อ่านแล้วเล่า

จิบพม่าตามหาจอร์จ ออร์เวลล์

เรื่อง จิบพม่าตามหาจอร์จ ออร์เวลล์
ประวัติศาสตร์ระหว่างบรรทัดในร้านน้ำชา
ผู้แต่ง เอ็มม่า ลาร์คิน
ผู้แปล สุภัตรา ภูมิประภาส
สำนักพิมพ์ มติชน
เลขมาตรฐานหนังสือ 9789740215240

จิบพม่าตามหาจอร์จ ออร์เวลล์ เป็นทั้งบันทึกการท่องเที่ยว
ที่บันทึกภาพฉากของประวัติศาสตร์พม่าในยุคล่าอาณานิคม
และบันทึกชีวประวัติของนักเขียนคนหนึ่ง
ซึ่ง
เคยใช้ชีวิตอยู่ที่พม่า ในช่วงเวลานั้น

จอร์จ ออร์เวลล์ หรือชื่อจริงคือเอริก อาร์เธอร์ แบลร์
เคยใช้ชีวิตอยู่ที่พม่าเป็นเวลา 5 ปี ในฐานะเจ้าหน้าที่ตำรวจของจักรวรรดิ
เขาเริ่มต้นด้วยการฝึกในโรงเรียนตำรวจของรัฐบาลอังกฤษ (ที่มัณฑะเลย์)
และได้รับคำสั่งให้ย้ายไปยังเมืองต่างๆ ของพม่า ภายหลังการฝึกสิ้นสุด
เริ่มต้นการเป็นตำรวจครั้งแรกที่เมืองเมียวเมียะ เมย์เมี้ยว และต่วนเต ..
พื้นที่ลุ่มน้ำ ชื้นแฉะ น่าหดหู่
ย้ายครั้งหนึ่งไปร่างกุ้ง .. สิเรียม และอินเส่ง ..
เมืองอันเป็นแหล่งรวมอารยธรรมความสะดวกสบาย
ย้ายอีกครั้งไปที่เมืองเมาะละแหม่ง เมืองที่เขาเคยมีความทรงจำวัยเด็ก
และครั้งสุดท้ายที่กะต่า .. อันเป็นฉากของ พม่ารำลึก ที่เราเพิ่งอ่านจบไป

จอร์จ ออร์เวลล์ อยู่ในพม่า
ในช่วงเวลาคาบเกี่ยวกับยุคล่าอาณานิคมของประเทศอังกฤษ
คือนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1922 – 1927
ชีวิตในช่วงนั้น สร้างแรงบันดาลใจให้เขา (ออกจะเป็นแรงบันดาลใจในด้านลบ)
แต่มันก็ทำให้เขาสร้างงานเขียนออกมามากมาย

และหลายสิบปีต่อมางานเขียนของ จอร์จ ออร์เวลล์
ก็กลายเป็นพลัง สร้างแรงบันดาลใจแก่ผู้หญิงอีกคนหนึ่ง
(ในปี ค.ศ. 2004) จิบพม่าตามหาจอร์จ ออร์เวลล์ เล่มนี้ก็เกิดขึ้น
เอ็มม่า ลาร์คิน ผู้เขียน ได้ค้นคว้าข้อมูลของสถานที่ต่างๆ ที่ ออร์เวลล์ เคยใช้ชีวิตอยู่
เธอเสาะแสวงหาร่องรอยชีวิตของเขาด้วยการเดินทาง
เธอท่องไปตามสถานที่ต่างๆ ที่ถูกอ้างถึงในชีวประวัติของเขา
พูดคุยกับผู้คน .. ปัญญาชน และชาวบ้าน
ผู้มีทัศนะต่อเขา หรืองานเขียนของเขา
คนเก่าคนแก่ ที่อาจเคยมีชีวิตร่วมยุคสมัย
อาจรู้จัก จดจำ หรือมีความทรงจำอะไรบางอย่างเกี่ยวข้องกับเขา ฯลฯ

มันเป็นการตามหาที่ไม่ได้พบร่องรอยของ ออร์เวลล์ มากมายนัก
เพราะหลายครั้งเป็นการรับรู้ข้อมูลต่างๆ ผ่านการคัดกรองจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ
ซึ่งมันทำให้ จิบพม่าตามหาจอร์จ ออร์เวลล์
กลายเป็นภาพคอลลาจ ปะติดปะต่อเรื่องราวต่างๆ
เอ็มม่า ลาร์คิน เป็นนักจับประเด็น
เธอสามารถเล่าเรื่องราวต่างๆ สลับกันไปมา
โดยไม่หลุดไปจากหัวข้อที่กำลังเล่าถึง
เธอเล่าถึง
สิ่งที่ผู้คนพูด ขณะเดียวกันก็บรรยายสิ่งแวดล้อมประกอบ
อันจะช่วยให้เราวิเคราะห์ความจริงแท้ของคำพูดนั้นๆ

