เรื่อง จินตนาการไม่รู้จบ
ผู้แต่ง มิชาเอ็ล เอ็นเด้
ผู้แปล รัตนา รัตนดิลกชัย
สำนักพิมพ์ แพรวเยาวชน
เลขมาตรฐานหนังสือ 9786167018584
นี่คือการอ่านหนังสือเล่มนี้เป็นครั้งแรก!
ซึ่งมันก็จะรู้สึกแปลกๆ หน่อย
ที่ได้มาอ่านวรรณกรรมเยาวชนในวัยที่เลยคำว่าเยาวชนไปไกลโขแล้ว
และเราก็ไม่ใช่สายแฟนตาซีด้วยไง
การเริ่มต้นจึงเป็นไปอย่างเกร็งๆ กลัวจะไม่สนุก
แต่ผู้เขียนก็ทำให้เราถูกดูดดึงเข้าไปอยู่ในจินตนาการของผู้เขียนได้ในเวลาไม่นานนัก
ในการรีวิวครั้งนี้ เรา สปอยล์ เนื้อหาบางส่วนนะคะ
หนังสือเล่มนี้เปิดตัวด้วยบทบาทของเด็กกำพร้าแม่คนหนึ่ง
เด็กชายตัวอ้วน อ่อนแอ และมักจะถูกเพื่อนๆ รุมแกล้งอยู่เสมอ ..
เขาคือ บาสเตียน บัลธาซาร์ บูกซ์
ในความคิดของเรา บาสเตียนไม่มีคุณสมบัติของความเป็นตัวเอกเลย ไม่ว่าข้อใดๆ
เขาเริ่มต้นจากการขโมยหนังสือเล่มหนึ่งออกจากร้านหนังสือ .. ด้วยอารมณ์ชั่ววูบ
หลังจากนั้น เกิดความขี้ขลาดไม่กล้ายอมรับความจริง
ไม่กล้ากลับบ้าน ไม่กล้าเข้าห้องเรียน แต่หนีขึ้นไปซ่อนตัวอยู่ในห้องเก็บของของโรงเรียน
ใช้วันเวลาที่ผ่านไปเปิดหนังสือที่เขาขโมยมาอ่านทีละหน้า ทีละหน้า ..
และนั่นคือจุดเริ่มต้นของ จินตนาการไม่รู้จบ
หนังสือเล่มนั้นมีชื่อว่า จินตนาการไม่รู้จบ
มันเป็นหนังสือที่มีชื่อเดียวกันกับเล่มที่เราอ่านอยู่ .. เป็นหนังสือซ้อนหนังสือ
เรื่องราวของหนังสือในโลกแห่งจินตนาการ
ซ้อนทับกันกับเรื่องราวจริงๆ ในชีวิตของบาสเตียน
ภายในหนังสือคือการผจญภัยของ อัทเทรอู
ผู้ซึ่งกำลังค้นหาฮีโร่สักคนมาช่วยเหลือโลกแห่งจินตนาการที่กำลังค่อยๆ ล่มสลายลง
หนังสือเล่มนี้น่าทึ่งตั้งแต่ตอนต้นเรื่องเลย
พล็อตของโลกจินตนาการนั้นลึกล้ำหลุดโลกสุดๆ และมาต่อเนื่องไม่ขาดระยะเลย
ทั้งเรื่องราวของเด็กชายตัวเขียวผู้มีนามว่า อัทเทรอู
และมังกรคู่ใจที่ได้มาพบกันในภายหลังอย่าง ฟูคัวร์
รวมทั้งสิ่งมีชีวิตประหลาดๆ อีกนับไม่ถ้วน ในอาณาจักรแห่งจินตนาการนี้
เกิดการผจญภัยต่างๆ อย่างไม่มีเหตุผล
เพียงเพื่อสุดท้ายแล้วจะได้ค้นพบฮีโร่ธรรมดาๆ อย่างบาสเตียนนี่เอง
ในตอนเริ่มอ่าน เราอ่านมันด้วยนัยน์ตาของผู้ใหญ่ที่มาตัดสินหนังสือเล่มนี้แทนเด็กๆ
เรารู้สึกว่าหนังสือเล่มนี้เริ่มต้นอย่างเรื่อยๆ และค่อยๆ น่าติดตามมากขึ้นทีละน้อย
ความสนุกดำเนินมาจนถึงช่วงก่อนที่โลกแห่งความจริง และโลกของจินตนาการจะบรรจบกันนี่แหละ
เมื่อบาสเตียนเข้ามาสู่โลกของจินตนาการ เราว่าเรื่องมันยืดเยื้อ และน่าเบื่อ
อย่างที่เคยบอกก่อนหน้านี้ไปว่า บาสเตียนไม่มีคุณสมบัติของตัวเอกเลย
เมื่อเขาเดินทางเข้ามาในโลกแห่งจินตนาการแล้ว ความรู้สึกนี้ยิ่งชัดเจนมากขึ้นอีก
เขาไม่กล้าหาญ ไม่ฉลาดเฉลียว ..
