จะเป็นใครกันที่หยิบฉันออกจากชั้นหนังสือ
เรื่อง จะเป็นใครกันที่หยิบฉันออกจากชั้นหนังสือ
ผู้แต่ง ซาโกะ ไอซาวะ
ผู้แปล ปาวัน การสมใจ
สำนักพิมพ์ piccolo
(สำนักพิมพ์ในเครืออมรินทร์)
เลขมาตรฐานหนังสือ 9786161848552
อ่านจบแล้วกรีดร้อง!!!
เราตกหลุมพรางของนักเขียนไปตอนไหนกันนะ
อ่านจบแล้วอยากจะย้อนกลับไปอ่านตั้งแต่แรกใหม่
เนื้อหาข้างล่างนี้ ขอสปอยล์นะคะ ..
ตอนที่อ่านจบ แล้วพบกับเซอร์ไพรส์ของผู้เขียน
สติแตกสุดๆ ไปเลยค่ะ
ตกลงครูชิโอริมีกี่คนกันแน่
แล้วครูชิโอริคนไหนคือคนไหนกัน!?
อันที่จริง ถ้าตั้งใจย้อนนึกกลับไปดีๆ
มันก็มีตัวละครร่วมอยู่นะ ค่อยๆ ไล่ไปก็คงจะไม่งง
แต่พอมาเจอทีเดียวตอนจบ เลยเหวอไปเลย งงไปเลย
สนุกดีค่ะ แต่ตกใจ และเจ็บใจด้วย 5555
ตะหงิดๆ อยู่แล้วเชียว ว่าจะต้องจับตาคุณครูชิโอริ
และน่าจะมีเรื่องของไทม์ไลน์มาเกี่ยว
แต่เพราะอ่านผ่านๆ เลยไม่ได้เก็บประเด็นนี้ขนาดนั้น
ถึงตอนนี้เลยอยากย้อนไปอ่านใหม่เลยค่ะ >,<
จะเป็นใครกันที่หยิบฉันออกจากชั้นหนังสือ
เป็นหนังสือที่เล่าเรื่องเป็นตอนสั้นๆ
ภายในเล่ม ถูกแบ่งออกเป็น 6 ตอน
ทุกตอนมีตัวละครที่เชื่อมโยงกัน
มันเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในโรงเรียนมัธยมต้น แห่งเดียวกัน
มีห้องสมุดของโรงเรียน เป็นฉากร่วมของทุกเรื่อง
และคุณครูชิโอริ ที่เป็นคุณครูบรรณารักษ์
ก็เป็นครูที่มีบทบาทสำคัญในทุกตอน
ในห้องเรียน (ญี่ปุ่น) มักจะมีเด็กที่เจิดจ้า และเด็กที่หม่นแสง
แต่ไม่ว่าจะเป็นเด็กแบบไหน
ทั้งหมดนั้นก็เกิดจากการมองด้วยสายตาภายนอก ที่มองแบบผ่านๆ เท่านั้น
เหตุการณ์ต่างๆ ในหนังสือเล่มนี้ เล่าเรื่องที่เกิดขึ้นในโรงเรียนแห่งนั้น
แต่เล่าผ่านมุมของเด็กหญิงต่างคนกัน สลับกันไปในแต่ละบท
เด็กหญิงที่เป็นเจ้าของเรื่องในแต่ละตอน ..
