อ่านแล้วเล่า

แต่ปางก่อน

91-1 แต่ปางก่อน

เรื่อง แต่ปางก่อน
ผู้แต่ง แก้วเก้า
สำนักพิมพ์ ทรีบีส์
(สนพ. ในเครือ สนพ.อักษรโสภณ)
ราคา 300 บาท

แต่ปางก่อน เป็นนิยายพีเรียดซ้อนซุปเปอร์พีเรียด
เพราะดำเนินเรื่องซ้อนกันอยู่ถึงสามชาติภพ
เป็นต้นตำรับและเป็นยอดแห่งนิยายระลึกชาติ (สูสีกับ ทวิภพ) เลยทีเดียว

แต่ปางก่อน เปิดเรื่องในชาติที่สองของตัวละคร ตรงกับปีพุทธศักราช 2490
ณ โรงเรียนกุลนารีวิทยา
(บรรยากาศในโรงเรียนประจำก็คล้ายๆ กับโรงเรียนสิกขาลัยของคุณครูปริศนา
ในวัยเด็ก เราก็อ่านนิยายทั้งสองเรื่องนี้ไล่ๆ กัน
เมื่อย้อนกลับมาอ่าน ปริศนา ทวนซ้ำเมื่อไม่นานมานี้
ก็มาใกล้เคียงกันกับช่วงที่หยิบแต่ปางก่อนมาอ่านพอดีกันอีก ^^
เสียแต่ว่า ในแต่ปางก่อนไม่เน้นเล่าเรื่องความเฮี้ยวของเด็กๆ ค่ะ
ไปเน้นที่ตัวครูราชาวดีเป็นส่วนมาก)

ช่วงหลังจากที่เหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่สองเพิ่งสงบลง
ราชาวดีเพิ่งเรียนจบจากโรงเรียนคอนแวนต์แห่งหนึ่ง
และเข้าเป็นครูในโรงเรียนกุลนารีวิทยา
เนื่องจากแม่ของเธอที่เพิ่งเสียไปในช่วงสงคราม
เป็นเพื่อนเก่าแก่กับอาจารย์กาบทอง ผู้เป็นอาจารย์ใหญ่ของโรงเรียนนี้
โรงเรียนกุลนารีวิทยาแห่งนี้ แต่เดิมเคยเป็นวังของหม่อมพรรณราย
แต่ด้วยเหตุผลบางประการ หม่อมจึงได้ยกวังและพื้นที่โดยรอบให้เป็นโรงเรียน
โดยให้อยู่ในความดูแลของอาจารย์กาบทอง

ราชาวดีรู้สึกคุ้นเคยกับวังแห่งนี้ตั้งแต่แรกเห็น แม้จะไม่เคยเห็นมาก่อน
ในคืนแรกที่ราชาวดีย้ายมาประจำอยู่ที่หอพักครู เธอถูกปลุกให้ตื่นกลางดึก
ด้วยเสียงบรรเลงดนตรีไทยไพเราะ อ่อนหวาน
และเสียงดนตรีนั้นก็นำพาเธอมายังห้องห้องหนึ่ง และเสียงของใครคนหนึ่ง ..
ก่อนที่จะสะดุ้งตื่นขึ้นมา

ในวันรุ่งขึ้น อาจารย์กาบทองได้พาเธอไปทำความเคารพหม่อมพรรณรายผู้เป็นเจ้าของโรงเรียน
วันนั้น เธอได้พบกับคุณชายจิรายุส บุตรชายของหม่อมพรรณรายด้วย
และเขาตกหลุมรักเธอแทบจะในแรกเห็น
ทั้งๆ ที่เขาเองก็มีคู่หมั้นอยู่แล้ว คือคุณหญิงสวรรยา

