อ่านแล้วเล่า

ตื่นบนเตียงอื่น

เรื่อง ตื่นบนเตียงอื่น
ผู้แต่ง ปราบดา หยุ่น
สำนักพิมพ์ ไต้ฝุ่นสตูดิโอ
เลขมาตรฐานหนังสือ 9786167144467

ผิดคาดมากเลย ไม่นึกว่า ตื่นบนเตียงอื่น จะปรัชญาจ๋าขนาดนี้
มันเป็นงานเขียนที่เกิดขึ้นหลังจากที่ปราบดากำลังพยายาม
หาหนทางหลีกหนีความเบื่อหน่าย ความซ้ำเดิม
หาวิธีมองโลกใบเดิมในมุมใหม่ ด้วยการเรียนอะไรสักอย่าง ..
อภิปรัชญาคือหนทางที่เขาเลือก
เป็นอภิปรัชญาเกี่ยวกับความหมายของธรรมชาติ (แพนเธอิสม์)(pantheism)
ค้นคว้าหาข้อมูลจากวัฒนธรรมและความเชื่อเชิงวิญญาณนิยม (animism)
โดยเลือกประเทศฟิลิปปินส์และญี่ปุ่น (แต่เล่มนี้เล่าเฉพาะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในฟิลิปปินส์)
หนังสือเล่มนี้เป็นคล้ายๆ บทบันทึกการเรียนรู้และเติบโตนั้น

ตื่นบนเตียงอื่น จึงหมายถึงการตื่นลืมตาอีกครั้ง
ภายหลังจากที่ผู้เขียนผ่านการเปลี่ยนแปลงภายใน
ตื่นลืมตาเพื่อจะมองโลกใบเดิม ด้วยดวงตาอีกดวง

อย่างที่บอกว่า หนึ่งในสองสถานที่ที่เขาเลือกไปทำวิจัยอยู่ที่ประเทศฟิลิปปินส์
เขาเดินทางจากเมืองท่าดูมาเกเต้ไปยังเกาะซิกิฮอร์
อันมีชื่อเป็นที่รู้จักของคนพื้นเมืองว่าเกาะมนตร์ดำ
หนังสือไม่ได้บอกกิจวัตรประจำวัน หรือเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นมากนัก
สิ่งสำคัญที่เขาเล่าถึงคือวัฒนธรรมความเชื่อเปรียบเทียบในเชิงปรัชญา
นักปรัชญาที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงบ่อยๆ ในเล่มคือ บารุค สปิโนซา,
เฮนรี่ เดวิด ธอโร, เจมส์ เลิฟล็อก ฯลฯ
แนวความคิดของพวกเขาว่าด้วยเรื่องของมนุษย์ พระเจ้า และธรรมชาติ
โดยมีรายละเอียดในการแบ่งแยกและจัดหมวดหมู่แตกต่างกันไป

จำได้ว่าในปีที่  ตื่นบนเตียงอื่น ถูกตีพิมพ์ออกมา
มันเป็นหนังสือดังในปีนั้น เป็นหนังสือที่ใครๆ ก็พูดถึง
ได้รับคำยืนยัน ยกย่องว่าเป็นหนังสือดีที่น่าอ่านอย่างหนาหู เรียกได้ว่ากระแสดีมาก
นั่นคือสิ่งที่เรารู้เกี่ยวกับเล่มนี้ .. เพียงเท่านี้จริงๆ
หลังจากซื้อมาดอง (ในเวลาหลังจากที่มันถูกตีพิมพ์ออกมาอีกปีกว่าๆ)
และหยิบในอ่าน (เมื่อเวลาผ่านไปอีกหลายปี) ในครั้งนี้ ..
พบว่า ตื่นบนเตียงอื่น ผิดไปจากที่เราคิดเยอะเลย
มันเป็นวิชาการสูงมาก เป็นปรัชญา เป็นบทบันทึก
ไม่ใช่เรื่องเล่า เรื่องสั้น หรือนิยาย อย่างที่นึก (เอาเอง)

การได้อ่านหนังสือเล่มนี้ ก็ถือว่าได้อ่านอะไรแปลกๆ เปิดมุมมองใหม่
แต่ถ้าถามว่าสนุกมั๊ย .. ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะสนุกกับเรื่องแบบนี้
เราเข้าใจอารมณ์เด็กสายศิลป์มาอ่านประวัติย่นย่อของกาลเวลา
หรือจักรวาลในเปลือกวอลนัท  ประมาณนั้นเลย
เราต้องใช้ความตั้งใจในการอ่านสูงมาก
ศัพท์ประหลาดๆ จำพวกจิตนิยม สสารนิยม โรแมนติกนิยม
มายาคติ ปัจเจกภาพ เจตจำนงเสรี ไปจนถึงแพนเธอิสม์
ปรัชญาทรานส์เซนเดนทัลลิสต์ ทัศนคติแบบนักคิดยุคเรืองปัญญา!? ฯลฯ
ปลิวว่อนเต็มไปหมด ทำให้ไม่สามารถอ่านรวดเดียวได้เลย
เราค่อยๆ คลำมันไปอย่างช้าๆ
รู้คำแปลคำนึง แล้วก็ลืมคำแปลของอีกคำนึง
กว่าจะรวบรวมเป็นประโยคก็ต้องอ่านซ้ำสองรอบสามรอบ
ไปได้ช้ากว่าที่ควรมาก

เป็นการอ่านหนังสือเชิงปรัชญาที่แปลกดี (สำหรับเรา)
เพราะมันไม่เกิดคำถาม ไม่มีข้อโต้แย้ง ถกเถียง
ไม่มีความรู้สึกคล้อยตาม เห็นด้วย เหมือนเวลาอ่านหนังสือแนวนี้เล่มอื่นๆ
มันไม่มีใช่ หรือไม่ใช่ มีแต่แล้วยังไง แล้วจะทำไม .. ?

แม้จะมึนงงจับต้นชนปลายไม่ถูกในตอนต้นๆ
(เพราะหยิบหนังสือผิดด้วยแหละ ไม่คิดว่ามันจะเป็นหนังสือแนวนี้)
พออ่านไปเรื่อยๆ ก็พอจะกล้อมแกล้มเพลินไปกับมันได้
หลายๆ ช่วง ตัวหนังสือของปราบดาให้ความรู้สึกแสบๆ คันๆ
ชนชั้นกลางเป็นเป้าหมายหลักในการถูกขุดคุ้ย เสียดสี ถากถาง
ในความจอมปลอม ทั้งในทางที่วางตัวเป็นคนดี
และกิจกรรมรักษ์ธรรมชาติต่างๆ
ซึ่งมันก็เป็นความจริง เถียงไม่ได้ และไม่เห็นหนทางที่จะทำให้มันดีกว่านี้
ตราบใดที่เรายังรักความสะดวกสบาย และถลุงใช้ทรัพยากรชนิดพูดอย่างทำอีกอย่าง

นั่นแหละ จากทั้งหมดที่พูดมา ชั่งน้ำหนักแล้วสรุปได้ว่า ..
ไม่มีหนังสือดีสำหรับทุกคน
มีเพียงแต่หนังสือดีสำหรับใคร ในช่วงเวลาใดเท่านั้น
ตื่นบนเตียงอื่น .. ในเวลานี้ .. ยังไม่ใช่สำหรับเรา

Comments are closed.