อ่านแล้วเล่า

ร้านหนังสือเลขที่ 84 ถนนแชริงครอสส์

เรื่อง ร้านหนังสือเลขที่ 84 ถนนแชริงครอสส์
ผู้แต่ง เฮเลน แฮฟฟ์
ผู้แปล รังสิมา ตันสกุล และ ปราบดา หยุ่น
สำนักพิมพ์ บุ๊คโมบี้
เลขมาตรฐานหนังสือ 9786168011041

มันต้องเริ่มจากการรับรู้ของเราก่อนว่า นี่ไม่ใช่เรื่องแต่ง
เราเข้าใจว่าทั้งหมดนี้คือจดหมายโต้ตอบที่เกิดขึ้นจริง
ระหว่างนักเขียนบทสาวชาวอเมริกัน เฮเลน แฮฟฟ์
กับเหล่าพนักงานขายจากร้านหนังสือมือสอง
ที่ลอนดอน ประเทศอังกฤษ

ร้านหนังสือเลขที่ 84 บนถนนแชริงครอสส์ แห่งนี้
มีชื่อว่า ร้านหนังสือมาร์คส์ แอนด์ โค.
เฮเลนส่งจดหมายมาตามที่อยู่ร้านในครั้งแรก
เพราะเห็นโฆษณาร้าน ที่ถูกพิมพ์ไว้ในหนังสือเล่มหนึ่ง
ผู้ตอบจดหมายหลักจากฝั่งร้านหนังสือที่ลอนดอน
คือชายวัย 39 นามว่า แฟรงค์ โดล
เขาเป็นคนจริงจัง ตั้งใจ และแต่งงานแล้ว

และเพราะหนังสือเล่มนี้ร้อยเรียงขึ้นมากจากจดหมายฉบับจริง
มันไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อเล่าเรื่อง
ภาพลักษณ์ของตัวละครจึงเป็นเพียงภาพร่างจางๆ
เราไม่รู้จักเฮเลนดีนัก .. ขณะเดียวกัน กับแฟรงค์ผู้เย็นชา
เรายิ่งนึกภาพตัวตนของเขาแทบไม่ค่อยออก
จดหมายที่ถูกคัดมาเรียงต่อกันในเล่มนี้
น่าจะไม่ใช่ทุกฉบับที่พวกเขาเขียนตอบกัน
มันมีบางเนื้อหาที่ขาดหายไป
และบางเนื้อเรื่องที่ไม่รู้ว่าเขาคุยเรื่องอะไรกัน
อารมณ์ประมาณแอบอ่านจดหมายชาวบ้าน แบบไม่ต่อเนื่อง

นั่นคือสิ่งที่เราไม่รู้มาก่อน
และมีเรื่องให้แปลกใจอีกเรื่อยๆ ระหว่างอ่าน

จดหมายโต้ตอบเหล่านี้เริ่มต้นขึ้นในปี ค.ศ.1949
และสิ้นสุดลงในปี ค.ศ.1969
เป็นเวลาถึง 20 ปี
ที่มิตรภาพห่างๆ ระหว่างจดหมายสองฝ่ายได้ดำเนินมา

ในช่วงเวลาที่จดหมายฉบับแรกได้เริ่มต้นขึ้น ..
แม้ว่าสงครามโลกครั้งที่สอง จะจบลงไปตั้ง 5 ปีแล้ว
แต่อังกฤษก็ย่ำแย่ต่อเนื่องจนถึงขนาดต้องจำกัดการซื้ออาหาร
วัตถุดิบขาดแคลน ผู้คนอดอยาก ..
นี่เป็นเรื่องที่เราไม่เคยรู้มาก่อน
และประหลาดใจมากตอนที่อ่านเจอในหนังสือเล่มนี้

แต่นั่นแหละ ถึงแม้จะอยู่ในความขาดแคลนอาหาร
แต่ผู้คนก็ไม่ขาดแคลนหนังสือ
หนังสือสวยๆ จากอังกฤษราคาถูกมากกกก
หรือบางที .. อาจเป็นเพราะความขาดแคลนอาหาร
ทำให้คนตัดสินใจขายหนังสือสะสมเหล่านั้น
ด้วยราคาที่เทียบไม่ได้เลยกับคุณค่าของมัน

แฟรงค์จึงได้หนังสือสวยๆ ราคาดีงาม
ให้กับนักเขียนบทสาวผู้ปากคอเราะรายเสมอๆ
ตอนที่เราอ่านไป ก็อดอิจฉาเฮเลนไปด้วยตลอดๆ
อยากจะวาร์ปไปที่ร้านมาร์คส์ แอนด์ โค. ในช่วงเวลานั้นดูบ้าง
คงมีหนังสือสวยๆ ละลานตาอยู่เต็มร้าน
เป็นจินตนาการที่หนังสือมีให้เราได้ไม่มากพอเอาเสียเลย

นั่นแหละ แล้วจดหมายโต้ตอบระหว่างกัน
ก็ดำเนินไปเรื่อยๆ จนถึงตอนท้ายของเล่ม
สิ่งเดียวที่ช็อตฟีล และน่าจะเป็นตัวกระตุ้นกราฟของเรื่อง
ก็คือตอนจบของมัน
เราว่านี่มีส่วนที่ทำให้หนังสือเล่มนี้เป็นที่กล่าวถึงอย่างมากมาย

สำหรับเราแล้ว เรารู้สึกเฉยๆ แฮะ
เราไม่ได้ประทับใจมันมากเท่าที่คิด
บางทีอาจจะเป็นความคาดหวัง
และความไม่แตกฉานในวัฒนธรรมของอเมริกาและอังกฤษ ของเราเอง
นอกจากนี้ เรายังรู้จักหนังสือเล่มต่างๆ ที่พวกเขาพูดถึงน้อยมาก
เราแทบไม่มีส่วนร่วม อารมณ์ร่วม
หรือเชื่อมโยงกับอะไรในหนังสือเล่มนี้เลย
นั่นคงเป็นเหตุผลที่เราชอบมันน้อยกว่าที่คิด

Comments are closed.