อ่านแล้วเล่า

ประวัติศาสตร์กินได้

111-2 ประวัติศาสตร์กินได้

เรื่อง ประวัติศาสตร์กินได้
ผู้แต่ง Tom Standage
ผู้แปล โตมร ศุขปรีชา
สำนักพิมพ์ openworlds
ราคา 250 บาท

หนังสือเล่มนี้เขียนโดยชาวตะวันตก และมีความเป็นตะวันตกมากจนน่าหมั่นไส้!

ประวัติศาสตร์กินได้ บอกเล่าประวัติศาสตร์ตั้งแต่มนุษย์เริ่มมีหลักฐานการกินอาหาร
ผ่านยุคเกษตรกรรม ล่าอาณานิคม อุตสาหกรรม จนกระทั่งปัจจุบัน 
เล่าโดยใช้อาหารเป็นตัวเชื่อมโยง

การใช้อาหารบอกเล่าประวัติศาสตร์
การพัฒนา วิวัฒนา การเปลี่ยนถ่ายของวัฒนธรรมและอารยธรรมต่างๆ ของมนุษย์
การก่อเกิดอำนาจ และการผันแปรของอำนาจ ตั้งแต่กลุ่มเล็กๆ อย่างชุมชน เมือง หรืออาณาจักร และทวีป
อาหารทำให้คนสะสม ยึดถือ และเอาเปรียบกันและกัน
(ไม่รู้ว่าคนเขียนหรือคนอ่านกันแน่ .. ที่อ่านและแปรมันไปในแง่ร้ายขนาดนี้ ..
โดยส่วนตัว ข้าพเจ้าถนัดด้านมืดอยู่แล้วด้วยสิ 555)

111-1 ประวัติศาสตร์กินได้

ข้อมูลจากประวัติศาสตร์กินได้เล่มนี้ ช่วยย้ำกับเราอีกครั้งว่ามนุษย์นี้ช่างอภิสิทธิ์จริงๆ
เริ่มต้นกันตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ ก่อนที่มนุษย์จะรู้จักสิ่งที่เรียกว่า “วิทยาศาสตร์” ด้วยซ้ำ
แม้มนุษย์จะยังไม่รู้จัก GMO แต่มนุษย์ก็ทำการคัดสรรพืชพันธุ์อาหารต่างๆ รวมทั้งเนื้อสัตว์
ให้แปรเปลี่ยนสายพันธุ์ไปในทางที่เกิดประโยชน์แต่มนุษย์สถานเดียว
เรียกง่ายๆ ว่าถ้ามนุษย์สูญพันธุ์ พืชพันธุ์ธัญญาหาร รวมไปถึงสัตว์อีกหลายชนิด
เตรียมตัวพากันสูญพันธุ์ตามมนุษย์ไปได้เลย
เพราะพวกมันแทบจะลดอวัยวะ หรือยีนอันเป็นประโยชน์ในการพึ่งตนเองไปเสียสิ้น
บอกแล้วว่ามนุษย์นี้ช่างอภิสิทธิ์เสียนี่กระไร!

111-6 ประวัติศาสตร์กินได้

การอ่านเล่มนี้ มีความสนุกในการอ่านพัฒนาการชีวิตของผู้คนเผ่าพันธุ์เดียวกับเรา
ระเรื่อยมาแต่ดึกดำบรรพ์จวบถึงยุคทุนนิยมอันวุ่นวาย
ใช่แต่มนุษย์จะเปลี่ยนแปลงสรรพสิ่งรอบๆ ตัว
สรรพสิ่งรอบๆ ตัวอย่างพืชพันธุ์ ธัญญาหาร และสัตว์เลี้ยงเอง ก็เปลี่ยนแปลงมนุษย์
สรีระของเราเปลี่ยนไป พฤติกรรมของเราเปลี่ยนไป
เวลาว่างที่หลงเหลือจากการไม่ต้องออกล่าสัตว์หาอาหาร
ทำให้มนุษย์เริ่มที่จะสะสม สร้างงานศิลป์ อารยธรรม และ .. สงคราม

