ชีวิตของประเทศ
เรื่อง ชีวิตของประเทศ
ผู้แต่ง วิษณุ เครืองาม
สำนักพิมพ์ มติชน
เลขมาตรฐานหนังสือ 9789740215141
เราใช้เวลาอ่าน ชีวิตของประเทศ นานเกือบหนึ่งเดือนเต็ม
เป็นการอ่านที่ยาวนานเกินธรรมดามาก แถมยังอ่านไม่ค่อยปะติดปะต่อ
พออ่านจนถึงตอนจบ ก็ลืมเรื่องราวตอนต้นไปเสียเกือบหมดแล้ว
จะเล่ายังไงดีละ?
ชีวิตของประเทศ เป็นหนังสือที่เล่าเรื่องราวตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์
อันที่จริงเล่ามาตั้งแต่ช่วงหลังกรุงศรีอยุธยาแตกเลยด้วยซ้ำ
เล่าถึงความยากลำบากของผู้คนในยุคก่อร่างสร้างเมือง
เป็นยุคแห่งการเริ่มต้น ยุคแห่งความหวัง และยุคแห่งความไม่แน่นอน
ผู้เขียนได้เล่าถึงแผ่นดินของพระเจ้าตากสินเอาไว้เป็นการเริ่มต้น
ในช่วงที่เพิ่งเปิดเรื่องนั้น
ตัวละครชุดแรกที่ออกมาเล่าเรื่องให้เราฟัง
ล้วนแต่เป็นตัวละครที่มีตัวตนอยู่จริงในประวัติศาสตร์
ทั้งสิน (พระเจ้าตากสินมหาราช) , เจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง)
(พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช),
นายบุนนาค (เจ้าพระยาอรรคมหาเสนา ต้นตระกูลบุนนาค),
คุณหญิงนาค (สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี), นวล (เจ้าคุณพระราชพันธุ์นวล),
ท่านทอง, ท่านสั้น, เจ้าขรัวเงิน, พ่อฉิม (พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย),
แม่ฉิมใหญ่ (เจ้าจอมมารดาฉิมใหญ่), บุญมา (กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท),
บุญรอด (สมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์) ฯลฯ
มีตัวละครสมมติของผู้เขียนอยู่แต่เพียงครอบครัวของหมอชั้น
อันประกอบไปด้วยหมอชั้นและแม่เพ็งภรรยา
ต่อมาจวบจนขึ้นแผ่นดินใหม่รัชกาลที่หนึ่ง ครอบครัวของหมอชั้นจึงขยับขยายขึ้น
ใหม่ บุตรชายของหมอชั้น ถือกำเนิดขึ้นในปีเดียวกันกับที่ตั้งกรุงรัตนโกสินทร์
และใหม่ที่เองที่เป็นผู้ถ่ายทอดเรื่องราวในประวัติศาสตร์ ผู้คน วิถีชีวิต ความเชื่อ ฯลฯ
ตั้งแต่ช่วงต้นของกรุงรัตนโกสินทร์
เรื่อยมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 อันเป็นช่วงสุดท้ายของหนังสือเล่มนี้
ใหม่มีวิถีชีวิตอย่างคนธรรมดาๆ คนหนึ่ง เขาเป็นลูกหลานตระกูลหมอ
มีเชื้อสายแขกมะหง่น (แขกเปอร์เซีย) เช่นเดียวกับเฉกอะหมัด ต้นตระกูลบุนนาค
เมื่อใหม่เติบโตขึ้น เขาก็เป็นไพร่สมอยู่ในสังกัดของเจ้าพระยาอรรคมหาเสนานี่เอง
แต่ถึงกระนั้น ผู้เขียนก็แยกเรื่องราวระหว่างตัวละครจริง
กับตัวละครที่ถูกสร้างขึ้นเป็นคนละเรื่อง ไม่ได้เกี่ยวพันเชื่อมโยงกันอย่างที่เราคิดทีแรก
ต่างฝ่ายต่างมีชีวิตของตนเอง และเรารู้เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ผ่านเรื่องเล่าอีกที
