104-4 1Q84

เรื่อง 1Q84
ผู้แต่ง ฮารูกิ มูราคามิ
ผู้แปล มุฑิตา พานิช, มัทนา จาตุรแสงไพโรจน์, ปิยะณัฐ จิรกูรวิวัฒน์
สำนักพิมพ์ กำมะหยี่
ราคา 425+425+425 บาท (3 เล่มจบ)

อ่าน 1984 มาเป็นแรมอาทิตย์
และตั้งใจเอาไว้ว่า จบเมื่อไร จะอ่าน 1Q84 ต่อทันที
แต่แล้วก็เกิดบางอย่างที่่ทำให้เปลี่ยนใจ ..
.. แล้วก็เปลี่ยนใจ .. อีกครั้ง
หนังสือไม่ได้ผิดอะไร และความตั้งใจของเราก็ไม่ควรมีอะไรมาลบล้าง
ถ้ามันยังเป็นความตั้งใจของเราอยู่

keep calm and read on ค่ะ!!

104-3 1Q84

หมายเหตุ : สปอยล์เนื้อหาอย่างเบาบาง
แต่ไม่เปิดเผยเหตุการณ์สำคัญ และไม่เปิดเผยตอนจบค่ะ

1Q84 เป็นเล่มที่สองที่เราอ่านเจอ
ว่าผู้เขียนใช้วิธีการเล่าถึงตัวละครสองตัวสลับกันไปบทต่อบท
โดยที่ตัวละครทั้งสองนี้ ไม่มีจุดร่วม หรือฉากใดๆ เกี่ยวข้องกันเลย
ทีแรกเราลังเลว่าจะอ่านบทเว้นบทดีหรือเปล่า
เพราะเคยอ่านอีกบางเรื่องของผู้เขียน แล้วหงุดหงิดกับวิธีเล่าแบบนี้
แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจอ่านเรียงไปตามลำดับ
และพบว่า มันก็ไม่ขาดตอนอะไร แต่ละบทยาวพอจะให้เราอิ่มใจ
มีความรู้สึกคล้ายการสับฉากของภาพยนตร์หรือละคร

ตัวละครสองตัวที่ว่านี้คือ อาโอมาเมะ ครูสอนศิลปะป้องกันตัวสำหรับผู้หญิง
ที่มีฉากหลังเป็นนักฆ่า!
ถ้าโรบินฮู้ดคือโจรที่ปล้นเงินคนรวยไปให้คนจน
อาโมมาเมะคือโรบินฮู้ดในอีกความหมายหนึ่ง
เธอเป็นนักฆ่าผู้ผดุงความยุติธรรม
ฆ่าเพศชายที่น่ารังเกียจ หยาบคาย ทำร้ายผู้หญิง
เพื่อตอบแทนแก่พวกเธอที่ได้บาดเจ็บ และสูญเสียอะไรบางอย่างไป
เธอกำลังทำสิ่งที่ถูกต้อง
ภายใต้การดูแลลับๆ ของ ‘คุณผู้หญิง’ แห่งตระกูลไซบัทสึอันโด่งดัง
คุณผู้หญิง แห่งคฤหาสน์ยานางิ

มูราคามิสามารถทำให้นักฆ่าอย่างอาโอมาเมะกลายเป็นคนธรรมดา
เธอมีเหตุผลรองรับที่น่าเชื่อถือ น่าคล้อยตามในการฆ่าคน
เป็นชีวิตปกติชอบธรรมที่เธอสามารถเลือกที่จะเป็นได้

104-6 1Q84

ตัวละครตัวที่สอง คือเท็งโกะ
ชายหนุ่มร่างใหญ่กำยำผู้เป็นครูสอนคณิตศาสตร์ในโรงเรียนกวดวิชา
และกำลังฝึกเขียนนิยายอยู่กับสำนักพิมพ์แห่งหนึ่ง
อดีตเด็กอัจฉริยะ ที่มีชีวิตปัจจุบันสามัญยิ่ง

