อ่านแล้วเล่า

จันทรา อุษาคเนย์

เรื่อง จันทรา อุษาคเนย์
ผู้แต่ง วรรณวรรธน์
สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม
เลขมาตรฐานหนังสือ 9789744468666
เลขมาตรฐานหนังสือ9789744468659

จันทรา อุษาคเนย์ เป็นนวนิยายย้อนยุคเรื่องแรกๆ ที่เราได้อ่าน
ที่ผู้เขียนพาตัวละครย้อนยุคกลับไปในอดีต
ในยุคที่เก่าแก่กว่ารัตนโกสินทร์ และอยุธยา ที่เริ่มซ้ำ และเราเริ่มเบื่อกัน

ถ้าจะอ่านโยงเรื่องกันให้สนุก
เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในหนังสือเล่มนี้ เกิดขึ้นไล่เลี่ยกันกับใน หุบเขากินคน
โดยที่เรื่องราวใน จันทรา อุษาคเนย์ เล่มนี้ เกิดขึ้นหลังจากนั้นนิดหน่อย

เมื่อ หุบเขากินคน เล่าเรื่องราวในยุคที่อาณาจักรฟูนันใกล้จะจบลง
เป็นช่วงเปลี่ยนถ่ายจากอาณาจักรฟูนัน มาเป็นอาณาจักรเจนละ
ซึ่งตามประวัติศาสตร์ ในยุคที่อาณาจักรฟูนันกำลังรุ่งเรือง
อยู่ในเมือง วยาธปุระ นั้น
พื้นที่โดยรอบซึ่งห่างออกมาไม่ไกลนัก
ก็มีประชาชนอยู่รวมกันเป็นชุมชนน้อยใหญ่เช่นกัน

โดยชุมชนที่รวมตัวกันเป็นกลุ่มใหญ่น่าจับตาชุมชนหนึ่งนั้น
ตั้งอยู่ที่เมือง เศรษฐปุระ
(บริเวณเดียวกันกับเมืองจำปาศักดิ์ ประเทศลาวในปัจจุบัน)
และที่เมืองนี้เอง ที่เป็นฉากของเรื่อง จันทรา อุษาคเนย์ เล่มนี้

เหตุการณ์ในเมืองวยาธปุระนั้น ถูกเล่าเอาไว้ใน หุบเขากินคน ว่า
เมื่อพระเจ้าโกณฑิญญะชัยวรมัน แห่งอาณาจักรฟูนันสิ้นพระชนม์
อาณาจักรฟูนันเริ่มอ่อนแอ เกิดการแก่งแย่งชิงบัลลังก์กันระหว่าง
เจ้าชายคุณวรมัน โอรสในมเหสีกุลประภาวดี
กับพระเชษฐาต่างพระมารดา คือ เจ้าชายรุทรวรมัน (โอรสในนางชุลา)
ซึ่งสุดท้าย เจ้าชายรุทรวรมัน ก็ปลงพระชนม์เจ้าชายคุณวรมัน
และขึ้นเป็น พระเจ้ารุทวรมัน กษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งอาณาจักรฟูนันได้ในที่สุด
นั่นคือยุคที่ฟูนันกำลังเสื่อม และใกล้จะสิ้นสุด

ขณะเดียวกัน ที่เมืองเศรษฐปุระ (อันเป็นฉากของหนังสือเรื่องนี้)
เมื่อ พระเจ้าศรีสารวเคามะ ผู้ปกครองเมืองเศรษฐปุระ สิ้นพระชนม์ลง
พระเจ้าปฤถิวีน ราชโอรสองค์โตในพระเจ้าศรีสารวเคามะ จึงได้ครองบัลลังก์
ในขณะที่ เจ้าชายวีระวรมัน พระอนุชา
ก็ถวายความจงรักภักดีต่อพระเชษฐา ผู้เป็นกษัตริย์เป็นอย่างดี
ในรุ่นถัดมา พระเจ้าปฤถิวีน ทรงมีราชโอรสคือ เจ้าชายภววรมัน
และเจ้าชายวีระวรมัน ก็ทรงมีโอรสคือ เจ้าชายจิตรเสน พระเอกของเรา
ผู้ที่ในอนาคต จะกลายเป็น พระเจ้าศรีมเหนทรวรมัน กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่
ผู้ก่อตั้งอาณาจักรเจนละที่เรารู้จักกันดี
แล้วผู้เขียนก็เปิดฉากขึ้นในตอนนี้นี่เอง 

