ทับทิมกินรี
เรื่อง ทับทิมกินรี
ผู้แต่ง แก้วเก้า
สำนักพิมพ์ อรุณ
(สนพ. ในเครือ สนพ.อมรินทร์)
เลขมาตรฐานหนังสือ 9786161867263
เรื่องเริ่มต้นขึ้นที่ร้านขายของเก่าร้านหนึ่งในห้างสรรพสินค้า
เจ้าของร้านเป็นชายชาวจีน
ตอนที่เรื่องเริ่มต้นขึ้น ชายหนุ่มคนหนึ่งเดินเข้าร้านมา
เขาเป็นหลานชายเจ้าของร้าน มีชื่อว่าเทียนอี่ว์
เป็นลูกครึ่งไทยจีน ที่โตเมืองไทยจนอายุ 8 ขวบ
จากนั้นจึงย้ายไปเมืองจีน จนกระทั่งเรียนจบ
และได้ทำงานเป็นผู้นำเข้าส่งออกสินค้าระหว่างไทยจีน
ต้องเดินทางไปมาระหว่างสองประเทศเสมอๆ
หลังจากทักทายหลานชาย
คุณลุงเจ้าของร้านได้ฝากร้านไว้กับเขา และขอออกไปทำธุระครู่หนึ่ง
ระหว่างที่เจ้าของร้านไม่อยู่นี่เอง หนุ่มสาวกลุ่มหนึ่งได้เดินเข้ามาในร้าน
ทั้งกลุ่มไม่มีใครสนใจของเก่า ยกเว้นเพียงคนเดียว คือเทียนหอม
เทียนหอมบ้าของเก่ามาก แล้วก็เลยลากเพื่อนๆ เข้ามาในร้านด้วย
ในตอนนั้นเอง เธอก็เห็นปิ่นปักผมโบราณ
เป็นปิ่นทอง มีทับทิมเป็นเรือนกลาง แล้วก็ฝังเพชรเม็ดเล็กๆ ล้อมกรอบ
เธอจึงขอชายหนุ่มดู ในตอนที่หยิบ เขาก็ได้เห็นป้ายราคาที่ติดเอาพร้อมกับเธอ
ซึ่งเป็นราคาที่ถูกมากจนน่าตกใจ
เทียนหอมถูกใจมาก และทำท่าอยากได้
ชายหนุ่มพยายามเช็กราคาซ้ำกับคอมพิวเตอร์ของร้าน
ซึ่งราคาที่ลงเอาไว้ก็ตรงกับป้ายที่ติดอยู่
เขาเลยจำยอมขายให้เธอไป
พอเถ้าแก่ร้านกลับมา ถึงได้รู้ว่า
จริงๆ แล้ว ราคาที่ตั้งไว้ผิดไปหนึ่งหลัก ตกศูนย์ไปหนึ่งตัว
ซึ่งเป็นเรื่องแปลกมาก ที่ผิดตรงกันทั้งสองจุด
เถ้าแก่มั่นใจว่าลงราคาถูก ป้ายก็เขียนเองกับมือ
เขาได้แต่กลุ้มใจ เศร้าใจ และไม่รู้จะไปตามตัวคนซื้อที่ไหน
และถ้าขอซื้อคืนเธอจะยอมขายหรือไม่
ไม่กี่วันต่อมา เทียนหอมไปพักโฮมสเตย์ที่อัมพวา
เป็นโฮมสเตย์เรือนไทยเก่าแก่
เธอมีอาชีพเป็นคนเขียนบทละครเวที
พอเธอได้ปิ่นอันนี้มา เธอก็เกิดไอเดียคิดพล็อตได้
อยากจะเขียนเรื่องนี้ออกมาเป็นละครเรื่องต่อไป
จึงตัดสินใจมาพักโฮมสเตย์เจ้าประจำ แบบอยู่ยาวๆ
เพื่อใช้เป็นที่ทำสมาธิเขียนบทละคร
ในเย็นวันเดียวกันนั้นเอง
เทียนอี่ว์ก็มาพักที่โฮมสเตย์เดียวกันโดยบังเอิญ
เขาบอกกับเธอว่า เขาขายปิ่นทับทิมนั้นผิดราคา และพยายามขอซื้อคืน
