อ่านแล้วเล่า

จำหลักไว้ในแผ่นดิน

เรื่อง จำหลักไว้ในแผ่นดิน
ผู้แต่ง กฤษณา อโศกสิน
สำนักพิมพ์ อักษรโสภณ
เลขมาตรฐานหนังสือ 9789742530372

จำหลักไว้ในแผ่นดิน รวบรวมประวัติศาสตร์ของกัมพูชา
นับตั้งแต่วันที่นายพลลอนนอลยึดอำนาจจากเจ้าสีหนุ เมื่อ พ.ศ. 2513
และเขมรกลายเป็นเขมรแดง ในปี พ.ศ. 2518
เกิดเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์กันเองภายในประเทศ
ประชาชนชาวเขมรอพยพหลบหนีออกนอกประเทศกันเป็นทิวแถวไม่ขาดสาย
เหตุการณ์ยืดเยื้อ ผู้นำเขมรแตกออกเป็นฝ่ายต่างๆ มากมาย
จวบจนกระทั่งทุกฝ่ายร่วมมือกันสงบศึก
และจัดตั้งรัฐบาลเขมร 4 ฝ่าย สำเร็จลงในที่สุด ในปี พ.ศ. 2536

 

หนังสือเล่มนี้ถูกแบ่งออกเป็นสามภาคภายในเล่มเดียว
ภาคแรก เริ่มต้นตอนที่กัมพูชากลายเป็นคอมมิวนิสต์ ในปี พ.ศ. 2518
ผู้เขียนเปิดเรื่องขึ้นด้วยฉากการอพยพออกจากประเทศกัมพูชา
ของครอบครัวมีอันจะกินครอบครัวหนึ่ง
ซึ่งเป็นการลักลอบเข้าประเทศไทยมาเป็นกลุ่มคนกลุ่มแรกๆ
นับตั้งแต่ประเทศกัมพูชาเกิดการเปลี่ยนแปลง
เธอได้เดินทางมาพบกับครอบครัวชาวไร่ ณ ชายแดนไทยครอบครัวหนึ่ง
ซึ่งมีคนงานที่ฉลาดเฉลียว มีภูมิความรู้ผิดไปจากชนชั้นแรงงานทั่วไป
นั่นคือฉากแรกพบของหญิงชายนามว่าเทีย และสู

เบื้องหลังของเธอและครอบครัวถูกปิดเป็นความลับในช่วงต้นของเรื่อง
เบื้องหลังของเขาด้วยเช่นกัน
เรื่องดำเนินไปอย่างเนิบๆ เนือยๆ ผู้เขียนเล่าเรื่องเนิบช้ามาก
หมดไปร้อยหน้า เรื่องราวยังไปไม่ถึงไหน
ยังไม่รู้ว่าทั้งเทีย และทั้งสูมีจุดประสงค์อะไร
ต่างฝ่ายต่างมีความลับซ่อนเร้น
ตัวละครแซะกันไป หยอดกันมา คนอ่านได้แต่บทสนทนา เรื่องไม่ไปไหน
บทสนทนามากจนเกินไป ทั้งภาคแรกมีแต่การปะทะโวหารกันระหว่างพระนางคู่นี้

 

แล้วเรื่องก็ดำเนินมาถึงภาคที่สอง ซึ่งเริ่มต้นในปี พ.ศ. 2522
ในตอนที่ทหารเวียดนาม นำโดยนายเฮง สัมริน เข้ามาแทรกแซง
และสามารถล้มรัฐบาลพอลพต (เขมรแดง) ลงได้
ในระยะเวลาสี่ปีที่ผ่านมานี้ ชาวเขมรอพยพ รวมทั้งเวียดนามและลาวบางส่วน
ทะลักเข้าชายแดนไทยจากหมื่นเป็นแสน จากปีเป็นสี่ปี ..
และยังคงทะลักเข้ามา ไม่มีท่าว่าจะหยุด
ตราบใดที่สงครามภายในของกัมพูชายังคงยืดเยื้อ ไม่จบสิ้น
พวกเขามีชีวิตอยู่ในค่ายผู้อพยพ ปีแล้วปีเล่า ยาวนานเป็นสิบปี
บางชีวิตเติบโตขึ้นจากเด็กแรกเกิดกลายเป็นวัยรุ่น
กลายเป็นชนชาวเขมรที่ไม่เคยได้เห็นประเทศแม่ของตัวเอง

