อ่านแล้วเล่า

ตำนานแห่งนครวัด

เรื่อง ตำนานแห่งนครวัด
ผู้แต่ง จิตร ภูมิศักดิ์
สำนักพิมพ์ ชนนิยม
เลขมาตรฐานหนังสือ 9789749747285

มึนงงและผิดคาดนิดหน่อย ที่หนังสือเล่มนี้เริ่มต้นด้วยบทสนทนา
ของตัวละครอันประกอบไปด้วยสุธีร์ วิรัช อังสนา และข้าพเจ้า
อันอาจหมายถึงจิตร ภูมิศักดิ์เอง หรือไม่ใช่ก็ได้
บทสนทนาที่ว่า เป็นบทสนทนาที่นำเสนอแนวคิด
เป็นบทสนทนาที่นำเราเข้าสู่เรื่องราวอันเป็นประวัติศาสตร์โบราณ
ของความสัมพันธ์ระหว่างไทยและกัมพูชา (ขอม / เขมร)
ก่อนจะพาเราไปเดินชมนครวัดกันจริงๆ (ผ่านทางตัวหนังสือ) ในบทหลังๆ

แต่ข้อดีของการเล่าเรื่องด้วยบทสนทนาก็คือ อ่านง่าย
ข้อความไม่ยาวเกินไป มีการตัดสลับคนพูด
มีคำท้วงติง อธิบายซ้ำ หรือขยายความให้เข้าใจได้มากขึ้น

แต่ถึงอย่างนั้น มุมมองของจิตรออกจะต่างไปจาก –
มุมมองของนักเขียนไทยคนอื่นๆ ที่เราอ่านผ่านมา
อาจเป็นด้วยยุคสมัยและค่านิยม
รวมถึงข้อมูลใหม่ที่เปลี่ยนถ่ายเข้ามาแทนที่
หลายข้อมูลฟังดูแปลก ราวกับคนละเรื่องที่เราเคยรู้เคยอ่านมาก่อน

จิตรนำตำนานมารวมกับเรื่องจริงโดยไม่ได้ระบุศักราช
เล่าถึงยุคหนึ่งแล้วก็กระโดดไปเล่าอีกยุคหนึ่ง
และบางครั้งก็ไม่รู้ว่าหมายถึงกษัตริย์พระองค์ไหนกันแน่
เทียบยุคกษัตริย์ไทยกับขอมแบบงงๆ
อ่านแล้วมีแต่การคาดเดา จับต้องอะไรไม่ค่อยได้เลย
เราไม่เคยอ่านงานของจิตรมาก่อน
พอเริ่มอ่านเล่มนี้เป็นเล่มแรกแล้วไม่ประทับใจ
เลยออกจะเป็นการเริ่มต้นที่ไม่ค่อยดีเท่าไร

อ่านแล้วเข้าใจเลยว่าทำไมจึงใช้ชื่อหนังสือว่า “ตำนาน”
เพราะโดยรวมแล้วเป็นเรื่องเล่ามากกว่าประวัติศาสตร์จริง
เราเองคงตั้งทัศนคติก่อนอ่านผิดไปด้วยแหละ
จึงเป็นการอ่านแบบงงๆ หลงๆ
หลายครั้งดูเหมือนตัวละครทึกทักไปเอง
หลักฐานปะปนไปกับการสันนิษฐานเองเป็นส่วนมาก
และยังสอดแทรกแนวความคิดเรื่องความเท่าเทียม
เรื่องของประชาชนที่โดนกดขี่ลุกขึ้นต่อต้านอำนาจเบื้องบน (แบบไม่เนียน) ด้วย

บางเนื้อหา ก็เหมือนว่าจะพยายามชักจูงอะไรบางอย่าง
นึกถึงสุภาษิตไทย .. สองคนยลตามช่องฯ
คือจิตรจดจ่ออยู่กับความเท่าเทียมทางสังคม
เมื่อตีความประวัติศาสตร์กัมพูชา ก็เลยพาไปในแนวทางนั้น
ส่วนเราไม่ค่อยอินกับเรื่องราวพวกนั้น อ่านแล้วก็เลยรู้สึกตะหงิดๆ
ว่าเป็นประวัติศาสตร์ขอม (กัมพูชา) ในเวอร์ชั่นเอียงๆ อยู่สักหน่อย

และในตอนสุดท้ายของเล่ม มันก็ไม่จบ (อย่างที่คำนำบอก) จริงๆ เสียด้วย
เป็นไม่จบที่ไม่จบจริงๆ เล่าอยู่แล้วก็ค้างอยู่อย่างนั้น
ถ้าจิตรยังมีชีวิตอยู่ คงไม่ตัดสินใจพิมพ์งานชิ้นนี้แน่ๆ
เว้นแต่จะได้รับการแก้ไขปรับปรุงข้อมูลให้เรียบร้อยเสียก่อน

 

Comments are closed.