หลังจากที่มนุษย์เริ่มทำการเกษตร
เราเริ่มได้เห็นถึงวิวัฒนาการของการก่อร่างสร้างเมือง
การก่อเกิดอาชีพและการปกครอง ค่อยเป็นค่อยไป เริ่มอย่างช้าๆ และน่าติดตาม
มนุษย์ค่อยๆ หล่อหลอมรวมกัน และค่อยๆ มีกฎกติกาในการอยู่รวมกัน

111-5 ประวัติศาสตร์กินได้

มนุษย์ไม่ได้ต้องการความเท่าเทียมกันมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว
เราล้วนต้องการความเหนือกว่าผู้อื่นเสมอ ..

นักล่าอาณานิคมเป็นแขกที่น่าทุเรศ
เขาเข้ามาในบ้านคนอื่น หยิบข้าวของในบ้านไปเป็นของตน
กดขี่คนในบ้านให้กลายเป็นทาส และอวดอ้างตนเองเหนือกว่าเจ้าของบ้านเดิม

ความหลงใหลในกลิ่นรสอันเย้าวยวนเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามและประเพณีการล่าอาณานิคมอย่างบ้าคลั่ง
นึกภาพไม่ออกจริงๆ ว่า คนต่างถิ่นอันไกลโพ้น
เริ่มต้นด้วยการเดินทางมากับเรือเปล่าๆ ไม่กี่ลำ
มันค่อยๆ กลายเป็นกำลังแทรกซึมจนยึดครองเจ้าของประเทศไปได้อย่างไร

ประเทศฝั่งเอเชียเปรียบเสมือนก้อนเค้กที่หวานหอมไร้เจ้าของ
รอคอยให้เหล่านักล่าอาณานิคมฉกฉวย แก่งแย่ง หรือตัดแบ่งกันตามใจชอบ
มีแต่การตกลงกันว่าใครจะเอาส่วนไหน โดยไม่เอ่ยปากถามความเห็นความสมัครใจของชนเผ่าพื้นเมืองเลย

เดินทางมาในนามของพระเจ้า แต่กลับผิดบาปในหลักความเชื่อของศาสนาตนเอง
อวดอ้าง เอาแต่ได้ และน่ารังเกียจที่สุด
(นี่ข้าพเจ้าใส่ความเห็น/อคติส่วนบุคคลลงไปอีกแล้วใช่ไหม -*-)

111-3 ประวัติศาสตร์กินได้

อ่านแล้วก็เห็นถึงสัจธรรมชีวิตดี
ของอย่างหนึ่งในยุคสมัยหนึ่งช่างมีค่าล้นเหลือ
แต่พอเวลาผ่านไปไม่นานเท่าไร หลังจากที่ทุกคนต่างสรรหามันมาครอบครองกันจนเกร่อ
มันก็จะหมดค่าไปเองในที่สุด
ทั้งๆ ที่ของก็เป็นของเดิม คุณสมบัติเดิมๆ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงใดๆ ไปเลย
เราต่างหากที่เพิ่มหรือลดค่าของมันตามความนิยม
นับตั้งแต่เครื่องเทศ สับปะรด ไล่ระมาเรื่อยๆ จวบแม้กระทั่งข้าวของต่างๆ เต็มบ้านของเรา
มันก็วกวนอยู่ในสัจธรรมนี้กันทั้งนั้น

111-4 ประวัติศาสตร์กินได้

การบริโภคทรัพยากรของโลกอย่างตะกรุมตะกรามทำให้มนุษยประสบกับความขาดแคลนอยู่เสมอๆ
บางทีก็ขาดแคลนอาหาร และบางคราก็ขาดแคลนพลังงาน
การขาดแคลนนี้เองที่นำมาสู่การเปลี่ยนแปลง .. ซึ่งก็ต้องตัดสินกันในระยะยาวว่า
เปลี่ยนแล้วดีขึ้นหรือแย่ลงกันแน่
แต่สิ่งหนึ่งที่มนุษย์ไม่เคยจะเปลี่ยนเลย คือการเปลี่ยนแปลงตัวเอง
ลดการอุปโภคบริโภคอย่างไม่บันยะบันยังนั้น

