อ่านแล้วเล่า

ข้างหลังภาพ

32 ข้างหลังภาพ

เรื่อง ข้างหลังภาพ
ผู้แต่ง ศรีบูรพา
สำนักพิมพ์ ดอกหญ้า
ราคา 95 บาท

หนังสือเล่มนี้ไม่ใช่ของเราแต่แรกหรอกค่ะ เล่มของเราหายสาบสูญไปแล้ว
เล่มนี้ไปซื้อของเก่ามือสองมาเนียน ;P

ข้างหลังภาพ เป็นอีกหนึ่งหนังสือที่เริ่มต้นด้วยความน่าเบื่อ (น้อยกว่าเวลาหน่อยนึง)
ถูกบังคับอ่านเพราะเป็นหนังสือนอกเวลาเหมือนกัน
แถมยังหลงรักหลังมันหลังอ่านจบเหมือนกันด้วย!!

เล่มนี้โชคดีกว่าหน่อยนึงค่ะ ตรงที่ในช่วงที่ครูให้อ่าน ..
ห้องสมุดโรงเรียนจัดฉายภาพยนตร์เรื่องนี้พอดี เป็นเวอร์ชั่นของพี่หนุ่ย อำพล กับนาถยา แดงบุหงา
แต่ขอบอก หนังก็เนิบนาบน่าเบื่อ และใช้ภาษาโบราณพอกัน
โชคดีที่มันจบภายในสองชั่วโมง และนั่นก็เปลี่ยนความรู้สึกของเราที่มีต่อหนังสือเล่มนี้ทันที
(อันที่จริงแล้วก็จำไม่ได้เหมือนกันว่า ตกลงแล้วอ่านจบก่อนหรือดูหนังจบก่อนกันแน่)

ผ่านเวลาล่วงเลยมาหลายปี หยิบข้างหลังภาพมาอ่านอีกครั้ง
ระหว่างอ่านหนนี้ ไม่นึกอิ่มเอมเหมือนที่เคยเป็น
วันเวลาเปลี่ยน ค่านิยมเปลี่ยน อ่านแล้วก็ค้านความรู้สึกจนต้องคอยบอกตัวเองว่า ..
อ่านอย่างเป็นวรรณกรรมเถิด อย่าอ่านด้วยคำตัดสิน อย่าเอาค่านิยมยุคนี้ไปตัดสินคนยุคก่อนเลย
ก็ค่อยยังชั่วขึ้นมาหน่อย

แต่ถ้าถามว่า แล้วรักหนังสือเล่มนี้น้อยลงหรือ ก็คงต้องตอบว่าเปล่าเลย
ในการอ่านครั้งนี้ เรายังรักในความเฉลียวฉลาดของคุณหญิงกีรติ รักในคุณธรรมของเธอ
รักความละเมียดละไมของคนยุคก่อน ..
ถ้าจะมี ก็มีแต่ความเสียดายเท่านั้น เสียดายที่คุณหญิงเกิดผิดยุคไปหน่อย
หากเกิดยุคนี้ ทั้งคุณหลวง และทั้งนพพร ไม่มีผลต่อชีวิตของเธอถึงเพียงนี้หรอก
(นพพรเอง ก็ใช่ว่าจะน่ารัก เป็นแค่เด็กหนุ่มธรรมดาๆ คนหนึ่งเท่านั้นเอง)

อีกสิ่งหนึ่งที่หนังสือนี้เคยเป็น และยังเป็นอยู่ ก็คือ ..
ภาษาที่สละสลวย กล่อมเกลาเราอย่างละเมียดละไม

32-2 ข้างหลังภาพ

แง่คิดมุมมองชวนคิดตามหลายๆ ความ ผ่านทางบทสนทนาของคุณหญิงและนพพร
ด้วยที่บุคลิกของตัวละครทั้งสองตัวมีความฉลาดเฉลียว
บทสนทนาแลกเปลี่ยนทัศนคติของคนทั้งสองจึงอ่านเพลินและชวนขบคิดมากๆ