แทนที่เขาจะยอมรับ และปรับปรุงตัว
เขากลับละทิ้งตัวเองแล้วหาสิ่งอื่นมาสวมทับ ..
ในภายหลัง แม้ว่าเขาจะสามารถอธิษฐานขอความกล้าหาญ และความฉลาดเฉลียวได้แล้ว
การกระทำของเขาก็ยังคงแสดงออกมาว่าเขาไม่กล้าหาญพอที่จะยอมรับความจริง
และไม่ฉลาดจนยอมถูกตัวละครอื่นหลอกได้ตื้นๆ
ที่สำคัญที่สุดที่เขาไม่มีคือ ความดี
นอกจากบาสเตียนจะถูกคนอื่นหลอกแล้ว เขายังถูกตัวเองหลอกอีกด้วย
หลงมัวเมาในความสามารถของตน ที่ได้มาด้วยพลังวิเศษ
มองยังไงมันก็ไม่ใช่ความสามารถที่แท้จริงของเขา
เขาขาดความมั่นคง และค่อยๆ เปลี่ยนไปทีละนิด ทุกครั้งที่ความพิเศษในตัวของเขาเพิ่มขึ้น
ยิ่งมีอำนาจมากขึ้นเท่าไร ตัวตนของเขาก็ค่อยๆ หายไป
ระหว่างอ่าน เราเริ่มค้นพบว่าหนังสือเล่มนี้มีความเป็นปรัชญาซ่อนเอาไว้หลายที่มาก
เมื่อแรกอ่านไม่แน่ใจว่าผู้เขียนตั้งใจหรือเปล่า
เพราะแค่ชีวิตปกติของคนเราก็สามารถมองให้เป็นปรัชญาได้เหมือนกัน
แต่เมื่ออ่านไปเรื่อยๆ จนจบ เราจึงได้มั่นใจว่าผู้เขียนตั้งใจวางพล็อตเอาไว้แบบนี้
และมันยิ่งน่าทึ่งมากขึ้นไปอีก
หลายเรื่องที่รู้สึกได้เลยว่ามันล้อไปกับความรู้สึกนึกคิดที่แท้จริงในจิตใจของผู้ใหญ่นี่แหละ
ผู้เขียนทำได้ดีในแง่ของการพัฒนาความรู้สึก
มีหลายอย่างที่เราชอบในเล่มนี้
เราชอบวิธีที่ผู้เขียนทำให้โลกความจริงและโลกแห่งจินตนาการเชื่อมต่อกันอยู่
ชอบไอเดียของความไม่รู้จบตอนกลางเรื่อง
เมื่อจุดเริ่มต้นและจุดจบเดินทางมาบรรจบกัน
มันก็เหมือนกับภาพงูกินหางสองตัวบนหน้าปก
เรื่องราวจะดำเนินไปอย่างไม่มีวันสิ้นสุด .. เช่นเดียวกับชื่อหนังสือ
เราชอบไอเดียที่ให้ท่านผู้เฒ่าแห่งภูเขาเดินได้ ..
เป็นผู้จดบันทึกเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นในโลกแห่งจินตนาการ
แล้วมันก็ได้กลายเป็นเรื่องราวต่างๆ ทั้งหมดที่เกิดขึ้นในหนังสือเล่มนี้
(จริงๆ คืออีกเล่มหนึ่งที่บาสเตียนอ่าน ;P)
เราว่าพาร์ทเด็กมันจบลงตรงนั้นล่ะ ..
