อ่านแล้วเล่า

ชีวิตที่รุ่งเรืองขึ้นมาจากทาส

เรื่อง ชีวิตที่รุ่งเรืองขึ้นมาจากทาส
ผู้แต่ง Booker T. Washington
ผู้แปล ศาสตราจารย์หลวงสมานวนกิจ
สำนักพิมพ์ บรรณกิจ
เลขมาตรฐานหนังสือ ไม่ได้ลงไว้

ชีวิตที่รุ่งเรืองขึ้นมาจากทาส เป็นหนังสือในเชิงอัตชีวประวัติ
มียุคสมัยที่เชื่อมต่อกันกับยุคสมัยในเรื่อง กระท่อมน้อยของลุงทอม
หลังจากที่ กระท่อมน้อยของลุงทอม ถูกตีพิมพ์เป็นครั้งแรก
นับล่วงต่อมาอีกราว 10 ปี อเมริกาก็เกิดสงครามกลางเมือง
และเลิกทาสได้ในเวลาต่อมา
ในขณะที่มีประกาศเลิกทาสนี้ ผู้เขียนยังอยู่ในวัยเด็ก แต่พอจำความได้บ้าง

เมื่อเล่าในรูปแบบของอัตชีวประวัติ
ความรู้สึกลึกซึ้งกินใจจึงไม่มากเท่ากับรูปแบบนิยายใน กระท่อมน้อยของลุงทอม
แต่คำประกาศเลิกทาสก็พอจะทำให้เราจินตนาการได้
ถึงความรู้สึกที่พรั่งพรูของตัวละครต่างๆ ในเรื่องลุงทอมฯ

การนำเสนอของหนังสือเล่มนี้ ถูกแบ่งออกเป็นตอน ทั้งหมด 17 ตอน
หลังจบแต่ละตอน ผู้จัดทำได้แทรกบทวิจารณ์เอาไว้ด้วยอีก 17 บท
ซึ่งเป็นบทวิจารณ์ของพันเอก พระสงครามภักดี
เราสารภาพว่าอ่านเก็บแต่เนื้อเรื่องมากกว่า
สำหรับบทวิจารณ์ท้ายบทนั้น เราได้แต่เพียงอ่านผ่านๆ ไปเท่านั้น
เพราะเป็นการเล่าความซ้ำเนื้อเรื่องเดิม
ต่างไปแต่เพียงผู้วิจารณ์ได้เพิ่มเติมข้อคุณธรรมตามหลักพุทธศาสนาให้แก่ ดร.วอชิงตัน ผู้เขียน

เหตุการณ์ในช่วงต้นของเล่มนี้ ได้ทำให้เราเห็นบรรยากาศอย่าง-
ที่เราอยากเห็นในเรื่องลุงทอมฯ
เราอยากรู้ว่าหลังจากเลิกทาสแแล้ว ชาวนิโกรมีชีวิตอยู่กันมาอย่างไร
พวกเขาเริ่มต้นใช้วิตอย่างไร คิดเห็นและรู้สึกอย่างไร

หลังเลิกทาสไม่นาน ผู้เขียนได้อพยพย้ายจากเมืองของนายมายังเวอร์จิเนียตะวันตก
เพื่ออยู่รวมกันเป็นครอบครัว มีพ่อเลี้ยง แม่ พี่ชาย (จอห์น) และตัวผู้เขียนเอง
เริ่มต้นชีวิตกันด้วยการรับจ้างทำเกลือในโรงต้มเกลือสินเธาว์
สิ่งแรกที่ผู้เขียนอยากทำหลังจากได้รับอิสระคือ เขาอยากอ่านหนังสือออก
แม่ของเขาหาหนังสือมาให้เล่มหนึ่ง เป็นหนังสือจำพวกหนังสือหัดอ่าน

ในหมู่ชนผิวดำในละแวกนั้น ไม่มีใครอ่านหนังสือออกเลย
ผู้เขียนได้แต่นั่งเปิดดูและจดจำตัวอักษรแทนการอ่านเขียน
จวบจนกระทั่งวันหนึ่ง จึงมีการก่อตั้งโรงเรียนสำหรับคนผิวดำขึ้น
โดยการรวมกลุ่มของคนผิวดำด้วยกัน
จัดหาสถานที่ จัดหาหนังสือ จ้างครูจากคนที่อ่านหนังสือออก
ครูจะต้องเวียนไปอาศัยอยู่ตามบ้านของนักเรียนแต่ละคนจนครบปี
(เหมือนลอร่าในหนังสือชุดบ้านเล็กเลย ..
หนังสือทั้งสองเล่มเล่าเรื่องราวในยุคสมัยที่ใกล้เคียงกัน)