104-8 1Q84

จุดร่วมค่อยๆ เปิดเผยออกมาว่า
มีเหตุการณ์ประหลาดอย่างหนึ่ง เกิดขึ้นกับตัวละครทั้งสองนี้
คือความทรงจำของตัวละครทั้งสองที่มีต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต
มีส่วนบิดเบี้ยวและผิดไปจากความจริง

104-5 1Q84

แม้นวนิยายจะชื่อ 1Q84 ล้อเลียนกันกับ 1984
แม้จะมีตัวละครลิตเทิลพีเพิล ล้อกันกับบิ๊กบราเธอร์
แต่ก็ไม่รู้สึกเลยว่า 1Q84 ถูกเขียนขึ้นเพื่อแซว 1984
มีบางช่วงตอนที่ชวนให้คิดถึงกันบ้างนิดหน่อย
แต่โดยรายละเอียดและแก่นของเรื่องแล้ว แตกต่างกันหลายประเด็น
(แม้จะมีหลายส่วนที่คล้ายก็ก็ตาม)

ปี 1984 ในหนังสือเรื่อง 1984 ของจอร์จ ออร์เวลล์
หนึ่งในสามของโลกถูกปกครองด้วยบิ๊กบราเธอร์
ในขณะที่ปี 1984 ในหนังสือเล่มนี้ โลกกำลังถูกลิตเทิลพีเพิลค่อยๆ เข้าครอบงำ

การลอกเปลือกปมปริศนาของสิ่งที่เรียกว่า “ลิตเทิลพีเพิล” นั้น
ผู้เขียนทำได้เยี่ยมมาก
ยิ่งผนวกรวมกันกับวิธีเล่าแบบสับบทกับไปมา
ยิ่งทำให้อารมณ์ขณะอ่านไต่ระดับขึ้นไปเรื่อยๆ
มีทั้งความอยากรู้ การคาดเดา ความตื่นเต้น ระทึก

ประวัติศาสตร์ทั้งของโลกและของเราเอง คือส่วนหนึ่งของความทรงจำ
บิ๊กบราเธอร์เข้าครอบงำ ควบคุม เปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์
ให้แปรเปลี่ยนไปตามใจชอบ
ในขณะที่ลิตเทิลพีเพิลคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้ความทรงจำของเท็งโกะ
และอาโอมาเมะ ผิดเพี้ยน บิดเบี้ยวขาดห้วง และตกหล่น?

104-12 1Q84

ตัวละครหลายตัวมีเสน่ห์อย่างประหลาด
อย่างเช่นฟุคาเอริที่เริ่มต้นเสมือนเป็นเด็กวัยรุ่นธรรมดาที่มีตัวตนชัดเจน
เธอซ่อนคลุมความรู้สึกนึกคิดเอาไว้เป็นความลึกลับชวนสนเท่ห์
เด็กสาวที่ป่วยเป็นโรคดิสเล็กเซีย .. โรคบกพร่องในการอ่าน

ชาวโอชันเนียใน 1984 มีภาษาใหม่ที่เรียกว่านิวสปีด
มันสั้น กระชับ ตัดทอนสิ่งที่ไม่จำเป็นออกจนไม่เหลืออะไร
ฟุคาเอริที่เติบโตมาจากองค์การซาคิงาเขะ ก็มีปัญหาด้านการใช้ภาษาเช่นกัน
.. มีปัญหาด้านการสื่อสาร แต่กลับเป็นเจ้าของเรื่องดักแด้อากาศ
ที่ถูกส่งเข้าประกวดชิงรางวัลนักเขียนหน้าใหม่
ในสำนักพิมพ์ที่เท็งโกะทำงานอยู่
ชะตากรรมของคนทั้งคู่ถูกผูกเอาไว้ด้วยกันนับแต่นั้น

