เลยทีเดียวเชียว
(ตรงกับรัชกาลที่ 1 – 3)
รัตนโกสินทร์ เริ่มเรื่องด้วยวิถีชีวิตของฝ่ายชาย ผิดกับที่คุ้นเคยมาจากสี่แผ่นดิน
หรือนิยายส่วนมากของว.วินิจฉัยกุล และทมยันตี (ที่เขียนแนวนี้เป็นส่วนมาก)
เป็นยุคคั่นกลางระหว่างอยุธยาที่เราคุ้นเคย (ในหนังสือนิยาย เพราะนิยมเขียนกันบ่อย)
กับยุครัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 5 ซึ่งก็คุ้นอีก (ในนิยายเช่นกัน อิอิ)
รัตนโกสินทร์จึงเป็นเหมือนส่วนเก็บตกของนวนิยายยุคที่ขาดหายไป
ภาษาที่ใช้เป็นภาษาเข้าใจง่ายมากๆ
อะไรที่ไม่เคยได้ยิน ผู้เขียนก็ได้อธิบายเอาไว้อย่างละเอียดโดยไม่ขัดอรรถรส
หรือขาดความต่อเนื่องของเนื้อเรื่องเลยแม้แต่น้อย

34-2 รัตนโกสินทร์

เปิดเรื่องที่รุ่นพ่อกับแม่ของฟัก ซึ่งเป็นคนจีนมาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร
พ่อของฟักเป็นพ่อค้า ใครๆ เรียกกันว่าเจ้าสัวนายเตา
มีแม่เป็นคนไทยเชื้อสายมอญชื่อแม่พลับ
มีอารับราชการเป็นล่ามอยู่ในวังหลวง คือขุนพจนาพิจิตร
และมีลุงพี่ชายของแม่รับราชการในหน่วยสอดแนม คือสมิงศรีไชย
ฟักมีพี่สาวร่วมมารดาคนหนึ่งชื่อส้มจีน และมีน้องชายชื่อทั่ง

ล่วงเข้าแผ่นดินที่สอง บ้านเมืองร่มเย็นเป็นสุข
ในรัชสมัยของสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 เป็นยุคที่วรรณคดีเฟื่องฟู
คนในแผ่นดินล้วนเจ้าบทเจ้ากลอน เนื่องด้วยเป็นพระราชนิยม
บุคคลร่วมสมัยที่ปรากฏในนิยายคือขุนสุนทรโวหาร (ภู่)
และท่านอินทร์นายนรินทรธิเบศร (ผู้ประพันธ์นิราศนรินทร์)
(เสียดายที่ผู้เขียนแตะเพียงนิดหน่อย เมื่อเปลี่ยนแผ่นดิน ความเฟื่องฟูด้านนี้ก็ลดลง
แทบไม่ได้ถูกกล่าวถึงอีกเลย)

ฟักเติบโตขึ้นเป็นเด็กหนุ่มที่มีปฏิภาณไหวพริบฉลาดเฉลียว
เป็นคนกล้า มีคารมเป็นอาวุธสำคัญประจำกาย
เมื่อส้มจีนพี่สาวของฟักออกเรือนไปกับแสง ลูกคุณพระราชพินิจจัยได้ไม่นาน
ฟักก็ได้ไปติดสอยห้อยตามเป็นทนายในบ้านคุณพระฯ ด้วย

ครั้งหนึ่ง มีโอกาสเคยได้พบปะช่วยเด็กหญิงแสนซนจมน้ำเสียก่อนหนหนึ่ง
เรื่องนี้พระเอกนางเอกจึงได้พบกันตั้งแต่แม่เพ็งยังไว้จุก
อ่านถึงตรงนี้แล้วนึกถึงเรื่องข้าบดินทร์เลย
เหตุการณ์เกิดขึ้นในยุคใกล้เคียงกัน และนางเอกก็แก่นแก้วพอกัน
(คนนึงกระโดดน้ำ อีกคนปีนต้นไม้)