ความสุขของผู้หญิงยุคก่อน ถูกผูกติดเอาไว้กับคำว่าความรักและการแต่งงานเท่านั้น
ทั้งๆ ที่ผู้หญิงควรมีความสุขด้วยตัวของตัวเองได้
มีความสุขกับสิ่งที่ตัวเองรักโดยไม่ต้องพึ่งพาผู้อื่นใด
แต่หากต้องการความรักขึ้นมาจริงๆ แล้วล่ะก็ .. ทำไมชายชรากับหญิงสาวจะรักกันไม่ได้เล่า?
(จริงๆ ชายวัย 50 กับหญิงวัย 35 ก็ใช่จะแตกต่างกันมากมาย ถ้าไม่นับที่คุณหญิงหน้าเด็กล่ะก็
ถ้าจะมีนักเขียนฝีมือดีอีกสักท่าน เขียนเรื่องนี้ซ้ำรอยขึ้นในมุมมองของท่านเจ้าคุณดูบ้าง
คงจะได้อรรถรสที่ลึกซึ้งในอีกแนว และคงจะคลาสสิคไม่น้อยไปกว่ากัน)

ถ้าลองสมมติตัวเองกลับไปมองในมุมของผู้หญิงยุคก่อนดูบ้าง
ในความเห็นของเรา คุณหญิงกีรติเธอตีความความรักในมุมมองที่แคบไป
จริงอยู่ ชายชรากับหญิงสาวนั้น มองดูภายนอกก็เหมือนจะไม่เหมาะสมกันด้วยประการทั้งปวง
แต่นั่นก็ใช่จะหมายความว่าความรักไม่สามารถเกิดขึ้นได้
เมื่อคุณหญิงกีรติเธอตั้งป้อมเอาไว้เสียตั้งแต่แรกแล้วว่าความรักระหว่างเธอกับท่านเจ้าคุณนั้น
ไม่มีทางที่จะเกิดขึ้นได้ .. ดังนั้น อคติอันนี้จึงเกาะกุมหัวใจเธอเอาไว้ตลอดเวลา

ส่วนในแง่มุมของนพพร ถ้ามองเฉพาะในช่วงเวลาที่ญี่ปุ่น นพพรเองก็เป็นคนน่ารักทีเดียว
แต่อย่างที่เรารู้ เมื่อวันเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ ..
นพพรเองก็เป็นเพียงแค่หนุ่มน้อยที่เปลี่ยวเหงา เดียวดายอยู่ต่างแดน
อาจจะมีคิดถึงบ้านเกิดและครอบครัวบ้าง
เมื่อได้พบคุณหญิงกีรติ จึงหลงละเมอเผลอไผลไปว่าเป็นความรัก
แต่แท้ที่จริงแล้ว นพพรก็เป็นเพียงเด็กหนุ่มธรรมดา ที่ไม่รู้จักหัวใจตัวเองพอ .. คนหนึ่งเท่านั้นเอง

และผู้ชายก็เป็นเช่นนี้เสมอ เวลารัก ก็รักมากมายและอยากได้รักตอบ
แต่เมื่อเวลาผ่านไปเพียงไม่นาน ไฟดวงนั้นก็มอดไหม้ ทิ้งไว้แต่เพียงความทรงจำจางๆ
ไม่ว่าจะเป็นนพพร หรือไล่ไปจนกระทั่งถึงไข่ย้อย ในเพื่อนสนิท (กล่องไปรษณีย์สีแดง)

ชิส์!!

สามวันจากนารีเป็นอื่นแน่หรือ? บุรุษเองก็ไม่แตกต่าง
แท้ที่จริงแล้ว หัวใจมนุษย์ต่างหากที่พร้อมจะเป็นอื่นได้ตลอดเวลา
ขึ้นชื่อว่าอารมณ์และความรู้สึก ไม่ว่าจะเป็นความรักหรือความเกลียดชัง
ก็ล้วนแต่เคลื่อนไป แปรเปลี่ยนไปได้ตลอดเวลา
ไม่มีความรู้สึกใดหรอกที่จีรังยั่งยืน .. เว้นแต่เราไปยึดถือมันเอง
หรือไม่อีกที .. ก็เว้นแต่ผู้ที่หยุดเวลาเอาไว้เท่านั้น ที่ความรู้สึกจะยังคงเดิม ตลอดไป

