เรื่อง ผ่านพบไม่ผูกพันผู้แต่ง เสกสรรค์ ประเสริฐกุลสำนักพิมพ์ สามัญชนเลขมาตรฐานหนังสือ 9789749748947 ผ่านพบไม่ผูกพัน เป็นหนังสือที่ว่าด้วยการเดินทาง .. เล่าถึงสิ่งที่ผ่านพบ ทั้งสถานที่ ภูมิประเทศ และผู้คนการเดินทางที่ว่านี้ เป็นการเดินทางทั้งภายนอกและภายในเดินทางเพื่อพบ เรียนรู้ และครุ่นคิดถึงสิ่งต่างๆ ที่ได้ผ่านและได้พบในเล่ม เล่าเรื่องด้วยตัวหนังสือน้อยตัวมีภาพประกอบเป็นส่วนสำคัญในการช่วยเล่าเรื่องและภาพมีส่วนมากทีเดียวกับเล่มนี้ .. เสียดายที่มันเป็นขาวดำอยากให้เล่มนี้ตีพิมพ์ดีๆ เป็นภาพสีสวยงามให้ขนาดเล่มใหญ่กว่าปกติหน่อยซึ่งน่าจะเข้ากันดีกับเนื้อหา และเข้าถึงผู้คนได้มากกว่านี้ ผ่านพบไม่ผูกพัน เป็นหนังสือที่เหมาะแก่การพกไปอ่านระหว่างเดินทางที่สุดและแม้แต่อ่านอยู่กับบ้านเฉยๆ อ่านแล้วก็กลับอยากออกเดินทางด้วยอยากมีบางชั่วขณะ ที่ตนเองเปิดหนังสือเล่มเดียวกันนี้อ่าน .. ที่อื่น .. ที่ไม่ใช่บ้าน กับเล่มนี้ เรามีความรู้สึกที่ต่างไปจากเล่มอื่นนิดหน่อยคือชอบบางบทมาก แบบมากๆ แต่กับบางบทก็เฉยๆ ไปเลย เข้าไม่ถึงคงขึ้นกับประสบการณ์ในแต่ละส่วนของชีวิตด้วยเป็นหนังสือที่คิดอยากจะอ่านซ้ำ .. ในวาระโอกาสอื่นข้างหน้าและถ้ารู้สึกเปลี่ยนไป จะหยิบมันมาเล่าอีกรอบน่าจะดี  

เรื่อง โลกเปลี่ยนต้องเปลี่ยนโลกผู้แต่ง เสกสรรค์ ประเสริฐกุลสำนักพิมพ์ สามัญชนเลขมาตรฐานหนังสือ 9749748212 โลกเปลี่ยนต้องเปลี่ยนโลก เป็นการรวบรวมเอาบทความ –ที่ผู้เขียนเคยเขียนคอลัมน์ต่างๆ ลงในนิตยสารสู่อนาคต, หนังสือพิมพ์ผู้จัดการปริทรรศน์, และผู้จัดการรายวันซึ่งเป็นการเล่าในรูปแบบคอลัมน์ คือเล่าเรื่องตามสมัย ทันกระแสเหตุการณ์ต่างๆ ในช่วงนั้น ภาษาสำนวนกระชับ ได้ใจความแต่ขาดความสละสลวยอย่างตอนที่เราอ่านนวนิยายหรือเรื่องสั้นเรื่องอื่นๆ ของผู้เขียนได้แง่คมแง่คิด แต่ไม่อิ่มใจเท่าเล่มแรกๆ ที่อ่าน(เดินป่าเสาะหาชีวิตจริง, ฤดูกาล, คนหาปลา, ห้วงยามแห่งความพ่ายแพ้)  แต่ละบทความที่คัดสรรมาเหล่านี้ ว่าด้วยเรื่องของโลกในแง่มุมของสังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมซึ่งอ่านแล้วเข้าใจ รับรู้ได้เป็นรูปธรรมเล่าถึงประสบการณ์ตกปลาในแต่ละครั้งของผู้เขียนเราได้พบกับวรรณสิงห์ และแทนไทในวัย 4 ขวบ และ 9 ขวบด้วยและแบบที่ก่นด่า สบถสาบาน ก็มีให้อ่านอย่างไม่น่าเชื่อเหมือนกัน นอกจากนี้ ยังมีการนำเสนอปรัชญาการใช้ชีวิตที่เข้าใจง่าย เป็นรูปธรรมตอนที่เราชอบที่สุดคือตอน แผ่นดินนี้ของใครมันอธิบายปัญหาที่ดินทำกิน ปัญหาสิ่งแวดล้อมและปัญหาการจัดการของนักการเมือง