อ่านแล้วเล่า

แด่หนุ่มสาว

เรื่อง แด่หนุ่มสาว
ผู้เขียน กฤษณมูรติ
ผู้แปล พจนา จันทรสันติ
สำนักพิมพ์ มูลนิธิโกมลคีมทอง
เลขมาตรฐานหนังสือ 9789749461679

ทัศนคติเราน่าจะไม่ค่อยตรงกับคุณพจนาสักเท่าไร
ติดใจตั้งแต่คำนำ รู้สึกเหมือนถูกตัดสิน และให้คำจำกัดความ
ทำไมแค่การเป็นคนคนยุคเก่า
ทำให้เราต้องกลายเป็นคนที่น่ารังเกียจ สังคมต่อต้าน
อ่านไปอ่านมา ชักรู้สึกเหมือนถูกกบฎประนามว่าเราประนามกบฎ
หรือหนังสือเล่มนี้ต้องการพูดกับคนหนุ่มสาว
จึงต้องดึงคนยุคเก่าขึ้นมาเป็นตัวร้าย?

แค่เป็นคนรุ่นเก่าก็ผิดแล้วงั้นหรือ
ทำไมต้องเหมารวมว่าคนรุ่นเก่าใช้ระบบเก่า 
และมีแนวความคิดแบบเก่าไปเสียหมด
มีแต่คนรุ่นใหม่เท่านั้นหรือ ที่มีพลังในการเปลี่ยนประเทศ
แค่เริ่มอ่าน ก็ถูกกีดกันออกจากกลุ่มเสียแล้ว

ส่วนเนื้อความภายในเล่ม
หนังสือเล่มนี้ไม่ค่อยตรงจริตเราเท่าไร
แต่ก็อธิบายยากเหมือนกัน

มันเป็นหนังสือที่ฉีกออกไปจากกรอบของเรา
ถ้าคลิกก็ชอบเลย เปิดรับเลย
แต่ถ้าไม่คลิกอย่างเรา ..
มันก็จะก้ำๆ กึ่งๆ อธิบายไม่ถูกอยู่แบบนี้

แด่หนุ่มสาว เป็นหนังสือที่ตั้งค่า mindset ให้คนหนุ่มสาว
ออกจะอุดมคติหน่อยๆ เป็นค่านิยมยอดนิยมในยุคสมัยหนึ่ง
หนังสือบอกให้เราเลิกกลัว ต้องออกจากกรอบและกฎเกณฑ์
ต้องมีความรักต่อสิ่งที่เราเป็นด้วยใจจริง
และทำสิ่งนั้นอย่างไม่หวังผล ไม่ครอบครองเป็นเจ้าของ

แต่เรากลับรู้สึกว่า
หนังสือเล่มนี้ไม่ได้เข้าใจในสิ่งที่เราเป็นจริงๆ
แต่กลับบอกให้เราเป็นอีกอย่าง

หนังสือตั้งคำถามต่อระบบการศึกษาว่า
เราเรียนไปเพื่อรู้
หรือเรียนเพื่อนำความรู้ไปทำงานหาเลี้ยงชีพ
คนเราเกิดมาเพื่ออะไร
เพื่อทำงาน หาเงิน ใช้ชีวิต และตายไป อย่างนั้นหรือ
หรือเกิดมาเพื่อแสวงหาคำตอบของชีวิต?

สำหรับเรา การศึกษาไม่ได้ผิด
อาจผิดที่ผู้สอนและผู้เรียนรู้ ผิดที่เจตนาและเป้าหมาย
ถ้าคนเรียนท่องจำไปสอบ 
หรือถ้าคนสอนไม่สอนวิธีคิด แต่สอนวิธีทำ
ถ้าคนเรียนอยากเรียนสูงเพื่อเหนือกว่าคนอื่น ฯลฯ

ความรู้ทำให้เราพ้นความโง่เขลา พ้นอวิชางมงาย
หากเราไม่รู้เรียน รู้คิด รู้ศึกษา
แล้วเริ่มต้นด้วยการนั่งนึกเอาเองถึงความหมายของชีวิต ..
คำตอบที่ได้จะเป็นอวิชาได้หรือไม่?
ทุกคนสามารถหาคำตอบของชีวิตได้ด้วยวิธีเช่นนี้หรือ?
แล้วยังไงต่อ?