จันทรา อุษาคเนย์ พาเราย้อนยุคกลับไปราวพันปีก่อน
ในพุทธศตวรรษที่ 12 ในรัชสมัยของ พระเจ้าปฤถิวีน
อันมี เจ้าชายภววรมัน พระราชโอรสผู้ถูกวางองค์ให้เป็นกษัตริย์องค์ต่อไป
และมี เจ้าชายจิตรเสน เป็นหลานอาที่เก่งกาจ อาจหาญ และมีคุณธรรม
เจ้าชายลูกพี่ลูกน้องทั้งสองพระองค์นี้ รักใคร่ปรองดองกันมาก
หากแต่ข่าวการแย่งชิงบัลลังก์กันระหว่างพี่น้องในเมืองวยาธปุระ
ก็ทำให้คนอื่นมองความสัมพันธ์นี้อย่างคลางแคลงใจ

นอกจากนี้ เมืองเศรษฐปุระยังมีความเชื่อตามตำนานเก่าแก่ ที่ว่า
ผู้ที่จะขึ้นเป็นกษัตริย์ปกครองเมือง
จะต้องสมรสกับหญิงสาวที่สืบเชื้อสายมาจากฤษีกัมพุช
อันดำรงตำแหน่งธิดากัมพุชราชลักษมี .. ซึ่งในเรื่องนี้ก็คือ นางชวันจา

นางชวันจานั้น แม้จะดำรงตำแหน่งธิดากัมพุชลักษมี
แต่ใจของนาง กลับหลงรักเจ้าชายจิตรเสนตั้งแต่แรกเห็น
นางได้มอบบุปผาเสี่ยงทายให้แก่เจ้าชายพระองค์นั้น
และพระองค์ก็ได้ถวายคำสัตย์ตอบรับต่อนางว่า
เมื่อถึงวัยเบญจเพส ก็จักรับนางชวันจามาเป็นศักติ (ครองคู่)
โดยที่นางชวันจาเอง ก็มีความตั้งใจว่าจะสละตำแหน่งสำคัญนี้
ให้แก่น้องสาวของตน คือ นางฌามิลา ในวันที่เธอมีระดูแรก
แต่ก่อนจะถึงเวลาที่ทุกอย่างลงตัวนั้น
บรรยากาศแห่งความคลางแคลงที่มีต่อเจ้าชายจิตรเสน ก็กำจายไปทั่ว

เมืองเศรษปุระ ในยุคเมื่อพันปีก่อนนั้น
ชาวเมืองล้วนแล้วแต่นับถือลัทธิไศวะนิกาย ของศาสนาพราหมณ์
อันหมายถึงการบูชาพระศิวะ
และหนึ่งในพิธีบูชาพระศิวะนี้เอง ก็มีพิธีสำคัญพิธีหนึ่งที่เรียกว่า พิธีปุรุษเมธ
อันหมายถึงการใช้คนเป็นๆ บูชาองค์ภัทเรชวารา (ภาคหนึ่งของพระศิวะ)
ซึ่ง พราหมณ์โสมทัต จำต้องใช้นางอรุณา บุตรีของตนในการบูชาครั้งนี้
ด้วยความเป็นพ่อ ทำให้พราหมณ์โสมทัตกระทำการคดโกงต่อพระผู้เป็นเจ้า
ใช้วิทยาคมอันแก่กล้าของตน
สวดภาวนานำพามนุษย์อีกผู้หนึ่ง จากอีกภพภูมิหนึ่ง
ข้ามเวลามาโผล่ในพุทธศตวรรษที่ 12 นี้
และหญิงสาวผู้ที่ถูกดึงตัวมาแทนบุตรสาวของพราหมณ์เฒ่าผู้นี้
ก็คือสาวน้อยตมิสา นางเอกของเรานี่เอง

