อ่านแล้วเล่า

ซอยเดียวกัน

129-1-%e0%b8%8b%e0%b8%ad%e0%b8%a2%e0%b9%80%e0%b8%94%e0%b8%b5%e0%b8%a2%e0%b8%a7%e0%b8%81%e0%b8%b1%e0%b8%99

เรื่อง ซอยเดียวกัน
ผู้แต่ง วาณิช จรุงกิจอนันต์
สำนักพิมพ์ บูรพาสาส์น
ราคา 55 บาท

อ่าน ซอยเดียวกัน ครั้งแรกในวัยเรียน เป็นหนังสืออ่านนอกเวลา
จำไม่ได้ว่าเคยหยิบมาอ่านซ้ำบ้างหรือเปล่า
ครั้งนี้น่าจะเป็นหนที่ 2 โดยประมาณ
เริ่มต้นอย่างจำอะไรไม่ได้เลย
แต่พอเริ่มบทก็พอจะนึกเรื่องออกทุกเรื่องไป

เรื่องแรก เพลงใบไม้
ผู้เขียนเล่าเรื่องเห็นภาพติดต่อกันไปยาวๆ ไม่มีหยุด
ใช้ภาษานำเส้นอารมณ์ไป
อ่านอยู่เพลินๆ ผู้เขียนก็กระชากอารมณ์ผู้อ่าน ตัดจบ
ในตอนจบ มีเพียงห้วงความรู้สึก โหวง ลึก

เรื่องสั้นที่มีพลังมันเป็นแบบนี้นี่เอง
ถ้าเป็นสมัยนี้ ต้องพูดอย่างเชยๆ ว่าสำนึกรักบ้านเกิด
หรืออนุรักษ์วัฒนธรรมไทย ทำนองนั้น
แต่พลังผลักดันที่ซ่อนอยู่ในเรื่องสั้น
มันรุนแรงกว่าจะใช้คำพื้นๆ พวกนี้มาสื่อ
สมค่าซีไร้ต์ตั้งแต่เรื่องแรกเลยค่ะ

เรื่องที่สอง เมืองหลวง
ตัวหนังสือของผู้เขียนนำพาคนอ่านให้ ‘รู้สึก’ ไปกับทุกเรื่องที่เขาเล่า
ผู้เขียนพาเราไปอยู่บนรถเมล์ที่แน่นเอี๊ยด
หน้าต่างปิดสนิทเพราะฝนตก
และรถติดไม่ขยับ
เราร้อน เราล้า เราเหนื่อย และอึดอัดไปกับผู้คนทั้งรถ

ที่นี่มหาวิทยาลัย
วิธีเล่าเรื่องนี้ แปลกออกไปจากสองเรื่องแรก
แต่คล้ายๆ เล่มอื่นๆ ของคุณวาณิช
เสียดสี ก่นด่าบุคลากรภายในมหาวิทยาลัย
มีกลิ่นอายของยุค 6 ตุลาฯ
เรื่องนี้เฉยๆ ค่ะ ^^”

ผาติกรรม
ผาติกรรมนั้น แปลตามตัวอักษรแปลว่าทำให้เจริญขึ้น
แต่ในภาษาของวัดหมายถึงการชดเชยแก่วัด
ในที่นี้คือการรื้อศาลาเก่าของวัดไป
แล้วสร้างหลังใหม่เพื่อถวายคืนวัด
เรื่องนี้ว่าด้วยการทุศีลของนักธุรกิจ
ซึ่งคงเคยเกิดขึ้นจริง คุณวาณิชจึงจำลองเหตุการณ์มาเล่าไว้
และยิ่งในยุคนี้สมัยนี้ คนเราก็ทุศีลไปกว่านี้อีกไม่รู้กี่เท่า
อาจเป็นเพียงประเด็นแฝงที่ผู้เขียนต้องการสื่อ
แต่เป็นประเด็นหลักของเราไปแล้ว
เรื่องเล่าลึกลับนิดๆ เริ่มอย่างขุ่นใจแต่จบจับใจ

กา
เล่าเรื่องของ ‘กรรม’ ผ่านสัตว์ที่ชื่อว่า ‘กา’
ระทึก แต่เดาได้

โนรี
ว่าด้วยเหตุการณ์เดือนตุลาล้วนๆ
อ่านจบแล้วคิดถึงเพลง ‘อื่นๆ อีกมากมาย’ ของวงเฉลียง
จบแบบที่ควรจบ แต่ตราตรึง อึงอล

คืนรัง
รวมบทกลอนของคุณวาณิชไว้เป็น sample
มีกลอนบางบทเคยท่องจนคุ้นใจ จำที่มาไม่ได้
มาอ่านพบอีกครั้งในเล่มนี้นี่เอง