ฯลฯ ได้ตรงใจเราที่สุดพูดถึงทุกเรื่องในฐานะคอลัมนิสต์น่ะแหละ และอีกตอนที่ชอบมาก คือตอนสุดท้ายของเล่มนี้ที่มีชื่อว่ามาจาก 2516 คุณเสกสรรค์เล่าด้วยบทสนทนาระหว่างตนเองในปัจจุบัน และตนเองในอดีตในวันที่เราผ่านทั้งวัยหนุ่มสาวมาแล้ว และกำลังล่วงเข้าสู่วัยแก่ยอมรับเลยว่ามุมมองของคนเราเป็นเช่นนั้นให้เรามานั่งคุยกับตัวเองในอดีตก็คงกลายเป็นบทสนทนาอีกแบบ อีกเรื่องหนึ่งหากแต่ชวนทะเลาะเบาะแว้ง และคงมีข้อขัดแย้งที่คล้ายคลึงกัน เราลองใคร่ครวญเหตุผลที่เราชอบอ่าน –งานของคุณเสกสรรค์ไปเสียทุกเล่ม[…]

เรื่อง ห้วงยามแห่งความพ่ายแพ้ผู้แต่ง เสกสรรค์ ประเสริฐกุลสำนักพิมพ์ สามัญชนเลขมาตรฐานหนังสือ 9786167474069 ห้วงยามแห่งความพ่ายแพ้ เป็นเพียงชื่อหนึ่ง –ในหลากเรื่องสั้นของหนังสือรวมเรื่องสั้นเล่มนี่้และมันไม่ได้เป็นอารมณ์โดยรวมของเรื่องสั้นทั้งหมดในเล่มด้วยคำว่า “แพ้” ในเรื่องสั้นเรื่องแรกที่ว่านี้ มีความหมายถึง“การเดินทางออกจากป่ากลับเข้าสู่เมือง” ของผู้เขียนอย่างไม่ต้องสงสัยแต่เรื่องราวในตอนอื่นๆ กล่าวถึงการเดินทางในวาระต่างๆ หลังจากนั้นซึ่งไม่ได้บรรยายแต่เพียงลักษณะการเดินทางหากแต่ถ่ายทอดความคิดนึกของผู้เขียน ที่เกิดขึ้นในแต่ละทริปแต่ละจังหวะเวลาและโอกาสต่อสิ่งที่ได้พบเห็นด้วย ตัวหนังสือของคุณเสกสรรค์ ยังคงเป็นตัวหนังสือที่มีแรงดึงดูดรุนแรงทำให้เราวางไม่ลง ไม่ต่างจากสามเล่มแรกที่เพิ่งอ่านจบไปแต่โดยส่วนตัว เราคิดว่าหนังสือเล่มนี้เชื่อมโยงถึงเราได้น้อยกว่าเล่มอื่นซึ่งมันก็คงขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของผู้อ่านแต่ละคนน่ะนะ ตอนสุดท้ายของเล่มนี้ ผู้เขียนเล่าถึงครั้งเดินทางกลับไปเยือนภูหินร่องกล้าหลังจากที่จากมาราว 20 ปีความทรงจำครั้งนี้เชื่อมต่อกับสิ่งที่คุณจิระนันท์เล่าไว้ใน อีกหนึ่งฟางฝันฯ ทั้งสองเล่มจึงเป็นหนังสือที่ .. ถ้าได้ไปเยือนภูหินร่องกล้าอีกครั้งเราก็อยากหยิบมันไปอ่านที่นั่นด้วย  

เรื่อง คนหาปลาผู้แต่ง เสกสรรค์ ประเสริฐกุลสำนักพิมพ์ สามัญชนเลขมาตรฐานหนังสือ 9786167474373 สามเล่มแรกของคุณเสกสรรค์สำหรับเราเป็นรูปแบบงานเขียนที่ไม่ซ้ำกันเลยเริ่มจากบันทึกประสบการณ์ เรื่องสั้น และมาเป็นนวนิยายเล่มนี้ คนหาปลา เป็นนวนิยายเล่มแรกของผู้เขียนที่ถือกำเนิดขึ้นในวันที่ผู้เขียนมีวัยใกล้จะ 70ซึ่งในฐานะของแฟนน้ำหมึกมือใหม่เราไม่รู้เลยว่าระหว่างเรื่องสั้นเรื่องแรกมาถึงนวนิยายเรื่องแรกงานเขียนของคุณเสกสรรค์เปลี่ยนแปลงไปเช่นไรบ้างแต่กับเล่มนี้ บอกได้เลยว่า ..