แต่เธอไม่ยอมขายคืน เพราะว่าถูกใจ และรู้สึกผูกพันกับมัน
สุดท้ายทั้งคู่ก็เลยปล่อยผ่านประเด็นนี้
แล้วก็พูดคุยกันถูกคอ
เทียนหอม สนิทกับเจ้าของที่พักแห่งนี้ เพราะมาพักบ่อยๆ
วันรุ่งขึ้น คุณลุงคุณป้าเจ้าของที่พักจะไปทำบุญที่วัด
เธอเลยขอติดสอยห้อยตามไปด้วย
แล้วก็เลยชวนเทียนอี่ว์ไปด้วย และเขาก็ตกลง
หลังจากทำบุญแล้ว ทุกคนก็มานั่งพักที่ศาลาริมน้ำ
เทียนอี่ว์เล่าให้ฟังก่อนหน้านี้ว่า
เขาเคยเห็นภาพศาลาริมน้ำในความทรงจำ
แต่การอยู่เมืองไทยในช่วงวัยเด็กมาแค่ 8 ปี
ทำให้ไม่แน่ใจว่ามันเป็นภาพที่เห็นจริง หรือจินตนาการไปเอง
จนกระทั่งได้มานั่งที่ศาลาริมน้ำ ที่วัดแห่งนี้
เขาก็เริ่มคุ้นๆ และบอกว่าที่นี่แหละ ภาพในความทรงจำนั้น
เจ้าของที่พักพาทุกคนไปไหว้เจดีย์ประจำตระกูล
ซึ่งจารึกชื่อต้นตระกูลของคุณลุงคุณป้าเจ้าของโฮมสเตย์เอาไว้
เทียนหอมอ่านชื่อเหล่านั้นแล้วก็รู้สึกสะดุดใจกับหลายชื่อ
วันรุ่งขึ้น หลังจากเทียนอีว์บินกลับประเทศจีน
เทียนหอมจึงเริ่มต้นเขียนบทละครของเธอ
แล้วเรื่องราวที่เล่าในหนังสือต่อจากนั้น
เป็นพล็อตของบทละครเวทีของเทียนหอม ไปจนตลอดทั้งเล่ม
พล็อตละครของเทียนหอม เริ่มต้นจากปิ่นทับทิม
เธอเปิดฉากในร้านขายของเก่า
ปิ่นอันนี้ก็เป็นสินค้าชิ้นใหม่ที่เพิ่งถูกซื้อเข้ามาในร้าน
หลังจากร้านปิด ตกดึก ข้าวของต่างๆ ในร้านก็ออกมาคุยกัน
แล้วก็พากันถามไถ่ที่มาที่ไปของปิ่น
ปิ่นจึงเล่าประวัติของตัวเองให้ข้าวของอื่นๆ ในร้านฟัง
เดิมที ปิ่นนี้เป็นของสมเด็จพระสุริยาศน์อมรินทร์
กษัตริย์องค์สุดท้ายของอยุธยา
ที่มอบให้กับลูกเธอองค์สุดท้าย
ที่เกิดจากเจ้าจอมมารดาองค์สุดท้าย
เจ้าของปิ่นมีชื่อว่า เจ้าครอกแก้วกินรี
และเจ้าจอมมารดา คือเจ้าจอมมารดาโนรา
ในไม่กี่ชั่วโมงสุดท้ายก่อนกรุงแตก ขุนหลวง หรือพระเจ้าอยู่หัว
ได้ฝากเจ้าครอกฯ พระองค์นี้ ที่ยังอยู่ในวัยเตาะแตะ และองค์เจ้าจอมมารดา
ให้ขุนนางคนสนิทคนหนึ่งพาหนีสงคราม
ขุนนางคนนี้ชื่อว่าหลวงอินทรเทพ
บ้านเดิมของฝ่ายภรรยาเขาอยู่อัมพวา
ก็เลยตั้งใจจะพาเจ้าทั้งสองพระองค์นี้หลบภัยสงครามไปที่อัมพวา
ระหว่างทางพบเจอขุนนางที่สนิทกันอีกคน จึงร่วมทางไปด้วยกัน
เพื่อนร่วมทางคนนี้ มีชื่อว่าบุญมา
