อ่านแล้วเล่า

กฤตยา

82-1 กฤตยา

เรื่อง กฤตยา
ผู้แต่ง ทมยันตี
สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม
ราคา 300 บาท

กฤตยาเปิดเรื่องด้วยหญิงสาวปริศนา ลึกลับ ทรงอำนาจ น่าค้นหา
แล้วตามมาด้วยพระเอกผู้มีลักษณะอย่างเดียวกัน ไอลวิน แพทย์หนุ่มผู้ทรงอำนาจ
สามารถรู้ล่วงหน้าก่อนลงมือรักษาว่าคนไข้คนนั้นจะรอดชีวิตหรือไม่
ทั้งสองฝ่าย อัยและตีมีสัญญารับรู้จากอดีต .. อัยรับรู้เพียงจางๆ ลางๆ แต่ไม่รู้แน่ชัด
ในขณะที่ตี .. กฤตยา เธอถูกหล่อหลอมมาจากที่นั่น เฉกเช่นนักบวชในยุค 4000 ปีก่อน
ทั้งสอง .. ต่างฝ่ายต่างทรงอำนาจ หากแต่ฝ่ายหญิงนอบน้อมต่ออัย ไอลวิน ..
เป็นความนอบน้อมที่ปะปนความรู้สึกชิงชัง เคียดแค้น .. เป็นความคุ้นเคยปนคลับคล้ายคลับคลา

แค่เปิดเรื่องก็แทบไม่อยากจะวางมือจากเล่มนี้แล้ว แต่ ..

ระหว่างอ่านกฤตยา ก็ชักสนใจประวัติของอัย
เพราะอ่านประวัติอียิปต์โดยมาก เรามักได้ยินกันแต่ชื่อของตุตันคาเมน เนเฟอร์เตเต ฯลฯ
แต่กลับไม่เคยมีชื่อของ “อัย” ผ่านสมองเลย
เลยลองเอาชื่อฟาโรห์ตุตันคาเมนไปเสิร์ช และยิ่งพบการค้นพบใหม่ๆ ที่ทำเอาอ่านนิยายต่อแทบไม่สนุก 555
เพราะประวัติของฟาโรห์ตุตันคาเมนบอกว่า เขาไม่ใช่ลูกของพระนางเนเฟอร์เตเต
แต่กลับเป็นลูกมเหสีรองของฟาโรห์อัคนาเตนองค์หนึ่ง การตรวจหาข้อมูลด้านนี้ถูกแก้ไขหลายครั้ง
และท้ายที่สุด ถูกยืนยันด้วยดีเอ็นเอ .. พระนางเนเฟอร์เตเตนั้น (นับเป็นแม่เลี้ยงตุตันคาเมนนะ) มีแต่พระธิดา
และหนึ่งในพระธิดาของนางก็ได้อภิเษกกับฟาโรห์ตุตันคาเมนด้วย (คือแต่งงานกับพี่น้องร่วมบิดา)

ลำดับการครองราชย์ของอียิปต์ในช่วงนั้นตรงกับในกฤตยา
คืออัคนาเตน (พ่อของสเมนกาเรกับตุตันคาเมน), สเมนกาเร (ตายในสนามรบ และไม่ถูกสร้างปิรามิด),
ตุตันคาเมน (ครองราชย์ตั้งแต่ 9 ขวบ ถึง 19 ขวบ ไม่พบสาเหตุการตาย)
และอัย ฉวยโอกาสอภิเษกกับราชินีของตุตันคาเมน (คนที่เป็นลูกเนเฟอร์เตเตนั่นแหละ)
อภิเษกกับราชินีในรัชกาลก่อนเพื่อยกตนขึ้นเป็นฟาโรห์ .. นี่มันตัวร้ายชัดๆ

ว่ากันว่า อัยฆ่าตั้งแต่ยุคสเมนกาเรแล้ว
แต่ราชินีของสเมนกาเร (คือเจ้าหญิงเมอริตาเตนผู้หล่อหลอมกฤตยาในเรื่องนี้) ไม่ยอมอภิเษกกับอัย
ยอมถูกฝังทั้งเป็นไปกับพระสวามี อัยจึงต้องฆ่าตุตันคาเมน ฟาโรห์องค์ต่อมาอีกหน และอภิเษกกับราชินีองค์ใหม่
อ่านเจอแบบนี้แทบจะหายอิน แล้วอัยรักกฤตยาตรงไหน (ฮา)

