อ่านแล้วเล่า

the lost forest

เรื่อง the lost forest
ประวัติศาสตร์ (การทำลาย) สิ่งแวดล้อมไทย และสงครามแย่งชิงทรัพยากร
ผู้เขียน วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์
สำนักพิมพ์ มติชน
เลขมาตรฐานหนังสือ 9789740218814

ผู้เขียนเปิดบทแรกด้วยภาพความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้ไทยในอดีต
ย้อนไปเท่าที่มีคนบันทึกไว้ คือสมัยอยุธยา
สยามเป็นประเทศที่เป็นป่ารกทึบ
มีผู้คนตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัยกันแค่บริเวณลุ่มแม่น้ำ
อดจินตนาการถึงละครย้อนยุคเรื่องต่างๆ
ที่ให้ภาพสยามเป็นเมืองโล่งเตียน
แต่ในความเป็นจริง เราเป็นเมืองกันแค่หย่อมเล็กๆ ที่ริมฝั่งน้ำ
พื้นที่นอกเหนือชุมชนเหล่านั้นแล้วคือป่า ที่เต็มไปด้วยสัตว์ป่ามากมาย

ประเทศไทยในยุคนั้น เต็มไปด้วยความหลากหลายทางธรรมชาติ
ทั้งพืชพรรณต่างๆ และสรรพสัตว์
มีนักธรรมชาติวิทยาและนักสำรวจดินแดนชาวต่างชาติ
เขียนบันทึกถึงความอุดมสมบูรณ์นี้เอาไว้หลายครั้ง

ย้อนภาพอดีตไปกับผู้เขียนแล้วก็หัวใจฟู
แม้จะรู้เลาๆ ว่าพอถึงบทต่อๆ ไป
ป่าไม้เหล่านั้นมันจะค่อยๆ ถูกทำลาย
จนร่อยหรอเหลืออยู่เพียงกระบิมือเท่าปัจจุบัน
หัวใจที่เคยพองฟูนั้นมันจะฟุบแฟบเพียงใด
แต่เราก็ผ่านบทแรกมาด้วยใจฟูๆ แบบนั้นแหละ

ประวัติศาสตร์การทำลายสิ่งแวดล้อมของไทย
เริ่มต้นตั้งแต่สนธิสัญญาเบาว์ริง ในปี พ.ศ.2398
อุตสาหกรรมการทำไม้สักของบ้านเรา เริ่มต้นขึ้นต่อจากนั้นในเวลาไม่นาน
การตัดไม้อย่างถูกกฎหมาย
ดำเนินไปอย่างไม่มีข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อมใดๆ กำกับ
นับตั้งแต่วันนั้น เพียงเวลาผ่านไปเพียงไม่กี่ปี พื้นที่ป่าของเราก็ลดลงฮวบๆ

แล้วเวลาก็ล่วงเลยมาเรื่อยๆ จากช่วงสงครามโลก มาสู่ยุคสงครามเย็น
ยุคที่คอมมิวนิสต์เฟื่องฟูในพื้นที่ประเทศเพื่อนบ้าน ที่ติดฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของเรา
รัฐบาลได้รับการสนับสนุนจากอเมริกา เพื่อป้องกันผู้คนของเราจากคอมมิวนิสต์
จึงมีนโยบายที่จะนำความเจริญเข้าสู่ชนบท โดยเฉพาะชนบททางภาคอีสาน
แบบที่เราเคยได้ยินกันว่า ยุทธวิธีเมืองล้อมป่า
การตัดถนนสายมิตรภาพเริ่มต้นขึ้นตอนนั้น
การตัดถนน นำมาซึ่งการตัดป่า
ทั้งการตัดป่าเพื่อกรุยทางทำถนน โดยรัฐบาล
และการตัดป่าโดยฝีมือของทหาร นายทุน และประชาชน ด้วยเหตุผลต่างๆ กัน

ถัดจากยุคสมัยของการสร้างถนน ต่อมาคือการสร้างเขื่อน
ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งความเจริญที่ต้องแลกมาด้วยพื้นที่ป่า
แต่นอกเหนือจากพื้นที่ป่า มันยังมีรายละเอียดของความอุดมสมบูรณ์ของป่า
และความหลากหลายทางชีวภาพ
สัตว์และพืชที่มีอยู่เพียงที่เดียวในโลกได้ถูกทำลายสูญหายไป
นอกเหนือจากมนุษย์ คำว่าสิ่งแวดล้อมยังมีสิ่งอื่นๆ อีกมากมายที่รวมอยู่ในนั้นด้วย
แต่คนเรามักจะให้ความสำคัญแต่เพียงตัวเราเอง

นอกจากเรื่องราวของสิ่งแวดล้อม
เรายังได้รับรู้ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของประเทศ
ที่พัฒนาตีคู่มากับการทำลายสิ่งแวดล้อมด้วย