ไม่ได้เกิดขึ้นในเรื่อง ผู้เขียนไม่ได้บรรยายให้เราเห็นภาพ
เพียงแต่เล่าผ่านตัวละคร คล้ายกับการอ่านหนังสือประวัติศาสตร์ที่ถูกย่อยให้อ่านง่ายขึ้น
ผู้เขียนได้เล่าเรื่องราวของบ้านเมืองนับตั้งแต่แผ่นดินของพระเจ้าตากสินฯ
มาจนถึงยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ผ่านทางตัวละครรอบตัวของใหม่
เล่าถึงความยากลำบากในการสร้างเมือง
ซึ่งในช่วงต้น พระเจ้าตากฯ ยังต้องยกทัพไปปราบกบฏก๊กต่างๆ ที่ยังไม่ยอมรับท่านอีกมาก
ยังต้องระวังศึกสงครามจากนานาประเทศรอบด้านที่จะฉวยโอกาสยกทัพมาซ้ำเติม
ต้องเร่งบำรุงเมืองให้เข้มแข็ง แข็งแรง เร่งสร้างเมือง สร้างชุมชนบ้านต่างๆ
กอบกู้ช่างศิลปะที่พลัดพรายไประหว่างช่วงที่กรุงแตกให้มารวมตัวอยู่กันเป็นสัดส่วน
เป็นบ้านช่างต่างๆ เป็นตลาดและชุมชนต่างๆ ซึ่งยังปรากฏชื่อมาถึงปัจจุบัน
ทรงทำนุบำรุงวัดวาอาราม สร้างกำแพงเมือง วางผังเมืองให้เหมาะสม
รวบรวมผู้คนที่อพยพมาจากที่ต่างๆ ทั้งคนไทยและต่างชาติให้อยู่เป็นหลักแหล่ง ฯลฯ
ผู้เขียนสอดแทรกประวัติการถือกำเนิดของชุมชนต่างๆ
ประวัติย่านโบราณแต่ครั้งก่อตั้งกรุงธนบุรีและย้อนไปไกลกว่านั้น
ยุคสมัยที่บางกอกยังเป็นบ้านนอก เป็นชุมชนโบราณ
ยังเกาะกลุ่มกันอยู่เป็นชุมชนริมแม่น้ำ
เนื่องจากเคยเป็นชุมทางของนานาเรือสินค้า
ชุมชนเหล่านี้ เราต่างคุ้นชื่อกันอยู่แล้วบ้าง ไม่เคยได้ยินบ้าง
เช่นวัดมะกอก (วัดแจ้ง), วัดมะกอกนอก, วัดท้ายตลาด, วัดศาลาสี่หน้า,
วัดเจ๊สัวหง (วัดหงส์อาวาสบวรวิหาร), วัดบางหว้าใหญ่ (วัดระฆังโฆสิตารามฯ) ,
วัดบางหว้าน้อย (วันอมรินทราราม), วัดเสาประโคน (วัดดุสิตาราม), วัดหนัง,
วัดบางยี่เรือ, วัดบางยี่เรือนอก (วัดอินทาราม), วัดพลับ, วัดทอง, วัดโพธาราม,
วัดสลัก, วัดอัมพวา, วัดสระเกศ, วัดสะแก, วัดกลางนา, วัดเลียบ, วัดสมอราย,
วัดเชิงเลน (วัดบพิตรพิมุข), วัดมหาธาตุ, วัดสมอราย, วัดสมอแครง,
วัดคอกควาย (วัดยานนาวา), วัดราชนัดดาราม, วัดเทพธิดาราม,
วัดสุทัศนเทพวราราม, วัดดาวดึงษาราม, วัดใหม่ยายแฟง (วัดคณิกาผล),
วัดสามพระยา, วัดอัปสรสวรรค์, วัดนวลนรดิศ, วัดนายโรง, วัดมหรรณพาราม,
วัดดอกไม้ (วัดบุปผาราม), วัดกัลยาณมิตร, วัดรั้วเหล็ก (วัดประยุรวงศาวาส),
วัดพิชัยญาติ, วัดอนงคาราม, วัดทองธรรมชาติ, วัดทองนพคุณ, วัดคูหาสวรรค์,
วัดเครือวัลย์, วัดไชยชนะสงคราม, วัดสามปลื้ม, วัดบวรนิเวศ,
วัดสำเพ็ง (วัดปทุมคงคา), วัดใหม่วาสุกรี (วัดชิโนรสาราม), วัดโสมนัสวิหาร,
วัดมกุฏกษัตริยาราม, บางช้าง, บางระมาด, ตลาดพลู, กุฎีจีน, กุฎีเจ้าเซ็น,
บ้านขมิ้น, บ้านช่างบุ, บ้านช่างหล่อ, บ้านปูน, บ้านหม้อ, คลองบางกอกใหญ่,
คลองบางกอกน้อย, คลองบางเชือกหนัง, คลองมอญ, คลองบางหว้าใหญ่,
คลองสำเพ็ง, คลองโอ่งอ่าง ฯลฯ
ซึ่งก็เล่าถึงทั้งสองครา คือเมื่อพระเจ้าตากสินทรงตั้งกรุงธนบุรี
