ข้ามสมุทร

เรื่อง ข้ามสมุทร
ผู้แต่ง วิษณุ เครืองาม
สำนักพิมพ์ มติชน
เลขมาตรฐานหนังสือ 9789740214434
เห็นปก และสำนักพิมพ์ที่พิมพ์หนังสือเรื่อง ข้ามสมุทร ครั้งแรก
รวมทั้งชื่อผู้เขียนที่เป็นนักการเมืองชื่อดัง
ทำให้เราเข้าใจไปว่า มันต้องเป็นหนังสือเชิงวิชาการที่อ่านยากแน่ๆ
เดชะบุญที่มีโอกาสไปอ่านรีวิวที่ไหนสักที่ จึงรู้ว่ามันไม่ได้เป็นอย่างที่คิด
ด้วยคำว่า .. การเดินทางข้ามเวลา .. แท้ๆ เทียว
เราเป็นแฟนหนังสือแนวนี้ค่ะ
แค่คำนี้คำเดียว (จริงๆ ก็มีปัจจัยอื่นๆ ด้วยอีกนิดหน่อย) ก็ทำให้เราตัดสินใจลองซื้อมาอ่าน
แล้วก็ไม่ผิดหวังจริงๆ เพราะมันเป็นนิยายแท้ๆ เลย
แต่เป็นนิยายที่อัดแน่นไปด้วยเรื่องราวในประวัติศาสตร์
ศิลปกรรม สถาปัตยกรรม ของทั้งฝรั่งเศสและอยุธยา
ทั้งในสมัยสมเด็จพระนารายณ์อันตรงกับสมัยของพระเจ้าหลุยส์ ที่ 14
และในยุคต่อๆ อีกประปรายตามความรู้ความทรงจำของตัวละคร มาจนถึงยุคปัจจุบัน
ข้อมูลประวัติศาสตร์รอบด้าน ครบถ้วน กระชับ ได้ใจความ ไม่เยิ่นเย้อรุงรัง
แต่ก็ให้รายละเอียดมาก ทั้งรายละเอียดบ้านเมือง การเดินทาง
บุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ ซึ่งสำหรับเรา เราว่าอ่านได้เรื่อยๆ สนุก ไม่น่าเบื่อนะ
เรื่องเริ่มต้นขึ้นในพระราชวังแวร์ซายส์ ยุคปัจจุบัน
พจน์ เป็นชายหนุ่มนักเรียนไทยที่ได้ทุนมาเรียนต่อด้านกฏหมายที่ฝรั่งเศสได้ราว 5 ปีแล้ว
นอกเวลาเรียนหนังสือ เขาหารายได้พิเศษด้วยการทำงานเป็นพนักงานเสิร์ฟในร้านอาหาร 2 ที่
และยังเป็นศิลปินวาดภาพวิวทิวทัศน์ภายในพระราชวังแวร์ซายส์ขายนักท่องเที่ยว
ในวันหนึ่ง ขณะที่กำลังนั่งวาดรูปอยู่นั้น เขาก็ได้พบกับชายหญิงชาวฝรั่งเศสคู่หนึ่ง
ฝ่ายชายเป็นผู้เริ่มต้นเล่าว่า
เขาได้รับมรดกเป็นภาพเขียนครึ่งตัวของหญิงสาวคนหนึ่ง
พร้อมเหรียญ และเครื่องรางบางอย่างอีก 2 – 3 ชิ้น มาจากญาติที่เพิ่งจะเสียชีวิตไป
ซึ่งภาพเขียนและเครื่องรางเหล่านี้มีอายุราว 300 ปีมาแล้ว
หลังจากนั้นไม่นาน เขาก็ฝันติดต่อกันหลายคืน
ว่าผู้หญิงในภาพประสงค์ให้เขาตามหาศิลปินชาวไทยในแวร์ซายส์
เพื่อมาซ่อมภาพเขียนโบราณภาพนั้น
เป็นอันแน่นอนว่าพจน์คือศิลปินที่เขาตามหาคนนั้น
