ทุ่งมหาราช

เรื่อง ทุ่งมหาราช
ผู้แต่ง เรียมเอง
สำนักพิมพ์ บรรณกิจ
เลขมาตรฐานหนังสือ 9742209707
ทุ่งมหาราช เริ่มต้นด้วยความตายของขุนนิคมบริบาล ในปีพ.ศ. 2493
ผู้ซึ่งได้ตายไปอย่างสงบในอ้อมแขนของแม่เฒ่าสุดใจ ภรรยาคู่ทุกข์คู่ยาก
สองตายายมีทายาทที่ยังมีชีวิตหลงเหลืออยู่สองคน
คือ มิลินทร์ ลูกชายคนโต และสอิ้ง ลูกสาวอีกคนหนึ่ง
ซึ่งทั้งสองคนก็ปรากฏเพียงชื่อ ไม่เคยมีบทบาทอะไรอีกเลย -“-
เรื่องจบลงที่ตรงนั้น แล้วผู้เขียนก็พาเราย้อนหลังไปอีก 60 ปี
ณ ตำบลนครชุม แต่เดิมคือปากคลองสวนหมาก
ที่ต้นมะม่วงสายทองต้นใหญ่ ริมแม่น้ำปิง ..
สถานที่แห่งความทรงจำ .. เรื่องมันเปิดขึ้นตรงนั้น
ในวันที่สุดใจยังเป็นสาวขบเผาะวัย 16 .. ในวันที่เขาและเธอได้พบกันครั้งแรก ..
สำหรับฉากแรกพบนั้น ผู้เขียนทำเอาเราประทับใจหนังสือเล่มนี้ในทันทีเลยทีเดียว
เพราะพอเจอกันปุ๊บ ก็จีบกันหวานหยดจนเด็กสมัยนี้ต้องจิกหมอนเลย
หนุ่มลูกทุ่งสมัยก่อนจีบสาวตรงไปตรงมาโดนใจคนอ่านนักเทียว
หวานหยดและเต็มไปด้วยรสชาติเสียยิ่งกว่า แผลเก่า
ไม่เข้าใจว่าทำไมเราถึงไม่เคยรู้จัก ทุ่งมหาราช มาก่อน
ในช่วงต้นเล่ม ภาษาของเรื่องโดดเด่นมาก
มันสละสลวยดีงามที่สุดในรอบหลายสิบเล่มที่อ่านในช่วงนี้
แต่พออ่านไปสักพัก เราจึงได้พบว่าความรักของรื่นเหมือนดังสายลม
พัดผ่านมาแล้วก็ผ่านไป ..
จริงอยู่ที่เมื่อเขาให้คำสัญญากับสุดใจเอาไว้แล้วนั้น เขาก็ทำตามอย่างเคร่งครัด
ต่อเมื่อเป็นผลสำเร็จแล้วต่างหาก ความรักรุนแรงที่ว่าก็จืดจางลงกลายเป็นความชินชา
แล้วเขาก็พร้อมสำหรับรักครั้งใหม่ .. และครั้งใหม่ .. มีเหตุผลที่จะรักใหม่ได้เรื่อยๆ
พระเอกเรื่องนี้ก็เจ้าชู้เหลือเกิน ไม่รู้ว่าเป็นขนบนิยมของนิยายโบราณหรืออย่างไร
ออกนอกเรื่องรักมาสักหน่อยดีกว่า
นอกจากข้อเสียเพียงข้อเดียวของรื่น (ที่เราบ่นมาตั้งแต่ต้นคือความเจ้าชู้) นั้น
เขามีข้อดีน่านับถืออีกมากมาย
รื่นเป็นพระเอกแสนดีของชาวบ้าน ของเพื่อน ของใครต่อใคร
เขาเป็นคนทะเยอทะยาน มองการณ์ไกล ฉลาด และมุ่งมั่น
และถึงแม้จะขึ้นต้นด้วยความรักจิกหมอน แต่ ทุ่งมหาราช ไม่ใช่นิยายรัก
มันเป็นหนังสือที่ผู้เขียนนำประวัติศาสตร์การก่อร่างสร้างเมืองนับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5
นำประวัติผู้คน (แต่ใช้นามสมมติ) มาหยิบโยงร้อยเรียงเป็นนวนิยายชีวิต
ใส่สีสันให้พระเอกของเรื่องเป็นหนุ่มเจ้าเสน่ห์ มีบุคลิกโดดเด่นอยู่ทั้งสองด้าน
ทั้งด้านความเป็นผู้นำ เก่งกล้าไม่กลัวใคร ฉลาดเฉลียว มีน้ำใจ กล้าได้กล้าเสีย