91-2 แต่ปางก่อน

อาคารที่ตั้งของวังภายในโรงเรียนนี้ ร่ำลือกันว่าผีดุมาก
ทั้งๆ ที่เพิ่งสร้างในสมัยรัชกาลที่ 6 นี้เอง
วันหนึ่ง ราชาวดีได้เดินเล่นไปจนถึงกำแพงเหล็กโปร่งที่กั้นแบ่งเขตของโรงเรียน
และเขตของวังที่ถูกปิดตายเอาไว้
ราชาวดีได้เห็นตำหนักริมน้ำที่สวยงาม
และนึกวาดภาพภายในตำหนักออกชัดแจ้งแก่ใจโดยไม่รู้ตัว
ในครั้งต่อๆ มา เธอได้พบกับชายหนุ่มรูปงามและลักษณะดีคนหนึ่ง
เขาชวนเธอพูดคุยอย่างสนิทสนม และชวนเธอให้แวะมานั่งเล่นที่ริมสระน้ำได้ทุกเมื่อ
เขาและเธอได้พูดคุยกันถึงเรื่องราวเก่าๆ ของเจ้านายที่เคยอยู่ในวังแห่งนี้
เธอมีโอกาสได้เห็นภาพวาดของเจ้านางน้อย
หญิงสาวผู้อาภัพที่เธอเคยได้ยินคนเก่าคนแก่ทักว่าเธอหน้าเหมือนเจ้านางฯ
ราวกับเป็นคนเดียวกัน
ทันทีที่เธอได้เห็นภาพนั้น สติของราชาวดีก็หลุดลอย
และตื่นอีกครั้งในอดีต .. ในร่างของเจ้านางน้อยผู้นั้น

เมื่อครั้งยังเด็ก เรารู้จักแต่ปางก่อนครั้งแรกจากจอโทรทัศน์ค่ะ
ท่านชายใหญ่ในมโนภาพที่อ่านเลยกลายเป็นภาพของพี่นก ฉัตรชัย เคลิ้มติดตา
แม้ตัวละครอื่นๆ จะเลือนๆ ไป แต่ความอบอุ่นละมุนลุไมของท่านชายใหญ่ในร่างพี่นกชาย
ยังคงตราตรึงใจมาหลายสิบปี นึกเห็นทุกครั้งที่อ่านค่ะ ^^

เรื่องราวของเจ้านางน้อยที่ถูกปิดเป็นความลับค่อยๆ เปิดเผยออกมา
หลายครั้งที่เธอเข้าใกล้บางสิ่งบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับเจ้านางฯ
ราชาวดีจะมีอาการวิบไหว คล้ายจะเป็นลม
เหมือนจะนึกอะไรออก แต่ก็นึกไม่ออก เหมือนจะรู้ แต่ก็ไม่รู้
ทั้งๆ ที่เธอไม่ได้เกี่ยวพันทางสายเลือดใดๆ กับเจ้านางน้อยผู้นี้เลย
แต่เธอกลับรู้สึกผูกพันกับเจ้านางฯ อย่างประหลาด

หลังจากที่ราชาวดีมาเป็นครูอยู่ได้ไม่นาน โรงเรียนกุลนารีวิทยาก็จัดงานประจำปีขึ้น
งานในปีนี้ถูกจัดขึ้นในห้องโถงกว้างขวางงดงามของวัง ..
แปลกไปจากทุกปีที่จัดงานในหอประชุมของโรงเรียน .. ตามความคิดเห็นของคุณชายจิรายุส
นอกจากหม่อมพเยียผู้เป็นเจ้าของวังและเจ้าของโรงเรียนแล้ว
ท่านหญิงวิไลเลขา หรือท่านหญิงแต้ .. ท่านป้าของคุณชายจิรายุสก็เสด็จมาร่วมงานด้วย
ในงานนั้นเอง ราชาวดีได้รับหน้าที่บรรเลงดนตรีคลอภายในงาน
เครื่องดนตรีที่เธอเล่นคือซอฝรั่ง (ไวโอลิน)
ตามกำหนดนั้นคือเพลงเขมรโพธิสัตว์ แต่ขณะที่เธอกำลังสีไวโอลินอยู่นั้น
จู่ๆ ก็เปลี่ยนเป็นเพลงลาวม่านแก้วไปโดยที่เธอไม่รู้ตัว ..

