อ่านแล้วเล่า

บันทึกลับของ แอนน์ แฟร้งค์

เรื่อง บันทึกลับของ แอนน์ แฟร้งค์
ผู้เขียน แอนน์ แฟร้งค์
ผู้แปล สังวรณ์ ไกรฤกษ์
สำนักพิมพ์ ผีเสื้อ
เลขมาตรฐานหนังสือ 9789741405169

แม้จะอ่านหนังสือมาตลอดชีวิต
แต่เชยมาก ที่เราเพิ่งจะได้อ่าน บันทึกลับของ แอนน์ แฟร้งค์ เล่มนี้

บันทึกลับของ แอนน์ แฟร้งค์
เป็นหนังสือที่ถูกพิมพ์ขึ้นจากเนื้อหาในสมุดบันทึกเล่มจริง
ของเด็กหญิงเชื้อสายยิวคนหนึ่งนามว่า แอนน์ แฟร้งค์
(หรืออันเน่อ ฟรังค์ หรืออันเนอลีเซอ มารี ฟรังค์ ในภาษาเยอรมัน)
แอนน์เป็นเด็กหญิงชาวยิวในเยอรมัน
ที่มีชีวิตอยู่ในช่วงที่ฮิตเลอร์ก้าวขึ้นเป็นผู้นำประเทศ
หลังจากวันที่ฮิตเลอร์ขึ้นครองอำนาจ
อ๊อตโต้ แฟร้งค์ พ่อของแอนน์
ได้ตัดสินใจอพยพครอบครัวออกจากประเทศเยอรมัน
ไปตั้งรกรากอยู่ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ (ฮอลแลนด์)

วันเวลาผ่านไปร่วมสิบปี
แอนน์เติบโตขึ้น ณ ประเทศแห่งนี้ จนถึงวันที่เธออายุครบ 13 ขวบ
เธอได้รับของขวัญเป็นสมุดบันทึกปกสีแดงลายสก็อต
มันเป็นของขวัญที่เธอรักมาก และเป็นของขวัญที่กลายมาเป็นสมุดบันทึกเล่มสำคัญ
ที่ได้บันทึกเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตของเธอ

นับตั้งแต่วันที่ 12 มิถุนายน ค.ศ. 1942 วันแรกที่เธอเขียนลงไปในสมุดบันทึก
ผ่านวันเวลาที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ตกเป็นของเยอรมนี
(ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2)
วันที่ครอบครัวของเธอตัดสินใจอพยพเข้าไปอยู่ใน “ที่ซ่อนลับ”
ที่ได้เตรียมการไว้ก่อนแล้ว
มันเป็นพื้นที่ส่วนลับที่ซ่อนอยู่ชั้นบนของสำนักงาน ที่ทำงานของอ๊อตโต้ แฟร้งค์
ผ่านการช่วยเหลือของเพื่อนร่วมงานหลายคน ได้แก่
วิคตอร์ คูเกล้อร์, โยฮานเนส ไคล์แมน, อลิซาเบธ (เบ๊ป) วอสคุยล์,
เมี้ยป ซานทรูสชิทซ์ กีส์, และแจน กีส์ สามีของเมี้ยป

แอนน์บันทึกเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ปิดเงียบ
มีเพียงผู้ช่วยเหลือไม่กี่คน ที่รับรู้ และคอยส่งเสบียง
ครอบครัวของเธอจำนวน 4 คน ประกอบไปด้วยอ๊อตโต้ แฟร้งค์ (พ่อ),
อิดิธ ฮอลแลนเดอร์ แฟร้งค์ (แม่), มาร์กอท พี่สาวของเธอ, และตัวเธอเอง
นอกจากนี้ ยังมีอีกหนึ่งครอบครัว คือครอบครัววานดาน (นามสกุลจริงคือวานเพล)
ประกอบไปด้วยแฮร์มันน์ วานเพล (พ่อ), ออกุสท์ วานเพล (แม่),
และปีเต้อร์ วานเพล บุตรชาย
และสมาชิกที่เข้ามาเป็นคนสุดท้ายในที่ซ่อนลับนี้เป็นทันตแพทย์
ชื่อว่าฟริตซ์ เฟ็ฟเฟ่อร์ (ในสมุดบันทึกใช้ชื่อ อัลเฟร็ด ดุสเซิ่ล)
รวมทั้งสิ้น 8 ชีวิต

เมื่อจำเป็นต้องอยู่รวมกันถึงสองครอบครัว (กับอีกหนึ่งคนในภายหลัง)
และทุกคนไปไหนไม่ได้
การกระทบกระทั่งเล็กๆ น้อยๆ จึงเกิดขึ้นเสมอ

พวกเขายังคงตื่นเช้าและนอนหลับตามตารางเวลา
มีกิจวัตรการงานทำกันทั้งวัน จนน่าสงสัยว่ามีอะไรให้ทำมากมายขนาดนั้น
พวกเขาช่วยงานเอกสารบางอย่างของออฟฟิศ
ทำความสะอาดห้อง ถนอมอาหารที่มีอยู่จำกัดให้เก็บไว้ได้นาน
เตรียมอาหารสำหรับในแต่ละวัน
แบ่งเวรกันเข้าห้องน้ำ ซึ่งต้องระวังเรื่องเสียงเป็นพิเศษ
ฟังเพลงและข่าวจากวิทยุด้วยกัน พูดคุยกัน ถกเถียงกัน ทะเลาะกัน ฯลฯ

นอกจากบันทึกเรื่องราวสำคัญ
ให้เราได้เห็นและเข้าใจสภาพชีวิตขณะหลบหนีแล้ว
สมุดบันทึกเล่มนี้ยังเป็นสมุดบันทึกของเด็กหญิงคนหนึ่งที่กำลังเติบโต
เธอมีความสับสน น้อยเนื้อต่ำใจในครอบครัว
มีความรู้สึกชอบพอและโกรธเกลียด