เรายังจำได้ถึงภาพข่าวการคัดค้านการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น
เขื่อนน้ำโจน และเขื่อนปากมูล ฯลฯ
เป็นภาพฉายทับกันกับเมื่อครั้งที่คุณศศิน เฉลิมลาภ เดินคัดค้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์
เวลาดูข่าวสิ่งแวดล้อม เรามักจะเห็นเหตุการณ์ ณ ช่วงเวลาใดช่วงเวลาหนึ่ง
มันถูกตัดตอนเป็นห้วงๆ อย่างไม่รู้ต้นสายปลายเหตุ
จนเมื่อเราได้อ่านหนังสือเล่มนี้
จึงรู้สึกเหมือนได้ย้อนวัย กลับไปเห็นหัวข้อข่าวในอดีตที่เคยผ่านตา
แต่วันนี้เราได้อ่านมันด้วยชุดข้อมูลของนักวิชาการ ไม่ใช่นักข่าว
และปลอดจากการแทรกแซง บิดเบือน
เป็นข้อเท็จจริงที่ผ่านวันเวลา และตกผลึกแล้ว
เรื่องราวซับซ้อนไม่รู้จบเหล่านั้น ถูกรวบรวมมาเล่าเป็นภาพฉาก
ให้เราได้เห็นผลกระทบต่อผู้คน ต่อสิ่งแวดล้อม
ได้เห็นไทม์ไลน์ เห็นสิ่งที่เกิดขึ้น ความเป็นไป และบทสรุปของมัน

ตอนที่ผู้เขียนเล่าเรื่องการสร้างเขื่อนเชี่ยวหลาน
ตอนที่เขื่อนถูกสร้างเสร็จแล้ว
และน้ำกำลังไหลบ่าเข้ามาท่วมป่าที่กำลังจะกลายเป็นเขื่อน
ส่วนที่เป็นที่ต่ำ ค่อยๆ จมน้ำลงไปก่อน
ส่วนที่เป็นที่สูง กลายสภาพเป็นเหมือนเกาะเล็กเกาะน้อย
ให้สรรพสัตว์ต่างๆ หนีไปหลบน้ำ หากแต่ก็รอวันตาย
เราเคยเห็นภาพเรือของคุณสืบ นาคะเสถียร ที่ออกไปช่วยเหลือสัตว์ป่าเหล่านั้น
ภาพที่เคยเห็นเป็นภาพถ่ายสีซีด ที่ค่อยชัดเจนขึ้นตามตัวอักษรของคุณผู้เขียน
เราเห็นภาพเรือคุณสืบเป็นเหมือนเรือโนอาห์
ในวันที่น้ำกำลังจะท่วมโลก
จริงๆ น้ำก็กำลังจะท่วมโลกจริงๆ นั่นแหละ
แต่ไม่ใช่โลกของเรา แต่เป็นโลกของสัตว์ป่าทั้งหลาย
ที่มีป่าผืนนั้นเป็นบ้าน

และไม่น่าเชื่อว่า .. ทั้งๆ ที่นี่ไม่ใช่หนังสือนิยาย
แต่เรากลับร้องไห้ให้กับหลายบทตอนที่เกิดขึ้นในเล่ม
ร้องไห้เเพราะมันเป็นเรื่องจริง
มีสัตว์ตายจริงๆ มีคนที่สู้อย่างสุดความสามารถเพื่อมันจริงๆ
มีกลุ่มคนที่รวมพลังกันสู้เพื่อปกป้องรักษาบ้านเรือนและที่ดินทำกิน
และคนตัวเล็กๆ เหล่านี้ ก็สามารถเอาชนะนายทุนได้
เรื่องราวที่เหมือนเทพนิยาย เกิดขึ้นจริงในประเทศของเรา
แต่ก็มีอีกมาก ที่เรื่องราวไม่ได้จบลงเช่นนั้น
ชาวบ้านจำนวนไม่น้อยที่พ่ายแพ้ สูญเสียบ้าน สูญเสียที่ดินทำกิน
บางคนต้องโทษ มีความผิดติดตัว ต้องติดคุก
ทั้งๆ ที่เขาเพียงแค่เรียกร้องความถูกต้องให้กับตัวเองและครอบครัว

the lost forest เป็นบทความที่มีพลัง
เป็นหนังสือสิ่งแวดล้อมที่ควรอ่านมากกว่าเล่มไหนในโลก
เพราะเหตุการณ์มันเกิดขึ้นต่อหน้าเรา เกิดขึ้นในชั่วชีวิตเรา
ในหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ที่เราเคยอ่านมาตั้งแต่เด็ก
มันเป็นเรื่องราวถูกพูดถึงรอบตัว เราได้ยินมาตลอด
และที่สำคัญ มันมีผลกระทบต่อเราโดยตรง