โรงเรียนที่เกิดขึ้นนี้ไม่ได้เปิดสอนเฉพาะเด็กๆ เท่านั้น
แม้แต่ผู้ใหญ่ก็อยากอ่านหนังสือออก
มีการเรียนหนังสือภาคค่ำ หลังจากเสร็จงานในแต่ละวันแล้ว
แม้แต่วันอาทิตย์โรงเรียนก็ไม่หยุด
ยังมีชาวผิวดำที่ไม่สามารถมาเรียนในวันธรรมดา แต่ว่างมาเรียนได้ในวันหยุดนี้

หลังจากนั้น ผู้เขียนได้ไปศึกษาต่อที่วิทยาลัยแฮมพ์ตั้น
ไปขอเรียนอย่างคนยากจน ไม่มีเงิน และต้องพิสูจน์ตัวเอง
และใช้ความพยายามอย่างมากกว่าจะเรียนจบ
เมื่อเรียนจบมาระยะหนึ่ง
เขาถูกส่งตัวมาเป็นครู พร้อมทั้งบุกเบิกเริ่มต้นวางระบบการสอนโรงเรียนทัสคีกี

การสอนของผู้เขียน ถ้าเปรียบกับสมัยนี้ก็นับว่าทันสมัยพอใช้
เพราะเขาไม่ได้สอนแต่ความรู้เพียงอย่างเดียว
แต่สอนวิธีนำไปปฏิบัติใช้งานจริง
สอนสุขอนามัย การใช้ชีวิต
สอนคุณธรรม และแนวคิดต่อการงานและความรับผิดชอบด้วย

เขาเป็นคนมองการณ์ไกล มีวิสัยทัศน์ และไม่ยอมแพ้ต้ออุปสรรคใดๆ
โรงเรียนที่สร้างขึ้นมีส่วนในการพัฒนาชุมชนโดยรอบให้เจริญรุ่งเรืองไปด้วย
เด็กนักเรียนได้เรียนรู้วิธีการสร้างอาหาร
ทั้งปลูกผัก ปลูกข้าว และทำปศุสัตว์
รู้จักสร้างบ้าน ตั้งแต่ขั้นตอนการทำอิฐดินเผา ทำเครื่องเรือน เตียงนอน ที่นอน ฯลฯ
ได้รู้จักการค้าขายผลผลิตที่ครูและนักเรียนได้ร่วมกันสร้างขึ้น
ความรู้เหล่านี้ นักเรียนสามารถนำไปใช้ต่อยอดได้ในชีวิตจริง
ทั้งการช่วยเหลือพึ่งพาตนเอง และการประกอบอาชีพ

การต่อสู้ต่อความยากลำบาก
ซึ่งไม่ใช่ความยากลำบากของตนเอง
แต่เพื่อลูกศิษย์ที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกที
ผู้เขียนได้ต่อสู้อย่างไม่ย่อท้อ ที่จะสอนตามแนวทางของตนเอง
ต่อสู้กับความยากจนเพื่อให้ได้หอพัก อาหาร และสิ่งของจำเป็นอื่นๆ
ความพยายามทั้งหมดนี้ได้เสริมสร้างกำลังใจในการทำความดีของผู้อ่าน
ว่าอุปสรรคนั้นมีไว้เพื่อฟันฝ่าและเอาชนะ

ในช่วงครึ่งแรกที่ผู้เขียนฟันฝ่าอุปสรรคนั้น เป็นช่วงที่สนุกพอใช้ (สำหรับเรา)
แต่จะมาน่าเบื่อหน่อยใช้ช่วงหลังๆ ที่ผู้เขียนเล่าถึงการกล่าวสุนทรพจน์ต่างๆ
ผู้เขียนมีชื่ออยู่มากในด้านการกล่าวสุนทรพจน์
ดังนั้น จึงมีหลายบทตอนที่เล่าไว้ถึงเรื่องเหล่านี้
สุนทรพจน์ต่างๆ ที่เขากล่าวไว้
ล้วนเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการศึกษา และการฝึกฝนตนเองของคนผิวดำ
การพัฒนาตนเองไปอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกันทั้งสองเชื้อชาติ
ความสำคัญของคนทั้งสองเชื้อชาติที่มีต่อผืนแผ่นดิน

หนังสือเล่มนี้ เป็นหนังสือที่สนุกน้อยกว่าที่คิด
วิธีเล่ามีความเป็นทางการ ภาษาที่ผู้แปลใช้ก็เป็นภาษาเก่า
ใช้วิธีแปลแบบเก่า คือแปลออกมาไท้ยไทย
อ่านแล้วก็จะเบื่อๆ หน่อย
มีช่วงให้สนุกบ้างตอนที่ผู้เล่าต้องเอาชนะอุปสรรคต่างๆ
แต่โดยรวมๆ นั้นจะชวนง่วงหน่อย

Comments are closed.