อ่านแล้วเล่า

จนกว่าเด็กปิดตาจะโต

เรื่อง จนกว่าเด็กปิดตาจะโต
ผู้แต่ง สโรชา กิตติสิริพันธุ์
ภาพประกอบ สโรชา กิตติสิริพันธุ์
สำนักพิมพ์ ผีเสื้อ
เลขมาตรฐานหนังสือ 9789741404599

จนกว่าเด็กปิดตาจะโต ไม่ใช่บันทึกประจำวันที่เพียงแต่เขียนว่า
วันนี้ฉันทำอะไรไปบ้าง ไปไหนบ้าง พบเจออะไรบ้าง  ฯลฯ
นอกจากนี้ยังไม่ใช่หนังสือที่บรรยายให้เราได้รู้ว่าผู้ดวงตาพิการนั้นใช้ชีวิตอย่างไร
(ผู้เขียนดวงตาพิการทั้งสองข้างตั้งแต่ยังเล็กมาก)
มัน
เป็นบันทึกที่เขียนถึงสิ่งที่อยู่ภายในจิตใจของผู้บันทึก
ผู้เขียนจดบันทึกกระบวนการความคิดเมื่อมีสิ่งที่มาตกกระทบในแต่ละวัน
เป็นบทบันทึกความคิด แตกแขนงความสงสัย
พร้อมทั้งขบคิดหาคำตอบข้อสงสัยนั้น และสรุปมันออกมา
การดำเนินชีวิตเป็นเพียงส่วนประกอบเพียงเล็กน้อยเท่านั้นในบันทึกนี้

จนกว่าเด็กปิดตาจะโต เป็นบันทึกประจำวัน
ที่ผู้เขียนจดบันทึกทุกวันติดต่อกันเป็นระยะเวลา 1 ปี
คราแรกนั้น มันเป็นการบ้านจากวิชาหนึ่งที่เธอเรียน
(วิชาบรรณาธิการศึกษา มี อาจารย์มกุฏ อรฤดี เป็นผู้สอน)
แต่หลังจากนั้น มันคือการฝึกตน การบังคับใจตนเองให้ทำตามสิ่งที่ตั้งใจไว้
ถึงแม้ว่ามันจะเป็นสมุดบันทึก ถึงอย่างนั้นก็เป็นบันทึกที่จดเอาไว้แต่สิ่งที่ดี
อาจจะมีสิ่งร้ายๆ เกิดขึ้นในแต่ละวันบ้าง
แต่ผู้เขียนก็ยังสามารถมองสิ่งนั้นในมุมมองที่สร้างสรรค์
คิดแก้ไขหรือหาเหตุผลมากกว่าตำหนิต่อว่า

มีบ้างที่ผู้เขียนวิเคราะห์วิพากษ์สังคมในยุคนั้น
(พ.ศ. 2556 – 2558) ซึ่งเป็นช่วงที่มีการชุมนุมเสื้อเหลืองเสื้อแดงรุนแรง
แต่ผู้เขียนก็เล่าด้วยสำนวนเย็นๆ
คืออ่านแล้วรู้สึกเลยว่าใจเย็นมาก นึกน้ำเสียงออกเลย
(ผู้เขียนบอกว่าผู้เขียนเป็นคนใจร้อน แต่อ่านแล้วไม่รู้สึกอย่างนั้น
บางที การจดบันทึกอาจทำให้ความร้อนรน ไม่ได้ดั่งใจต่างๆ ตกตะกอนแล้ว?)

ผู้เขียนบันทึกเล่มนี้ คือน้องพลอย สโรชา กิตติสิริพันธุ์
ขณะนั้น เธอกำลังศึกษาในคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ถ้าจำไม่ผิด ปรัชญาเป็นวิชาเอกที่เธอเรียน
ในบันทึของเธอจึงมีข้อวิเคราะห์เหตุการณ์ต่างๆ อย่างเป็นเหตุเป็นผล
มองสิ่งต่างๆ รอบด้านอย่างใจกว้าง มองโลกในแง่บวก
ไม่ตัดสินคน มองภายในตนเอง เพื่อพัฒนาตนเอง

ตัวหนังสือของพลอยทำให้เรารู้สึกว่าคนตาบอดกับคนตาดีเขยิบเข้ามาใกล้กันอีกนิด
เราล้วนไม่ต่างกัน ความแตกต่างที่เกิดขึ้นเป็นเพราะรูปลักษณ์ภายนอกทำให้เข้าใจไปอย่างนั้น
หลังจากอ่านบันทึกของพลอยจบ เราจึงเข้าใจว่าเด็กปิดตานั้นไม่ต่างจากเด็กทั่วไปเลย

หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่ดีจริงๆ ยิ่งอ่านก็ยิ่งค้นพบว่าดี
น่าเสียดาย (เราอาจจะคิดไปเองว่า)
สำนักพิมพ์ผีเสื้อมีภาพลักษณ์เป็นสำนักพิมพ์สำหรับเด็กและผู้ใหญ่
กระโดดข้ามช่วงวัยคาบเกี่ยวอย่างวัยรุ่นไป
ทั้งๆ ที่หนังสือเล่มนี้เหมาะกับเด็กวัยรุ่น
อันเป็นวัยที่แสวงหาตัวเอง ค้นหาคุณค่าในตัวเอง ค้นหาคำตอบของความดี ฯลฯ
ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่ผู้เขียนเฝ้าถามและตอบตัวเองในบันทึกเล่มนี้
เช่นเดียวกันกับวัยรุ่นคนอื่นๆ อีกมากมาย

หลังจากที่ผู้ใหญ่คนนี้อ่านหนังสือเล่มนี้จบ
เราตั้งใจว่าจะส่งต่อหนังสือ (แกมบังคับ) ให้วัยรุ่นที่บ้านอ่านด้วยอีกคน
หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเธอจะชอบเช่นเดียวกับเรา
ขอเชิญชวนวัยุร่นคนอื่นๆ ด้วยนะคะ 🙂

ปล. มีสิ่งหนึ่งที่เราเพิ่งรู้จากการอ่านหนังสือเล่มนี้
เราเพิ่งรู้ว่า facebook มีกลุ่ม ช่วยอ่านหน่อยนะ
เป็นกลุ่มสำหรับผู้มีดวงตาพิการ นำภาพหนังสือจากไฟล์ pdf หรือรูปภาพตัวอักษร
มาให้คนตาดีช่วยอ่าน เพื่อทำการบ้าน ทำรายงาน หรือเพื่อใช้ชีวิตประจำวัน
กลุ่มนี้ทำให้เราสามารถทำประโยชน์แก่คนอื่นได้ เพียงแค่ทำในสิ่งที่เราทำปกติ

 

Comments are closed.