เมื่อวันเวลากำลังจะเคลื่อนเข้าสู่คริสต์ศักราช 2000 อันเรียกกันว่านิวมิลเลเนียม หรือสหัสวรรษใหม่นั้น
ก็เกิดข่าวลือฮือฮาว่าการเปลี่ยนคริสต์ศักราชเป็นหลักพัน
จะทำให้กำหนดการต่างๆ เปลี่ยนแปลง คลาดเคลื่อน
และยังส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์แปลกๆ หลายอย่างขึ้นในโลก
คอมพิวเตอร์อาจะรวน .. โลกอาจจะหมุนช้าลง .. หรือแม้แต่ว่าจะเกิดการล่มสลาย ฯลฯ
ความเปลี่ยนแปลงของศักราชในหลักพันนี้เอง
ที่ผู้เขียนนำมาเป็นสาเหตุให้ตัวละครพจน์ ถูกดูดหายเข้าไปในภาพวาดโบราณภาพนั้น
ในวันหนึ่ง ขณะที่เขากำลังพยายามร่างภาพหญิงสาวโบราณคนนั้น
พจน์ก็ย้อนเวลากลับมาในอดีต ในยุคของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
กลายเป็นตัวละครอีกตัวที่ใครๆ เรียกว่าแสน
ชายหนุ่มเพลย์บอยแห่งยุค (พ.ศ.) สองพันสองร้อยยี่สิบแปด
แสนในภพนี้เป็นชายหนุ่มลอยชาย มีพ่อเป็นพ่อค้า แต่ตนเองไม่มีอาชีพเป็นหลักแหล่ง
นอกจากรับจ้างวาดภาพตามฝาผนังโบสถ์ และไปเรียนภาษาฝรั่งเศสกับบาทหลวงชื่อดังในยุคนั้น
(ในยุคนี้มีบาทหลวงชื่อดังหลายคนเลย โดยเฉพาะหลวงพ่อลาโน ที่อ่านพบในเรื่อง ลายกินรี)
นอกจากนั้น แสนก็ใช้เวลาจีบสาวคนนั้นคนนี้ไปทั่ว ทั้งสาวชาวบ้านและสาวชาววัง
ด้วยความที่แสนรู้ภาษาฝรั่งเศสนี้เอง
เขาจึงถูกติดต่อให้ร่วมลงเรือไปกับคณะราชทูตที่กำลังจะเดินทางไปฝรั่งเศส
คณะทูตชื่อดังที่สุดแห่งยุคพระนารายณ์ อันประกอบไปด้วย
ท่านราชทูต ออกพระวิสุทธสุนทร (ภายหลังคือโกษาปาน) ออกหลวงกัลยาราชไมตรี .. อุปทูต
และตรีทูต .. ออกขุนศรีวิสารวาจา (อันคือพ่อเดช หรือพี่โป๊บของการะเกด แห่ง บุพเพสันนิวาส)
รวมไปถึงขุนนาง อาลักษณ์ โหร พ่อครัว และคนรับใช้อื่นๆ อีกจำนวนหนึ่ง
ระยะแรกที่พจน์เพิ่งจะข้ามภพมาหมาดๆ นี้เอง
เขาก็มีสาวพุด ที่แสนคนเก่าจีบเอาไว้พาเที่ยวเมือง
บางครั้งก็ไปเที่ยวกับเหล่าเพื่อนๆ ทั้งที่อยุธยาและลพบุรี (ละโว้)
ตอนที่พจน์เป็นศิลปินมือสมัครเล่น นั่งวาดภาพอยู่ที่แวร์ซายส์ ในยุคปัจจุบัน
เขาก็บรรยายภาพแวร์ซายส์ให้คนอ่านฟังเอาไว้อย่างสวยงาม
แถมลงรายละเอียดประวัติศาสตร์ศิลปะเอาไว้อย่างเข้มข้น
พอข้ามภพมาอยู่อยุธยายุคพระนารายณ์