แม่เพ็งเป็นลูกสาวคนเดียวของพระยาสุเรนทรราชเสนา ปลัดทูลฉลองวังหน้า
กับท่านผู้หญิงเรียม เป็นเด็กเก่งกล้าแก่แดด ไม่กลัวใคร
แม้เมื่อเจริญวัย จะถูกส่งตัวเข้าไปถวายตัวในวัง ก็ยังไม่ลดฤทธิ์
(อันนี้ก็น่าเสียดาย นึกว่าพอแต่งงานแล้วแม่เพ็งจะฤทธิ์เยอะกว่านี้ ^^)

นิยายได้บันทึกเหตุสงครามและการทูต ทั้งกับพม่าและพวกฝรั่งเอาไว้ด้วย
แม้จะไม่ได้บันทึกประวัติศาสตร์เอาไว้ละเอียดเท่าสี่แผ่นดิน แต่ก็มีกล่าวถึงบ้าง
แม้สงครามจะไม่ได้เกิดขึ้นในเมืองหลวง
แต่ตามหัวเมืองต่างๆ ก็ต้องพบศึกน้อยใหญ่ประปราย
ทูตฝรั่งเองก็พยายามที่จะเข้ามาเจรจาขอทำสนธิสัญญาต่างๆ
อันเป็นชนวนเหตุนำไปสู่การบีบบังคับเราอย่างเต็มที่ในสมัยรัชกาลที่ 5
(อย่างที่เคยอ่านไปในทวิภพและอื่นๆ อีกมากมาย)
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่บ้านเรา ก็เหมือนเป็นเหตุการณ์คู่ขนานกับทางพม่า
ผิดแต่ทางเราใช้นโยบายละมุนละม่อมกว่ามาก และผลที่เกิดขึ้นก็แตกต่างกันมากเช่นกัน

เมื่อเติบโตถึงวัยก้าวหน้า ฟักก็มีโอกาสได้เป็นทนายติดตามสมิงศรไชยผู้เป็นลุง
ซึ่งบัดนี้เลื่อนยศเป็นสมิงรัตสังรามเข้าไปในวังหลวง
ด้วยความที่ฟักเป็นผู้มีปฏิภาณไหวพริบที่ดี สติปัญญาและความจำเป็นเลิศ
เขาจึงก้าวหน้าในหน้าที่การงานแม้ไม่มีเชื้อสายสนับสนุนมาก่อน

นอกจากนี้ ฟักยังยึดมั่นในความถูกต้อง ไม่กลัวใครจนบางครั้งดูเหมือนโผงผาง
หลายครั้งที่ทำการบุกเข้าถ้ำเสือโต้งๆ ทำเอาคนอ่านหัวใจตุ๊มๆ ต่อมๆ
จะว่าไปก็เหมือนการสร้างศัตรู สะสมศัตรู
แม้ว่าสิ่งที่ทำจะเป็ฯการทำความดี แต่ผู้ที่เสียประโยชน์ก็ย่อมจะเกลียดเอาได้

เนื้อเรื่องในหลายตอน ผู้เขียนสอดแทรกธรรมะแห่งการดำเนินชีวิตเอาไว้ด้วย
ฟักเป็นคนไม่นิ่งดูดายต่อความเดือดร้อนของผู้อื่น
แม้ว่าการกระทำเช่นนั้นจะเป็นการสร้างศัตรูให้ตนก็ตาม
ผู้เขียนยังคงสอนวิธีคิดที่จะให้อภัยแก่ผู้อื่นด้วยการมองเหตุ มองผล
เอาใจเขามาใส่ใจเรา สอดคล้องไปกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในนิยาย
สอนใจเราได้อย่างเนียนๆ ด้วย

34-3 รัตนโกสินทร์

ฟักครองตัวเป็นโสดอยู่หลายปี ไม่เคยรัก ไม่เคยมองผู้หญิงที่ไหน
แต่บทจะรัก บทจะส่งผู้ใหญ่ไปสู่ขอ กลับปุบปับรวดเร็วจนตามแทบไม่ทัน
แต่ถึงอย่างนั้น ฟักก็ไม่ใช่คนหวานอย่างคุณเปรม
ถึงฝีปากจะดี แต่ก็ไม่ชวนให้หัวใจฟูๆ กินใจเหมือนตอนอ่านคุณเปรมจีบแม่พลอย