กับอีกด้านหนึ่งก็เป็นนักรักที่มีสาวๆ มาพัวพันตลอด
แต่เดิมนั้น รื่นไม่ใช่ชาวบ้านคลองสวนหมาก
แต่เมื่อเขามารักกับสาวชาวคลองสวนหมากอย่างสุดใจ
รื่นก็ตั้งใจที่จะพัฒนาบ้านนี้ให้รุ่งเรือง มั่นคง
แต่การใช้ชีวิตในยุคร้อยกว่าปีมาแล้วนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย
ชาวบ้านยังต้องเผชิญกับไฟป่า โรคระบาด โจรขโมย
และภัยธรรมชาติอย่างน้ำท่วมน้ำแล้ง นับไม่ถ้วน
รื่นได้แสดงความเป็นผู้นำที่ดีหลายต่อหลายครั้ง
นอกจากนั้น เขายังมีกิจการส่วนตัวของครอบครัว คือการค้าไม้
มีศัตรูคู่แข่งที่มีอำนาจบาตรใหญ่ มีปัญหาความเชื่อใจระหว่างผองเพื่อน
รื่นต้องใช้กำลังและสติปัญญาผ่านปัญหาเหล่านั้นไปให้ได้ดีที่สุด
ตรงส่วนนี้เราว่าอ่านสนุกดีนะ มีลุ้นบ้าง เอาใจช่วยบ้าง
เราได้เห็นสภาพบ้านเมืองในยุคสมัยรัชกาลที่ 5
ได้เห็นการใช้ชีวิตของผู้คน เห็นการประกอบอาชีพ เห็นความคิดอ่าน
เห็นความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้ ของสัตว์ป่า ฯลฯ
ได้เห็นปัญหาของเขา ซึ่งบางอย่างก็ไม่หนีไปจากยุคนี้เท่าไรหรอก
อ่านแล้วก็มีบางอารมณ์ที่อยากจะเกิดเป็นชาวกำแพงเพชรกับเขาบ้าง
จะได้มีอารมณ์ร่วมไปกับตัวละคร เมื่อผู้เขียนเอ่ยถึงใครในประวัติศาสตร์
หรือเอ่ยถึงสถานที่บางแห่งที่มีอยู่จริง
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เหตุการณ์เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าหลวง (รัชกาลที่ 5) เสด็จประพาสกำแพงเพชร
หรือไม่อีกที ก็อยากให้มีนักเขียนผู้มีฝีมือ ที่ถือกำเนิดอยู่ในเขตย่านบ้านเรา เขียนเรื่องเช่นนี้ให้อ่านบ้าง
โดยรวมๆ แล้วเราค่อนข้างชอบหนังสือเล่มนี้นะ
มั่นใจว่าอ่านรอบสองน่าจะชอบกว่ารอบแรกด้วย
เรื่องนี้ดีทุกอย่างเลย ยกเว้นอย่างเดียวคือให้พระเอกเป็นคนเจ้าชู้ (บ่นอีกแล้ว 555)
มันคงเป็นเสน่ห์ตามขนบของนิยายยุคก่อน
บังเอิญเราคุ้นชินกับขนบพระเอกสมัยใหม่รักเดียวใจเดียว
หรือถ้าเป็นพระเอกหลายใจ ก็ให้บทสรุปไปเลยว่าเป็นพระเอกสายดาร์ก
พอมาเจอตัวละครอย่างรื่นที่เป็นพระเอกแสนดีตอนจีบกันใหม่ๆ
พอได้แล้วก็หลงลืมความรักหัวปักครั้งนั้น และพร้อมไปมีรักใหม่กับหญิงสาวคนใหม่
มันก็เลยขัดๆ อารมณ์เวลาอ่าน
และคิดว่าเป็นเพราะเหตุนี้แหละ ทำให้เราอ่านหนังสือเล่มนี้นานมากกกกก
นานเกินความน่าจะเป็น
ถ้ามีโอกาสหยิบหนังสือเล่มนี้มาอ่านซ้ำอีกครั้ง (ซึ่งคงมีแน่ๆ)
เราจะแวบมารีวิวซ้ำให้ฟังกันอีกรอบนะคะ ;P
รีวิวรอบนี้ติดอคติความเจ้าชู้ของพระเอกไปหน่อย ^^”
Comments are closed.