แล้วตัวละครทั้งหมดก็ค่อยๆ เชื่อมโยงเข้าหากัน
โดยมีองค์การซาคิงาเขะเป็นศูนย์กลางแห่งความสัมพันธ์นั้น ..
แบบที่เป็นตัวร้าย เป็นแง่ลบ เป็นความลับอันดำมืด

ซาคิงาเขะ เป็นองค์การที่เริ่มต้นจากการเป็นชุมชนเกษตรอินทรีย์ที่เน้นการพึ่งตนเอง
เติบโตขึ้นจนกลายเป็นลัทธิ เป็นศาสนาใหม่

104-7 1Q84

ในสภาวะที่กำลังเผชิญความยากลำบากถึงที่สุด
สิ่งที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของทั้งอาโอมาเมะและเท็งโกะ
ก็คือภาพความทรงจำของกันและกัน
เป็นภาพที่ย้อนเวลากลับไปยังวัยที่ทั้งคู่เพิ่งจะสิบขวบ
ภาพที่อาโอมาเมะบีบมือของเท็งโกะ
ในตอนนั้น เป็นช่วงที่เวลาหยุดนิ่ง
มันถูกประทับตราลงในส่วนลึกที่สุดของความทรงจำ
เพื่อดึงออกมาเยียวยาทั้งคู่ ยามที่ร่างกายและจิตใจตกต่ำ

104-2 1Q84

ความโดดเด่นของหนังสือเล่มนี้เกิดขึ้นจากการควบรวมของสองสิ่ง
คือพล็อต และวิธีเล่า
1Q84 มีจังหวะการเล่าเรื่องที่ดี
มันเป็นนิยายที่มีความเหลื่อมซ้อน ซ่อนปมต่างๆ เอาไว้หลายจุด
ผู้เขียนมีพรสวรรค์ในการเปิดเผยปมต่างๆ เหล่านั้นได้ถูกที่ถูกเวลา
ทำให้เนื้อหาของเรื่องน่าติดตาม
แม้แต่การเล่าเรื่องอื่นๆ ทั่วไปก็ทำได้อย่างมีจังหวะจะโคน มีเสน่ห์
ตัวละครเป็นมนุษย์ที่มีมิติ และก็มีเอกลักษณ์

104-19 1Q84

วิธีเขียนของผู้เขียน
ได้อธิบายลึกซึ้งซอกซอนเข้าไปถึงก้นบึ้งจิตใจของตัวละคร
วิธีเขียนแบบนี้ทำให้ขณะอ่าน
บางครั้งเราก็เผลอสำรวจลึกลงไปในจิตใจของตนเองไปด้วย

104-20 1Q84

ผู้เขียนใช้การผูกเรื่องที่มีชั้นเชิง มีแง่มุม จะเรียกว่าซับซ้อนก็น่าจะได้
แต่เป็นความซับซ้อนที่ไม่ได้หมายความว่าเข้าใจยาก
ให้ความรู้สึกคล้ายๆ นิยายนักสืบ
ที่ซ่อนเงื่อนซ้อนปมหักมุมหลายชั้นน่าติดตามมากกว่า

มีเนื้อหาคาบเกี่ยวประวัติศาสตร์ทางการเมืองของญี่ปุ่นนิดหน่อย
มีเนื้อหาของเพลงคลาสสิคและวรรณกรรมคลาสสิคอีกบ้าง
และสำนักพิมพ์ได้ทำฟุตโน้ตเอาไว้แล้วแบบพอเหมาะพอดี
ไม่มากไม่น้อยจนเกินไป

104-16 1Q84

สำนวนผู้แปลมีผลอย่างมากที่จะทำให้หนังสือดีหรือห่วย
และสำหรับหนังสือเล่มนี้ สำนวนแปลดีเยี่ยมทีเดียวค่ะ
ผู้แปลเลือกใช้คำได้เหมาะเจาะลงตัวสวยงาม
เป็นภาษาที่ทั้งสวย และทั้งให้ความรู้สึก ..
คงถ่ายทอดมาจากต้นฉบับ และเป็นการถ่ายทอดออกมาได้ดีทีเดียว

