อ่านแล้วเล่า

กษัตริยา

เรื่อง กษัตริยา
ตอน แก้วกษัตริยา
ผู้แต่ง ทมยันตี
สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม
เลขมาตรฐานหนังสือ 9744462035

อ่านนิยายอิงประวัติศาสตร์ ก็จะพลาดงานของนักเขียนคนนี้ไม่ได้เลยค่ะ 🙂
ถ้าเทียบ กษัตริยา กับเรื่อง พ่อ ของคุณปองพล (ที่เราเพิ่งอ่านจบไป)
สองเล่มนี้เล่าจากเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ในช่วงเดียวกันเลย
โดยเริ่มต้นเหลื่อมกันนิดหน่อย
คือเล่มนี้เริ่มต้นขึ้นเมื่อสมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงครองราชย์แล้ว
เริ่มต้นเมื่อก่อนทำศึกกับบุเรงนองครั้งแรก
ชนวนศึกคือ คือพระเจ้าหงสาวดีบุเรนองมีพระราชสาส์นมาขอช้างเผือกจากพระมหาจักรพรรดิ
และเมื่อทางอยุธยาไม่ให้ จึงถือเป็นสาเหตุให้ยกทัพมาตี
(ฟังดูคล้ายๆ นิทานหมาป่ากับลูกแกะ .. อ้างแค่นี้ก็เป็นความชอบธรรมที่จะยกทัพมาตีแล้ว?)

เนื้อหาในเล่มแรกนี้ ทมยันตีเล่าด้วยมุมมองผ่านสายตาคนไทยเพียงเท่านั้น
ในขณะที่คุณปองพลเล่าผ่านตัวละครทั้งฝ่ายไทยและพม่า
และทั้งสองเล่มแตกต่างกันในรายละเอียด
และส่วนต่างนี้เองที่ทำให้เราขบวิเคราะห์
ว่าส่วนใดคือประวัติศาสตร์ และส่วนใดคือจินตนาการของผู้เขียน

สำหรับ กษัตริยา ผู้เขียนจะเน้นเล่าไปในมุมมองของสตรี ..
สตรีอันเป็นเลือดเนื้อเชื่อไขของพระมหาจักรพรรดิ กับสมเด็จพระศรีสุริโยทัย
คือพระสวัสดิราช หรือพระวิสุทธิกษัตรีย์

เนื้อหาก็จะดราม่าหน่อยๆ ตามสไตล์ผู้เขียน
เพราะนางเอกของทมยันตี มีทิฐิทุกคน
แม้แต่นิยายอิงประวัติศาสตร์ก็ยังเป็นเช่นนั้น

กษัตริยา เป็นการเล่าประวัติศาสตร์ด้วยนวนิยายผสมกับพงศาวดาร
คือมีทั้งช่วงที่เป็นนวนิยาย มีบทสนทนา มีความคิดเห็นของตัวละครในประวัติศาสตร์
และมีเหตุการณ์จริงตามประวัติศาสตร์ในพงศาวดาร
รวมไปถึงคำอธิบายข้อขัดแย้งกันระหว่างเอกสารหลายฉบับ

เป็นอีกครั้งที่จะต้องบอกตัวเองว่า
ในส่วนที่เป็นนิยายนั้นคือจินตนาการที่ต่อเติมของผู้เขียน
ซึ่งอ่านไปก็จะต้องคอยแยกแยะไป
โดยส่วนตัว เราไม่ค่อยอินกับภาพการสูญเสียที่ผู้เขียนวาดให้เท่าไร
เพราะเน้นย้ำเกินไปจนรู้สึกถูกยัดเยียด
ทั้งๆ ที่ถ้าลองนึกดูเอง เอาตัวเราเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์
ก็อาจจะรู้สึกไม่ต่างจากตัวละครทั้งหลายเท่าไร

ส่วนที่ขัดใจที่สุดคือบุคลิกและความคิดอ่าน ของพระวิสุทธิกษัตรีย์
ซึ่งก็ยังเป็น ‘ผู้หญิง’ ในแบบของทมยันตี
ซึ่งเมื่ออ่าน ก็จะมีอารมณ์ขัดใจบ้าง ค้านสายตาบ้างไปตามเรื่อง

ยกตัวอย่างเช่น ความขัดแย้งระหว่าพระมหาธรรมราชากับพระวิสุทธิกษัตรีย์
จากประวัติศาสตร์ ก็น่าจะขัดแย้งกันจริง
แต่ข้อขัดแย้งและบทสนทนานั้นไม่น่าจะใช่ .. 
และมันทำให้เราอึดอัด อัดอั้น ..
เวลาอ่าน จึงต้องคอยบอกตัวเองให้พยายามเก็บเอาแต่เนื้อเรื่อง
อย่าไปอินกับจินตนาการส่วนที่เพิ่มเติมเข้ามา (อินเกิน 555)

สำนวนภาษา สละสลวยแบบภาษาของทมยันตี
ถ้าชินก็จะอ่านได้เพลิน ลื่นไหลดี
แต่ถ้าไม่ชินก็จะตะหงิดๆ หน่อย ..
แต่เชื่อเถอะ เดี๋ยวก็ชิน .. และอาจจะชอบ >,<
การสอดแทรกเกร็ดประวัติศาสตร์ในเล่มนี้ทำได้แนบเนียนไม่มีสะดุด

แล้วเรื่องในเล่มนี้ ก็ดำเนินมาจนถึงตอนจบเล่มแรก
ซึ่งผู้เขียนจบลงตรงที่อยุธยาเสียกรุงให้แก่พระเจ้าบุเรงนอง
อยุธยาตกเป็นเมืองขึ้นของหงสาวดี
โดยมีพระมหาธรรมราชาขึ้นเป็นกษัตริย์ครองอยุธยา
พระวิสุทธิกษัตริย์ตรี เสด็จไปประทับที่พิษณุโลก
เราต้องเสียพระนเรศวร และพระสุพรรณกัลยาไปเป็นองค์ประกัน ..
และเรื่องราวต่อจากนั้น จะไปถูกเล่าต่อใน แก้วกัลยาแห่งแผ่นดิน

ปล. นอกจากนี้ ในคำนำผู้เขียนได้เกริ่นถึงท้าวศรีสุดาจันทร์ว่า
“หากยังไม่ท้อจะเขียนถึง” ด้วย
ซึ่งกาลเวลาผ่านมาเนิ่นนานร่วม 20 ปี ความหวังริบหรี่เต็มที
แต่เราก็ยังอยากอ่านการตีความประวัติศาสตร์ในช่วงนั้น
(สมัยของขุนวรวงศาธิราชและท้าวศรีสุดาจันทร์)
จากมุมของทมยันตีเหมือนกัน เชื่อได้ว่าจะต้องฉีกไปจากภาพจำ ไม่ซ้ำใคร
ถ้าคุณป้าอี๊ดได้รับรู้ ก็ขอฝากความหวังอันริบหรี่นี้ไว้ด้วยนะคะ

Comments are closed.