แม้ว่าหนังสือเล่มนี้จะมอบความขื่นขมให้เราไม่แพ้ เล่มก่อนหน้า
แต่ด้วยวิธีเล่าที่กระชับ ตรงประเด็น
ผู้เขียนนำเสนอข้อมูลที่ชัดเจน เรียบเรียงไปตามลำดับเวลา อ่านเข้าใจง่าย
ก็ทำให้เราอ่านหนังสือเล่มนี้ได้อย่างรวดเร็ว
เป็นหนังสือที่อ่านง่าย .. ในแง่ของวิธีเล่า
แต่ไม่ง่ายเลย .. ที่จะทำใจกับการสูญเสียในแต่ละครั้ง

ตอนที่เราได้อ่านหนังสือเล่มนี้จบ เรารู้สึกขอบคุณผู้เขียนมากๆ
ที่ได้รวบรวมเรื่องราวทั้งหมดนี้เอาไว้ในเล่ม
มันจะเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ เป็นมรดก เป็นบทเรียน
เป็นหนังสือที่มีคุณค่าเล่มหนึ่งของประเทศชาติ
หนังสือได้บอกข้อมูลสำคัญหลายอย่างที่เราไม่เคยรู้มาก่อน
เมื่อได้รู้แล้วก็รู้สึกทึ่ง ประทับใจ ภาคภูมิใจ หวงแหน
รวมไปถึงความรู้สึกโกรธและโมโห ไปกับบริบทต่างๆ

ในราวร้อยกว่าปีก่อน (พ.ศ.2453) มีผู้สำรวจเอาไว้ว่า
ประเทศไทยเรามีพื้นที่ป่าไม้อยู่ถึง 70% ของประเทศ
ผ่านมาอีกราวร้อยกว่าปี (ในปี พ.ศ.2565)
ประเทศของเราเหลือป่าไม้อยู่เพียง 31%
แต่นี่ไม่ใช่ปัญหาใหญ่ ตอนนี้ เรามีปัญหาที่ใหญ่มากกว่านั้น
เป็นปัญหาที่อาจจะแก้ไขไม่ทันแล้วด้วยซ้ำ
ซ้ำยังเป็นปัญหาที่มีคนให้ความสนใจอย่างจริงจังอยู่เพียงหยิบมือเดียว
และหากใครคนนั้นหยิบมันมาพูดซ้ำๆ บ่อยๆ เขาก็จะกลายเป็นคนที่น่ารำคาญ

อย่างที่หนังสือหลายต่อหลายเล่มที่อ่านในช่วงนี้บอกเรา
เรากำลังเดินทางไปสู่การสูญพันธุ์อีกครั้งของโลก
เป็นการสูญพันธุ์ที่เกิดขึ้นจากน้ำมือของเราทุกคน
พวกเราเกาะเกี่ยว ร่วมกันลงมือ และควรต้องร่วมกันรับผิดชอบ
เราได้รับผลกระทบจาก pm 2.5 เพราะชาวไร่ทางภาคเหนือ
รวมเลยไปถึงประเทศเพื่อนบ้านข้างบน ร่วมแรงร่วมใจกันปลูกข้าวโพด
เพื่อเป็นอาหารสัตว์ให้กับหมู ไก่ และเนื้อที่เรากิน
บุฟเฟต์ปิ้งย่างชาบูอันแสนสุข ที่เยียวยาจิตใจยามท้อแท้เหนื่อยล้า
ก็เป็นหนึ่งสาเหตุของอากาศเคลือนฝุ่นที่เราหายใจเข้าไป
ข้าวของเครื่องใช้ที่เกิดจากการผลิตในโรงงานขนาดใหญ่
รถที่เรานั่งไปทำงาน ไฟฟ้าที่อำนวยความสะดวกให้กับทุกวันของเรา
การขนส่งสินค้า การสั่งของ สั่งอาหาร ช้อปปิ้งออนไลน์
ขยะที่เกิดจากกระบวนการต่างๆ เหล่านั้น
ทั้งหมดนั้น เราจับมือร่วมกันสร้างขึ้นมา .. แบบที่ไม่ต้องชี้นิ้วหาตัวคนผิด
ซ้ำเราก็ยังไม่ตระหนักอย่างจริงจัง .. ยังไม่มากพอให้เราลุกขึ้นมาทำอะไร

เราอ่านหนังสือเล่มนี้จบลง แต่เรื่องราวหลายๆ อย่างยังคงวนเวียนอยู่ไม่รู้จบ
เราอยากให้ทุกคนได้อ่านหนังสือเล่มนี้
ได้รับรู้เรื่องราวหลายๆ อย่างที่ผู้เขียนเล่า
หลังอ่านจบ การรับรู้ข้อมูลต่างๆ ของเราอาจเปลี่ยนไปบ้างไม่มากก็น้อย
ทัศนคติที่เรามีต่อเรื่องราวต่างๆ อาจจะเปลี่ยนไปบ้างไม่มากก็น้อย
อาจจะนำพาไปสู่การเปลี่ยนพฤติกรรม ทีละเล็ก ทีละน้อย
และบางที ปัญหาที่ดูว่าจะไม่มีทางแก้ อาจจะเริ่มมีหนทางขึ้นมาบ้าง ..
หวังว่านะ ..

Comments are closed.