129-3-%e0%b8%8b%e0%b8%ad%e0%b8%a2%e0%b9%80%e0%b8%94%e0%b8%b5%e0%b8%a2%e0%b8%a7%e0%b8%81%e0%b8%b1%e0%b8%99 129-4-%e0%b8%8b%e0%b8%ad%e0%b8%a2%e0%b9%80%e0%b8%94%e0%b8%b5%e0%b8%a2%e0%b8%a7%e0%b8%81%e0%b8%b1%e0%b8%99

125 ผี และมวลชนผู้ทุกข์ยาก
ประชดประชัน บ่น ก่นด่ารถสับปะรังเคคันหนึ่งอย่างบันเทิง

บ้านเราอยู่ในนี้ .. ซอยเดียวกัน
เป็นอีกเรื่องที่เล่ายาวรวดเดียว ..
แล้วกระชากความรู้สึกทั้งมวลออกจากร่างเราในตอนจบ ..
มีเพียงความโหวง วิ่น เงียบงัน

สี่สิบห้าบาท
ว่าด้วยเรื่องของทุย ผู้มีรายได้เท่ากับค่าครองชีพขั้นต่ำสุดของประเทศ
ทุย ผู้ที่ตกงานอยู่เป็นประจำ .. และเพิ่งจะตกงานครั้งใหม่หมาดๆ
ทุย ผู้รู้สิทธิของตนเอง แต่ไม่เคยมีใครให้สิทธิ์นั้นแก่เขา

ครกกับสาก
เรื่องของคนพิสดารที่ซื้อครกกับสากมาจากโรงรับจำนำ
โดยที่ไม่รู้แม้แต่ว่าจะเอามันมาทำอะไร
ถ้าเปลี่ยนโรงรับจำนำเป็นห้างสรรพสินค้าเสียหน่อย .. คนสมัยนี้ก็เป็นเช่นนั้นแหละ
ขนซื้อข้าวของบ้าบอมากมาย
ทั้งที่บางอย่างก็ซื้อมาแล้ว ก็ถูกวางทิ้งไว้อย่างนั้น ไม่เคยถูกนำมาใช้สักครั้ง
สุดท้าย .. สิ่งที่ชมทำกับครกและสากคู่นั้นก็คือ .. ความบ้าสุดกู่
คือการเสียดสีวัฒนธรรมความเชื่ออันงมงาย
ที่ฝังรากลึกอยู่ในสายเลือดคนไทยมาแต่ดึกดำบรรพ์!

ซ้ายล่าสุด
งานเขียนเรื่องนี้เป็นการประชดล้วนๆ
ประชดใครหรืออะไรก็ตามที่ว่าแกเป็น ‘ซ้าย’
เล่ายาวๆ ให้ความรู้สึกอึดอัด เข้าใจ ทางเลือกในชีวิตของคน
แต่ก็ไม่ลืมเสียดสีการแบ่งฝ่ายซ้ายขวาของชนยุคนั้นให้เห็นชัดเจนด้วย
ยุคนั้น สังคมคงเป็นแบบนั้นจริงๆ เพราะมันแทรกอยู่ในหลายเรื่องสั้นในเล่มนี้
จบจากเสียดสีมาทั้งเรื่อง ยังหักมุมซึ้งและอึ้งได้ในคราเดียวกัน
สุดยอดจริงๆ ค่ะคุณวาณิช

เวลานัด
เรื่องราวความรักของชายหนุ่มคนจนกับหญิงสาวผู้ไม่รังเกียจคนจน ..
เรื่่องราวของความรัก ที่ไม่รู้จะเรียกว่ารักได้จริงหรือเปล่า?

มิชิแกนเทสต์
งานเขียนของคุณวาณิชงานนี้ ทำให้เรานึกถึงเรื่องหลายๆ เรื่องที่เคยนึก
เมื่อตกอยู่ในบางสถานการณ์ มีบางการกระทำบ้าบอที่เรานึกอยากทำขึ้นมา
ถ้าทำ มันคงจะเหมือนเป็นตัวแทนของหลายๆ คนที่คิดเหมือนกัน อยากทำเหมือนกัน
เป็นการกระทำบ้าๆ ที่สิงลึกอยู่ในความคิดจิตใจของบางคน
แต่ไม่เคยมีใครกล้าทำ ได้แต่นึกเอาเพลินๆ ..
นี่เป็นตัวอย่างหนึ่ง ที่คุณวาณิชได้ทำแล้ว .. ผ่านตัวละครของเขาเอง

ภาพเขียนที่หายไป
เรื่องผีของคุณวาณิช ระทึกและสนุกดี ^^

อ่านจบทุกเรื่อง แปลกใจอยู่อย่างหนึ่งว่า
วรรณกรรมซีไร้ต์ยุคก่อนๆ มันก็เป็นงานเขียนธรรมดาๆ ที่อ่านง่ายๆ เข้าใจง่ายๆ นี่แหละ
ทำไมยุคปัจจุบันนี้ ซีไร้ต์มันต้องอ่านยากขนาดนั้นก็ไม่รู้สิ?

Comments are closed.