อ่านแล้วเล่า

แผ่นดินของเรา

92-1 แผ่นดินของเรา

เรื่อง แผ่นดินของเรา
ผู้แต่ง อังตวน เดอ แซงแต็กซูเปรี
ผู้แปล โคทม – พรทิพย์ อารียา
สำนักพิมพ์ นาคร
ราคา 200 บาท

แผ่นดินของเรา เป็นการเขียนถึงความรู้สึกนึกคิดภายในของผู้เขียน
มากกว่าที่จะบอกเล่าเรื่องราวใดเรื่องราวหนึ่งยาวๆ เช่นนิยายเล่มอื่นๆ
เป็นความรู้สึกนึกคิดภายในเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ ที่ล้อมรอบตัวเขา
อย่างเรื่องการบิน การขับเครื่องบิน และประสบการณ์อันน่าทึ่งจากการขับเครื่องบิน
มุมมองจากบนเครื่อง มองลงมายังแผ่นดินของเรา คือสาขาหลัก

แตกแขนงไปยังเพื่อนร่วมงาน ซึ่งมีความน่าสนใจอยู่หลายคน
โดยเฉพาะ กิโยเม

กิโยเม เป็นมนุษย์ที่เต็มไปด้วยพลังชีวิต
การต่อสู้กับความตายของเขาเมื่อครั้งที่รอดจากเครื่องบินตก
เป็นเรื่องที่น่าทึ่งมาก และมันเต็มไปด้วยพลัง
ที่จะส่งต่อเป็นกำลังใจให้กับผู้อ่านคนใดๆ ก็ตาม
ที่กำลังต่อสู้กับอุปสรรคในชีวิต
ซึ่งมันก็ได้กลายเป็นพลังใจจริงๆ สำหรับตัวผู้เขียนเอง
ในยามที่เขาต้องติดค้างอยู่กลางทะเลทรายลิเบียด้วย

ในระหว่างที่ผู้เขียนติดค้างอยู่กลางทะเลทรายซาฮาร่า
(ในยุคนั้น การที่เครื่องบินต้องอัปปางลงกลางทะเลทรายดูเป็นเรื่องปกติ?)
สิ่งหนึ่งที่เขาคิดถึงกลับกลายเป็นความทรงจำวัยเด็ก
ความทรงจำถึงคุณยายแม่บ้านคนหนึ่ง
ที่ไม่เคยมองเขาเติบโตขึ้นจากเมื่อก่อน
ยังคงเห็นเขาเป็นเด็กชายซนๆ ที่ออกไปซนมอมแมมนอกบ้าน
แล้วก็กลับมาเล่าเรื่องราวผจญภัยให้นางฟัง

เคยได้ยินมาว่า หนังสือที่ดีทำให้คนอ่านรู้จักตั้งคำถามถามตนเอง
หนังสือเล่มนี้ทำให้เราถามตัวเอง .. สวนทางกับผู้เขียนว่า
จริงหรือ ที่มนุษย์จะต้องออกเดินทางไปพบสิ่งมหัศจรรย์อันห่างไกลโพ้น
เพื่อพบเรื่องราวอันยิ่งใหญ่ เรื่องราวอันแปลกประหลาด ฯลฯ
การที่แม่บ้านเลือกที่จะวนเวียนอยู่แต่กับภารกิจรอบตัว
ปล่อยเวลาในแต่ละวันให้หมดไปกับงานบ้าน .. เป็นเรื่องที่ผิด?
การที่คนเราไม่เคยเดินทาง แต่สำรวจลึกลงไปในจิตใจของตน
โดยใช้งานบ้านเป็นเครื่องมือ
ก็อาจจะไม่ต่างกับการที่ผู้เขียน ใช้เครื่องบินเป็นเครื่องมือในการศึกษาตนเอง?

92-2 แผ่นดินของเรา

เมื่อตัดปัญหาของสำนวนมึนๆ อย่างสองเล่มแรกออกไป
เราพบว่า งานเขียนของแซงแต็กซูเปรี เป็นหนังสือที่ดีมาก
เราได้เห็นภาพมุมมองของเขาชัดเจนขึ้น
ได้รับสาส์นที่เขาต้องการจะสื่อได้แม่นยำขึ้น

ผู้เขียนมีมุมมองเฉพาะตัว ที่ใช้เล่าเรื่องให้สวยงามลื่นไหล
เราค้นพบว่า บางที ต่อให้บินได้เหมือนแซงแต็กซูเปรี
ก็คงหาคนได้น้อยคนที่จะมีมุมมอง และนำมาเขียนเล่าได้ดีเท่าเขา
เรามาสะดุดความคิดนี้ตอนที่อ่านการบรรยายความรู้สึกของนักบินมือใหม่ที่จะขึ้นบินเป็นครั้งแรก
เขาเปรียบเทียบรถเมล์เก่าๆ ที่โดยสารมายังบริษัทในเช้าวันนั้นดุจเป็นรังไหม
ที่จะทำให้ตัวไหมอย่างเขา เติบโตกลายเป็นผีเสื้อ เมื่อผ่านเที่ยวบินนี้ไป ..
เด็กจบใหม่ที่ทำงานวันแรกทั้งหลาย ก็อาจจะมีความรู้สึกเช่นเดียวกันได้
หากพวกเราที่เคยเป็นเด็กจบใหม่ น้อยคนที่จะคิดมองเห็นภาพเดียวกันกับเขา?

นักบินขนส่งไปรษณีย์ในยุคนั้น คงเป็นอาชีพที่เสี่ยงอันตรายไม่น้อย
เพราะมีนักบินที่หายสาบสูญไปจากบางเที่ยวบินกันเป็นเรื่องเกือบจะปกติ
หนังสือในสองเล่มแรก รวมถึงเล่มที่สามนี้ ของผู้เขียน
ล้วนมีหนึ่งตัวละครผู้สาบสูญไปเพราะภารกิจการบิน
และในที่สุด ตัวเขาเองก็เป็นเช่นนั้นด้วย
ตัวเขาเองกลายเป็นหนึ่งในตัวละครของเขา
มันคือตอนจบของเขา หรือมันคือนิยายที่ไม่มีตอนจบ?
และนั่นอาจเป็นส่วนหนึ่งของความอมตะ?

ในบทสุดท้าย ผู้เขียนในสรุปจบเรื่องราวทั้งหมด
ด้วยบทพิเคราะห์มนุษย์อย่างลึกซึ้ง ลงไปถึงก้นบึ้งแห่งความคิดคำนึง
พิเคราะห์ไปถึงวิสัยทัศน์ต่างๆ ของเขา
ความปรารถนาของเขา ความภาคภูมิใจของเขา
และแรงบันดาลใจของมนุษย์แต่ละประเภท
ลึกลงไปถึงรากเหง้าของมนุษย์ การส่งผ่านถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น
ผู้เขียนได้เพิ่มเติมมุมมองของตนต่อสงครามเอาไว้ด้วย
เป็นการปลุกเร้าทางอารมณ์อย่างโหมกระหน่ำ
อ่านแล้วเข้าใจเลยว่าทำไมใครๆ ถึงยกให้หนังสือเล่มนี้
เป็นเล่มที่ดีที่สุดของแซงแต็กซูเปรี
มันควรค่าจริงๆ ค่ะ

Comments are closed.