1Q84 เป็นหนังสือของมูราคามิที่เรารู้สึกดีด้วยเป็นเล่มแรก
หลังจากผ่านความผิดหวังมาแล้ว 3-4 เล่ม
มันมีความหลากหลาย มีแง่มุม
ไม่ทึมเทา หมกมุ่นอยู่แต่กับตัวเอง
เต็มไปด้วยแจ๊สและบาร์เหล้าซ้ำซากเหมือนเล่มอื่นๆ ที่เคยอ่าน

ถ้าจะลอง อยากแนะนำให้เริ่มที่เล่มนี้ค่ะ อย่ากลัวความหนาของมัน
ค่อยๆ อ่านไปทีละบทตอน เดี๋ยวก็จบ
เล่มหนาไม่น่ากลัว
เล่มบางๆ แต่เนื้อหาทึมๆ เมาๆ ต่างหากที่น่ากลัวกว่าเยอะค่ะ ;P

ความลับของการอ่านเล่มนี้สำหรับเราก็คือ
ถ้าชอบอ่านหนังสือแล้วตีความ
ขบหาความหมายที่ซ่อนอยู่ระหว่างบรรทัด ก็ทำไปเถิด
แต่ถ้าไม่ชอบ ก็ไม่ต้องฝืนทำ
เพราะมันจะทำให้อ่านไม่สนุก

ถ้าตัดเปลือกนอกอย่างเพลงคลาสสิคต่างๆ
หรือนวนิยายต่างประเทศทั้งหลายที่ปรากฏในเรื่องออกไป

1Q84 มีความเป็นญี่ปุ่นสูงมาก
เราเคยค้นพบความรู้สึกเหล่านี้ครั้งหนึ่งแล้วเมื่อครั้งที่อ่านนิยายเซ็ต เดอะริง

104-18 1Q84

มันเป็นพล็อตเรื่องที่ว่าด้วยโลกที่ถูกควบคุมด้วยบางสิ่งบางอย่าง
ตัวละครที่มีลักษณะพิเศษ ที่ทำหน้าที่ใกล้เคียงกับพระเจ้า
การที่มีโลกซ้อนโลก และโลกใบหนึ่งถูกควบคุมด้วยปัจจัยที่ไม่เป็นธรรมชาติ ฯลฯ

104-17 1Q84

104-1 1Q84

หนังสือเล่มนี้ถูกแบ่งออกเป็นสามเล่มจบ เล่าต่อเนื่องกันไป
เล่มหนึ่งเป็นเล่มที่ปูพื้นมาดี เล่มที่สองเล่าต่อไปอย่างไต่ระดับ .. เป็นเล่มที่เราชอบที่สุด
ตอนต้นของเล่มสามเริ่มมีความเนิบๆ หน่วงๆ
ทั้งๆ ที่ตอนจบของเล่มสอง จบเอาไว้อย่างเร้าใจแท้ๆ

ในเล่มที่สาม เหตุการณ์ดำเนินไปเสมือนหยุดนิ่ง
ดำเนินไปด้วยความยืดเยื้อ
รู้สึกเหมือนผู้เขียนล่อหลอกให้อ่านไปเรื่อยเปื่อยนอกลู่นอกทาง
ใช้การได้พบกับของพระเอกและนางเอกเป็นตัวล่อที่ไม่มีวันเกิดขึ้นเสียที
มันเป็นการรอคอยที่น่าเบื่อหน่าย
มีเพียงพาร์ทของอุชิคาวะ ตัวละครตัวที่สามที่สลับเพิ่มเข้ามาเท่านั้น ที่ยังคงดำเนินไป
แม้จะไม่ชอบตัวละครตัวนี้ 
แต่มันก็เป็นเพียงความเคลื่อนไหวเดียวของเรื่อง