ภาษาสละสลวยขึ้นมาก(เทียบกับเรื่องสั้น ฤดูกาล ที่เราเพิ่งอ่านจบไป)(อาจเป็นเพราะรูปแบบที่แตกต่าง)จากที่เคยสั้นกระชับ กลายเป็นการเปิดฉากนวนิยาย –ด้วยภาพตะวันตกดินที่สวยงามมากด้วยภาษาศิลป์ที่ทำให้เราเห็นเป็นภาพได้เลย ตัวอักษรของผู้เขียนทำให้เราเห็นภาพสวยงามของธรรมชาติทำให้เราลุ้นระทึกไปตามจังหวะลีลาการจับปลาของเฉียบอินไปกับบทสนทนา ความคิด ความรู้สึกของทุกตัวละคร นอกจากความสวยงามทางภาษาผู้เขียนยังสอดแทรกปัญหาหลักของประเทศอันพบเห็นอยู่ได้จนชินชาในทุกชุมชนการติดสินบนเจ้าหน้าที่เพื่อผลประโยชน์เล็กๆ น้อยๆเลห์กลของพ่อค้านายทุน ..ถึงกระนั้นก็ยังมีน้ำจิตน้ำใจของผู้คนปะปนสะสมไปกับความรัก ความเกลียด การกระทบกระทั่ง ฯลฯ ของคนในชุมชน เรื่องยังเริ่มต้นด้วยความรู้สึกอุ่นๆ สงบ สวยงาม แห่งชีวิตเรียบง่ายแต่แล้ว .. ความขัดแย้งก็เกิดขึ้น .. ความขัดแย้ง การฆ่ากันตาย ปรากฏอยู่ในชีวิตชนบทอย่างเป็นปกติศาลเตี้ยคือสิ่งที่ใกล้ชิดผู้คนได้มากกว่าศาลสูงผิดถูก ชอบพอ เกลียดชัง วัดกันได้ด้วยใจซื่อตรงกว่าความซับซ้อนของคนในเมืองหลวง ความขัดสนทำให้เกิดความขัดแย้งมันทำให้คนเกลียดกัน ทั้งที่ไม่ควรจะเกลียดกันเรื่องปากท้องเป็นเรื่องใหญ่ของชีวิตใหญ่พอที่คนเราจะแลกมันด้วยชีวิตหากมิตรภาพ ก็มีค่าไม่แพ้กัน .. เพียงแต่ถ้าสถานการณ์จะไม่บังคับให้ต้องเลือก .. ฉากจบตราตรึงมากนึกไม่ถูกว่าจะจบแบบนี้ ทั้งๆ ที่มีวี่แววมาก่อนมันอยู่นอกกรอบความคิดสามัญถึงอย่างไร มนุษย์ก็เป็นเพียงสิ่งมีชีวิตเล็กๆ อีกชนิดหนึ่งเท่านั้น!!  […]

เรื่อง ฤดูกาลผู้แต่ง เสกสรรค์ ประเสริฐกุลสำนักพิมพ์ สามัญชนเลขมาตรฐานหนังสือ 9789749748992 ฤดูกาล เป็นหนังสือที่ถือกำเนิดขึ้น “ในป่า”ก่อนวันที่คุณเสกสรรค์จะตัดสินใจทิ้งป่ามามอบตัววัตถุประสงค์ที่เขียนขึ้น ก็เพิ่มหวังจะให้มันเป็น “พินัยกรรม”นี่คือทั้งหมดที่เรารับรู้ก่อนที่จะได้เปิดอ่านเล่มนี้ ..และคำถามเกิดขึ้นมากมายหลังจากที่ได้รับรู้มัน แต่แล้วเมื่ออ่านจนจบ ฤดูกาล ไม่ได้เป็นพินัยกรรมอย่างที่เราคิดเอาไว้มันเป็นบันทึกชีวิตและความรู้สึกของผู้คนที่ไม่มีอันจะกิน .. ในแง่มุมต่างๆ ในรูปแบบของเรื่องสั้น เรื่องสั้นเรื่องแรก อบอุ่น อ่อนหวาน เสียจนผิดคาดมันเริ่มขึ้นอย่างแร้นแค้น ขาดแคลนแต่แล้วกลับทำให้รู้สึกอุ่นๆ ในตอนจบนี่เป็นเรื่องสั้นของคุณเสกสรรค์เรื่องแรกที่เราอ่านมันพลิกความคาดหมายไปมากๆ และเราชอบนะแม้เรื่องต่อๆ มาจะไม่ได้จบลงอย่างอบอุ่นเหมือนเรื่องแรกๆเรารู้สึกคล้ายๆ กับว่าเรื่องสั้นทั้งหลายก็ค่อยๆ ไล่ลำดับความขมขื่นค่อยๆ เพิ่มความสะท้านสะเทือนใจในความอัตคัดและการเป็นผู้ถูกกระทำของตัวละครเพียงแต่สำนวนสำเนียงที่เล่า ไม่ได้แข็งกร้าว ดุดัน ความยากจน ความไม่เท่าเทียมยังคงปรากฏเป็นสัญลักษณ์อยู่คู่ชาวนาไทยเสมอรวมไปถึงพลเมืองชั้นสองของประเทศตัวเองทุกผู้ทุกนามผู้ค้นยังคงหนีไม่พ้นปัญหาปากท้อง การถูกเอารัดเอาเปรียบแต่เรื่องสั้นของคุณเสกสรรค์มีมากกว่านั้นมันมีความอ่อนโยน เห็นอกเห็นใจความเอื้ออารีต่อกันและกัน .. ในวันที่สุดลำเค็ญ .. ภาพนักปฏิวัติที่เราเคยเห็นไม่ได้มีตัวตนแม้เพียงกระผีกในงานเขียนของเขาภาพเหล่านั้น คงเป็นจินตนาการที่เราสร้างขึ้นเอง .. อย่างอยุติธรรมงานเขียนของเขา เปลี่ยนทัศนคติที่เรามองเขาไปเลยพร้อมทั้งนึกขอโทษอย่างสุดหัวใจที่เราไปตัดสินคนจากเพียงภาพถ่าย และข้อมูลตื้นๆ จบจากเล่มนี้ เรายังคงกระหายงานเล่มอื่นๆ ของเขาต่อไปอีกแม้เรื่องสั้นจะไม่ใช่ประเภทของวรรณกรรมที่ชอบแต่เรื่องสั้นของคุณเสกสรรค์ เป็นข้อยกเว้นจริงๆ ค่ะ  

เรื่อง เดินป่าเสาะหาชีวิตจริงผู้แต่ง เสกสรรค์ ประเสริฐกุลสำนักพิมพ์ สามัญชนเลขมาตรฐานหนังสือ 9789749748923 เดินป่าเสาะหาชีวิตจริง เป็นหนังสือเล่มแรกของคุณเสกสรรค์ที่เราเลือกมาอ่านซึ่งผิดคาดมากมาย เพราะเรานึกว่าจะอ่านยากกว่านี้ จะปรัชญากว่านี้ซึ่งอันที่จริง เดินป่าเสาะหาชีวิตจริง เป็นหนังสือบันทึกประสบการณ์เป็นบันทึกเหตุการณ์ในช่วงที่คุณเสกสรรค์และคุณจิระนันท์ “เข้าป่า” หลังจากเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ผ่านไปได้ราว 2 ปีเล่าเรื่องด้วยภาษาสั้น กระชับ ได้ใจความแต่ก็ได้อรรถรส ไม่ได้แห้งแล้ง จืดชืด อย่างบทความวิชาการเป็นความลงตัว พอดิบพอดี อ่านง่าย แต่ลึกซึ้ง เดินป่าเสาะหาชีวิตจริง เป็นหนังสือที่มีเนื้อเรื่องเชื่อมโยง สอดคล้องไปกับ –อีกหนึ่งฟางฝัน บันทึกแรมทางของชีวิต ของคุณจิระนันท์ ที่เราเพิ่งอ่านจบไปผู้เขียนเล่าถึงคู่ชีวิต คู่ทุกข์สุข ซึ่งก็คือคุณจิระนันท์เล่าถึงนายผี อัศนี พลจันทร ซึ่งเคยมีชีวิตในป่าร่วมกันในช่วงระยะเวลาหนึ่งเล่าถึงสภาพจิตใจตนเองในแต่ละสถานการณ์ ..อย่างนุ่มนวล สุขุม สุภาพ ไม่ได้เกรี้ยวกราดก่นด่าและทั้งหมดลึกซึ้ง ดีงาม ทั้ง เดินป่าเสาะหาชีวิตจริง และอีกหนึ่งฟางฝันฯเล่าเหตุการณ์เดียวกัน เชื่อมโยงกันอยู่เป็นการเล่าเรื่องเดียวกันจากสองมุมมอง ..เราสามารถเก็บตกเหตุการณ์หนึ่ง จากอีกเหตุการณ์หนึ่งได้เป็นการอ่านหนังสือสองเล่มที่ให้ความรู้สึกเต็มอิ่ม และเต็มตื้นสำหรับเล่มนี้ แต่ละเรื่อง แต่ละบทตอนมีพลังดึงดูดให้อ่านมันอย่างหิวโหย[…]

