อ่านแล้วเล่า

เรือนนพเก้า

107-2 เรือนนพเก้า

เรื่อง เรือนนพเก้า
ผู้แต่ง แก้วเก้า
สำนักพิมพ์ ทรีบีส์
(สนพ. ในเครือ สนพ.อักษรโสภณ)
ราคา 280 บาท

เรือนนพเก้า เป็นนวนิยายที่ผู้เขียนตั้งใจเขียนขึ้นเพื่อจะล้อกันกับวรรณคดีไทยเรื่องกากี
ของเจ้าพระยาพระคลัง (หน)
โดยถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดของตัวละครผ่านตัวแทนฝ่ายหญิงบ้าง
ประมาณว่าถึงทำผิด แต่ก็มีสำนึกผิดชอบชั่วดี ทนทุกข์อยู่กับความผิดตนเอง

เรือนนพเก้า เป็นนิยายที่ถูกเขียนขึ้นในยุคที่ฟองสบู่เพิ่งแตก
เป็นยุคที่ซึมซับกลิ่นอายของยุคไอเอ็มเอฟเอาไว้เต็มปรี่
จดบันทึกบรรยากาศเศรษฐกิจไทยในยุคยอบแยบเอาไว้ในรูปของนิยายอ่านสนุก

เรื่องราวเริ่มต้นที่ผีสาวตนหนึ่ง ที่เคยมีชีวิตอยู่ในสมัยรัชกาลที่ 5 เธอมีชื่อว่าผอบแก้ว
ปัจจุบัน ผอบแก้วติดอยู่กับเรือนปั้นหยาเก้าห้องหลังหนึ่ง ที่มีคุณบุญทิพย์เป็นเจ้าของบ้าน
และมีสร้อยสนเด็กที่เลี้ยงไว้ในบ้าน คอยรับใช้ดูแล
คุณบุญทิพย์เป็นหญิงสาวสูงวัยที่ยังแข็งแรง
เธอสามารถมองเห็นผอบแก้วตั้งแต่ตอนที่เธอยังเป็นสาว
บ้านหลังนี้ แต่เดิมเป็นของคุณทรง ชายหนุ่มบ้านใกล้เรือนเคียง
ที่ภายหลังกลายเป็นสามีของคุณบุญทิพย์
และเมื่อคุณทรงสิ้นบุญไป ก็เหลือเพียงแต่เธอกับสร้อยสนเพียงสองคนในบ้าน
บ้านที่มีแต่คนแก่และผู้หญิง กลับปลอดภัยจากขโมยขโจร
ด้วยเสียงร่ำลือถึงความเฮี้ยนของผอบแก้วภายในบ้านหลังนี้

นิชา หรือมันแกวของเพื่อนๆ มีศักดิ์เป็นหลานห่างๆ สุดกู่ของคุณบุญทิพย์
มันแกวอาศัยอยู่กับแม่และน้องชาย เธอเพิ่งเรียนจบออกมาเตะฝุ่นหมาดๆ ไม่ครบปี
โดยความบังเอิญ (อันแสนซวย) ของมันแกว
วันหนึ่ง เธอก็เกิดไปเป็นที่ถูกตาต้องใจคุณป้าสุบัณรสี ผู้เป็นพี่สาวของบิดา
คุณสุบัณรสีผู้นี้เป็นนายหน้าค้าที่ดินที่โชคดี ได้เป็นเศรษฐีที่ดินหมาดๆ
สวนทางกับยุคที่มนุษย์ทั่วไปกำลังล่มจมล้มละลาย
คุณป้าพบว่า หลานสาวคนนี้ดูจะมีดีพอที่จะเสริมรัศมีเศรษฐี (ใหม่) ของเธอได้
จึงดึงตัวมันแกวไปอยู่ด้วย ติดสอยห้อยตามเสริมบารมี
และคอยรับใช้เล็กๆ น้อยๆ ตามแต่คุณป้าจะมโนฯ ขึ้นมาได้

ระหว่างที่มันแกวอาศัยอยู่กับคุณป้าผู้นี้
คุณป้ารสีของเธอก็คอยจัดกิจกรรมกระหน่ำเซลตัวเธอเป็นระยะๆ
คุณป้าคอยโฆษณาสรรพคุณของหลานก้อยกุ้ง (ชื่อเล่นใหม่ของเธอ)
ให้กับญาติสนิทมิตรสหายผู้เข้าตาพอที่จะยกระดับหลานสาวและตนเอง
เมฆ คือชายหนุ่มอีกคนที่ตกเป็นป้ายหมายฮาร์ดเซลนี้

เมฆเองก็ประสบปัญหาไม่ต่างกันกับมันแกว
แม่ของเขาก็หมายตาหาว่าที่ลูกสะใภ้ที่เพียบพร้อม (ด้วยทรัพย์สมบัติ)
เขาต้องออกงานจับคู่ดูตัวถี่ยิบ จนกระทั่งวันหนึ่งได้มาพบกับมันแกว
หน้ากากสองอันพลันมาขวางกั้นพรหมลิขิต ทั้งสองคนจึงไม่ได้ปิ๊งกันในคราแรกๆ ที่ได้รู้จัก

