อ่านแล้วเล่า

กลับไปสู่วันฝัน

57 กลับไปสู่วันฝัน

เรื่อง กลับไปสู่วันฝัน
ผู้แต่ง แก้วเก้า
สำนักพิมพ์ ทรีบีส์
(สนพ. ในเครือ สนพ.อักษรโสภณ)
ราคา 330 บาท

พิมพ์ฉัตร นางเอกจากเรื่องนี้เริ่มต้นเรื่องด้วยชีวิตวัยป้า

หญิงสาว (เหลือน้อย) ที่ยังโสด ผ่านชีวิตวัยเด็กในครอบครัวฐานะปานกลาง ค่อนไปทางยากจน
ต้องลาออกจากโรงเรียนกลางคันเพื่อส่งเสียน้องๆ อีก 3 คนให้เล่าเรียนจนจบ
และได้ดิบได้ดีกันทุกคน
หลังจากนั้น เธอก็ใช้ชีวิตอย่างแห้งแล้ง
ไม่เคยมี “ชีวิต” เป็นของตัวเองมาโดยตลอด จนล่วงเข้าวัย “ป้า”

ในตอนนั้นเอง เธอได้รับคำแนะนำจากคุณมาลินดา เพื่อนสูงวัย
(ที่เพิ่งรู้จักกันได้ไม่นาน แต่สนิทใจกันดี) ว่า ..
คนเราต้องกล้าเสี่ยง เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแก่ชีวิต
ความเสี่ยงที่อาจจะนำพาชีวิตให้ดีขึ้น หรือแย่ลงก็ได้
แต่ชีวิตเธอจะเปลี่ยนแปลงไปจากความน่าเบื่อนี้ ขอเพียงเธอกล้าที่จะเปลี่ยนเท่านั้น

คำแนะนำนี้เองที่จุดประกายความคิดให้กับชีวิตของเธอ
พิมพ์ฉัตรตัดสินใจขายบ้านที่เธออยู่ และไปทำงานที่เชียงใหม่
ในหน้าที่การงานอันต่ำต้อย แต่เป็นสุข
เธอมีหน้าที่ดูแลเนิร์สซิ่งโฮม ธุรกิจของครอบครัวคุณโคมฉาย เพื่อนบ้านเศรษฐีของพิมพ์ฉัตร
ตามคำแนะนำฝากฝังของคุณโคมฉายเอง

การเปลี่ยนแปลงนี้เองที่สร้างความหวังเล็กๆ ให้เกิดขึ้นแก่เธอ

ผู้หญิงวัยใกล้ 50 ที่บางคนมองว่าควรจะพ้นจากความรู้สึกรัก โลภ โกรธ และหลงแล้ว
แต่ใครเล่าจะเข้าใจจิตใจของหญิงผู้มีวัยนี้อย่างลึกซึ้งได้เท่าพวกเธอเอง
ความรักค่อยๆ ก่อเกิดขึ้นในหัวใจวัย 40 ปลายๆ ของเธอ
รักและปรารถนาดีต่อคุณคันฉัตร คุณหมอนายจ้างผู้เป็นน้องชายของคุณโคมฉาย

คนที่ไม่เคยมีความหวัง เมื่อมีความหวังแม้เพียงน้อยนิด หัวใจก็พองฟู
และเมื่อสูญเสียมันไป แม้เพียงน้อยนิดแต่มันก็คือความหวังทั้งหมดในชีวิตของเธอ

ชีวิตที่หมดหวัง ย่อมไม่อยากที่จะมีชีวิต

หากคนเราสามารถจะขออะไรได้สักอย่างก่อนตาย .. เราจะขออะไร

โอกาสที่เหมือนเทพนิยายนี้ได้เกิดขึ้นกับพิมพ์ฉัตร
และสิ่งที่เธอขอ คือขอ “กลับไปสู่วันฝัน
เริ่มต้นชีวิตอีกครั้งด้วยทางเลือกที่เธอไม่เคยเลือกมาก่อน

ระยะเวลาแห่งความสุขเพียงหนึ่งปี ก่อนที่ทั้งหมดจะสูญสลายหายไป
หรือทุกข์ดังเช่นทุกวัน ไปตลอดกาล
ทางไหนที่ควรเลือกและควรเป็นกันแน่?
ฝืนธรรมชาติ หรือปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ?

ถ้ามนุษย์มีโอกาสแก้ตัว เราคงย้อนกลับเลือกทางเดินใหม่ได้อีกครั้ง
หลายคนคงเลือกที่จะเดินอีกทาง .. แต่อีกทางเดินนั้นจะดีสำหรับเราจริงๆ หรือ?