เรื่อง ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัยผู้แต่ง คริส เบเคอร์ และ ผาสุก พงษ์ไพจิตรสำนักพิมพ์ มติชนเลขมาตรฐานหนังสือ 9789740212652 ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย ไม่ได้เป็นเพียงหนังสือประวัติศาสตร์ไทยแต่มันคือหนังสือประวัติศาสตร์เศรษฐศาสตร์ การเมือง และการปกครองของไทยซึ่งถูกเขียนขึ้นจากผู้เขียนคู่สามีภรรยานักวิชาการสองคนโดยสามี คริส เบเคอร์ เป็นชาวอังกฤษ และภรรยา ผาสุก พงษ์ไพจิตร ชาวไทยการเขียนหนักสือเล่มนี้ครั้งแรกถูกเขียนขึ้นเป็นภาษาอังกฤษเพื่อใช้เป็นตำราเรียนให้กับมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์และได้รับการแปลเป็นภาษาไทยในเวลาต่อมา ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย เริ่มต้นด้วยการเล่าเรื่องของคำว่าชาติไทย – ในนิยามต่างๆ มาตั้งแต่ครั้งอดีต ก่อนที่ไทยจะรวมเป็นประเทศเมื่อเทียบกับประวัติศาสตร์ชาติไทย คือเริ่มต้นเล่าอย่างจริงจังในสมัยอยุธยาถึงอย่างนั้นก็ยังเป็นการเล่าอย่างสรุปรวม ไปอย่างเร็วๆและเล่าทั้งเรื่องประวัติศาสตร์ ภูมิประเทศ และรูปแบบการปกครอง หลายข้อมูลจากในเล่มนี้เป็นข้อมูลที่เราไม่เคยอ่านเจอมาก่อนทั้งๆ ที่ช่วงนี้ก็อ่านหนังสือประวัติศาสตร์ติดต่อกันมาหลายเล่มอาจเป็นข้อมูลจากหนังสือเล่มที่เรายังไม่เคยอ่านหรืออาจเป็นข้อมูลจากบันทึกชาวต่างชาติ เป็นมุมมองจากชนชาติอื่นที่ได้บันทึกไว้หลายตอน เป็นการสรุปผลผ่านวิจารณญาณของผู้เขียน ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย เล่าประวัติศาสตร์ไทยและภูมิภาคใกล้เคียงตั้งแต่ครั้งเริ่มตั้งชุมชนริมแม่น้ำ ก่อนสมัยสุโขทัย .. อย่างคร่าวๆในช่วงนี้ผู้เขียนไม่ได้เล่าเรียงไทม์ไลน์ เล่าย้อนไปย้อนมาน่าเข้าใจผิดมีการตีความในแบบที่เราไม่คุ้นเคย แปลกๆ ดี การเล่าถึงประวัติศาสตร์ไทยในช่วงต้น ผู้เขียนเล่าไปอย่างเร็วๆอาจเป็นเพราะการเปลี่ยนแปลงในยุคก่อนเกิดขึ้นช้าต่อเมื่อคืบหน้ามาในยุคที่่ใกล้เคียงกับปัจจุบัน รายละเอียดก็เพิ่มมากขึ้นประวัติศาสตร์ไทยในช่วง 200 ปีล่าสุดนี้ถูกเล่าถึงอย่างเข้มข้น สำหรับเรา เรามองว่า ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย เป็นหนังสือประวัติศาสร์ที่สรุปมาแล้วผ่านการวิเคราะห์ตีความจากผู้เขียนมาแล้วไม่ได้เป็นข้อมูลดิบ หรือเป็นบันทึกโดยตรงจากผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์หนังสือที่ใช้อ้างอิง ก็ไม่ใช่หลักฐานบันทึกดั้งเดิมเป็นเพียงหนังสือที่ถูกผู้เขียนยุคหลังๆ วิเคราะห์และเขียนขึ้นเช่นกัน[…]