และเมื่อรัชการที่ 1 ทรงตั้งกรุงเทพมหานครฯ
ช่วงเปลี่ยนแผ่นดินจากพระเจ้ากรุงธนบุรีมาเป็นรัชกาลที่ 1 เป็นเรื่องที่เล่าได้ยากจริงๆ
เราไม่แม่นประวัติศาสตร์ช่วงนี้ ไม่ค่อยได้อ่านเพิ่มเติม
นอกเหนือจากที่เคยเรียนตามตำราเด็กมัธยมธรรมดาๆ
เลยไม่รู้แน่ว่ามีบันทึกแตกแยกออกเป็นกี่ฉบับ
และแบบฉบับที่ผู้เขียนยกมาอ้างนี้น่าเชื่อถือแค่ไหน
แม้เมื่ออ่าน ก็อ่านแล้วเสียวไส้ ใจหายใจคว่ำ
แต่ก็นับถือว่าผู้เขียนเล่าเรื่องได้เรียบร้อยดี
แม้เรื่องที่ไม่ควรเล่า หรือไม่มีหลักฐาน
ก็ยังจับใส่ปากตัวละครชาวบ้านร่ำลือกันไป
เรียกได้ว่า จะเชื่อถือเป็นจริงจังนั้นไม่ได้ แต่ก็บันทึกเอาไว้ให้คิดกันเอาเอง
ประวัติศาสตร์ส่วนอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์
ผู้เขียนก็ลงรายละเอียดเอาไว้ไม่น้อย
ทั้งการศึกสงครามในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์
อย่างสงครามเก้าทัพ ที่คาบเกี่ยวไปถึงศึกถลาง
ที่มีท้าวเทพกษัตรี และท้าวศรีสุนทร เป็นวีรสตรีสองพี่น้อง
ศึกเจ้าอนุวงศ์ อันมีย่าโมเป็นวีรสตรีในประวัติศาสตร์
การย้ายเมืองหลวง การสร้างเมืองหลวงใหม่
การทำนุบำรุงวัดวาอารามทั้งเก่าและใหม่
การสร้างวังต่างๆ โครงสร้างการปกครองของไทย
การก่อสร้างสวนขวาในสมัยรัชการที่ 2 รวมไปถึงการทำนุบำรุงด้านศิลปะต่างๆ
พระราชนิพนธ์สำคัญในแต่ละรัชสมัย
(อย่างตอนที่่ผู้เขียนเล่าถึงยุคสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
ผู้เขียนได้ดึงบทละครอิเหนาเข้ามาสอดแทรกเป็นบทจีบ
บทประชดประชัน จนถึงบทสนทนาสัพเพเหระ ฯลฯ
จนทำให้เราเชื่อได้ว่าคนโบราณเขาจดจำบทกลอนเหล่านี้ขึ้นใจ
จนมาพูดกันในชีวิตประจำวันจริงๆ)
การทำนุบำรุงวัดสำคัญในสมัยรัชกาลที่ 3
การบริหารบ้านเมืองในแต่ละรัชสมัย
ปัญหาความขัดแย้งภายในต่างๆ
การเกิดพุทธศาสนานิกายใหม่ ในสมัยรัชกาลที่ 3 – 4
การทำสนธิสัญญาเบอร์นี และสนธิสัญญาเบาว์ริง
การติดต่อกับชาวต่างชาติ การเกิดโรคระบาดต่างๆ
และการผันแปรของความนิยมในแต่ละยุคสมัย ฯลฯ
นอกจากนี้ ผู้เขียนยังแทรกความรู้ทางด้านอาหารและยารักษาโรค
อันเป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมของคนไทย ผ่านอาชีพของตัวละครสำคัญในเรื่อง
ที่เป็นหมอเชลยศักดิ์บ้าง เป็นแม่ค้าขายอาหารคาวหวาน
ฝีมืออดีตพนักงานวิเสทจากตำหนักแดงบ้าง
ในส่วนชีวิตของใหม่นั้นก็ไม่ได้หวือหวามีขึ้นมีลงใดๆ นัก
ชีวิตได้รับความอยุติธรรมบ่อยครั้ง แต่ก็มิได้ตกต่ำหนักหนา
ชีวิตรักก็ลุ่มๆ ดอนๆ ไม่ได้หวานชื่นเช่นนิยายทั่วไป
เรียกว่าผู้เขียนใช้ตัวละครทำหน้าที่เพียงเพื่อบอกเล่าประวัติศาสตร์เป็นสำคัญ
ประวัติศาสตร์ที่เราเรียนนั้น มันมาเป็นท่อนๆ ไม่ต่อเนื่องกัน