ถ้าอัยฆ่าสเมนกาเรแล้วไม่ทำปิรามิดให้ ไม่ห่อมัมมี่ให้ เข้าใจได้
แต่ถ้าอัยฆ่าตุตันคาเมน แล้วสร้างปิรามิดให้
บรรจุสมบัติ ข้าวของเครื่องใช้ ทองคำ มากมายให้ อันนี้ไม่เข้าใจ ทำไมสองมาตรฐาน

(ข้อมูลภายหลังบอกเราว่าตุตันคาเมนไม่ได้ถูกฆาตกรรมนะ งั้นประเด็นนี้ตกไป
นอกจากนี้ยังมีข้อมูลที่บอกว่าตอนที่อัยเป็นฟาโรห์ อัยเองก็ตกอยู่ภายใต้อำนาจของข้าราชบริพารอีกคน
ซึ่งภายหลังก็ยึดอำนาจขึ้นเป็นฟาโรห์ซะเอง ฟังดูไม่ได้ยิ่งใหญ่น่าเกรงขามเท่าในนิยายเลย)

ข้อมูลที่เปลี่ยนไป ไม่ได้ทำให้ความสนุกของเนื้อเรื่องน้อยลงเลย
แต่กฤตยากลับทำให้เราอ่านประวัติศาสตร์ของอียิปต์ได้สนุกขึ้นด้วยซ้ำ

สำหรับในหน้าประวัติศาสตร์ ข้อมูลสาเหตุการตายของฟาโรห์ตุตันคาเมนเป็นที่น่าสนใจตลอดมา
ในครั้งแรกฟาโรห์องค์นี้ถูกวินิจฉัยว่าสิ้นพระชนม์ด้วยธนู แถมมีรอยแตกที่กะโหลกด้วย
ต่อมาพบว่ารอยแตกนั้นเกิดขึ้นหลังจากสิ้นพระชนม์แล้ว อาจเป็นความผิดพลาดระหว่างห่อพระศพ
ข้อมูลใหม่พบว่าพระองค์สิ้นพระชนม์เพราะกระดูกขาหัก แผลไม่ร้ายแรง แต่น่าจะติดเชื้อ
ต่อมา มีข้อมูลใหม่ล่าสุดกว่าอีก บอกว่าทรงเป็นมาลาเรีย มีการตรวจพบเชื้อมาลาเรียจากพระศพ
ก็ว่ากันไป .. แต่ข้อมูลยุคที่ทมยันตีเขียน เชื่อกันว่าตุตันคาเมนถูกปลงพระชมน์
และตัวการร้าย ก็คืออัย พระเอกของเรื่องนี่เอง!!

ยังก้ำกึ่งถึงความชอบธรรมในการครองบัลลังก์ของอัย
เรียกว่าแทบจะเป็นตัวร้ายในประวัติศาสตร์
แต่การเกิดใหม่ด้วยลายมือของทมยันตีก็ทำให้ “อัย” ในชาตินี้อ่อนโยน มีมุมละมุนมากขึ้น

ความสนุกคือ ทมยันตีจะเปลี่ยน “อัย” ผู้ร้ายในหน้าประวัติศาสตร์
ให้กลายเป็นพระเอกของกฤตยาได้อย่างไร

อย่างน้อย ข้อมูลที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนนี้ ..
ก็ทำให้จินตนาการอันบรรเจิดเกิดนิยายสนุกๆ อย่างกฤตยามาให้เราได้อ่านกัน
การอ่านนิยายที่รู้ที่มาที่ไป รู้พื้นภูมิของตัวละคร (ที่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์)
ทำให้สนุกที่ได้คิดต่อยอดต่อจากจินตนาการของผู้เขียนอีกที

