อ่านแล้วเล่า

พินบอล 1973

99 พินบอล 1973

เรื่อง พินบอล 1973
ผู้แต่ง ฮารูกิ มูราคามิ
ผู้แปล นพดล เวชสวัสดิ์
สำนักพิมพ์ กำมะหยี่
ราคา 160 บาท

ฮ่าๆๆ เริ่มต้นด้วยเสียงหัวเราะก่อนเลย เป็นเสียงหัวเราะเยาะตัวเองนั่นเอง
สมน้ำหน้า ที่เจอสดับลมขับขานเข้าไปแล้วหนึ่งเล่มยังไม่เข็ด
ยังจะหยิบเอาพินบอลฯ มาอ่านอีก
แรงจูงใจหลัก ไม่ใกล้ไม่ไกลค่ะ จากกติกาของเกมบิงโกที่เล่นอยู่นั่นเอง

แม้จะเพิ่งอ่าน สดับลมขับขาน จบไปได้ไม่นาน
แต่ก็เหมือนนิยายเล่มอื่นๆ ของมูราคามิน่ะแหละ เราจำอะไรไม่ค่อยได้เลย
เมื่อกลับมาอ่านพินบอลฯ ซึ่งว่ากันว่าเป็นเล่มต่อของสดับลมฯ
เลยดูจะงงๆ นิดหน่อยว่า ตกลง “ผม” เลิกเรียนแล้วเหรอ ..
แล้วดาวศุกร์ ดาวเสาร์ ดาวเคราะห์ เกี่ยวอะไรด้วย (ฟระ!!) ..
(อ่านไปเรื่อยๆ เราก็เดาเอาเองว่าช่วงที่ “ผม” เล่าถึงมนุษย์จากดาวศุกร์ ดาวเสาร์ ฯลฯ นั้น
เป็นถ้อยคำที่จะเรียกว่าอุปมาก็ไม่ใช่
แต่เป็นความอัดอั้น (ของเฮียมูฯ) ที่ทะลักออกมาเป็นตัวอักษร

โดยไม่สนใจว่าเนื้อหาของมันจะไร้ซึ่งตรรกะ)

ตัวละครในเรื่องนี้คนหนึ่งคือนาโอโกะ ..
จำไม่ได้ซะแล้วสิว่า ในสดับลมขับขานนั้น มีคนที่ชื่อนี้หรือเปล่า
(แม้จะคุ้นๆ แต่ก็คาดว่าได้ยินเป็นครั้งแรกนะ ..)

ในเล่มนี้ สิ่งหนึ่งที่สะดุดความคิดเราตอนที่อ่านก็คือ
มูราคามิบรรยายฉากเหตุการณ์ได้สละสลวย
เป็นการประดิษฐ์คำที่สร้างภาพที่สวยงาม .. จำไม่ได้อีกเช่นเคยว่าเล่มที่แล้วมีหรือเปล่า
แต่เท่าที่คุ้นๆ ตอนที่อ่านสดับลมขับขานนั้นไม่มีความรู้สึกแบบนี้นะ ..

ตกลงต้องไปเปิดเช็ค 3 คำถามคาใจจนอ่านต่อไม่รู้เรื่อง (อ่านนิยายหรือประวัติศาสตร์นี่!!)
สรุปว่า สดับลมฯ เกิดช่วงปี 1970 และ “ผม” กำลังเรียนอยู่
ส่วนพินบอลฯ เกิดช่วงปี 1969 – 1973 ควบรวมสดับลมฯ เข้าไว้ด้วย
ส่วนนาโอโกะ เท่าที่เปิดทวนผ่านๆ ไม่ปรากฎชื่อในสดับลมฯ นะ (แต่ชื่อคุ้นมากเลย)
และว่าด้วยเรื่องสำนวน .. เล่มนี้บรรยายฉากมากขึ้น และภาษาสวยขึ้นจริงๆ (คหสต.)
จบเรื่องคาใจ มาอ่านต่อ (ฮา)

30-3 พินบอล 1973

ผู้ที่เขียนนิยายเรื่องพินบอล ไม่ใช่มูราคามิ แต่เป็น “ผม” ในเรื่องต่างหาก
“ผม” ผู้หลงรักนาโอมิ แต่นาโอมิตายไปแล้ว
“ผม” ผู้ที่เช้าวันหนึ่งตื่นขึ้นมาพบว่าตัวเองนอนอยู่กับสองสาวฝาแฝดร่างเปลือยเปล่า
(ฝาแฝดอีกแล้ว จำได้ว่าแม่สาวสิบเก้านิ้วคนก่อน ..
ก็มีฝาแฝดอยู่อีกคนหนึ่ง เพียงแต่ไม่ปรากฎกายในเรื่อง)
และ “ผม” นี่เอง ที่เขียนเรื่องพินบอล .. เรื่องที่เขาบอกว่าเป็นเรื่องของมุสิก
(อันที่จริงเนื้อหาเล่าสลับกันไประหว่าง “ผม” กับมุสิก)