“.. ดอกเอ๋ย เจ้าดอกจำปาลาว ตัวพี่รักเจ้า เท่าท้องนภาเอย”

งานคืนนั้นจบลงด้วยความวุ่นวาย
ท่านหญิงวิไลเลขาถึงกับประชวรพระวาโยไปในทันทีที่เห็นหน้าคนสีซอฝรั่งเพลงนั้น

91-1 แต่ปางก่อน

แม้ว่าราชาวดีจะพอคาดเดาได้ว่าชายรูปงามหน้าตาคมคายที่เธอพบที่ตำหนักริมน้ำ
ไม่น่าจะเป็นมนุษย์เดินดินธรรมดา แต่เธอก็อบอุ่นใจ และไว้วางใจว่าเขาจะไม่ทำร้ายเธอ
เธอรู้ว่าเขาสามารถบันดาลให้เธอเห็นภาพในอดีตได้
และไม่รีรอที่จะขอโอกาสนั้น เมื่อพบกันอีกครั้ง
เรื่องราวของเจ้านางน้อยถูกเล่าผ่านภาพความหลัง ราวกับเธอได้ไปเห็นด้วยตาตนเอง
เธอรู้สึกสงสาร ผูกพัน และสนิทแนบแน่นกับเจ้านางน้อยราวกับเป็นตัวเอง

นวนิยายของแก้วเก้าส่วนมากจะเล่าเรื่องเรื่อยๆ ในตอนต้น
แล้วไปสนุกเข้มข้นจนวางไม่ลงในตอนท้าย
แต่สำหรับแต่ปางก่อน เรากลับชอบอ่านในช่วงต้นของเรื่องมากกว่า
ชอบความลึกลับของท่านชายใหญ่ ชอบความโรแมนติคของเรื่องเล่าจากอดีต
และปมปริศนาเกี่ยวกับการตายของเจ้านางน้อย (เจ้านางม่านแก้ว)
เมื่อปมปริศนาเหล่านี้ได้ค่อยคลี่คลายในภายหลัง
ได้พบกับความใจร้ายของหม่อมพเยียและท่านหญิงวิไลเลขา ยิ่งไม่ชอบ
ในตอนเด็กๆ เราเลยมักที่จะเลือกอ่านเพียงแค่ครึ่งเรื่องแรกอยู่บ่อยครั้งค่ะ ^^”

ความรักของหญิงสาวกับสิ่งที่ไม่มีตัวตนค่อยๆ เพิ่มพูนขึ้นในทุกวันเวลาที่ผ่านไป
ตรงกันข้ามกับความรักที่คุณชายจิรายุสมีให้เธอ .. เธอไม่อาจรักตอบได้
หัวใจรักของเธอหมดทั้งใจ มอบให้ท่านชายใหญ่ผู้ไม่มีตัวตนไปหมดแล้ว

91-6 แต่ปางก่อน

ข้างล่างนี้สปอยล์ตอนจบนะคะ
ตอนที่อ่านครั้งแรก นิยายเรื่องนี้กระแทกใจพอสมควร
เพราะผู้เขียนทำร้ายนางเอกถึงสองครั้ง ให้พบจุดจบอย่างน่าเศร้าถึงสองชาติภพ
แต่ก็ยังมีเซอร์ไพร้ส์ซ้อนอยู่ โดยการให้นางเอกกลับมาเกิดอีกครั้งในชาติที่สาม
และในชาตินี้เอง ที่แฮปปี้เอนดิ้งเสียที

91-4 แต่ปางก่อน

ในชาติที่สาม ผู้เขียนมอบโบนัสชุดใหญ่ให้คนอ่านเต็มอิ่มเลยค่ะ
ความโรแมนติคแบบรักแรกพบ ได้เพิ่มความรู้สึกวิบไหวมากขึ้นไปอีก
เมื่อถูกรองรับด้วยความรันทดของสองภพแรก
เป็นความรัก ความสมหวัง อิ่มเอม ที่เฝ้ารอคอยกันมาถึงสามชาติภพ

91-5 แต่ปางก่อน

อ่านครั้งแรกตอนเด็กๆ เราทึ่งในตอนจบของเรื่องมากเลยค่ะ
เสียดายที่ความรู้สึกสดใหม่แบบนั้นมันไม่เกิดขึ้นเมื่ออ่านมาจนถึงรอบที่นับไม่ถ้วน
แต่ถึงกระนั้น ความอิ่มเอม อิ่มอกอิ่มใจในเนื้อเรื่อง ก็ยังบริบูรณ์เต็มเปี่ยม ^^

Comments are closed.