ถึงแม้ในตอนสุดท้าย เราจะไม่เกลียดตัวละครอย่างอุชิคาวะเท่าไรแล้ว
เข้าใจได้ว่าตัวละครที่มีลักษณะเช่นนี้ เติบโตมาอย่างนี้
ก็ต้องมีวิถีชีวิตดิ้นรนต่อสู้ไปในทางนี้แหละ
เป็นตัวละครกลมๆ ที่มีที่มาที่ไป
แต่ถึงอย่างนั้นก็ทำใจให้ชอบไม่ได้อยู่ดี

104-15 1Q84

เป็นหนังสือที่แปลกๆ ดี เกือบจะชอบอยู่แล้ว แต่มาไม่สุดเอาตรงเล่ม 3 นี่แหละ
ผู้เขียนทิ้งปมปริศนาหลงเหลือเอาไว้มากมาย
เฉลยเหมือนไม่เฉลย จบเหมือนไม่จบ
ปล่อยปมค้างเติ่งเอาไว้เป็นปุ่มปมขรุขระเต็มไปหมด
ให้ความรู้สึกแปลกๆ ดี โล่งแต่ไม่โล่ง อิ่มเอมแต่ไม่อิ่มเอม
และตัดสินใจไม่ได้แน่ว่าชอบหรือไม่ชอบ?

การตัดต่อระหว่างบทในช่วงหลังๆ มีความคลาดเคลื่อนเหลื่อมล้ำกันอยู่
ซึ่งไม่ว่าจะเป็นความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจของผู้เขียนก็ตาม ล้วนน่าเสียดาย ..
เสียดายความเชื่อมต่อกันทางอารมณ์ ที่คงจะพีคกว่านี้หลายเท่า
ถ้าหากไทม์ไลน์ถูกจัดเรียงไปเป็นลำดับต่อเนื่องกันสนิท

ฉากที่ชอบที่สุดในเล่มสาม คือฉากหลังจากพ่อของเท็งโกะตาย
มันเริ่มจากไม่มีอะไร แล้วค่อยไต่ระดับของความเศร้าขึ้นไปอย่างช้าๆ
เหมือนจะถึงจุดพีค แล้วก็ตกวูบกลับสู่ความไม่มีอะไร
เป็นฉากที่อึนๆ ดีอีกฉาก

มีคำวิจารณ์ว่า 1Q84 เป็นหนังสือแนวเซอร์เรียล
ถ้าแปลในแนวของเรานะ ..
เซอร์เรียลมันคืองานศิลปะที่เกิดจากการปลดปล่อยของจิตใต้สำนึก
และถ้าเราแปลถูก 1Q84 ก็ดูจะเป็นอย่างนั้นจริงๆ

104-13 1Q84

หนังสือแต่ละเล่ม
ต่อให้ดีแค่ไหน สุดท้ายคนอ่านก็เลือกเก็บแต่ส่วนที่ตัวเองชอบไปเท่านั้น
เรื่องราวของหนังสือเล่มเดียวกันจึงบิดเบี้ยวไปตามตัวตนของคนอ่านแต่ละคน
ถึงอย่างนั้น แม้ถึงอ่านซ้ำโดยคนอ่านคนเดิม
เรื่องราวก็อาจถูกทำให้ผิดเปลี่ยไปได้อีก .. เรื่อยๆ ไม่มีสิ้นสุด

สำหรับเล่มนี้ มีหลายประโยคเลยค่ะ ที่เราอ่านแล้วชอบ

104-9 1Q84

104-10 1Q84

 

104-11 1Q84

แท้จริงแล้ว นิยายที่เราอ่านมามากมายนับไม่ถ้วนนี้
มีเล่มไหนสักเล่มหนึ่งที่ซ่อนสารลับบางอย่าง ..
เหมือนกันกับ “ดักแด้อากาศ” ของฟุคาเอริ อยู่หรือเปล่า
ข้อความที่ผู้เขียนบรรจงซ่อนความจริงเอาไว้ในความเหนือจริงทั้งปวง!

104-14 1Q84

Comments are closed.