ในภาคที่สองนี้ แม้จะยังเนิบๆ แต่ก็ได้น้ำได้เนื้อมากขึ้น
มีเนื้อหาทั้งข้อมูลเกี่ยวกับสงคราม และความคืบหน้าของตัวละครมากขึ้น
ซึ่งก็เดาได้กันแต่แรกแล้วล่ะ ว่าเทียคือเจ้าหญิงโสคนเทีย
เจ้าหญิงปลายแถวองค์หนึ่งของกัมพูชา

และสู ก็คือข้าราชการทหารที่ปลอมตัวมาเป็นชาวไร่ ..
นามที่แท้จริงของเขาก็คือ สรคม อภัยอิทธิพล
ในภาคนี้ เขากลายเป็นที่ปรึกษาของทหารเขมรในชมรมโอเวง
อันเป็นหน่วยงานกู้ชาติของเจ้านโรดม สีหนุ

แล้วเรื่องก็กระโดดไปยังภาคที่สาม ในปี พ.ศ. 2529
และไปจบสุดท้ายในปี พ.ศ. 2536 อันเป็นปีที่เขมรทั้ง 4 ฝ่าย
อันประกอบไปด้วยกลุ่มของเขมรแดง, กลุ่มของนายซอน ซาน,
กลุ่มของเจ้าสีหนุ และกลุ่มของนายเฮง สัมริน
สามารถหาข้อตกลงร่วมกัน ตั้งรัฐบาลผสมขึ้นสำเร็จ
ไทยสามารถส่งผู้อพยพชาวเขมรทั้งหมดกลับคืนสู่บ้านเกิดได้ทั้งหมด
และรวมไปถึงการปิดศูนย์อพยพทั้งหมดทุกศูนย์ฯ ในที่สุด

ในภาคนี้ ว่าด้วยไหวพริบและผลประโยชน์ทางการเมืองระหว่างเขมรแต่ละฝ่าย
โดยที่สรคม กลายเป็นที่ปรึกษาประจำองค์สมเด็จเจ้าสีหนุ
มณฑาทองยังคงเป็นแพทย์ประจำศูนย์อพยพ,
และเจ้าหญิงโสคนเทียก็ยังคงทรงเป็นเจ้าหญิงพลัดถิ่น
ตัวละครทั้งหมด อายุล่วงเข้าไป 40 – 50 ปีกันแล้ว แต่ยังคงโสดครบทุกคน

เนื้อเรื่องทั้งสามภาคนี้ถูกตัดแบ่งออกเป็นสามส่วน ไม่ต่อเนื่องกัน
ผู้เขียนจบภาคหนึ่งค้างไว้ ทั้งเรื่องราวทางประวัติศาสตร์และเรื่องราวของตัวละคร
และก็กระโดดมาเล่ายังภาคที่สอง และภาคที่สาม ด้วยวิธีการเดียวกัน
ซึ่งวิธีเล่าแบบนี้ ทำให้คนอ่านไม่รู้สึกถึงความเชื่อมต่อของเรื่องราวทั้งหมด
คนอ่านไม่ได้ติดตามตัวละครใกล้ชิด
เราไม่มีความรู้สึกผูกพันกับตัวละคร
รู้จักเพียงผิวเผิน เรื่องราวก็ไม่ปะติดปะต่อ
เหมือนฟังข่าวของเพื่อนห่างๆ สักคน ฟังแล้วก็ผ่านเลยไป