แล้วเหตุการณ์จับพลัดจับผลูโดยพรหมลิขิตก็เกิดขึ้นอีกครั้ง
วันหนึ่ง สืบเกียรติ บิดาของเมฆได้พาเขามาเยี่ยมเยียนคุณบุญทิพย์ที่เรือนนพเก้าแห่งนี้
เขาแสดงความเป็นห่วงญาติผู้ใหญ่ผู้มีทรัพย์แต่ไร้ทายาท
ด้วยการส่งเมฆ ลูกชายของเขามาคอยดูแลใกล้ชิด
ฝ่ายคุณป้าสุบัณรสีเองก็ส่งมันแกว หรือน้องก้อยกุ้ง หลานสาวคนโปรด
มาคอยดูแล (เฝ้าทรัพย์) ของคุณบุญทิพย์ด้วยเช่นกัน
โชคยังดี (ของคนอ่าน) ที่สองหลานนั้นไม่ได้โลภโมโทสันในทรัพย์สมบัติของคุณยายคุณย่า
เท่ารุ่นพ่อ รุ่นแม่ และรุ่นป้า
ชีวิตในเรือนนพเก้า จึงไม่วุ่นวายชวนปวดหัวอย่างที่คิด
ยกเว้นเรื่องเดียว …

เพียงมาถึงวันแรก ทั้งเมฆและมันแกวต่างก็ได้เจอผีกันเต็มๆ
มันแกวได้พบกับคุณหญิงผอบแก้ว
ในขณะที่เมฆได้พบกับปราง สาวชาวบ้านที่มาผูกคอตายที่ใต้ต้นไทรหน้าเรือนฯ
แต่ถึงได้พบได้เห็น สองหลานก็ยังหารู้ไม่ว่าตนเองได้พบกับสิ่งเหนือมนุษย์เข้าให้แล้ว
มีแต่เพียงความตะหงิดๆ วูบวาบๆ ติดอยู่ในใจของมันแกวคนเดียวเท่านั้น

เมื่อแรกที่พระพรหมจับคนแปลกหน้าสองคนมาอยู่ร่วมกัน
ต่างคนต่างก็ยังเกร็งๆ ยังไม่กล้าเผยทาสแท้ตัวเองออกมาเท่าไร
น้องก้อยกุ้งหรือยายมันแกวนี่หนักสุด
เพราะต้องสาวหน้ากากหลานสาวแสนดีของคุณป้าสุบัณรสีอยู่
จวบจนกระทั่งถึงวันเกราะแตกนั่นแหละ ตัวตนที่แท้จริงของมันแกวจึงค่อยๆ เผยออกมา

107-1 เรือนนพเก้า

เรือนนพเก้า เป็นหนังสือเล่มบางๆ
(จริงๆ ก็ไม่บางเท่าไร แต่บางกว่ามาตรฐานปกติของผู้เขียน)
เล่าเรื่องของคนสามรุ่น คือนอกจากยุคของผอบแก้ว รุ่นของคุณยายบุญทิพย์
และเรื่อยมาจนถึงมาถึงรุ่นของมันแกว
เล่าเอาไว้อย่างกระชับ ดำเนินเรื่องฉับไว ไม่ยืดเยื้อ อ่านสนุกเพลินมาก

ความรักของคุณยายบุญทิพย์กับคุณทรงเมื่อครั้งสาวๆ ก็อ่านแล้วชุ่มชื่นใจ
หวานพอจะให้อ่านไปอมยิ้มไปได้อยู่เหมือนกัน เสียดายแต่ว่าเล่ารวบรัดไปหน่อย
ผ่านมาผ่านไปอย่างรวดเร็ว ยังไม่ทันอิ่ม (ใจ) เลย

เรื่องราวมาเน้นหนักในส่วนของผอบแก้ว ผีสาวในเรือนนพเก้า
ชีวิตของผอบแก้วนั้นคล้ายกับวรรณคดีเรื่องกากีนั่นแหละ
เล่ากันปากต่อปากว่า ..
แต่เดิม เธอรักกันอยู่กับพี่เขม (ภายหลังกลายเป็นหลวงนฤบดีพิทักษ์)
แต่ครอบครัวของเธอก็เกิดอัปปางลงเสียก่อน สิ้นทั้งบารมีและทรัพย์สมบัติ
คู่หมายก็กลายเป็นคู่ร้าง ตัวของเธอถูกนำมาฝากเอาไว้ที่บ้านของพระยารัชดาปริวรรต
เจ้าของบ้านถูกตาต้องใจในตัวเธอ จึงส่งผู้ใหญ่มาสู่ขอ
เมื่อแต่งงานกลายเป็นคุณหญิงรัชดาปริวรรตไปแล้ว คู่หมั้นเพิ่งรู้ข่าว
จึงนัดแนะพากันหนีไป ทิ้งความอัปยศไว้แก่วงศ์ตระกูลอย่างอื้อฉาว
ภายหลัง ไม่แน่ว่าเลิกกันแล้วเธอซมซานกลับมา หรือเจ้าคุณสามีไปพาตัวกลับมา
แต่เธอก็มาถูกคุมขังอยู่ภายในเรือนนพเก้านี้
จากนั้นไม่นาน เรือนนพเก้าก็ถูกย้ายไปปลูกไกลถึงริมน้ำนครชัยศรี
และเธอก็ถูกคุมขังอยู่ที่นั่นเรื่อยมา ในตอนท้าย เธอพยายามจะหนีอีกครั้ง
ไปกับนล เด็กในบ้านที่มีหน้าที่ส่งเสบียง แต่ก็ไม่สำเร็จ
สุดท้าย เธอจบชีวิตลงตรงสายน้ำหน้าบ้านนั้นเอง
จบชีวิตลงในวัยที่ยังสวยสด งดงาม และน่าเสียดาย