ผู้เขียนก็พาคนอ่านเที่ยวตลาด เที่ยววัดอันมากมายนับไม่ถ้วน ไปกับพจน์ด้วย
เราได้เห็นวิถีชีวิต ความสุขสงบในยุคที่บ้านเมืองปลอดสงคราม
แม้แต่เมื่อคณะราชทูตล่องเรือฝ่าคลื่นลมมาจนถึงประเทศฝรั่งเศส
เราก็ยังได้ติดตามเส้นทางการเดินเรือสมัยโบราณ
ได้รู้จักชื่อเกาะต่างๆ แวะบ้างไม่แวะบ้าง และได้ร่วมเมาเรือ อิ่มบ้าง อดบ้าง
ได้พบได้พูดคุยกับบาทหลวงและทูตชาวฝรั่งเศสบ้าง ฯลฯ
ไปตลอดการเดินทางอันกินระยะเวลาไปราว 6 เดือน กลับอีก 6 เดือน
นอกจากนี้ เรายังได้ตามพจน์เที่ยวฝรั่งเศสย้อนยุค ได้ไปสถานที่สำคัญในสมัยนั้น
ได้พบบุคคลสำคัญแห่งยุคสมัย แม้กระทั่งได้ร่วมเข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ 14
โดยรวมแล้ว เนื้อหาละเอียดมากกกกก แต่ไม่หนักเลย
ผู้เขียนสอดแทรกทุกอย่างลงมาอย่างกลมกลืน ได้น้ำได้เนื้อดีงามมาก
เมื่อเล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ผู้เขียนก็เล่าด้วยสำนวนตัวเอง
ซึ่งเป็นคำบรรยายในความคิดของตัวละครในยุคปัจจุบันที่ย้อนอดีตกลับไป
ภาษาจึงเป็นภาษาที่ไม่สลับซับซ้อนเข้าใจยาก
แต่เป็นภาษาที่เข้าใจง่าย บางครั้งก็ปนความคิดเห็นของคนยุคเรา
และปนอารมณ์ขัน อันเป็นลักษณะนิสัยของตัวละครเอง
เนียนกริ๊บ ทั้งภาษา ไม่ว่าจะเป็นไทยปัจจุบัน ไทยโบราณ หรือแม้แต่ภาษาฝรั่งเศส
การสอดแทรกเนื้อหาทั้งทางศิลปะและประวัติศาสตร์ ไปจนถึงการดำเนินเรื่อง
ทั้งหมดลื่นไหลไม่มีสะดุด อ่านเพลินจนวางไม่ลง
ทั้งๆ ที่เล่มหนามาก ความยาวร่วมเก้าร้อยหน้า
ที่เราชอบเป็นพิเศษสำหรับหนังสือเล่มนี้คือ
ผู้เขียนลงกำกับศักราชที่เหตุการณ์ต่างๆ ได้เกิดขึ้นเอาไว้
ทั้งที่เป็นพุทธศักราช และคริสต์ศักราช
ไม่ต้องงง ไม่ต้องเทียบกลับไปกลับมาให้วุ่นวาย
สิ่งที่เป็นลักษณะเด่นของ ข้ามสมุทร เล่มนี้ ที่เรารู้สึกก็คือ
ตัวละครไม่มีคุณสมบัติแบบเดียวกับตัวละครข้ามภพเรื่องอื่นๆ
อย่างเช่นการพยายามปิดบังตนเอง
พจน์ (ที่กลายมาเป็นแสน) โม้ถึงอนาคตให้เพื่อนฟังบ่อยๆ เมื่อสบโอกาส
แต่เพื่อนๆ ก็ไม่เชื่อ ล้อเลียนไปว่าพจน์ขี้โม้ไปเสียอย่างนั้น
นอกจากนี้พจน์ยังไม่สปอยล์อนาคตให้กับผู้อ่านมากจนเสียอรรถรส .. อย่างที่พบในบางเรื่องด้วย