ฉากหนึ่งในความทรงจำของแฟนนิยายเรื่องนี้หลายๆ คน
(นอกเหนือไปจากฉากสุดท้ายตอนจบ) ก็คือฉากสำคัญบนยอดเขามิตาเกะนี่เอง
บทสนทนาบนยอดเขานั้น ลึกซึ้ง และสาแก่ใจ (เรา) จนนพพรไม่อาจคัดค้านอะไรได้เลย
ในชั่วขณะที่เราถูกขโมยจุมพิตจากผู้ชายคนหนึ่ง
ยังไม่คิดถึงในเรื่องที่ว่าเขาจะเป็นผู้ชายที่เรารักหรือไม่ก็เถอะ
เราจะยังมีสติปัญญาถกปรัชญากับชายผู้นั้นได้อย่างคุณหญิงกีรติจริงๆ หรือ?
ถ้าคุณหญิงไม่ใช่ยอดมนุษย์ ก็คงจะเป็นเพียงแค่ตัวละครในนิยายเท่านั้นแหละ ;P

และสำหรับในตอนจบของเรื่อง .. แม้ว่าจะเคยอ่านมาหลายรอบเต็มที
ดูหนังดูละครมาก็เยอะ รู้ตอนจบแทบจะท่องประโยคได้
แต่ .. ข้างหลังภาพ ก็ทำเราบ่อน้ำตาแตก น้ำท่วมหนังสือได้อีกครั้ง
ไม่เข้าใจตัวเองจริงๆ!!

ปล. หนังสือเล่มนี้ เป็นคนละเล่มกับที่เราเคยอ่านตอนเด็กๆ ค่ะ
ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าพิมพ์ครั้งใหม่ๆ จะเป็นเหมือนนี้หรือเปล่า
แต่สำหรับเล่มนี้ ภาคผนวกน่าสนใจมากค่ะ
คือจะมีบทวิจารณ์ และประวัติโดยสังเขปของผู้เขียน (กุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือศรีบูรพา)
อ่านหนังสือของท่านมาหลายปี (แต่อ่านอยู่เล่มเดียวนี่แหละนะ) เพิ่งทราบประวัติของผู้เขียน
เป็นชีวิตที่น่าสนใจมากๆ ค่ะ เพราะท่านสนใจการทำหนังสือมาตั้งแต่สมัยเรียน
เคยออกหนังสือร่วมกับเพื่อนๆ นักเรียนด้วยกันหลายครั้ง
จนมาทำงานแล้ว ก็ยังรวมกลุ่มกันทำหนังสืออีกหลายรอบ
กลุ่มนักเรียนที่ว่านี้ ก็ล้วนแต่เป็นนักประพันธ์แถวหน้าในยุคนั้นหลายคน
อย่างเช่น .. ชิต บูรทัต, พ. เนตรรังษี,  มาลัย ชูพินิจ, โชติ แพร่พันธุ์ (ยาขอบ) ฯลฯ
น่าแปลกใจทีเดียว ว่าสังคมที่นั่น เวลานั้นเป็นเช่นไร (โดยละเอียด)
จึงได้หล่อหลอมให้คนในยุคนั้นกลายเป็นนักประพันธ์ฝีมือเยี่ยมกันล้นประเทศ
(ไปลองเสิร์ชหาคำว่า “กลุ่มสุภาพบุรุษ” ดูค่ะ)
เป็นประวัติการตั้งต้นของวงการหนังสือพิมพ์ยุคใหม่เลยทีเดียว อ่านสนุกมากค่ะ

พอทราบประวัติของศรีบูรพา ก็ชักอยากจะไปสรรหาหนังสือเล่มอื่นๆ ของท่านมาอ่าน
รวมถึงหนังสือของหลายๆ ท่านในกลุ่มนี้ ก็น่าอ่าน และเป็นที่น่ารู้จัก
คุ้นๆ ว่าติดอันดับ 100 เล่ม หนังสือดีที่คนไทยควรอ่านอยู่หลายเล่ม

นอกจากนี้ ในภาคผนวกท้ายเรื่อง ยังมีบทวิจารณ์ข้างหลังภาพโดยนักวิจารณ์หลายๆ ท่าน
เราชอบบทที่คุณกอบกุล อิงคุทานนท์ วิจารณ์ที่สุด อ่านแล้วลึกซึ้งกว่าที่เราตีความเองยิ่งนัก
เป็นภาคผนวกที่มีคุณค่า และได้อรรถรสเติมความอิ่มเอมจากเนื้อหาของนิยายจริงๆ ค่ะ

Comments are closed.