ในขณะที่พราหมณ์เฒ่ากำลังทำพิธีเรียกตมิสามานี้
เจ้าชายจิตรเสน ผู้ซึ่งไม่ถูกชะตา ไม่ชอบหน้าเจ้าพราหมณ์เฒ่าผู้นี้
ก็มีความตั้งใจจะแกล้งพราหมณ์เฒ่า
ด้วยการลักตัวนางอรุณา ที่จะต้องเข้าพิธีบูชายัญครั้งนี้เข้าพอดี
คนที่เจ้าชายลักตัวมา จึงกลายเป็นเจ้าตมิสา
และคนที่ต้องเข้าพิธีบูชายัญ ก็ยังคงเป็นนางอรุณา
ผิดฝาผิดตัวไปตามระเบียบ
แล้วเรื่องราวทั้งหมดก็เริ่มต้นขึ้น!

เรื่องราวต่างๆ ในหนังสือเล่มนี้นั้น ถูกวางพล็อตผูกเหตุการณ์ในนวนิยาย
ให้สอดคล้องไปกับเรื่องราวในประวัติศาสตร์ได้เป็นอย่างดี
มีเหตุผลรองรับในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเรื่องอย่างเหมาะเจาะ เหมาะสม
ภาษาที่ใช้ก็สละสลวย ลื่นไหลไม่ติดขัด อ่านเพลินมาก
และที่สมคำร่ำลือยิ่งกว่าอะไร ก็คือความหวานจิกหมอนระหว่างพระนางคู่นี้

เรื่องราวในยุคสมัยของเจ้าชายจิตรเสนนี้
ถูกเล่าขนานคู่ไปกับเรื่องราวในยุคปัจจุบัน
อันข้ามผ่านวันเวลาที่ตมิสาเดินหายไปในถ้ำเป็ดทอง
ที่จังหวัดบุรีรัมย์ เมื่อ 10 ปีก่อนหน้า
ขณะที่กำลังติดตามอาจารย์ลาติน
บิดาผู้เป็นนักโบราณคดีชื่อดัง ผู้กำลังสำรวจสถานที่นั้นอยู่

ผู้เขียนให้ความสำคัญกับความรักระหว่างพ่อลูกมาก
แต่สิ่งที่ทำให้เราตื้นตันและประทับใจมากกว่า
กลับกลายเป็นคำกล่าวเบื้องหลังผลงานในตอนท้ายของเล่ม
ที่ผู้เขียนเล่าถึงที่มาของนวนิยายเรื่องนี้
และความผูกพันระหว่างผู้เขียนและคุณพ่อ
มันทำให้เราซาบซึ้ง และเข้าใจความรู้สึกของตัวละครตมิสายิ่งขึ้นไปอีกทบทวี

โดยรวมแล้ว เรารักนิยายเรื่องนี้นะ
แต่จำได้ว่า เมื่อตอนอ่านครั้งแรก เราชอบมันมากกว่านี้อีก
ครั้งนี้ออกจะเนือยๆ หน่อย อาจเป็นเพราะต้องอ่านเพื่อมารีวิว (555)
แล้วมันก็ช่างเล่ายากเสียจริง
เพราะเรื่องราวสอดคล้องไปกับประวัติศาสตร์เก่าแก่เก๋ากึ๊กส์
ขนาดเราเล่าเรื่องย่อๆ ยังยากขนาดนี้
นับถือผู้เขียนเลยค่ะ คุณวรรณวรรธน์ สุดยอดมากๆ

 

Comments are closed.