ส่วนการเข้าถึงเนื้อหาที่ผู้เขียนต้องการจะสื่อนั้น
เป็นเพราะตัวละครหลักไม่ใช่ผู้ทุกข์ยากโดยตรง
พวกเขาเป็นเพียงผู้ที่ให้ความช่วยเหลือผู้ทุกข์ยากอีกทีหนึ่ง
เป็นทหาร เป็นหมอ เป็นเจ้าหญิงที่อยู่สุขสบายดี
เพียงแค่ระดมทุนหาเงินช่วย แล้วก็แวะไปเยี่ยมตามค่ายอยพนานๆ ที
ทำให้ความรู้สึกยากลำบากของผู้อพยพตัวจริง ต้องถูกส่งผ่านมาถึงสองทอด
คือส่งผ่านจากผู้เขียนไปยังตัวละครหลัก และจากตัวละครหลักมาถึงผู้อ่าน
ความรู้สึกลึกซึ้งที่ควรจะมีจึงอาจตกหล่นอยู่ตามรายทาง
มาไม่ถึงคนอ่านได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย
เราไม่ได้รู้สึกร่วมทุกข์ร่วมสุขไปกับผู้อพยพ
มองเห็นความทุกข์ยากเป็นเพียงแค่การรับรู้ มองเห็น
เหมือนดูข่าวหรืออ่านข่าว

เราอาจจะไม่ได้โตมากับนิยายของกฤษณา อโศกสิน
ทำให้ไม่ว่าจะเป็นสำนวน ภาษา วิธีเล่าเรื่อง ฯลฯ
ไม่ได้ทำให้เราอินเข้าไปในเรื่องได้เลย

ความทุกข์ยากของชาวเขมรนั้นเป็นของจริง
ความยากลำบากในการใช้ชีวิตให้รอดไปในแต่ละวันนั้นสุดโหด
ต้องเดินเท้าเป็นร้อยกิโลเมตร
เพื่อหนีออกจากประเทศอันเป็นบ้านเกิดเมืองนอน
ตลอดการเดินทางมีอาหารน้อยมากเกินกว่าที่เราจะคิด
บางคนไม่ได้นอนติดต่อกันหลายคืน
ทั้งยังต้องคอยระวังทหารเขมรแดง ซึ่งพร้อมจะยิงคนทิ้งโดยไม่ถามไถ่
ต้องระวังเหยียบกับระเบิดที่มีอยู่เกลื่อน
ระวังสัตว์ป่า และยุงอันเป็นพาหะแห่งโรคภัยไข้เจ็บที่มีอันตรายถึงชีวิต ฯลฯ

ผู้เขียนเพียงบอกเล่าความจริงด้วยภาษาธรรมดา
เราก็ซาบซึ้งต่อความจริงที่เกิดขึ้นแล้ว
แต่ผู้เขียนใช้ภาษาสละสลวยเกินไปจนดูประดิษฐ์
มันทำให้ความจริงดูไม่จริง

จากบางส่วนของคำนำผู้เขียน
ผู้เขียนได้อธิบายที่มาที่ไปของหนังสือเล่มนี้
ทั้งเรื่องพล็อตและการเก็บข้อมูลเชิงลึกต่างๆ 
ทำให้เราคาดหวังว่าจะได้อ่านนิยายที่ลึกซึ้งกว่านี้ เข้มข้นกว่านี้
บางที เราคงคาดหวังสูงเกินไปเอง

จำหลักไว้ในแผ่นดิน ไม่ใช่นิยายสนุกสนานหวือหวา
แต่ก็อ่านได้เรื่อยๆ และทำให้ได้รู้ได้เห็นภาพของค่ายอพยพ
บริเวณชายแดนไทย
ในช่วงเวลาหน้าสิ่วหน้าขวาน
ในช่วงที่ทั้งเวียดนามและกัมพูชาต่างก็ห้ำหั่นกัน
โดยมีไทยเป็นผู้สนับสนุนหลัก (ฝ่ายเขมร) ไปอย่างตกกระไดพลอยโจน

ถึงอย่างนั้น เราก็ยังต้องดำเนินนโยบายวางตัวเป็นกลางเท่าที่จะทำได้
โดยหวังอย่างสุดใจว่า ไทยจะไม่กลายเป็นคอมมิวนิสต์
ภายใต้การนำของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง (จีนหรือโซเวียต)

สิ่งที่เราชอบในเรื่องนี้คือ ประเด็นของการตามหาตัวผู้สูญหาย
การที่พ่อแม่ลูกพลัดพรากจากกันไปนานเป็นสิบปี
แล้วได้พบกันในที่สุด
เสียดายที่ผู้เขียนใส่เหตุการณ์นี้ไว้เป็นเพียงฉากห่างๆ 
ไม่ได้เล่ารายละเอียดให้คนอ่านได้เข้าถึงความรู้สึกลึกๆ ของผู้คนเหล่านี้

ส่วนที่เราไม่ชอบ หลักๆ เลยคือตัวเจ้าหญิงนี่แหละ
นอกจากคำบรรยายที่ว่าเจ้าหญิงโสคนเทียทรงห่วงใยคนกัมพูชามาก
เราไม่เห็นการแสดงออกที่ทำให้เห็นตามนั้น
ผู้เขียนได้แต่เน้นย้ำด้วยคำบรรยาย คำบอกเล่าของตัวละครด้วยกัน
แต่เราไม่เห็นพระราชกรณียกิจที่ไปในทางนั้น
นอกจากไปเยี่ยมชาวกัมพูชาในศูนย์อพยพนิดหน่อย
เสด็จไปยังประเทศต่างๆ เพื่อหาเงินทุน
แล้วก็อ่อยพระเอกไปวันๆ

ที่ว่าทรงกล้าหาญ เอาตัวเองไปเสี่ยงกลางสนามรบ (โดยไม่จำเป็น)
ก็ไม่ได้เสียสละเพื่อคนกัมพูชาตรงไหน
ดื้อดึงออกไปหาผู้ชายเห็นๆ
ไม่รู้เป็นความตั้งใจของผู้เขียนที่จะทำให้เรารู้สึกอย่างนั้นหรือเปล่า
แต่เราว่ามันย้อนแย้งแปลกๆ

แต่พระเอกเองก็ไม่ใช่ย่อยนะ เป็นตัวละครในสไตล์ของผู้เขียนเขาแหละ
สองหญิงหนึ่งชาย สองชายหนึ่งหญิง ฯลฯ

ถึงอย่างนั้น ผู้เขียนก็สามารถสะท้อนภาพให้เราเห็นได้ว่า
ทหาร แพทย์ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
กับทั้งการเปิดศูนย์อพยพ การให้การช่วยเหลือดูแลในด้านต่างๆ
ตลอดระยะเวลาราว 14 ปี
รวมถึงการส่งผู้คนนับหมื่นนับแสนเดินทางกลับประเทศตนเอง
อย่างมีระเบียบ ระบบ ปลอดภัย และเป็นธรรมนั้นไม่ใช่ของง่ายเลย
เราได้เห็นความเสียสละ ทุ่มเท ความเมตตากรุณาที่เพื่อนมนุษย์มีให้แก่กัน
มากกว่าการทำงานไปตามหน้าที่

ไม่ผิดหรอกที่คนไทยยุคหนึ่งจะคลั่งชาติ
จะหลงใหลไปกับลัทธิชาตินิยม
ถ้าเราได้รู้รายละเอียดว่า เรารอดพ้นปากเหยี่ยวปากกามาได้เฉียดฉิวขนาดไหน
เราก็ควรภูมิใจที่เราไม่ได้ตกเป็นเมืองขึ้นในยุคล่าอาณานิคม
ไม่ได้กลายเป็นคอมมิวนิสต์ไปในขณะที่คอมมิวนิสต์อยู่รอบตัว

หากคุณได้รับรู้เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ทั้งหมด
แล้วยังรู้สึกเฉยๆ .. นั่นเป็นสิทธิ์ของคุณ
แต่หากถ้าคุณไม่รับไม่รู้ แล้วมาด่าว่าว่าคนไทยที่รักชาติเป็นคนหัวโบราณ
เป็นคนที่ถูกหลอก ถูกหล่อหลอม ถูกชวนเชื่อมาให้รักชาติ
นั่นหมายความว่า คุณมองโลกตื้นเขินเกินไป

 

Comments are closed.