เคยเป็นมหาดเล็กวังหน้า สมัยเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์
ขณะนั้นดำรงตำแหน่งนายสุดจินดา มหาดเล็กหุ้มแพร
(ภายหลัง นายสุดจินดาผู้นี้คือ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท
พระอนุชาในรัชกาลที่ 1)
ผู้เขียนบรรยายสภาพบ้านเมืองหลังกรุงแตก
ให้เราเห็นภาพความสับสนอลหม่าน
การเดินทางระหกระเหินจากอยุธยาไปยังอัมพวา
ต้องหลบๆ ซ่อนๆ ระวังภัยทั้งจากทหารพม่าที่ยังตั้งค่ายวางกำลังเอาไว้ตลอดทาง
ทั้งยังต้องระวังคนไทยด้วยกันเอง ที่ดักปล้นสดมภ์
ซ้ำยังต้องปกปิดฐานะที่แท้จริงของเจ้านายทั้งสองพระองค์
ไม่ปริปากบอกแม้แต่นายสุดจินดาบุญมาที่ร่วมทางมาด้วยกัน
หลังจากพาเจ้านายไปฝากฝังกับครอบครัวภรรยาที่อัมพวาแล้ว
ทั้งหลวงอินทรเทพ และนายสุดจินดา ก็ชวนกันไปร่วมรบกับพระเจ้าตากสิน
ที่กำลังตั้งค่ายรวบรวมไพร่พลอยู่ที่จันทบุรี
นิยายเรื่องนี้ เริ่มเรื่องในช่วงเวลาก่อนกรุงแตกนิดหน่อย
หลังจากนั้นก็อยู่ในรัชสมัยของพระเจ้าตากสินเกือบตลอดทั้งเรื่อง
ซึ่งเป็นรัชสมัยที่เต็มไปด้วยสงคราม บ้านเมืองไม่สงบสุข
เนื่องด้วยเป็นเมืองที่ตั้งใหม่
ในครั้งที่เพิ่งสิ้นกรุงศรีอยุธยา
หัวเมืองน้อยใหญ่ก็ต่างตั้งตนขึ้นเป็นก๊กเป็นเหล่า
ที่ตั้งตนขึ้นเป็นกษัตริย์ก็มี
ในช่วงต้นรัชกาล จึงเป็นช่วงเวลาของการยกทัพไปปราบก๊กต่างๆ เหล่านี้
ต่อเมื่อรวบรวมเมือง รวมกำลังพลได้เป็นกอบเป็นกำ
เมืองใหญ่โดยรอบ โดยเฉพาะพม่าก็พยายามรุกรานเข้ามา
พระเจ้าตากสินมหาราชจึงต้องทำสงครามเกือบตลอดรัชกาล
โดยทั้งประวัติศาสตร์ และรายละเอียดของสงครามต่างๆ นี้
ผู้เขียนเก็บรายละเอียดเอาไว้ทั้งหมด
ตั้งแต่การยกทัพไปตีค่ายพม่าที่โพธิ์สามต้น ค่ายบางกุ้ง
ปราบชุมนุมเจ้าพิษณุโลก เจ้าพิมาย พระเจ้าฝาง ฯลฯ
จวบจนกระทั่งป้องกันเมืองพิษณุโลกจากทัพอะแซหวุ่นกี้
และเหตุการณ์อื่นๆ หลังจากนั้น
ตัวละครหลักของเรื่อง ได้ร่วมออกรบในศึกต่างๆ ด้วยเกือบทุกครั้ง
ทำให้เราเห็นภาพฉากของการรบ การวางแผนรบ
เป็นการอ่านประวัติศาสตร์ในยุคแผ่นดินของพระเจ้าตากสิน
แบบลงรายละเอียด เห็นภาพ อ่านสนุกกว่าการอ่านประวัติศาสตร์จริงๆ
นอกจากนี้ ผู้เขียนยังได้เล่าเรื่องในวังในช่วงเวลานั้น ผ่านตัวละครฝ่ายหญิง