ตอนที่เราอ่านเล่มนี้
มันให้ความรู้สึกเหมือนพบใครสักคนที่ตั้งตนเหนือกว่า
อุปโลกน์ตนเองเป็นผู้รู้ แล้วชี้นิ้วว่ากล่าวว่าสิ่งที่เราคิด เราเป็น นั้นผิด
เธอต้องขบถสิ ต้องต่อต้านการศึกษาสิ
ต้องค้นหาความหมายของชีวิตสิ ฯลฯ

บางที เราอาจไม่ได้มีปัญหากับเนื้อหาของเขา
แต่มีปัญหากับวิธีเล่าของเขา
ที่เหมารวมเกินไป ด่วนสรุปเกินไป ชี้ชวน และครอบงำเกินไป
มันมีประโยคที่คลุมเครือ อย่างเช่น

“พวกผู้ใหญ่ส่วนมากคิดว่า
ระเบียบกฎเกณฑ์บางอย่างเป็นสิ่งจำเป็น
เธอรู้หรือไม่ว่าระเบียบกฎเกณฑ์เหล่านี้คืออะไร
มันคือวิธีการที่จะทำให้เธอต้องฝืนใจ
ทำบางสิ่งบางอย่างที่เธอไม่อยากกระทำ
ที่ใดมีระเบียบกฎเกณฑ์ ที่นั่นก็มีความกลัว
ดังนั้น ระเบียบกฎเกณฑ์จึงไม่ใช่หนทางแห่งความรัก”

ประโยคนี้ เราควรฟังมันยังไงดี?
คือมันตีความกว้างๆ ไม่เฉพาะเจาะจง
ถ้าเราหยิบมันไปนึกถึงเรื่องหนึ่ง มันก็ถูก
แต่ถ้าหยิบไปเปรียบเทียบกับอีกเรื่อง มันก็ผิด
คือมันตีขลุม มันเหมารวม ..
เราอ่านแล้วก็อิหลักอิเหลื่อ ไม่รู้ว่าควรรจะรู้สึก
หรือคิดอย่างไรกับประโยคนี้ดี ..

และอย่างที่เห็น
นี่เป็นหนังสืออีกเล่มแล้วที่แยกเด็กออกจากผู้ใหญ่
ตีกรอบ แบ่งกลุ่ม แบ่งพวก และเหมารวม
ทำไมหรือ ผู้ใหญ่ทุกคนเป็นแบบเดียวกันหมดหรือ
ผู้ใหญ่คือตัวอย่างความไม่ดีงามทุกอย่างบนโลกนี้หรือ?
นี่อาจเป็นอีกหนึ่งปัจจัย ที่ทำให้เราไม่ถูกชะตากับหนังสือเล่มนี้

เราว่าเป็นหนังสือที่โน้มน้าวให้คนหนุ่มสาวเกลียดผู้ใหญ่
ต่อต้านผู้ใหญ่ และสร้างกบฎ
กล่อมเกลา ชักจูง ด้วยน้ำเสียงเนิบๆ ขัดกับเนื้อหาที่รุนแรง
เข้าใจเลยว่าทำไมคนหนุ่มสาวยุคหนึ่งถึงเชิดชู ชื่นชม
และเราเชื่อว่า
หากหนุ่มสาวเหล่านั้นย้อนกลับไปอ่านเล่มนี้อีกครั้งในปัจจุบัน
เขาจะมองเล่มนี้ในมุมที่ต่างออกไปจากเดิม

บางที เราอาจต้องเข้าใจสภาพสังคม
ในสถานที่และเวลาที่หนังสือเล่มนี้ถือกำเนิดขึ้น

หนังสือเล่มนี้อาจไม่ได้กำลังพูดถึงหนุ่มสาวทุกคน
หากพูดถึงหนุ่มสาวที่อยู่ในสังคมนั้น ตรงหน้าผู้เขียน ..
หรือบางที หนุ่มสาวคนนั้นอาจหมายถึงตัวเขาเองในอดีต?
บางถ้อยความในหนังสือ จึงอาจเฉพาะเจาะจงต่อสภาพแวดล้อมนั้นๆ?