เรื่องราวอันน่าอัปยศของเธอนั้น เป็นเรื่องจากมุมมองของผู้อื่น
แต่ใครเลยจะเข้าใจ และรู้ซึ้งถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง
แน่นอนว่าชีวิตของผอบแก้วเป็นที่พูดถึง
ร่ำลือ ตำหนิ ครหา ฯลฯ กันอย่างลับๆ ในหมู่ญาติพี่น้อง
แต่ความจริงเป็นเช่นใดกันแน่ เธอรู้สึกเช่นใดกันแน่นั้น
เรื่องราวทั้งหมดมันได้ตายลงไปพร้อมกับตัวเธอแล้ว ..

แต่ในเมื่อมันเป็นนิยาย .. เราจึงรู้ (ฮา)
เมื่ออ่านมาได้ประมาณครึ่งเล่ม ชีวิตที่แท้จริงของเธอก็ถูกคลี่แผ่ออกมา
ในส่วนนี้เป็นส่วนที่ดราม่า เครียด ขัดใจ (คนอ่าน) ล้วนๆ

เรื่องราวของความรักสามเส้า สี่เส้านั้น จะว่าไปมันก็ผิดอยู่ทุกฝ่าย ทุกตัวคน
รวมทั่วไปถึงบุคคลรอบตัวที่บีบบังคับใจให้เหตุการณ์ดำเนินมาไกลเกินใครจะนึกถึง
เพียงแต่ผอบแก้วนั้นเป็นหญิง และค่านิยมไทยนั้น นับเป็นความผิดร้ายแรงทีเดียว
ข้อกล่าวหาอันร้ายแรงนี้จึงทำให้ผอบแก้วต้องทนมีชีวิตอยู่ร่วมกับความทุกข์จนสุดจะทน
แล้วในวันหนึ่ง เธอก็ไม่ทนขึ้นมาจริงๆ

ในคราต้นเรื่องนั้น เมื่อมองเหตุการณ์จากมุมของผอบแก้วเอง
เธอจึงเป็นเฉกเช่นมนุษย์เดินดินทั้งหลาย
ที่มองเห็นความผิดของตนเองเล็กเพียงเมล็ดงา
หลายครั้งที่เธอเผลอไผลขาดสติที่จะยั้งคิดหรือหักห้ามใจ

ในเนื้อแท้ของเธอนั้น ยังมีความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ..
ในการตัดสินใจต่อเหตุการณ์ต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตอยู่ไม่น้อย
แต่เธอขาดความหนักแน่นทางอารมณ์
ปล่อยให้สายลมแห่งโชคชะตา หรือแรงพัดจากผู้ที่อยู่ใกล้
พัดพาชีวิตของเธอให้ระเหระหนผิดทางซ้ำแล้วซ้ำเล่า
แต่เมื่อทำผิดแล้ว มโนธรรมในจิตใจของเธอก็ยังคอยย้ำเตือนอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน
แม้ว่าเธอจะได้อยู่กับคนที่เธอรัก แต่ชีวิตเธอก็ไม่ได้มีความสุขอย่างที่ควร
ทั้งนี้เพราะรู้แน่แก่ใจในความผิดบาปของตนเอง
จนไม่อาจมีความสุขได้อย่างเต็มหัวใจ

อีกสิ่งหนึ่งนอกจากขาดความยับยั้งชั่งใจ ก็คือความเขลา
ผอบแก้วดื้อดึงแลเชื่อถือแบบผิดๆ อย่างที่เธออยากจะเชื่อ
เมื่อปักใจเชื่อไปอย่างหนึ่งแล้ว เธอก็ปิดทุกประตู
ไม่ให้เหตุผลคัดง้างใดๆ เข้ามาสั่นคลอนความเชื่อของเธอได้เลย
แถมยังไม่เคยเรียนรู้จากอดีตที่ผ่านมา
เธอยังคงทำผิดครั้งที่สองอย่างที่ไม่เคยