คนดีศรีอยุธยา
เรื่อง คนดีศรีอยุธยา
ผู้แต่ง เสนีย์ เสาวพงศ์
สำนักพิมพ์ มติชน
เลขมาตรฐานหนังสือ 9789740210320
เราไม่ค่อยได้อ่านเรื่องราวหลังกรุงแตกเท่าไร
นิยายยุคก่อนๆ ก็มักจะเล่าให้ฟังแต่ช่วงก่อนเสียกรุง
มาอ่านนิยายที่คาบเกี่ยวช่วงเสียกรุงครั้งแรก (มั๊ง) –
ก็ตอนอ่าน หนึ่งด้าวฟ้าเดียว ของวรรณวรรธน์
เรื่องราว (ในหนึ่งด้าวฯ) เกิดขึ้นในราวสมัยอยุธยาตอนปลาย
เนื้อหาคาบเกี่ยวยุคปลายอยุธยาและต้นกรุงธนบุรี
เป็นช่วงของการเสียกรุงฯ ครั้งที่ 2
ไปจนถึงพระเจ้าตากฯ กอบกู้เอกราชกลับคืนมาอีกครั้ง
มาถึงเล่มนี้นี่ชัดเจนเลย เพราะผู้เขียนเจาะจงเล่าถึงช่วงเวลาหลังกรุงแตกโดยเฉพาะ
และเป็นมุมมองจากชาวบ้านแท้ๆ
ไม่มีตัวละครที่เป็นเจ้านายหรือบุคคลในประวัติศาสตร์เลย
ตัวละครทั้งหมดเป็นตัวละครสมมติ
เป็นผู้คนสามัญ ใช้ชีวิตอย่างชาวบ้านธรรมดาๆ คนหนึ่ง
ถ้ากรุงไม่แตก พวกเขาก็จะมีชีวิตที่สงบ เรียบง่าย ดำเนินไปตามครรลองแห่งชีวิต
แต่เมื่อสถานการณ์ไม่ปกติ พวกเขาก็ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตไปเพื่อความอยู่รอด
คนเรามีหลายประเภท
และในยามวิกฤตถึงขั้นกรุงแตกนั้น
ก็เป็นเหตุปัจจัยให้คนเราเปิดเผยตัวตนให้ชัดเจนยิ่งขึ้น
ที่ดีก็สุกปลั่งดังทองแท้ แต่ที่แย่ ก็ยิ่งแสดงออกถึงกมลสันดานภายใน
ผู้เขียนเปิดเรื่องด้วยตัวละครสามคน โต เล็ก และน้อย
ชายสามคนที่ร่วมเดินทางมาด้วยกันหลังจากที่กรุงศรีอยุธยาแตกแล้ว
ในขณะที่บ้านเรือนแตกฉานซ่านเซ็น ผู้คนพลัดพรากบ้าง ล้มตายบ้าง
มีกลุ่มคนจับกลุ่มอยู่รวมกันเป็นชุมชนเล็กๆ เป็นก๊กเป็นเหล่า
โต เล็ก และน้อย ที่เดินทางมาด้วยกันจึงแยกจากกันไปรวบรวมผู้คนเหล่านั้น
การรวบรวมคนทีละเล็กละน้อยจนเป็นกลุ่มก้อน
กลุ่มคนเหล่านั้นจะคัดสรรกันเอง
คนบางประเภทก็ฉวยโอกาสตอนที่บ้านเมืองย่ำแย่รังแกคนที่อ่อนแอกว่า
ตั้งตนเป็นใหญ่และเอาเปรียบทุกคน
มีบ้างที่หลงผิด คนที่จำยอม หรือคนที่ไม่มีทางสู้
ถูกกวาดต้อนไปทำงานให้กับพวกพม่าที่ยังหลงเหลืออยู่
ทั้งปล้นเสบียง ทำร้ายทำลายเพื่อนร่วมชาติสารพัด
นี่คือสภาพสังคมในช่วงนั้น .. ที่ผู้เขียนพาเราไปเห็น
แต่ยังมีคนอีกบางประเภท ที่ยังมีความหวังว่าชาติจะกลับมาเป็นเหมือนเดิม
คนเหล่านั้นค่อยๆ รวมกันเป็นกลุ่มก้อนเช่นกัน
เมื่อมีผู้นำที่แข็งแกร่ง ความหวังก็เริ่มฉายแสง
กลุ่มเล็กๆ จึงค่อยขยับขยายใหญ่ขึ้น ..
