อ่านแล้วเล่า

จงไปวางยามไว้ให้เฝ้าดู

เรื่อง จงไปวางยามไว้ให้เฝ้าดู
ผู้แต่ง ฮาร์เปอร์ ลี
ผู้แปล นาลันทา คุปต์
สำนักพิมพ์ แพรวสำนักพิมพ์
เลขมาตรฐานหนังสือ 9786161814533

หากจะบอกว่า จงไปวางยามไว้ให้เฝ้าดู เป็นภาคต่อของ ฆ่าม็อกกิ้งเบิร์ด ก็พอจะได้
แต่ถ้าจะพูดให้ถูกกว่านั้น จงไปวางยามไว้ให้เฝ้าดู คือต้นกำเนิดของ ฆ่าม็อกกิ้งเบิร์ด ต่างหาก
เพราะมันถูกเขียนขึ้นก่อน หากแต่ไม่ได้รับการตีพิมพ์
ต้นฉบับของหนังสือเล่มนี้ถูกเขียนเสร็จตั้งแต่ปี พ.ศ. 2500
แต่เพิ่งจะถูกค้นพบในปี พ.ศ. 2554 
และถูกแปลในบ้านเราเมื่อปี พ.ศ. 2559 นี้เอง
เนื้อหาของ จงไปวางยามไว้ให้เฝ้าดู เป็นเรื่องราวหลังจาก ฆ่าม็อกกิ้งเบิร์ด มาอีกหลายปี
สเกาท์ (จีน หลุยส์) ได้เติบโตขึ้นกลายเป็นสุภาพสตรี (จนได้)
สมกับที่อาอะเล็กซานดราของเธอต้องการมาตลอด

จงไปวางยามไว้ให้เฝ้าดู ยังคงเป็นประเด็นเรื่องชาวผิวสี
แต่เรื่องราวทั้งหมดถูกใส่ลงไปในบทสนทนา
และข้อโต้แย้งมากกว่าการบรรยายภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
บางช่วงบางตอน เราว่ามัน
เฉพาะทางเกินไป
มันมีเรื่องของกฏหมาย การเมือง ค่านิยม และวัฒนธรรมแบบอเมริกา
(ในยุคหลังเลิกทาสมาสักระยะหนึ่ง)
ที่เราอ่านแล้วไม่อิน ไม่เข้าใจ ไม่มีอารมณ์ร่วม
และมันทำให้เรื่องนี้สนุกน้อยลงไปเยอะเลย
เราว่าคนที่จะอ่านหนังสือเล่มนี้สนุกที่สุด ก็คงจะเป็นชาวเมย์คอมบ์เองนั่นแหละ

การเขียนเรื่องเดิมซ้ำอีกครั้งในครั้งที่สอง ทำให้ผู้เขียนสามารถเก็บรายละเอียด
ใส่อารมณ์ และมีที่มาที่ไปมากกว่า
ฆ่าม็อกกิ้งเบิร์ด จึงดูกระชับ ตรงประเด็น
และโดนใจผู้อ่านได้มากกว่า จงไปวางยามไว้ให้เฝ้าดู อยู่หลายขุม
โดยตัวมันเอง จงไปวางยามไว้ให้เฝ้าดู ค่อนข้างสะเปะสะปะ
(อาจเป็นเอกลักษณ์ของผู้เขียน เธอเริ่มต้นด้วยวิธีคล้ายๆ กันนี้ในอีกเล่มด้วย)
มันบอกยากเหมือนกันว่าเป็นเพราะสำนวนผู้เขียนเองหรือเป็นเพราะสำนวนแปล
วิธีเล่ามันออกจะแปลกๆ หน่อย .. เป็นวิธีเล่าที่ทำให้ตัวมันเองสนุกน้อยลง

เรื่องเริ่มต้นอีกครั้งในวันที่สเกาท์ หรือมิสจีน หลุยส์ มีอายุ 26 ปี
เจ็ม (เจเรมี แอคติคัส ฟินช์) พี่ชายคนเดียวของเธอตายไปแล้ว
คาลเพอร์เนียเลิกเป็นแม่บ้าน และกลับไปใช้บั้นปลายชีวิตที่บ้านของเธอเอง
อาอะเล็กซานดราย้ายมาอยู่กับแอคติคัส ในวัย 72 ปี ในวันที่โรคไขข้อของเขาพร้อมกำเริบเสมอๆ