หลายครั้งที่แอนน์ได้บันทึกเหตุการณ์ สถานการณ์
และเพิ่มเติมความคิดเห็นของเธอเกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ
เธอเป็นเด็กที่เข้าใจชีวิตได้เป็นอย่างดี
มีเหตุมีผล มีความคิด 
เธอรักที่จะอ่านหนังสือ และเขียนบันทึก
เธอเขียนมันอย่างซื่อตรงต่อความรู้สึกของตน
เธอพยายามที่จะทำความรู้จักตัวเอง ทั้งข้อดีและข้อเสียที่มี
เราได้เห็นการเติบโต
ได้อ่านความคิดที่พัฒนาขึ้นทีละน้อยจากสิ่งที่แอนน์บันทึก

แอนน์ไม่เคยบ่นเรื่องอาหาร
นอกจากเล่าเรื่องความขาดแคลนของผู้คนโดยรวมในภาวะสงคราม
ไม่เคยบ่นว่าอาหารไม่เพียงพอ หรือกินไม่อิ่ม
หรือเบื่อที่จะกินอาหารซ้ำๆ 
เรารู้ว่าคุณภาพอาหารแย่ลงกว่าภาวะปกติ
เมื่อในวันเกิดของใครสักคน
ที่พวกเขาจะได้กินอาหารที่มีคุณภาพดีเหมือนช่วงก่อนสงคราม
เป็นการฉลองเล็กๆ น้อยๆ ที่พอจะทำได้ ฯลฯ

เรารับรู้ความขาดแคลนที่เกิดขึ้นได้จากบัตรปันส่วนอาหารที่จำกัดจำนวน
คือแม้มีเงินก็ซื้อไม่ได้หากไม่มีบัตรปันส่วนนี้
รับรู้จากการที่สองครอบครัวทะเลาะกันเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เกี่ยวกับการแบ่งส่วนอาหาร
รู้จากการที่มีคนอดอยากบนท้องถนน (เมื่อแอบมองผ่านหน้าต่างลงไป)
มีคนดีๆ ที่กลายเป็นขโมยเกิดขึ้นมากมาย
สำนักงานที่แอนน์และครอบครัวแอบซ่อนตัวอยู่
ถูกขโมยงัดแงะเข้ามาขโมยของหลายครั้ง

ช่วงเวลาที่แอนน์และครอบครัวซ่อนตัวอยู่ในที่ซ่อนลับแห่งนี้
เธอไม่ได้พบแต่ความลำบากที่ขาดอิสรภาพและความเป็นส่วนตัวเท่านั้น
แต่เธอค่อยๆ เติบโต ข้ามผ่านชีวิตวัยเด็กเข้าสู่วัยรุ่นอย่างเปล่าเปลี่ยว
ขาดแบบอย่างและสังคมอย่างที่วัยรุ่นควรได้รับ

บันทึกสิ้นสุดลงในวันที่ 1 สิงหาคม 1944
หลังจากนั้น 3 วัน (ในวันที่ 4 สิงหาคม 1944)
แอนน์และครอบครัวถูกจับ
รวมระยะเวลาที่ซ่อนตัวยาวนานถึง 26 เดือน (2 ปีนิดๆ)
พวกเขาถูกส่งไปยังคุกในอัมสเตอร์ดัม
ก่อนจะถูกส่งตัวไปที่ค่ายเวสเตอร์บอร์ก (ทางเหนือของฮอลแลนด์)
ทั้งหมดถูกส่งต่อไปที่ค่ายเอ้าส์ชวิตส์ (ในโปแลนด์)
และค่อยๆ ถูกแยกย้ายกันไปตามค่ายต่างๆ ในภายหลัง
แอนน์ และมาร์กอท ถูกส่งไปยังค่ายแบร์กเกิ้น – เบลเซิ่น เป็นที่สุดท้าย
พวกเธอป่วย และเสียชีวิตลงด้วยโรคระบาด
ราวต้นเดือนกุมภาพันธ์ หรือมีนาคม ค.ศ. 1945
หลังจากนั้นเพียง 1 – 2 เดือน ค่ายนี้ถูกปลดปล่อย ..
และสงครามโลกครั้งที่ 2 นี้ สิ้นสุดลงในวันที่ 2 กันยายน 1945 ..

สิ่งหนึ่งที่ทำให้เราแปลกใจคือ ที่ซ่อนลับแห่งนี้เต็มไปด้วยหนังสือ
และเพื่อนผู้ช่วยเหลือยังสามารถซื้อหนังสือ
หรือขอยืมหนังสือจากห้องสมุดมาให้ได้เสมอ
หนังสือไม่ใช่สิ่งที่ขาดแคลนในยามสงคราม
ทุกคนมีหนังสืออ่านที่เหมาะสมกับตัวเอง
น่าแปลกใจยิ่งไปกว่านั้นที่พวกเขายังสามารถเรียนหนังสือทางไปรษณีย์ได้ด้วย
โดยใช้ชื่อของผู้ที่คอยช่วยเหลือพวกเขาแทนชื่อตัวเอง
มันน่าทึ่ง และน่าชื่นชมมาก
มันแสดงออกว่าพวกเขายังมีความหวังเสมอว่า
เมื่อสงครามสิ้นสุด ทุกคนจะได้กลับมาใช้ชีวิตอิสระ
น่าเสียดายที่สุดท้ายแล้ว มีคนที่รอดชีวิตเหลืออยู่เพียงคนเดียว ..
แต่นั่นก็เพียงพอแล้วที่จะสานต่อความตั้งใจของแอนน์

 

Comments are closed.