อาจจะเป็นเพราะเริ่มชิน หรือไม่ก็เล่มนี้มูราคามิเขียนดีขึ้นจริงๆ
พินบอลฯ จึงดูเป็นนิยาย มีเรื่องราว มีที่มาที่ไป อ่านเข้าใจ รู้เรื่องกว่าสดับลมฯ เยอะ

30-2 พินบอล 1973

แม้เวลาจะล่วงผ่านมาแล้วถึง 3 ปี แต่มุสิกยังคงมีกิจวัตรเช่นเดิม วนเวียนไปตามฤดูกาล
และนั่งจิบเบียร์ยามค่ำคืนในบาร์ของเจ เจ้าของเดิม เจ้าของเดียวกันกับบาร์ในสดับลมฯ
เขาเลิกเรียนหนังสือ ซื้อพิมพ์ดีด ..
แต่ก็ไม่เห็นได้เริ่มต้นชีวิตการเป็นนักเขียนอย่างที่ทิ้งท้ายเอาไว้ในสดับลมฯ ตอนจบ

ตัวละครแต่ละตัวในเรื่องว่างเปล่า ไร้จุดหมาย ใช้ชีวิตไปเรื่อยๆ ด้วยกิจวัตรซ้ำๆ
ไม่สุขกับงานที่ทำ .. แต่ก็ไม่ทุกข์กันมัน
เนื้อเรื่องแบบนี้จะมีอะไรให้สนุก

และเหมือนเคย นิยายของมูราคามิแทบจะไม่พูดถึงพินบอลอันเป็นชื่อเรื่องเลย จนใกล้จบ
(ตอนอ่านสดับลมฯ เนื้อหาก็ไม่เกี่ยวกับการฟังเสียงลมเลยจนใกล้จบเช่นกัน -*-)
มันคงเป็นกรรมวิธีของมูราคามิกระมัง

จุดเดียวที่ไม่เรื่อยเฉื่อยในชีวิตของ “ผม” ก็คงจะเป็นตู้พินบอล
และจุดเดียวที่เป็นแรงขับเคลื่อนให้มุสิกเปลี่ยนวิถีชีวิตก็คือ “เธอ”
คนทั่วๆ ไป ก็คงคล้ายๆ อย่างนี้ ใช้ชีวิตซ้ำซากไปเรื่อยๆ จนกว่าจะมีปัจจัยบางอย่างมาเปลี่ยน
ว่าแต่เรื่องแบบนี้ก็เอามาเขียนเป็นนิยายได้แฮะ

30-4 พินบอล 1973

ลองจินตนาการถึงความสัมพันธ์ของ “ผม” กับตู้พินบอล
มันคงคล้ายๆ กับความทรงจำในอดีตของเรา .. อาจจะโหยหา คิดถึง
หรือแม้กระทั่งออกติดตาม ..
แต่ก็คงไม่เพี้ยน หลุดโลกได้อย่าง “ผม” ที่พูดคุยกับตู้พินบอลได้เป็นตุเป็นตะขนาดนี้
.. หรืออาจจะเป็น?
บางที ความเพี้ยนอาจอยู่ในตัวเราทุกคน

จบนิยายเล่มที่สอง ถ้าถามว่านิยายของมูราคามิเป็นยังไง ก็คงตอบว่าก็โอเค
แต่ก็คงไม่แนะนำใครอ่าน .. ถ้าใครอยากอ่าน ก็ขอให้หยิบอ่านเอง ..
มันเฉพาะทางเกินไป และยากที่จะอ่านให้สนุกจริงๆ

จบเล่มแรก .. สดับลมขับขาน .. ด้วยการที่ “ผม” ออกเดินทาง
จบเล่มนี้ .. พินบอล 1973 .. ด้วยการที่ “มุสิก” (และคู่แฝด) ออกเดินทาง
แล้วเล่มหน้าล่ะ .. แม้จะอยากรู้ แต่ยังก่อน คงต้องเว้นมูราคามิอีกสักระยะ ;P

Comments are closed.