จะมีทั้งเด็กที่เจิดจ้า และเด็กที่หม่นแสง ปะปนกัน
คนอ่านจะได้เห็นรายละเอียดว่า
จริงๆ แล้ว หมู่เด็กที่เจิดจ้า ร่าเริง สดใส
ก็มีเด็กบางคนที่ไม่ได้รู้สึกร่วมไปกับเพื่อนๆ อย่างจริงใจ
พวกเขามีความคิดที่แปลกแยกเกิดขึ้นในหัว
แต่ก็ไม่กล้าแสดงมันออกมา
ขณะเดียวกัน เด็กๆ ที่หม่นแสง ก็มีความน่าสนใจ
แท้ที่จริงแล้ว ตัวตนภายในของเด็กๆ ทั้งสองแบบ
ก็แทบจะไม่แตกต่างกันเลย
ผู้เขียนได้แสดงให้เราเห็นถึงสังคมของพวกเขาทั้งสองฝ่าย
เห็นถึงความคิด ความรู้สึก และเหตุผลที่แสดงตัวตนเช่นนั้นออกไป
ผู้เขียนถ่ายทอดความคิด ความสับสน
แบบตอนที่เรายังเป็นเด็กมัธยมออกมาได้ดีจัง
ตอนที่เรารู้สึกแปลกแยกจากเพื่อน
ตอนที่เราสับสน ไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร
นึกภาพตัวเองตอนที่เป็นผู้ใหญ่ไม่ออก
จะได้เติบโตเป็นผู้ใหญ่หรือเปล่ายังไม่รู้เลย
ตอนที่เราบางคนไม่สามารถบอกความรู้สึกภายในจิตใจได้
มันรู้สึก มันอึดอัด ปวดร้าว .. แต่ไม่รู้จะบอกออกมาได้อย่างไร
ตอนที่ไม่กล้าแสดงความรู้สึกที่แท้จริง
ไม่กล้าเปิดเผยตัวตนที่แท้จริงของตนออกไป
ไม่ชอบในสิ่งที่ตัวเองเป็น ไม่มั่นใจว่าสิ่งที่เราเป็นมันดีพอหรือเปล่า
หรือแม้แต่ .. ตอนที่เริ่มมีความรักครั้งแรก ฯลฯ
ความลำบากในการเป็นวัยรุ่นทั้งหมดนั้น
ถูกคลี่คลายได้ด้วยความใจดี ความเข้าอกเข้าใจ
ในคราบใสซื่อ ไม่รู้ไม่ชี้ ของคุณครูบรรณารักษ์ที่ชื่อว่า ครูชิโอริ
เราชอบครูชิโอริ ครูชิโอริเป็นครูที่น่ารัก เปล่งประกาย
แต่คุณครูผู้เปล่งประกาย กลับเข้าอกเข้าใจเด็กสาวที่หม่นหมองได้ดีจังเลย
เราชอบบทสนทนาระหว่างครูกับลูกศิษย์
ที่มีต่อชีวิต และต่อหนังสือ
ครูมีมุมมองที่สดใส มีความหวัง ให้กับเด็กๆ เสมอ
คนที่โตมาในห้องสมุดแบบเรา
ชอบหนังสือเล่มนี้มากๆ เลยล่ะ
เพิ่งเคยเจอหนังสือที่มีจุดร่วมกับตัวเองมากขึ้นนี้ ^^
ตัวละครหลายๆ ตัว ทับซ้อนกับภาพเราในวันวาน
ตรงนั้นนิด ตรงนี้หน่อย ..
แต่ .. ตอนที่เรากำลังอ่านมันเพลินๆ อยู่นั่นเอง
เราก็พบว่า หนังสือเล่มนี้ไม่ใช่หนังสือที่เราจะอ่านอย่างเพลินๆ ได้เลย
ผู้เขียนวางกับดักเอาไว้เป็นรายทาง ..
เมื่ออ่านไปเรื่อยๆ เราจะค่อยๆ ค้นพบว่า
หนังสือที่ดูจะอ่านง่ายๆ ถูกผู้เขียนสับขาหลอกมากมาย
ตัวละครชื่อคล้ายๆ กัน ลักษณะคล้ายๆ กัน
และบางคน มีชื่อปลอม ชื่อหลอก ชื่อที่เพื่อนเรียก
บางครั้งเรียกชื่อจริง บางครั้งเรียกนามสกุล .. หัวจะปวด
คือตอนนี้เบลอมาก ตกลงใครเป็นใครนะ >,<
ไหนๆ ก็ไหนๆ ขอลิสต์ชื่อเป็นบันทึกการอ่านเอาไว้ตรงนี้นิดหนึ่งนะคะ
และ อาจมีสปอยล์นะ .. แต่ถ้าไม่ตั้งใจอ่าน ก็จำไม่ได้หรอก >,<
ทั้งนี้และทั้งนั้น อ่านข้ามๆ ไปก็ได้ค่ะ 55555
(นี่มันรีวิวอะไรกันนี่!!)