อัยตามประวัติศาสตร์ เป็นนักบวชมาตั้งแต่ยุคฟาโรห์อเมนโฮเทปที่ 3 (ปู่ของตุตันคาเมน)
และยังทำหน้าที่ต่อมาในยุคอเมนโฮเทปที่ 4 (หรืออัคนาเตนพ่อของตุตันคาเมน),
สเมนกาเร (พี่ชายของตุตันคาเมน) และฟาโรห์ตุตันคาเมนเอง
เรียกว่ารับราชการกันมาถึง 4 รัชกาลทีเดียว
ฟาโรห์แต่ละพระองค์ก็ครองราชย์กันคนละ 10 – 20 ปี ดังนั้น กว่าจะถึงตาอัย เขาก็คงกลายเป็นคุณปู่ฟาโรห์
ไม่ได้หนุ่มฟ้อหล่อเฟี้ยว ชวนจิ้น ฟิน วี้ด แบบพี่นก ฉัตรชัย (เมื่อ 20 ปีที่แล้ว) หรอก

82-5 กฤตยา

ว่าจะเล่าเรื่องกฤตยา ไปๆ มาๆ ไปขุดประวัติศาสตร์มาเล่าเสียยกใหญ่
(แต่สนุก และน่าถกนะ ใครสนใจมาชวนกันถกในเฟสบุ๊คได้ค่ะ ^^)

ไหนๆ ก็ไหนๆ เล่าเรื่องยกตามในนิยายเอาไว้อีกหน่อยดีกว่า
กฤตยาแท้จริงแล้วไม่ใช่เจ้าหญิงเมอริตาเตน ราชินีของสเมนกาเร
แต่เธอเป็นคล้ายๆ ร่างทรงของเจ้าหญิง เป็นชีวิตที่ถูกนำมาสร้างใหม่ให้เหมือนเมอริตาเตน หรือตี
แม้เธอจะคล้ายเจ้าหญิง แต่เธอมีหัวใจของเธอเอง
เจ้าหญิงเมอริตาเตนรักและภักดีต่อฟาโรห์สเมนกาเร แต่กฤตยาภักดีต่ออัย

82-3 กฤตยา

ภารกิจของเธอคือล่อหลอกให้เขาในชาตินี้ทำการทดลองเพาะเซลเนื้อเยื่อ .. ปลุกสเมนกาเรขึ้นจากความหลับใหล
สเมนกาเรผู้มิได้เตรียมร่างเป็นมัมมี่ จิตวิญญาณแห่งสเมนกาเรจะหลับใหลชั่วนิรันดร์
ไม่ได้ถูกตัดสินชะตาชีวิตเยี่ยงดวงวิญญาณอื่นๆ และไม่มีภพหน้า ชาติหน้า
อัยผู้กักขังดวงวิญญาณนั้นไว้ถึง 4000 ปี มีหน้าที่ต้องปลดปล่อย แก้ไข

82-4 กฤตยา

ในครั้งแรก แม้เพียงจะทำให้อัยยอมทำสิ่งนั้นก็ยากเย็นแล้ว
ต่อมาเมื่ออัยยอมละพยาบาท เทพีเซลเค็ต นางเทพีผู้มีอำนาจในโลกมืดคืออุปสรรคต่อมา
กฤตยาแตะต้องพระศพแห่งสเมนกาเร นำชิ้นเนื้อเยื่อของฟาโรห์มามอบแด่อัย
นั่นผิดต่อกฏประกาศิต เธอมีความผิด และเธอต้องรับโทษทัณฑ์!!

ทมยันตีผสมผสานความศรัทธาในเทพเจ้า ความเชื่อในพิธีกรรมอันเคร่งครัดของอียิปต์
ให้เข้ากับกฎแห่งกรรมแห่งพุทธศาสดาได้กลมกล่อม เป็นหนึ่งเดียว
ที่ไม่ว่าจะเชื่อเช่นไร สุดท้ายปลายทางนั้นหมายถึงสิ่งเดียวกัน

กฤตยาเป็นนิยายอ่านสนุกค่ะ เคยจำได้ว่าสนุกอย่างไร อ่านใหม่ก็ยังคงความสนุกไม่เปลียน
นิยายเล่มหนา แต่อ่านง่าย (แล้วนะ ในนามทมยันตี)
อ่านได้รวดเดียวจบ (ถ้าไม่เผลอไปมัวเสิร์ชอ่านประวัติศาสตร์อยู่)
มีเวลาว่างในวันหยุด หยิบนิยายสนุกๆ มาอ่านให้เป็นวันแสนสนุกนะคะ ^^

Comments are closed.