อ่านแล้วเล่า

ฃวดฅนอยู่หนใด

เรื่อง ฃวดฅนอยู่หนใด
ผู้แต่ง ชัยกร หาญไฟฟ้า
สำนักพิมพ์ นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่นส์
เลขมาตรฐานหนังสือ 9786160425877

สารภาพว่าตอนที่จะเล่าถึงหนังสือเรื่อง ฃวดฅนอยู่หนใด
เราเองก็มองหา ฃ ฃวด กับ ฅ ฅน บนแป้นพิมพ์อยู่นานพอสมควร .. นานจนนึกว่าไม่มี

ฃวดฅนอยู่หนใด เป็นเรื่องสมมติอ่านสนุก
เล่าถึงเรื่องราวในอักขราพิภพ อันเป็นดินแดนแห่งตัวอักษร
ดินแดนที่ กอไก่ ถึง ฮอนกฮูก ต่างมีตัวตน มีบุคลิกลักษณะนิสัยเฉพาะตัว

เรื่องเริ่มต้นในวันหนึ่งที่ตัวอักษร ฃฃวด และฅฅน หายไปจากอักขราพิภพ โดยไม่มีใครรู้เห็น
พลเมืองตัวอักษรอื่นๆ จึงร้อนใจ และเรียกเพื่อนๆ มาประชุมกัน
ร่วมมือร่วมใจกันเพื่อหาวิธีตามหาเพื่อนอักษรทั้งสอง

ในเรื่อง ฃวดฅนอยู่หนใด นี้ นอกจากเรื่องราวสนุกสนาน
ผู้เขียนยังได้สอดแทรกความรู้เกี่ยวกับอักษรไทยเอาไว้ด้วย
มีประวัติการใช้ฃอฃวดและฅอฅนในอดีตที่ผ่านมา
ซึ่งทั้งสองล้วนแล้วแต่เคยเป็นอักษรตัวสำคัญกันมาแล้วทั้งนั้น
อักษรไทย ถือกำเนิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 1826 ในสมัยของพ่อขุนรามคำแหง
ตอนนั้นตัวอักษรแต่ละตัวถูกเรียนโดดๆ เปล่า กอ ขอ คอ งอ เฉยๆ ไม่มีสร้อยต่อ
ต่อมาจึงค่อยๆ มีเพิ่มขึ้นมา แต่ไม่ครบทุกตัว
การตั้งชื่อสร้อยคำจนครบ 44 ตัวอักษรนั้น
เกิดขึ้นครั้งแรกในหนังสือแบบเรียนเร็ว
ของกรมพระยาดำรงราชานุภาพ
แต่การเรียกสร้อยคำ แต่เดิมนั้นยังไม่ได้เหมือนในสมัยนี้
อย่างเช่น ฅอฅน แต่เดิมเรียกว่าฅอกัณฐา ส่วนคอควายนั้นคือคอคิด

แล้วผู้เขียนก็เล่าถึงยุคเปลี่ยนผันอันยุ่งเหยิง ในยุคของจอมพล ป. พิบูลย์สงคราม
ที่ลดจำนวนตัวอักษรไทยเหลือเพียง 31 ตัว
นอกจากนี้ยังเปลี่ยนวิธีสะกดคำหลายๆ คำจนสับสนวุ่นวายน่าเวียนหัว

ทั้งหมดคือสาระที่แทรกอยู่ในความสนุก
เนื้อเรื่องการผจญภัยตามหาเพื่อนที่หายไป
มีตัวละครดีร้าย ความกล้าหาญ ความหลงผิด ฯลฯ
สนุกดี อ่านจนจบมีซึ้งไปอีกต่างหาก
เล่มบางๆ ตัวอักษรตัวโต ภาพประกอบเยอะ
อ่านง่าย แป๊บเดียวจบค่ะ 🙂

Comments are closed.