ภายในเล่มมีการอ้างอิง ยึดโยงข้อมูลอย่างรอบด้าน
ซึ่งมันทำให้งานเขียนชิ้นนี้มีมิติ
ผู้เขียนมีวิธีเล่าที่ทำให้แม้แต่คนที่ไม่เคยอ่านหนังสือของ ออร์เวลล์
หรือไม่มีพื้นความรู้เกี่ยวกับการปกครองของพม่า (ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2)
ก็ยังเข้าใจต่อสิ่งที่เธอกำลังเล่า และอ่านมันได้สนุก

ในการตามรอยของ ออร์เวลล์ ในครั้งนี้
ผู้เขียนพบร่องรอยของเขาน้อยกว่าที่เราคิดเอาไว้
แต่สิ่งที่แทรกเพิ่มเติมเข้ามา คือวิถีชีวิต สภาพสังคม
รวมไปถึงความคิดอ่านของผู้คนที่มีต่อการเมืองการปกครองของเขา
ซึ่งองค์ความคิดเหล่านั้น ก็เชื่อมโยงมาจากหนังสือสามเล่มดัง ..
พม่ารำลึก, แอนิมอล ฟาร์ม, และ 1984 ของเขานั่นเอง

พูดอีกนัยหนึ่งก็คือ ผู้เขียนใช้ ออร์เวลล์
เป็นตัวกลางในการถ่ายทอดสภาพสังคมของพม่า
ภายใต้การปกครองของทหารในรูปแบบเผด็จการให้เราเห็น

คงจะดี ถ้าเราได้อ่านเล่มนี้ก่อนอ่าน แอนิมอล ฟาร์ม และ 1984
มันคงจะตบแต่งข้อมูลพื้นฐานของเราได้เข้าที่เข้าทางกว่านี้
และทำให้เราได้สังเกตบางสิ่งบางอย่างระหว่างบรรทัด
ของหนังสือสองเล่มที่ว่านั้นได้มากกว่านี้
ความทรงจำบอกเราว่า ตอนที่ได้อ่านสองเล่มนั้นเราไม่ค่อยปลื้มเท่าไร
แต่ตอนนี้ กลับรู้สึกอยากอ่านซ้ำขึ้นมาติดหมัด

มีเพียงสิ่งหนึ่งที่เราสะดุดใจจากการอ่านหนังสือเล่มนี้ก็คือ
ตอนที่เราอ่าน 1984 หรือ แอนิมอล ฟาร์ม นั้น
เราไม่เคยคิดถึงประเทศพม่ามาก่อนเลย
แต่เมื่อเราได้อ่านเล่มนี้ ได้อ่านความคิดของผู้เขียน
ที่กล่าวถึงเหตุการณ์ต่างๆ จากในหนังสือทั้งสองเล่มที่ว่า
รวมไปถึง พม่ารำลึก
ให้เชื่อมโยงไปกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่คนพม่าได้พบเจอในประเทศของพวกเขาเอง
เรากลับคล้อยตามและเห็นพ้องไปกับผู้เขียนทุกเรื่อง .. ซึ่งมันน่าแปลก

เมื่อมาลองคิดดูดีๆ พม่าจะเป็นแรงบันดาลใจสำคัญของ ออร์เวลล์ จริง
หรือเป็นเพียงการอนุมานไปเองของผู้เขียน เราก็ไม่อาจรู้ได้
หนึ่งเป็นเพราะเราไม่ได้ศึกษาประวัติของ ออร์เวลล์ มาดีพอ
หรือเราไม่มีความรู้เรื่องประวัติศาสตร์พม่าที่มากพอ
ส่วนอีกหนึ่งนั้นเป็นเพราะผู้เขียนเขียนดีมาก เนียนมาก
และผู้แปลก็แปลได้ดีมากด้วยเช่นกัน

แม้จะยังตัดสินความรู้สึกที่ว่านั้นไม่ได้
แต่เราก็ต้องยอมรับว่า เราชอบหนังสือเล่มนี้
มากกว่าทุกเล่มที่ ออร์เวลล์ เขียนเองเสียอีก

แปลกดี ทั้งที่หนังสือเล่มนี้เล่าถึงอดีต (เมื่อหลายสิบปีก่อน) ของพม่า
มันเป็นสิ่งที่ผ่านไปแล้ว
แต่หลายครั้งที่เราเผลออ่านบางวรรคตอน บางย่อหน้าอย่างใจลอย
ในใจเผลอวางบทบาทให้มันเป็นเหมือนคู่มือ
คิดไปไกลว่าบางเหตุการณ์อาจเกิดขึ้นจริงในบ้านเรา
และหากเป็นเช่นนั้นจริง เราควรรับมือต่อเหตุการณ์นั้นยังไง!

 

Comments are closed.