แต่ ชีวิตของประเทศ ได้ร้อยเรียงเรื่องราวที่เรารู้บ้างไม่รู้บ้าง ให้เชื่อมต่อกันแนบสนิท
ได้เข้าใจบางเหตุการณ์ ได้ซาบซึ้ง ได้ตระหนักอย่างแท้จริงถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์
โดยส่วนตัว เราอ่านเล่มนี้ไปได้ช้ากว่าตอนอ่าน ข้ามสมุทร
เพราะความรู้ในยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ของตัวเองน้อยนัก
อ่านแล้วก็จำไม่ค่อยได้ว่าใครเป็นใคร
เพราะตัวละครชื่อซ้ำกัน ยศซ้ำกันเยอะมาก เดี๋ยวคนหนึ่งเลื่อนยศ อีกคนมาแทน ฯลฯ
ไปๆ มาๆ เลยมึนๆ งงๆ อ่านได้ไม่ลื่นไหลเท่าที่ควร
ถ้าเทียบกันนั้น ข้ามสมุทร ยังมีความรู้และความสนุกถ่วงดุลกันอยู่ครึ่งๆ
มีความลงตัวระหว่างพล็อตและความรู้ที่สอดแทรกเข้ามา กลมกล่อมมากกว่า
ส่วน ชีวิตของประเทศ เล่มนี้ .. เราว่าหนักไปทางความรู้มากกว่ามาก
อาจเป็นเพราะเรื่องราวใน ชีวิตของประเทศ เป็นยุคใกล้ปัจจุบันเข้ามา
ข้อมูลมีมากขึ้น เลยยากที่จะเก็บมาร้อยเรียงได้หมด และเท่าที่ยกมาก็มากโข
แต่ไม่กลมกลืนไปกับเนื้อเรื่องได้เท่าที่ผู้เขียนเองเคยทำไว้ใน ข้ามสมุทร
โดยส่วนตัว เราว่า ชีวิตของประเทศ เหมาะกับผู้ที่อยากรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์ –
ในยุคต้นรัตนโกสินทร์ แบบที่ไม่หนักเป็นตำราเรียน (คือหนักพอกัน แต่อ่านได้สนุกกว่า)
โดยรวมก็ไม่ได้แย่ เราแค่รัก ข้ามสมุทร มากกว่า
เรื่องนั้นเราอ่านลื่นไหลกว่านี้ และชอบพล็อตมากกว่าด้วย
ถ้าพูดถึงเอกลักษณ์ของผู้เขียน
เรามองว่า ตัวละครของคุณวิษณุมักจะไม่ค่อยสมหวังในด้านความรัก
ชีวิตรักของตัวละครของผู้เขียนยังคงซับซ้อน
เช่นเดียวกับที่เราเคยรู้สึกตอนที่อ่าน ข้ามสมุทร
ตัวละครยุคแรก ทั้งใหม่และแก้ว ต่างมีคู่มากกว่าหนึ่งคน
ต่อเมื่อคาบเกี่ยวมาถึงรุ่นลูก รุ่นหลาน ก็ยังคงมีตัวละครที่สมหวังบ้าง ไม่สมหวังบ้าง
และความรักทั้งหลายที่เกิดขึ้นในเล่มนี้ ก็ไม่ทำให้เรารู้สึกถึงความรักเดียวใจเดียวสักเท่าไร
ซึ่งก็ยังคงเป็นเอกลักษณ์ของผู้เขียนอยู่อีกเช่นกัน
อีกหนึ่งเอกลักษณ์ของผู้เขียน ก็คือการไม่ทิ้งตัวละครใดตัวละครหนึ่งให้สาบสูญ
คุณวิษณุ สร้างตัวละครเอาไว้มากมาย
เพราะตัวละครมีชีวิตอยู่ตั้งแต่สมัยพระเจ้าตากสิน จนถึงรัชกาลที่ 5
และค่านิยมในยุคนั้น ผู้ชายมีภรรยาหลายคน แต่ละคนต่างก็มีลูกหลานสืบต่อกันไปมากมาย
มีที่อพยพย้ายไปอยู่ถิ่นฐานต่างๆ บ้าง .. เหมือนจะหายสาบสูญบ้าง
แต่สุดท้าย ผู้เขียนก็ย้อนกลับไปเล่าบทสรุปจบของตัวละครทุกตัวได้อย่างสมบูรณ์ อิ่มเอม
สำหรับเรา ชีวิตของประเทศ เป็นนวนิยายที่เล่าถึงพระราชกรณียกิจ
และพระมหากรุณาธิคุณพระมหากษัตริย์ไทย
ถวายราชสดุดีแด่บูรพกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีเป็นหลัก
โดยมีตัวละครอื่นๆ เป็นเพียงผู้เล่าเรื่องเท่านั้น
Comments are closed.