(เพราะตัวเขาเองก็จำประวัติศาสตร์ไม่ได้มากนัก เป็นปุถุชนธรรมดาๆ นี่เอง)
พจน์ไม่ได้หาเหตุผลของการมา ไม่ได้พยายามหาวิธีกลับไป
(จริงๆ มีบ้างในช่วงท้ายๆ แต่ก็ไม่ใช่เป้าหมายหลักที่จดจ่ออยู่ตลอดทั้งเรื่อง)
เขาทำตัวผสมกลมกลืนไปกับวิถีชีวิตที่ตนเป็น
ตามแต่สถานการณ์ และสิ่งลึกลับอันจะบันดาลให้เป็นไป
อย่างที่บอกว่า ผู้เขียนลงรายละเอียดประวัติศาสตร์ในเล่มนี้เอาไว้อย่างเข้มข้น
ดังนั้น บุคคลชื่อดังประวัติศาสตร์แห่งยุคสมัยนั้นล้วนปรากฏในเรื่องนี้เกือบทั้งหมด
มากกว่าที่เราเคยอ่านพบจากนิยายย้อนยุค (เดียวกัน) เรื่องไหนๆ
ออกพระวิสุทธสุนทร (โกษาปาน) ในเรื่องนี้ฉลาดมาก มากๆๆๆ
เราไม่แน่ใจว่าบันทึกทางการทูตได้บันทึกบทสนทนาเอาไว้ละเอียดเพียงใด
และบทสนทนาแต่ละประโยคในเรื่องนี้ เป็นจริงตามประวัติศาสตร์เท่าไร
แต่บทสนทนาของออกพระวิสุทธสุนทรในเรื่องนี้
ช่างไพเราะ มีลูกล่อลูกชน อ่อนหวาน แต่ไม่อ่อนแอ
ท่านมีความเป็นทูตอยู่เต็มตัว วางตัวดีงาม
ฉลาดในยามที่ควรฉลาด และโง่ในยามที่ควรโง่
กับชาวฝรั่งเศสนั้น ก็รู้จักพูดจาชื่นชม แต่ไม่ประจบ
ทั้งยังมีสติปัญญาเป็นเลิศ ใช้วาจาแก้ไขบทสนทนาชวนคับขัน
นำพาตัวท่านเองออกจากคำถามชวนวิกฤตได้ทุกครั้ง
น่าประทับใจและชื่นใจนัก
นอกจากนี้ท่านยังมีความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์
มีปฏิภาณไหวพริบว่าควรทำสิ่งใด
ฝรั่งเศสพาชมเมือง ก็รู้ว่าควรดู ควรเรียนรู้ ควรลอบสังเกตสิ่งใด
เพื่อรับรู้ทัศนะและความต้องการของฝรั่งเศสที่มีต่อบ้านเมืองของเรา
รู้เขารู้เรา เพื่อดำรงตนรอดผ่านยุคสมัยแห่งการล่าอาณานิคม
ท่านเป็นตัวละครที่ทำให้เราปลาบปลื้มกับบรรพบุรุษไทยมาก
ยังมีอีกหนึ่งประเภทบทสนทนา ที่ผู้เขียนแทรกไว้หลายส่วน
ในกรณีที่ราชทูต บาทหลวง หรือแม้แต่ฟอลคอนเอง
กราบทูลให้สมเด็จพระนารายณ์ทรงเปลี่ยนศาสนา
มีทั้งบทสนทนาที่สมเด็จพระนารายณ์ตรัส
และบางบทสนทนาที่ออกพระวิสุทธสุนทรได้เจรจาโต้ตอบกับบาทหลวงบางคน
ทั้งหมดล้วนแต่แยบคาย ล้ำลึก และน่าทึ่งนัก
ทางฝ่ายของตัวร้ายในประวัติศาสตร์อย่างฟอลคอน
เราก็ว่าผู้เขียนวาดภาพฟอลคอนให้กลายเป็นคนธรรมดาที่มีทั้งแง่ร้ายและดี