และคนตัวเล็กหลายๆ คน ก็กลายเป็นส่วนร่วมเป็นกำลังของการกู้ชาติ
พวกเขาคือวีรบุรุษไร้นามที่ไม่ถูกจดจำ
คนดีศรีอยุธยา เป็นหนังสือที่อ่านได้เรื่อยๆ เพลินมาก จบเร็วกว่าที่คิดมาก
เมื่อเริ่มต้น ผู้เขียนเปิดเรื่องด้วยความธรรมดา เรียบง่าย
แต่บทสนทนาช่างกินใจ
สร้างความประทับใจให้เราตั้งแต่บทแรกเลยทีเดียว
จากนั้น ผู้เขียนใช้วิธีเล่าด้วยการตัดสลับฉากไปมา
จบค้างจากฉากหนึ่ง แล้วก็มาเริ่มฉากใหม่ด้วยเหตุการณ์ที่ไม่ต่อเนื่องกัน
บางครั้งตัวละครก็นึกย้อนอดีตไปถึงวันก่อนบ้าง
ไม่ได้เล่าตรงไปตรงมาตามลำดับเหตุการณ์
เป็นวิธีเล่าที่ล้ำมาก ถ้าเทียบกับยุคสมัยที่มันถูกเขียนขึ้นมา (พ.ศ. 2525)
มันทำให้เรางงบ้างในบางที .. แต่ก็ไม่ได้เป็นหนังสือที่อ่านยากขนาดนั้น
อย่างหนึ่งในเล่มนี้เราชอบมากก็คือ ..
ทุกครั้งที่ขึ้นบทใหม่ ผู้เขียนจะใช้ร้อยกรองท่อนสั้นๆ เกริ่นนำขึ้นมาก่อน
(บทตามท้ายเล่มเรียกสิ่งนี้ว่าปุริมกถาหรือนำบท)
ซึ่งปุริมกถาเหล่านี้เป็นบทกลอนที่มีอยู่ก่อนแล้ว
คือผู้เขียนตัดท่อนมาจากวรรณคดีเก่าๆ บ้าง
เช่นสมุทรโฆตคำฉันท์, ลิลิตพระลอ, ลิลิตยวนพ่าย, กำสรวลศรีปราชญ์, โคลงโลกนิติ ฯลฯ
ซึ่งตัดตอนมาเป็นกาพย์และฉันท์แปลกๆ ที่เราไม่คุ้นเคยฉันทลักษณ์
และมีจังหวะการอ่านสนุกๆ
บางคำแปลไม่ได และบางคำอ่านไม่ออกเลยก็มี!
(ยกตัวอย่างเช่น กรกวกก!! จากบาท “คิดว่ากรกวกกข้า แล่นตาม” ในทวาทศมาส)
บางบทก็กินใจ ที่เป็นพิชัยสงครามก็มี
ซึ่งทรงพลังและดึงดูดตัวเราเข้าสู่เนื้อเรื่องได้ขรึมขลังที่สุด
ในบรรดาวรรณกรรมเหล่านี้ บางเรื่อง เราไม่เคยอ่านมาก่อน
และเกือบทุกเรื่อง ให้เราอ่านทั้งเรื่องคงไม่ไหว
แต่วิธีที่ผู้เขียนคัดมาเพื่อเป็นส่วนต้นของแต่ละบทนั้นไพเราะ สวยงาม
จนทำให้เราอยากลองไปอ่านสมุทรโฆตคำฉันท์เลย
ทั้งนี้ ต้องขอบคุณบทวิเคราห์ (บทตาม) ท้ายเล่มด้วย
เพราะผู้เขียนบทวิเคราะห์ (คุณวัลยา วิวัฒน์ศร) ทำให้เราเข้าใจเรื่องได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น
แม้ว่า คนดีศรีอยุธยา จะไม่ได้ทำให้เราประทับใจมากเท่าที่ถูกบิ้วท์จากหลายรีวิวที่อ่านมา
แต่ก็ทำให้เราประทับใจได้ไม่น้อย
เราหลงรักสำนวนเรียบง่ายแต่ให้พลังของผู้เขียน
จนนึกอยากจะไปหาหนังสือเรื่องอื่นๆ ของผู้เขียนมาอ่านเพิ่มอีก
ซึ่งถ้าได้อ่านแล้ว จะเอามาเล่าให้ฟังอีกเช่นเคยนะคะ 🙂
Comments are closed.