แม้ยุคในรัตนโกสินทร์จะเกิดขึ้นก่อนยุคสี่แผ่นดินหลายรัชกาล
แต่สาวชาววังอย่างแม่เพ็ง ดูจะเปรี้ยวจี๊ดกว่าแม่พลอยหลายขุม
มีโอกาสได้พบปะพูดคุยกับฟักหลายคร้งหลายครา
ได้แอบพูดคุยกันลำพัง (กับบ่าวไกลๆ) อยู่หลายหน
เทียบกับแม่พลอยและคุณเปรมที่ไม่เคยพูดคุยกันเลย
คงคาดเดาได้ว่าเป็นเรื่องเฉพาะตัวบุคคลและเหตุการณ์ มากกว่ายุคสมัย

ชีวิตสมรสของพ่อฟักและแม่เพ็ง ไม่ค่อยราบรื่นตั้งแต่วันพิธี
แม่เพ็งมีบุตรสาวติดต่อกันมาหลายคนโดยไม่มีวี่แววว่าจะมีบุตรชายเลย
ทำให้แม่พลับต้องเข้ามาแทรกแซงชีวิตของคนทั้งคู่
เหตุการณ์บ้านเมืองในขณะนั้น ก็สับสนและมีคลื่นใต้น้ำหลายอย่าง
ทำให้ความรักของคนทั้งคู่ยิ่งจืดจางลงไปเป็นธรรมดาของคู่ชีวิตที่อยู่กันมานาน
แม้ตลอดเรื่อง พ่อฟักกับแม่เพ็งจะไม่ได้แสดงความรักต่อกันให้คนอ่านเห็นสักเท่าไร
แต่ในตอนจบ กลับโรแมนติคลึกซึ้งไม่ผิดหวังเลย

ในตอนท้ายเล่ม ผู้เขียนได้เพิ่มรายละเอียดเบื้องหลังของนวนิยาย-
เรื่องรัตนโกสินทร์เอาไว้อย่างละเอียด
เป็นข้อมูลสำคัญสำหรับผู้ที่อยากเขียนนิยาย (ให้ดี) เพราะมีขั้นตอนโดยละเอียด
รวมไปถึงหนังสือที่ใช้ในการค้นคว้าอ้างอิงทั้งหลาย กว่าจะมาเป็นนิยายหนึ่งเรื่อง
ทำให้เห็นว่านักเขียนคุณภาพนั้นเขียนนิยายอย่างไร

นอกจากนี้ เรายังได้รู้ว่าตัวละครในเรื่องมีตัวตนอยู่จริงในประวัติศาสตร์
(อันนี้ทึ่งมาก)
แม้ไม่ใช่บุคคลสำคัญเช่นวีรชนไทยที่ถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์
แต่ชีวประวัติและคุณงามความดีของฟัก (พระมหาวินิจฉัย) ก็ได้รับการบันทึกเอาไว้
โดยลูกหลานในตระกูลของท่าน (พระสรรค์บุรานุรักษ์ (ภู่ วินิจฉัยกุล))
พออ่านถึงตรงนี้ถึงเข้าใจได้เลาๆ ว่า ทำไมบางครั้งผู้เขียนบิ้วท์อารมณ์เอาไว้แล้ว
กลับจบเหตุการณ์ลงง่ายดาย ไม่สุดอย่างที่นิยายควรจะเป็น
คงเป็นเพราะต้องดำเนินเรื่องให้สอดคล้องกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นนี่เอง

โดยรวมแล้ว รัตนโกสินทร์เป็นนิยายที่สนุกมากค่ะ อ่านแล้วติดหนึบวางไม่ลงเลย ^^
ชอบค่ะ

Comments are closed.