และมีบางเรื่องที่ตัดสินไม่ได้จากเพียงบันทึกในประวัติศาสตร์
ทั้งหมดนี้ปะปนคละเคล้ากันไปดังมนุษย์ปุถุชน
ตัวละครอื่นๆ แม้แต่พระเพทราชา หรือพระเจ้าเสือ (ออกหลวงสรศักดิ์ในขณะนั้น)
หรือแม้แต่สมเด็จพระนารายณ์เอง ก็มีดีมีร้ายปะปนเป็นปุถุชนเช่นกัน
เป็นมุมมองคนละด้านกับที่รอมแพงเคยวาดไว้ใน บุพเพสันนิวาส
ข้ามสมุทร เป็นหนังสือที่ผู้เขียนกล้าเขียนได้ลึกซึ้งนัก
อันที่จริง ประวัติศาสตร์จากวิกิพีเดีย จากเว็บไซต์ หรือเพจต่างๆ ใน facebook ทุกวันนี้
ก็มีบันทึกเรื่องราวประวัติศาสตร์ฮาร์ดคอร์พวกนี้เอาไว้เช่นกัน
ล้วนแต่อ้างอิงพงศาวดาร หรือบันทึกฝรั่งฉบับต่างๆ (ที่ไม่ใช่ฉบับหลวง)
และไม่ได้รับการยืนยันความถูกต้อง น่าเชื่อถือ
แต่ผู้เขียนก็ใส่มาในเรื่อง เพื่อให้เนื้อหาครอบคลุมทุกด้าน
กับบางประเด็นก็ลงไว้อย่างคลุมเครือ
ให้เราอ่านแล้วคิด และขบย่อยกันเอาเอง ตามแต่สติปัญญาและประสบการณ์
มาเล่าถึงประเด็นเบาๆ กันบ้างดีกว่า ..
ประเด็นที่ว่า คือเรื่องความรักของพจน์ (และแสนด้วยแหละ)
คือเราอ่านแล้วไม่รู้ว่าพระเอกของเรารักใครกับแน่
ไม่ว่าผู้เขียนจะเขียนถึงใคร ก็ดูว่าพจน์จะรักสุดใจไปเสียทั้งหมด
ขึ้นอยู่กับว่าสุดท้ายแล้วสถานการณ์จะพาไปบรรจบลงตรงไหน
พจน์ก็พร้อมจะลงเอยกับหญิงสาวคนนั้น เป็นอันบริบูรณ์
ความรักระหว่างพระเอกกับนางเอก (คนไหนก็ตาม) ซาบซึ้งน้อยไปหน่อย
เราไม่ค่อยอินกับการที่ลาเบอโรที่ตายไปแล้ว 300 ปี
ยังอุตส่าห์ตามรักตามหลง ตามหาพระเอกกลับไปวาดภาพตัวเองอีกครั้ง
ค่าที่พระเอกรักผู้หญิงหลายคนเหลือเกิน
อยู่ที่ฝรั่งเศส ภพปัจจุบัน ก็มีสาวฝรั่ง กับสาวลูกครึ่งให้สับรางอยู่เต็มตารางนัด
พอข้ามภพมาสมัยพระนารายณ์ ก็มีสาวๆ มาให้จีบอีกเกรียวกราว
เมื่อข้ามน้ำข้ามทะเลมายังฝรั่งเศสสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14
ก็ยังมีสาวๆ ฝรั่งเศสยุคโบราณให้เลือกไม่ถูกอีกถึง 2 คน
และไม่ว่าอยู่กับใคร ก็ดูพี่แกจะรักจริงไปเสียทุกคน .. จนเราไม่อิน
แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้อ่านได้ประโยชน์จากความเจ้าชู้ของพจน์นั้นก็มีอยู่
คือไม่ว่าพจน์จะอยู่ที่ไหน เมื่อไร
ก็มักจะมีบทบรรยาย รำพึงรำพัน หวานๆ เพราะๆ ให้อ่านอยู่เสมอ