อันที่จริง หนังสือเล่มนี้ยังมีเนื้อหาที่ดี ถ้าพูดในมุมที่เฉพาะเจาะจงกว่านี้
กฎเกณฑ์บางอย่างก็ไม่จำเป็นจริงๆ
สร้างกรอบ สร้างความกลัว และทำลายความรักจริงๆ
แต่ไม่ใช่ทุกกฎเกณฑ์ เราไม่อาจเหมารวมไปทุกอย่าง

สำหรับเรา บทแรกๆ คือการฟาดให้น่วม
ให้โครงกรอบใดๆ ภายในเราแตกละเอียดหมดเสียก่อน
หลังจากนั้นคือการก่อร่างใหม่ สร้างโครงและองค์ประกอบภายในใหม่

หากแต่สิ่งที่ผู้เขียนต้องการจะสร้างใหม่นั้นคืออะไรเล่า?
ทุกอย่างมันเป็นไปในเชิง concept อุดมคติสุดๆ
เป็นหนังสือแบบที่ควรจะเต็มไปด้วยพลัง
แต่มันกลับไร้พลังและแรงผลักดันต่อเรา
เราไม่อาจคล้อยตาม ไม่อาจเห็นภาพ
เป็นอุดมคติที่เป็นไปได้ยาก
มองไม่เห็นตัวอย่างบุคคลที่มีอิสระเสรีภาพ –
ดังเช่นหนังสือเล่มนี้บอก ได้จากชีวิตจริงเลย

บางอย่างที่กฤษณมูรติพูดนั้นก็ฟังดูถูกต้อง
แต่เราก็มักรู้สึกตะหงิดๆ อยู่ในใจตลอด
มันเหมือนการแก้ปัญหาไม่ตรงจุด
เหมือนเป็นการทำเรื่องยากให้ยากขึ้นกว่าเดิม ..
เป็นนามธรรม จับต้องไม่ได้ ทำจริงได้หรือเปล่าก็ไม่รู้
ไม่มีตรรกะ .. อย่างที่เขาบอกน่ะแหละ
เขาบอกว่าเราไม่ควรคิด ความคิดทำให้เกิดอัตตา
ทำให้เรื่องมันซับซ้อนมากขึ้น
บางทีอาจเป็นเราเองที่ยังเข้าใจเรื่องที่เขาบอกได้ไม่มากพอ
และสรุปไปว่า หนังสือเล่มนี้ไม่ตรงจริตเรา

บทสรุปของหนังสือเล่มนี้คือ
ผู้เขียนต้องการจะบอกกับเราว่า
ให้เราละทิ้งความกลัว และมีความรักที่แท้จริง
ปลอดภัยจากความโลภ ความคาดหวัง ความอยากมีอยากเป็น
ไม่ยึดติดกับกรอบของครอบครัว สังคม ประเพณี หรือแม้แต่ศาสนา
หนุ่มสาวควรมีเสรีภาพในการใช้ชีวิต ในการศึกษาหาความรู้
เรียนรู้เพื่อรู้ มิใช่เพื่อประกอบอาชีพที่สูงส่ง มียศ มีอำนาจ
เรียนรู้เพื่อรู้จักตนเอง เข้าใจตนเอง
เพื่อมองเข้าไปในตนเอง เฝ้าดูจิตใจของตนเอง
รื้อกรอบ ทำลายระบบ ที่ถูกสั่งสมมาตั้งแต่เกิด
และมองเห็นความงามที่แท้จริง
เพื่อเรียนรู้ อย่างแท้จริง

เขาบอกว่าเราควรเปลี่ยนแปลงที่ภายใน
แต่กลับมีเนื้อหาส่วนนั้นน้อยมาก
เขาเล่าไปรอบๆ ถึงสิ่งต่างๆ
ถึงความเลวร้ายของโรงเรียน สังคม กฎระเบียบ ฯลฯ
บอกว่าเราควรละทิ้งสิ่งเหล่านั้น แล้วมาเฝ้าดูภายในจิตใจตนเอง
หากบทต่อไปก็ย้อนกลับไปพูดถึงความเลวร้ายของสิ่งต่างๆ ภายนอกอีก
วนเวียนอยู่เช่นนี้ แต่ไม่แตะต้องถึงสิ่งที่เขาให้ความสำคัญเลย

สุดท้ายแล้ว
ข้อสรุปทั้งหมดนี้ก็ยังเป็นเพียงภาพกลวงๆ มัวๆ สำหรับเรา
ละทิ้งความรู้แล้วยังไง นั่งชมธรรมชาติงามแล้วยังไง
สำรวจตนเองแล้วค้นพบอะไร ฯลฯ
ทั้งหมดนี้ กฤษณะมูรติไม่ได้ลงรายละเอียดอะไรไว้เลย
แม้แต่เป้าหมายสุดท้ายบนเส้นทางนี้ เขาก็ไม่ได้บอกไว้

เราไม่เข้าใจว่าผู้คนชื่นชมอะไร
สำหรับเรา เล่มนี้เป็นอีกหนึ่งเล่มหนังสือในแนวพัฒนาตนเอง
ที่มีเอกลักษณ์เป็นพิเศษเท่านั้นเอง

 

Comments are closed.