อ่านแล้วเล่า

ของขวัญวันวาน

เรื่อง ของขวัญวันวาน
ผู้แต่ง ว.วินิจฉัยกุล
สำนักพิมพ์ ทรีบีส์
เลขมาตรฐานหนังสือ 9789747547160

ช่วงนี้เราไม่ค่อยอินกับนิยายเรื่องไหนจริงๆ จังๆ (มาหลายปีแล้ว)
ไม่ค่อยรู้สึก .. จนทึกทักไปว่าตัวเองแก่แล้ว
แต่ที่จริงแล้วเปล่าเลย
นิยายสมัยนี้มันไม่สามารถเขียนถึงความละเอียดอ่อนแบบนั้น
ได้เท่าที่เราเคยรู้สึกต่างหาก
กลับมาอ่าน ของขวัญวันวาน อีกครั้ง
เราสามารถยิ้ม มีความสุข และเสียน้ำตาให้กับความรัก
ความสุข และความเศร้าของเต้ นิก พู่ไหม และแพรมน ได้อย่างสนิทใจ
ใช่ว่าคนอ่านแก่ๆ จะไม่มีหัวใจเสียหน่อย!

เรื่องราวใน ของขวัญวันวาน นี้ เกิดขึ้นที่เมืองเล็กๆ
ที่มีชื่อว่าสปริงแวลลีย์ รัฐโคโลราโด ประเทศสหรัฐอเมริกา
ในเวลาย้อนหลังกลับไปเมื่อราวปี ค.ศ. 1970-1990
เทียบได้กับยุคของสงครามเวียดนาม ยุคของ 14 ตุลาฯ 2516
และยุค 6 ตุลาฯ 2519 ในบ้านเรา

นิก สิระ และฐานิต คนไทยสามคนที่จับกลุ่มแชร์บ้านพักร่วมกัน
พู่ไหม เด็กสาวลุคคุณหนู ที่จบมัธยมปลายมาสองปี แต่ยังสอบเข้ามหาวิทยาลัยรัฐไม่ได้
แพรมน พี่สาวพู่ไหมที่สุดจะเพอร์เฟ็ค และมั่นใจในตัวเอง
เต้ ชายหนุ่มขวานผ่าซาก มีคุณสมบัติพิเศษในการทำให้วงแตก
และกลุ่มคนไทยอีกกลุ่มเล็กๆ ที่รวมตัวคบกันเป็นสมาคมคนไทยในเมืองนี้
ต่างถ้อยทีถ้อยอาศัย ช่วยเหลือ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่
และทะเลาะเบาะแว้งกันไปตามนิสัยคนไทย และนิสัยส่วนตัวของใครของมัน

121-1-%e0%b8%82%e0%b8%ad%e0%b8%87%e0%b8%82%e0%b8%a7%e0%b8%b1%e0%b8%8d%e0%b8%a7%e0%b8%b1%e0%b8%99%e0%b8%a7%e0%b8%b2%e0%b8%99

อาจารย์วินิตาเปิดเรื่องมาได้สนุกมาก
เราเปิดอ่านเล่นนิดๆ หน่อยๆ
รู้ตัวอีกทีก็เผลอแตะร้อยหน้าเข้าไปแล้ว
เพลินตั้งแต่หน้าแรก ชวนติดตามจนวางไม่ลง
นิก และพู่ไหม น่ารักมาก
ส่วนตัวละครอื่นๆ ที่มาเปิดเรื่องก็มีสีสันน่าหมั่นไส้กันไปคนละแบบ
มนุษย์ประหลาดแต่ละเผ่าพันธุ์ที่มีในบ้านเรา
ถูกคัดมารวมกันอยู่ในสปริงแวลลีย์แห่งนี้แล้ว
อ่านไปก็อึดอัด ปวดหัวไปกับพู่ไหมด้วยทุกที
แต่เพราะความน่ารักของพู่ไหม ความใจดีของนิก
และความดีอย่างละนิดอย่างละหน่อยของคนอื่นๆ
ทำให้เรื่องลื่นไหลไปได้อย่างสนุกสนาน

อาจารย์วินิตาขยันแทรกอารมณ์ขันใส่ลงมาในบทสนทนา บทบรรยาย
อาจารย์ฯ ถ่ายทอดลักษณะนิสัยของตัวละครออกมาได้อย่างละเอียด
ผ่านคำพูด การกระทำ และสถานการณ์
ตัวละครที่เราชอบมากที่สุดเห็นจะเป็นพู่ไหมนี่แหละ
แม้ใครต่อใครจะบอกว่าพู่ไหมเด็ก
แต่เรากลับมองว่าพู่ไหมนี่แหละฉลาดและลึกซึ้งที่สุด
มองอะไรหลักแหลม ไม่ฉาบฉวย เพียงแต่ยังไม่ค่อยกล้าเท่านั้น

เราชอบการเปรียบเทียบเรื่องต่างๆ อย่างน่ารักของพู่ไหม อย่างเช่น
“พู่ไปเป็นยางอะไหล่ล้อหลัง”
“ไปรับจ๊อบชั่วคราว”
“ทำยังกะตีตั๋วดูหนังรอบเดียว”
ฯลฯ ประมาณนี้
อาจารย์วินิตาเลือกใช้คำที่ฟังดูเบามาก เมื่อเทียบกับความหมายที่แท้จริงของมัน
ใช่เลย คำแบบนี้แหละที่ควรจะออกมาจากปากของพู่ไหม

121-2-%e0%b8%82%e0%b8%ad%e0%b8%87%e0%b8%82%e0%b8%a7%e0%b8%b1%e0%b8%8d%e0%b8%a7%e0%b8%b1%e0%b8%99%e0%b8%a7%e0%b8%b2%e0%b8%99

เราอ่าน ของขวัญวันวาน เรื่องนี้มาตั้งแต่ครั้งตีพิมพ์เป็นตอนๆ ในสกุลไทย
ในตอนนั้น เรายังเป็นเด็กมัธยมวัยใสอยู่เลย
มุมมองโลกใสๆ แบบนั้นทำให้เราออกจะขัดใจกับการจับคู่ตัวละครในเรื่อง
แต่เมื่อเติบโตขึ้น ได้เห็นมนุษย์หลายแบบ ได้รู้ได้เห็นความเป็นไปในชีวิตผู้คน
ก็รับรู้ได้ว่าความรักที่ก่อเกิดขึ้นระหว่างพระนางเป็นเรื่องที่เป็นไปได้
จริงๆ แล้ว ฝ่ายชายก็แสดงออกอยู่เห็นๆ
เพียงแต่มันไม่ใช่การแสดงออกอย่างตรงไปตรงมา
ตอนเด็กๆ เลยอ่านแล้วไม่ค่อยอิน
มาอ่านตอนนี้ .. นอกจากจะอินแล้ว
ยังเอาใจช่วยและยิ้มน้อยยิ้มใหญ่ไปตลอดการอ่าน

ชีวิตและสังคมของนักเรียนไทยในต่างแดน (เท่าที่เคยอ่านมา)
มักคล้ายคลึงกันไปในทำนองนี้
อ่านเซ็ตนี้จบ อดนึกไปถึงอีกสองเล่มอย่างบอกไม่ถูก
สองเล่มที่ว่านี้คือ 
ลำเนาลม และในเรือนใจ ของพี่ปุ้ย กิ่งฉัตร
ถ้าใครชอบแนวนี้ อยากจะแนะนำให้ไปลองอ่านสองเล่มนั้นต่อเลยค่ะ
รับรองว่าต่อเนื่อง ไม่ขาดตอน 🙂

Comments are closed.