เราชอบเวลาที่หนุ่มสาวจีบกันเป็นโคลงกลอน
นอกจากเวลาจีบกัน แม้แต่วิธีจดบันทึกการเดินทาง
อาลักษณ์ก็ยังจดเป็นร้อยกรองไพเราะ
หรือแม้แต่อกหัก เหงาหงอยระหว่างการเดินทางไกล
ตัวละครก็รำพึงรำพันกันเป็นคำคล้องจองกันไปหมด
เรียกว่าเป็นความรุ่มรวยทางวัฒนธรรมของบ้านเราจริงๆ
และแล้ว เรื่องราวก็ดำเนินขมวดปมมาจนถึงช่วงไคลแมกซ์ทางประวัติศาสตร์
คือช่วงปลายรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ และช่วงต้นรัชสมัยของพระเพทราชา
ไหนจะความเข้มข้นจากสถานการณ์จากฝรั่งต่างชาติในช่วงเปลี่ยนผ่านรัชกาลอีก
ช่วงที่สมเด็จพระนารายณ์ประชวรหนักจนถึงสวรรคต เป็นช่วงที่บีบหัวใจมาก
อ่านไประทึกไป หายใจไม่ทั่วท้องราวกับอยู่ในเหตุการณ์กับเขาด้วย
บ้านเมืองในช่วงนั้นแตกแยกออกเป็นหลายฝ่าย
และแต่ละฝ่ายก็ล้วนแต่ซ่องสุมอาวุธกันทั้งนั้น
นึกว่าถ้าตนเองเป็นชาวบ้านในยุคนั้น คงใจตุ๊มๆ ต่อมๆ
ว่าต่อไปบ้านเมืองจะมีกษัตริย์เช่นไร
จะเป็นเจ้าฟ้าอภัยทศ พระอนุชา ผู้ซึ่งประวัติศาสตร์บันทึกว่าพิการ และมีนิสัยหยาบช้า
หรือจะสถาปนาวงศ์วิไชเยนทร์ (ในเรื่องใช้คำนี้เลย!!)
มีคิงเป็นลูกครึ่งกรีก ฝรั่งตาน้ำข้าวอย่างฟอลคอน
หรือแม้แต่พระปีย์ พระราชบุตรบุญธรรมของพระนารายณ์
ผู้ซึ่งหลังค่อม และเปลี่ยนศาสนาเป็นคริสต์ไปแล้ว
แถมยังอยู่ในกำมือของฟอลคอนด้วย ฯลฯ
ข่าวลือต่างๆ นานาหนาหู อ่านแล้วอินและเหนื่อยใจมากๆ
แต่ทั้งนี้และทั้งนั้น .. ทั้งหมดนี้ก็คือเรื่องราวทางประวัติศาสตร์
อันเป็นรากเป็นฐานของพวกเราชาวไทยทุกคน
จากตรงนี้ไปอีกไม่นาน ข้ามสมุทร ก็จบลง
รวมทั้งบทสรุปชีวิตของพจน์นับต่อจากนี้ด้วย
ซึ่งผู้เขียนทำได้ดีเช่นเคย อ่านแล้วอิ่ม ไม่มีค้างคาตรงไหนเลย
(จริงๆ ก็มีคิดถึงบางตัวละคร ที่เพียงถูกเล่าถึงเฉยๆ ไม่ได้ปรากฏตัวในเรื่องอีก ..
แต่มันก็เป็นเสน่ห์นั่นแหละ ถ้ามากไปกว่านี้อาจจะเฝือ และน้ำเน่า)
ปล. สิ่งหนึ่งที่เราเพิ่งรู้ แต่ทึ่งและประทับใจก็คือ
ออกญาโกษาเหล็ก และออกญาโกษาปาน
เป็นลูกหลานในตระกูลของพระยาเกียรติพระยามราม
ชาวมอญที่อพยพมาจากหงสาวดี มาเข้ากับพระนเรศวรเมื่อครั้งประกาศอิสรภาพ
Comments are closed.