นับจากวันที่มนุษย์ได้รู้จักสงคราม
ดูเหมือนทุกสิ่งที่อย่างที่ก่อเกิดนับจากนั้นล้วนเป็นไปเพื่อสนับสนุนสงครามทั้งสิ้น
ในที่นี้ หมายถึงทั้งสงครามโดยตรง และสงครามอย่างอ้อมๆ ที่คุกรุ่นอย่างไม่มีวันสงบ
สงครามเป็นแรงผลักสำคัญให้เกิดการพัฒนาในหลายๆ ทาง รวมทั้งอาหารด้วย
เพราะกองทัพเดินด้วยท้องนี่นา ..

ยิ่งมนุษย์พัฒนามากขึ้นไปเท่าไร
ความซับซ้อนในความสัมพันธ์ระหว่างหมู่มวลมนุษย์และอาหารยิ่งพิสดารพันลึก
มนุษย์สามารถทำอะไรติงต๊อง โดยใช้เหตุผลอันเลอเลิศมาสนับสนุนการกระทำของตนเอง
ยอมใช้เหตุผลที่ไร้ตรรกะ แต่ไม่ยอมเสียศักดิ์ศรียอมรับข้อผิดพลาดของตนเอง
ตอนทำ ตอนเป็นคงจะไม่รู้สึกกันเท่าไรหรอก
แต่พอมาถูกบันทึกเป็นประวัติศาสตร์ให้อ่านโดยสรุปแล้วนั้น .. มันโคตระติงต๊องเลยอ่ะ

มันเหมือนมนุษย์ติดกับตัวเอง นับจากวันที่เราไม่สามารถสร้างอาหารเองได้
มนุษย์ยังเป็นสิ่งมีชีวิตที่ต้องล่าสัตว์และเก็บของป่ายังชีพ
จนมาวันหนึ่ง พวกเราเรียนรู้ที่จะเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์
เราเริ่มรู้จักการกักตุนอาหาร และนำมาซึ่งการกักตุนสิ่งอื่นๆ
เริ่มมีการส่งออก และเริ่มมีความต้องการอาหารที่ไม่มีในท้องถิ่นสูงขึ้นเรื่อยๆ
เราสร้างกลไกต่างๆ ขึ้นมามากมายเพื่อต่อรอง และเพื่อเป็นใหญ่ในวงการอาหารในวงการอื่นๆ
อาหารกลายเป็นสัญลักษณ์ของศักดิ์ศรีบ้าๆ บอๆ
จนกระทั่งในที่สุด มนุษย์ก็ติดกับตัวเอง
อาหารที่ถูกสร้างเกินพอดี การกินอยู่อย่างฟุ่มเฟือยเกินจำเป็น กลับกลายเป็นความจำเป็นอันเคยชิน
และในวันหนึ่ง แร้วบ่วงต่างๆ เหล่านั้นก็ค่อยๆ ผูกมัดเรา
การขาดแคลนอาหารค่อยๆ คืบคลานครอบคลุมเราทีละน้อย ..
นั่นล่ะ มนุษย์จะต้องดิ้นจนกว่าจะเฮือกสุดท้าย .. ของมนุษย์คนสุดท้าย ..

โดยสรุป หนังสือเล่มนี้เป็นการวาดภาพประวัติศาสตร์เป็นเส้นทางเดียวกันโดยตลอดเรื่อง
เป็นภาพรวมที่เข้าใจง่าย และไม่หนักสมองเท่าที่กลัว
อ่านเอาเพลินหรือเปิดโลกทัศน์ทางประวัติศาสตร์สนุกๆ
เป็นการปูทางง่ายๆ ที่จะหยิบหนังสือประวัติศาสตร์เล่มต่อไปมาอ่านค่ะ

Comments are closed.