คือเจ้าครอกแก้วกินรี ที่ใช้ชื่อใหม่ปิดบังฐานะที่แท้จริงของตนว่า ดวงแก้ว
ดวงแก้วได้ถวายตัวเข้าไปเป็นนางข้าหลวง
ของตำหนักเจ้าฟ้าพินทวดี พระราชธิดาในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
และเป็นพระเชษฐภคินีในสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร และสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์
เมื่อครั้งกรุงแตก ทรงถูกกวาดต้องมาขังรวมกับเจ้านายอีกหลายพระองค์ที่ค่ายโพธิ์สามต้น
จนพระเจ้าตากสินทรงตีค่ายแตก
พระองค์จึงเป็นเจ้านายฝ่ายหญิงองค์สำคัญอยู่ในวังขณะนั้น
ด้วยว่าเรื่องนี้ถูกเขียนขึ้นจากนามปากกาแก้วเก้า
ดังนั้น เนื้อหาในเล่มจึงมีความเหนือจริง และมีปาฏิหาริย์บางอย่างแทรกอยู่
เจ้าครอกแก้วกินรี ผู้เป็นเจ้าของปิ่นทับทิม
มีความสามารถพิเศษหยั่งรู้เหตุการณ์สำคัญล่วงหน้าเป็นภาพนิมิต
นอกจากนี้ ปิ่นทับทิมยังเป็นของศักดิ์สิทธิ์ ที่ช่วยปกป้องรักษาผู้ถือปิ่น
ให้รอดปลอดภัยจากอันตรายต่างๆ
เป็นของขลังยามรบที่มีบทบาทสำคัญในเรื่อง
เราอ่านเล่มนี้ด้วยความประหลาดใจหน่อยๆ
โดยปกติแล้ว นิยายอิงประวัติศาสตร์กับคุณหญิงวินิตาผู้เขียนนั้นเป็นของคู่กัน
หากแต่ตัวละครสมมติในเรื่องอื่นๆ มักจะเป็นคนธรรมดาสามัญ
แต่กับเล่มนี้ ตัวละครมีความสำคัญเป็นถึงธิดาของขุนหลวงหรือพระมหากษัตริย์
การสร้างตัวละครสมมติที่เป็นบุคคลสำคัญขนาดนี้ ทำให้เราทึ่ง
อาจเป็นเพราะเหตุนี้ แก้วเก้าจึงสร้างพล็อตซ้อนพล็อต
เล่าเรื่องราวทั้งหมดผ่านตัวละครเทียนหอมอีกที
ไม่ได้เล่าจากตัวผู้เขียนเองโดยตรง
นอกจากนี้ ความล่อแหลมอีกประการหนึ่ง
คือเหตุการณ์ในช่วงท้ายกรุงธนบุรี
ประวัติศาสตร์บันทึกพระราชประวัติของพระเจ้าตากสิน
เอาไว้หลากหลาย และคลุมเครือ
ตอนที่เราอ่านใกล้จบ เราก็ได้แต่ลุ้นว่า แก้วเก้าจะจบเรื่องนี้ลงตรงไหน
จะลงรายละเอียดส่วนนี้หรือไม่
ซึ่ง เมื่ออ่านจนจบ เรากลับพบแต่ความราบรื่น นุ่มนวล
ผู้เขียนหาทางออกให้กับตอนจบของเรื่องได้ละมุนละม่อม
และไม่กระทบความรู้สึกเลยแม้แต่น้อย
อ่านจบ ได้แต่ชื่นชมผู้เขียนในส่วนนี้
แล้วไปขัดใจในอีกส่วน (ฮา)
พระเอกของเรา กับพระเอกของผู้เขียน เป็นคนละคนกันอีกแล้ว >,<
Comments are closed.