ตรงที่บาสเตียนสามารถทะลุเข้าไปยังเมืองแห่งจินตนาการได้
และสามารถช่วยชาวจินตนาการให้ข้ามผ่านวิกฤตไปได้
ถ้าเป็นหนังสือเรื่องอื่นๆ ก็คงจบลงตรงนี้ ซึ่งมันก็ดูสมบูรณ์ดี
แต่ผู้เขียน ต่อยอดให้หนังสือเรื่องนี้สุดยอดมากขึ้นไปอีก
มีหลายสิ่งหลายอย่างที่เราคิดว่า
ผู้เขียนตั้งใจสอดแทรกมันไว้เพื่อสื่อสารถึงผู้ใหญ่ที่อ่านหนังสือนี้
โดยเฉพาะนับหลังจากที่บาสเตียนก้าวเข้าไปสู่อาณาจักรแห่งจินตนาการ
นับจากนั้น แนวทางการดำเนินเรื่องก็เปลี่ยนไปนิดหน่อย
เราชอบตอนที่บาสเตียนเพิ่งเข้าไปในดินแดนแห่งจินตนาการ
ชอบฉากที่ป่าแห่งราตรีกาลแพเรอลินสลายกลายเป็นทะเลทรายแห่งสีสัน
แล้วในยามค่ำคืนทะเลทรายก็จะก่อกำเนิดกลายเป็นป่าอีกครั้ง
หมุนเวียนไปไม่รู้จบ มันแสดงให้เห็นถึงวัฏจักรต่างๆ ในโลกมนุษย์
เพียงแต่ในโลกของจินตนาการ มันเกิดขึ้นเร็วกว่าปกติเท่านั้น
ชอบฉากตอนที่บาสเตียนไปยังวิหารประตูพันบาน
มันเป็นห้องที่เต็มไปด้วยประตูบานต่างๆ ..
ประตูที่รวบรวมมาจากประตูทุกบานที่มีอยู่ในโลก (แห่งจินตนาการนี้)
มันสามารถเปิดออกไปได้เรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด
ตราบจนกว่าเราจะค้นพบความปรารถนาในใจเรา
มันแฟนตาซีมาก ทั้งๆ ที่เราไม่ชอบแฟนตาซี แต่ฉากนี้กลับทำให้เราชอบมากจริงๆ
ประสบการณ์การอ่านหนังสือเล่มนี้
ทำให้เรารู้สึกเหมือนเรากำลังท่องอยู่ในโลกแห่งจินตนาการจริงๆ
คือเราได้หวนกลับไปเป็นเด็ก และเติบโตขึ้นทีละน้อย
เริ่มต้นอย่างหอมหวานไปด้วยจินตนาการชวนฝัน
แล้วต่อเติมด้วยจินตนาการที่แสนโหดร้ายดังโลกแห่งความจริงทีละน้อย ทีละน้อย
มีหลายคราที่เรากลายเป็นอย่างเช่นบาสเตียนที่เราแสนเกลียด
เราเหลิง เราเปลี่ยนแปลงไปในด้านที่แย่ลง
ทุกวันนี้ เรายังหลงท่องเที่ยวอยู่ในโลกแห่งจินตนาการ
จนหลงลืมความปรารถนาที่แท้จริงของตนเองไปแล้วหรือเปล่า?
แท้ที่จริงแล้ว บาสเตียนที่เราแสนเกลียด ก็คือตัวเรานั่นเอง?
มีผิดหวัง มีคาดหวัง เมื่อสมหวังก็พอใจ มีความสุข
และเกิดความปรารถนาอันใหม่ต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ไม่สิ้นสุด
ยิ่งสมหวัง ก็ยิ่งคิดถึงแต่ตนเอง
ความปรารถนาของบาสเตียนมีสิ่งที่ดีบ้าง เลวร้ายบ้าง
และบางอย่างเริ่มต้นด้วยดี แต่ผลของมันกลับเลวร้ายก็มี
เขาผิดพลาด เขาเรียนรู้ แม้จะอย่างเชื่องช้าและโง่เขลา
แต่มันก็คือตัวเราทุกคน?
ทุกวันนี้ เราเองก็ยังคงเวียนว่ายอยู่ในความโง่เขลานั้น
รอวันจะค้นพบความปรารถนาสุดท้าย .. ความปรารถนาอันแท้จริงในใจเรา? ..
เราเชื่อว่าเด็กๆ จะอ่านหนังสือเล่มนี้ได้สนุก
แต่สำหรับผู้ใหญ่ จะได้อะไรมากกว่านั้นอีกมาก
หนังสือเล่มนี้มันคือที่สุดจริงๆ