แอคติคัสมีศิษย์ก้นกุฎิหนึ่งคน คือเฮนรี่ คลินตัน หรือแฮงก์ เพื่อนเก่าแก่ของเจ็ม
แฮงก์อายุ 30 เท่าเจ็ม หากเจ็มจะยังมีชีวิตอยู่ และเขาเป็นคล้ายๆ คู่รักของสเกาท์ด้วย
สเกาท์กลายเป็นชาวนิวยอร์กเกอร์ เธอใช้ชีวิตที่นั่น และกลับมาเยี่ยมบ้านนานๆ ครั้ง
และในต้นเรื่องนี้เป็นอีกครั้งที่เธอกลับมาบ้าน

สำหรับเล่มนี้ เมื่อร้อยหน้าแรกผ่านไป มันทำให้เราสนุกไม่ได้เท่าเล่มก่อน
วัตถุดิบที่ใส่ลงไปในเรื่องนี้มีแรงบันดาลใจเดียวกัน
ไม่แปลกใจเลยที่มันถูกโฆษณาว่าเป็นร่างแรกของ ฆ่าม็อกกิ้งเบิร์ด
และเราก็คิดว่า มันมีชีวิตอยู่ได้ด้วยคำโปรยโฆษณานั้น

ในช่วงร้อยกว่าหน้าแรกของเล่มนี้ มันเป็นเรื่องสัพเพเหระไปเกือบทั้งหมด
เกือบครึ่งเล่มใช้ไปเพื่อบรรยายว่า
หลังจากที่เธอเดินทางกลับมาที่บ้านเกิด 
เมย์คอมบ์ไม่มีอะไรเหมือนเดิมอีกต่อไป
ไม่ว่าจะเป็นผู้คน บ้านเมือง และแม้แต่ครอบครัว

รีวิวต่อจากนี้อาจจะ สปอยล์ นิดหน่อยนะคะ
เมื่ออ่านต่อไปจนถึงช่วงท้าย เราสรุปกับตัวเองได้ว่า
แอคติคัสเป็นตัวแทนของคนขาว ที่ทำให้เราเข้าใจความกลัวของพวกเขา
พวกเขาความกลัวการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น
ถ้าคนดำที่เคยอยู่ต่ำกว่ามาโดยตลอด
จะก้าวขึ้นมายืนทัดเทียมกัน
จะมีสิทธิ์มีเสียงในการตัดสินใจเท่ากัน
นี่ขนาดเป็นถึงแอคติคัส ชายผู้ยอมรับความแตกต่างทางเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์อย่างที่สุดแล้วนะ
ลึกๆ ภายในจิตใจของเขาก็ยังแบ่งแยกอยู่ดี?
ยังคงมีขอบเขตขวางกั้นระหว่างสีผิวอยู่ดี?
เราอดคิดไม่ได้ว่า ต่อให้เป็นสเกาท์เองก็เถอะ
ถ้าเธอไม่ได้มาจากนิวยอร์ก เธอยังอยู่ที่เมย์คอมบ์มาโดยตลอด
เธอเองก็จะต้องมีความคิดเหมือนพ่อและคนอื่นๆ ในเมย์คอมบ์
เราได้เห็นภาพ และเข้าใจการเปลี่ยนถ่ายของสังคม
ได้เห็นความค่อยเป็นค่อยไปของอเมริกา
ก่อนที่เขาจะกลายเป็นประเทศเสรีเช่นนี้
(ถ้ามองกันจริงๆ เราว่าลึกๆ ภายในจืตใจของคนก็ยังคงมีเส้นแบ่งเหล่านี้อยู่ มันไม่เคยหมดไป
และไม่อาจหมดไปจากสังคมมนุษย์ได้หรอก)

สปอยล์ กว่าตะกี๊อีก
เรานึกว่าตอนจบของเรื่องนี้มันจะหักอกคนอ่านเสียแล้ว
แต่ตอนจบที่สุดสุดท้ายของมันนั้น แอคติคัสก็ยังสุดยอดอยู่ดี

ตอนที่ดีที่สุดของหนังสือเล่มนี้ คือตอนที่มันจบ
มันเริ่มเรื่องอย่างน่าเบื่อ 
ดำเนินเรื่องไปอย่างเอื่อยเฉื่อย
แต่ตอนจบของมันเจ๋งทีเดียวค่ะ
(ทั้งนี้โปรดอย่าคาดหวังนะ
ปล่อยให้อารมณ์เบื่อๆ ผ่านมันไปทีละบทนั่นแหละ
แล้วตอนจบจะทำให้เราชอบมัน)

Comments are closed.