คดีฆาตกรรมวัดปราสาททอง
เรื่อง คดีฆาตกรรมวัดปราสาททอง
ผู้แต่ง โยชิมุระ ทัตสึยะ
ผู้แปล กานตี ทาคาฮาชิ
สำนักพิมพ์ ฮัมมิงบุ๊คส์
เลขมาตรฐานหนังสือ 9786169409069
เรื่องเริ่มต้นในตอนที่ อาซาฮินะ โคซาคุ นักสืบ และนักเขียนนิยายนักสืบ
ที่เคยมีบทบาทในนิยายชุดนี้เล่มแรก คือ คดีฆาตกรรมหมู่บ้านชิราคาวะโกะ
ได้รับเชิญมาให้สัมภาษณ์สถานีวิทยุรายการหนึ่ง ที่เกียวโต
พิธีกรผู้ที่สัมภาษณ์เขา คือ คิจิมะ ยูทากะ
(ที่เป็นพี่ชายของสึรุโกะในเล่มก่อนหน้า)
รายการวิทยุรายการนี้ เป็นรายการรอบดึก
สัมภาษณ์เสร็จก็ดึกมากจนล่วงเข้าวันใหม่แล้ว
ในระหว่างบทสนทนา
ยูทากะได้รับรู้ว่าอาซาฮินะเป็นเพื่อนร่วมรุ่นของน้องสาวของเขาโดยบังเอิญ
หลังสัมภาษณ์ เขาก็เลยชวนอาซาฮินะไปคุยกันต่อที่ห้องพัก
จนเวลาล่วงเลยจนเกือบเช้า ทั้งคู่จึงได้แยกย้าย
ในเช้าวันรุ่งขึ้นนั้นเอง ที่วัดคินคะคุจิ หรือวัดปราสาทสีทอง
ก็พบศพหญิงสูงอายุ ถูกพ่นสีทอง
ตำรวจคาดการณ์ว่า เวลาเสียชีวิตคือเวลาเดียวกันกับที่
อาซาฮินะเป็นพยานที่อยู่ให้กับยูทากะนั่นเอง
จริงๆ แล้วคนที่ตาย คือคุณแม่วัย 70 ของยูทากะ
และคนที่โทรไปแจ้งว่าเป็นแม่ของเขา ก็คือตัวเขาเอง
ไม่มีใครรู้ว่าแม่มาที่เกียวโตทำไม และทำไมถึงมาถูกฆ่าที่วัดนี้
หลังจากฉากเปิดเรื่อง
เนื้อหาของเล่มก็ย้อนกลับไปเล่าถึงความซับซ้อนของครอบครัวนี้
ครอบครัวนี้ มีพ่อเป็นคนเย็นชา เป็นพวกชายแทร่
พ่อกับแม่ไม่เคยแสดงความรักต่อกัน
มีลูกชายคนโต ซึ่งก็คือยูทากะ
มีลูกสาว อายุห่างกันมากอีกคนหนึ่ง คือสึรุโกะ
มีแม่สามีที่ร้ายกาจ เข้มงวดกับลูกสะใภ้ และหลานสาว
แต่ใจดีและรักหลานชายมาก
แม่ที่ไม่ได้รับความรักจากสามี แถมยังถูกแม่สามีกดขี่
พอแม่สามีตาย แทนที่ทุกอย่างจะดีขึ้น
กลับกลายเป็นว่ายิ่งเวลาผ่านไป แม่ยิ่งโกรธเกรี้ยว คุ้มดีคุ้มร้าย
อารมณ์ที่ถูกเก็บกดไว้ ไม่เคยแสดงออกมา
ก็ถูกปลดปล่อยออกมาตอนแม่สามีตายนี่เอง
สุดท้าย ยูทากะในวัยมัธยม และสึรุโกะในวัยประถม
รวมถึงยูโกะ เด็กหญิงอีกคนที่ถูกรับมาเลี้ยง
ก็ต้องเติบโตมาในบ้านแบบนี้ และมีแผลใจเหวอะหวะด้วยกันทั้งหมด
เราที่ได้อ่านเล่ม คดีฆาตกรรมวัดปราสาทเงิน มาก่อน
เพิ่งมาได้เข้าใจสิ่งที่สึรุโกะได้เจอตอนเด็กอย่างละเอียด
ก็ตอนที่อ่านเล่มนี้นี่เอง
เรียกได้ว่าครอบครัวนี้ เป็นครอบครัวที่หลอนมาก
โดยเฉพาะผู้ตาย ที่เป็นแม่ของยูทากะนี่แหละ
หลอนมาตั้งแต่ตอนเป็นๆ ตอนที่ยังไม่ได้ตายนี่แหละ
และสำหรับตอนจบของทั้งสองเล่ม
ที่ตอนท้ายเล่มบอกเอาไว้ว่าให้ตั้งใจอ่านดีๆ
สุดท้ายเราก็ไม่เข้าใจอะไรเลย
ไม่เข้าใจว่าผู้เขียนซ่อนอะไรเอาไว้เลย
เป็นความภาคภูมิใจของผู้เขียนที่เราไม่ได้อินไปด้วย
สำหรับสำนวนการเขียน
ที่อ่านพบเสมอๆ ในหลายเล่มของผู้เขียน คือ
ผู้เขียนมักจะสอดแทรกเกร็ดประวัติศาสตร์
และวิถีชีวิตคนญี่ปุ่นยุคก่อน เอาไว้ระหว่างเล่าเรื่องเสมอๆ
เป็นแบบบันทึกประวัติศาสตร์สังคมสายลึก
แบบที่ลงรายละเอียดว่า รัฐบาลไหน นายกคนไหน –
มีนโยบายอย่างไร บริหารประเทศอย่างไร
ซึ่งเราว่า ถ้าเป็นคนญี่ปุ่นร่วมยุคสมัยอ่าน คงชอบ
เพราะได้รำลึก ได้ทบทวน
แต่พอเราไม่มีความทรงจำมาก่อน เลยได้แต่อ่านข้ามๆ ไป
และรู้สึกขัดอรรถรสพอสมควร
รวมทั้งหมดในนิยายชุดมรดกโลกของญี่ปุ่นนี้
เราอ่านมาจนถึงเล่มสุดท้ายที่ได้รับการแปลไทยแล้ว
คิดว่านิยายชุดนี้ไม่เข้าทางเราเท่าไร
แต่ถ้าถามว่าถ้าสำนักพิมพ์ออกเล่มต่อ เรายังจะซื้ออยู่มั้ย
คำตอบก็คือ คงจะซื้ออยู่ดี
ตราบใดที่คุณศศิยังคงวาดปกเป็นเซ็ตเดียวกัน
สุดท้าย เราก็ไม่ได้มองมันในฐานะของหนังสือเล่มหนึ่ง
แต่มองเป็นของสะสมปกสวยที่ต้องมีให้ครบมากกว่า
แค่ปกก็คุ้มแล้วค่ะ 🙂
Comments are closed.