การ “กลับไปสู่วันฝัน” ในเรื่องนี้ ไม่ใช่การย้อนเวลากลับไป
หากแต่เป็นการลดวัยตัวเองให้กลับไปสู่วัยฝัน วันฝันนั้นอีกครั้ง
วันและวัยที่เธอเคยมีทางเลือกมากกว่านี้
พิมพ์ฉัตรที่เด็กลงไปหลายสิบปี กลายเป็นเธอคนใหม่ในโลกใบเดิม
นับจากนี้ไปอีกหนึ่งปี คือเวลาแห่งความฝันและความหวัง .. อีกครั้ง

สำหรับโอกาสในครั้งนี้ พิมพ์ฉัตรควรเลือกที่จะกลับไปหาคำตอบจากแฟนเก่า
คนที่เกือบจะได้เป็นคู่ชีวิต อย่างพันธิน
หรือควรจะมองหาอนาคต ตั้งความหวังใหม่ กับผู้ชายคนใหม่อย่างคันฉัตรกันแน่

พันธิน ชายวัยลุง (เมื่อเทียบกับพิมพ์ฉัตรวัยละอ่อน ณ ตอนนี้) หรือคันฉัตร ผู้ชายในปัจจุบัน
เลือกที่จะหาคำตอบจากอดีต หรือแก้ไขความเข้าใจผิดในปัจจุบัน

57-2 กลับไปสู่วันฝัน

นางเอกในเรื่องนี้ของแก้วเก้า ไม่ใช่ผู้หญิงฉลาดปราดเปรียว
แม้ว่าอายุมาก แต่ก็ขาดประสบการณ์ชีวิตในหลายๆ ด้าน
(บางทีอ่านๆ ไป เรายังคิดเลยว่าพิมพ์ฉัตรในวัยเด็กสาว ยังดูฉลาดกว่าตัวเธอเองในวัยใกล้ 50 ซะอีก)
แต่นั่นแหละ นางเอกของแก้วเก้าคือคนธรรมดาที่พบได้ในชีวิตจริง
มีโง่ มีพลาด และก็ได้เรียนรู้จากความผิดพลาดนั้น
บางบทบางตอน ทั้งๆ ที่เห็นปลายทางพลาดอยู่รอมร่อแล้ว ก็ต้องทนอ่าน
ปล่อยให้นางเอกเดินไปตกหลุมพรางนั้น แล้วก็เฝ้าดูเธอเติบโตขึ้น (ทางความคิด)
อาจารย์วินิตาสอนคนอ่านจากข้อผิดพลาดของตัวละคร
อ่านแล้วโปรดฉุกคิดเพื่อจะได้ไม่ต้องพลาดเอง

ไม่นึกว่าคนรุ่นคุณยายของอาจารย์วินิตาจะเขียนเรื่องทันสมัย (ล้ำสมัย) ขนาดนี้
อาจารย์เขียนให้นางเอกถูกข่มขืนและกลายเป็นมือที่สาม มือที่สี่ ได้ .. นี่นางเอกนะนี่!!

57-3 กลับไปสู่วันฝัน

เสียดายชีวิตของพิมพ์ฉัตร เธออุตส่าห์ได้รับโอกาสดีอย่างที่สุดแล้ว
เรียกว่าเป็นปาฏิหารย์ก็ว่าได้ แต่เธอกลับใช้มันไม่คุ้มค่าเอาเสียเลย
เธอปล่อยตัวปล่อยใจง่ายๆ กับโอกาสแรกที่เข้ามา
ไร้การวางแผนหรือคิดให้รอบคอบเสียก่อน
ได้แต่ปล่อยชีวิตให้ไหลไปตามกระแสของโชคชะตาพาไป
น่าเสียดาย .. น่าเสียดายจริงๆ

แม้พิมพ์ฉัตรจะใช้ชีวิตอย่างไม่ค่อยฉลาดเท่าไร
แต่ตัวละครอย่างคุณดาวิน ก็เป็นตัวละครที่คอยกระตุ้นให้เธอ (และคนอ่าน) ได้ฉุกคิดเสมอๆ
เขามักมีคำถามแปลกๆ ให้เธอได้คิด
และแม้บางครั้งเธอจะหาคำตอบไม่ได้ แต่มันก็มีผลในการตัดสินใจครั้งต่อๆ ไปของเธอ

57-4 กลับไปสู่วันฝัน

57-5 กลับไปสู่วันฝัน

หรือจริงๆ แล้ว คนเราไม่ได้ต้องการสมหวังในสุขหรือพ้นทุกข์
แต่ต้องการเพียงแค่ประสบการณ์อันจะทำให้บอก ให้สอนตัวเองได้ว่า
แท้จริงแล้ว สิ่งที่มีผลต่อสุขทุกข์ของเรานั้น ไม่ได้สำคัญอย่างที่เราให้ค่าแก่มันเลย

หนังสือของอาจารย์วินิตา มักจะแทรกบทเรียนสอนคนอ่านอย่างแยบยล
ในความสนุก เราได้เรียนรู้จากตัวหนังสือของอาจารย์เสมอ

Comments are closed.