สึคาโมโตะ ชิโอริ (ครูชิโอริคนแรก)
ซาทาเกะ (อาโอะจัง)
มิซากิ (เอริจัง)
มามิยะ (โมเอกะ)
มาชิโอะ รินนะ !!!
อาคาเนะ
ไอลู (ไอรุ) (คุราตะ ไอลู)
ยูนะ (สึจิโมโตะ)
โฮชิโนะ มาโดกะ
ทานากะ รุยโกะ (รุยรุย) (ทานากะ เทียร์ระ)
ขอบคุณสำหรับพื้นที่จดบันทึกค่ะ 5555
มา กลับมารีวิวกันต่อ ..
จากที่เราบ่นไปทั้งหมด ..
มันเป็นความรู้สึกสดใหม่ตอนที่เพิ่งอ่านจบหมาดๆ
จริงๆ แล้ว หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่ดีมากเลยนะ
เราชอบคำอธิบายความรู้สึกตัวละคร
และการอธิบายสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในเรื่อง
มันไม่ได้สรุปจบว่าทุกอย่างจะเป็นไปด้วยดี
หลายตอนแสดงให้เห็นว่า สังคมญี่ปุ่นมันอยู่ยาก (มากๆ)
แค่เด็กมัธยมต้นยังทำกันขนาดนี้
เราตกใจที่เด็กที่เป็นราชินีของห้อง ไล่เพื่อนให้ไปเป็นฮิคิโคโมริ
และจงกลายเป็นคนที่ล้มเหลวในสังคมซะ!
คือเด็กเข้าใจในสิ่งที่ตัวเองทำแค่ไหน รู้สึกกับสิ่งที่ตัวเองทำแค่ไหน
รู้ไหมว่ามันโหดร้ายกับชีวิตคนคนหนึ่งแค่ไหน
และหนังสือไม่ได้บอกเรา (ผ่านคุณครูชิโอริ) ว่า
เราจะแก้ไขมันได้ เราไม่อาจแก้ไขสิ่งเลวร้ายที่เกิดขึ้นกับเราได้
แต่ขอให้เด็กๆ ผู้ถูกกระทำอดทนผ่านมันไปให้ได้
ชีวิตมัธยมต้น ไม่ใช้ตัวตัดสินชีวิตทั้งชีวิตของเรา
ในตอนนี้ จงทำในสิ่งที่เราทำได้
ไม่มีอะไรสูญเปล่าในสิ่งที่เราลงมือทำ
ไม่ว่าสิ่งนั้นมันจะประสบผลสำเร็จหรือไม่ก็ตาม ..
เป็นหนังสือที่ดีมากจริงๆ ค่ะ
ถึงแม้จะประสบความงงไปไม่น้อยกับหนังสือเล่มนี้
และหลังอ่านจบ เราจดชื่อหนังสือเข้าไว้ในลิสต์หนังสือที่อยากอ่านซ้ำ ทันที
แต่หนังสือเล่มนี้ก็ไม่ใช่หนังสือที่อ่านยากขนาดนั้น
มันเป็นหนังสือที่เราเอาไว้อ่านเล่นเพลินๆ ได้ค่ะ
และถ้าอ่านรวดเดียวจบ เราอาจค้นพบ จดจำ
บางสิ่งบางอย่างที่ผู้เขียนซ่อนเอาไว้ได้มากกว่าการค่อยๆ ละเลียดอ่าน
และการหยิบมันมาอ่านซ้ำในคราวหน้า
เราอาจค้นพบสิ่งที่ผู้เขียนซ่อนเอาไว้ได้มากกว่านี้
เป็นการอ่านที่สนุก และชาเลนจ์ดีค่ะ ;P
Comments are closed.