อ่านแล้วเล่า

กำเนิดสปีชีส์ The Origin of Species

เรื่อง กำเนิดสปีชีส์
The Origin of Species
ผู้เขียน ชาร์ลส์ ดาร์วิน
บรรณาธิการคณะผู้แปล ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์
ผู้แปล ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์, ดร.อุบลศรี เลิศสกุลพาณิช, รศ.ดร.จันทร์เพ็ญ จันทร์เจ้า,
ผศ.ดร.ต่อศักดิ์ ลีลานันท์, ดร.ณัฐพล อ่อนปาน, ผศ.ดร.ศศิวิมล แสวงผล,
ว่าที่ร้อยตรี รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์
สำนักพิมพ์ สารคดี
เลขมาตรฐานหนังสือ 9786167767505

เฮ้อ!! จบลงไปแล้วค่ะ เล่มแรกของปี
หืดขึ้นคอกันเลยทีเดียว
กำเนิดสปีชีส์ เป็นหนังสือที่อ่านยาก และชวนให้ท้อแท้ทุกขณะที่อ่านมากๆ
โดยเฉพาะช่วงเวลาที่เราทิ้งร้างวิชาชีววิทยามากว่า 20 ปี แล้ว
แค่พันธุ์ สปีชีส์ คลาส ฯลฯ ยังเรียงลำดับไม่ถูกเลยว่าอะไรใหญ่กว่ากัน

หนังสือเล่มนี้ไม่เป็นอย่างที่เราคิดค่ะ
มันไม่ได้เป็นบันทึกการเดินทางไปในที่ต่างๆ
การค้นพบสิ่งมีชีวิตต่างๆ แล้วค่อยสรุป
แต่มันเป็นบทสรุปมาเลย ยกตัวอย่าง การทดลอง
และบันทึกของนักวิทยาศาสตร์คนอื่นๆ ทั้งหลายมาสรุปรวมเอาไว้

เนื้อหาไม่ได้ยากมากเกินกว่าวิชาชีววิทยาที่เราเคยเรียนสักเท่าไร
ยิ่งถ้าเป็นน้องๆ นักเรียนนักศึกษา น่าจะอ่านได้ง่ายกว่าเรา ที่ต้องนั่งงมความรู้เก่าๆ
แต่สิ่งที่ที่เป็นอุปสรรคในการอ่านแบบสุดๆ ไปเลยก็คือภาษา
ภาษาอ่านยากมากค่ะ
เข้าใจว่าคณะผู้แปลต้องการจะแปลให้ตรงตามต้นฉบับ (ซึ่งใช้ภาษาโบราณมากๆ)
แต่ละประโยคของปู่ดาร์วินก็ช่างยาวยืด
กว่าจะอ่านจนจบประโยค ก็ทำให้ลืมไปแล้วว่าตอนต้นแกเกริ่นว่าอะไร
สารภาพว่าเกือบครึ่งเล่มแรก เราอ่านย้ำไปย้ำมา
อ่านจบหนึ่งประโยค ก็ต้องย้อนกลับไปอ่านซ้ำที่ต้นประโยคใหม่
มึนๆ เบลอๆ อยู่นานทีเดียว
จนมาถึงช่วงหลังๆ นี่ล่ะค่ะ ถึงเริ่มอ่านผ่านๆ
เพราะรู้แล้วว่าเดี๋ยวปู่ก็สรุปให้อีกทีอยู่ดี

อีกหนึ่งอุปสรรคที่เกิดขึ้นกับเราก็คือ
เราไม่รู้จักสัตว์และพืชบางชนิดที่แกเอ่ยถึง
อ่านแล้วจินตนาการตามไม่ถูก
จะไปเสิร์ชกูเกิ้ลเหมือนเวลาอ่านเรื่องอื่นๆ ก็ไม่มีแรงบันดาลใจพอ ^^”
เรียกว่า เป็นการอ่านที่หนักหนาสาหัสทีเดียวค่ะ

แต่ถ้าถามตัวเองว่า ถ้ารู้อย่างนี้ตั้งแต่ก่อนอ่าน จะอ่านหนังสือเล่มนี้ไหม
ก็ต้องตอบตัวเองว่า “อ่าน” อยู่ดีค่ะ
เพราะมันเป็นหนังสือประวัติศาสตร์เลยทีเดียว
เป็นหนังสือของนักวิทยาศาสตร์ระดับโลกเล่มหนึ่งที่พอจะอ่านได้
(ให้ไปอ่านของนิวตัน หรือไอน์สไตน์ เราคงแย่กว่านี้ 555)
เราได้เห็นวิธีการเขียน ได้เห็นการเรียบเรียงข้อมูลเท่าที่มีในยุคนั้น
ได้เห็นวิธีคิดอันล้ำยุค (แต่จริงๆ ก็มีคนช่วยแกคลำทางมาหลายคนนะ
ความคิดและการทดลองของนักวิทยาศาสตร์ในยุคนั้นเป็นเหมือนจิ๊กซอว์ให้กันและกัน
ช่วยกันปะติดปะต่อเหตุและผลจนกลายมาเป็นทฤษฎีวิวัฒนาการที่เรายอมกันในยุคนี้
ถึงอย่างไร ก็อยากจะลองอ่านให้ได้สักครั้งในชีวิตค่ะ
แต่ถ้าจะให้ดี ขอย้อนเวลากลับไปอ่านสมัยที่ยังบ้าวิชาชีววิทยา
สมัย ม.ปลาย หรือมหาวิทยาลัยปีแรกๆ หน่อยก็คงจะดีกว่านี้ ..
ใครที่ยังอยู่ในวัยนี้ และสนใจแนวๆ นี้เหมือนกันเรา รักวิชานี้เหมือนกับเรา
อย่าปล่อยเวลาให้ผ่านเลยค่ะ หาโอกาสอ่านให้ได้สักครั้งในชีวิต
มันจะสนุกกว่ามาอ่านตอนแก่แน่ๆ รับรอง!! 🙂

Comments are closed.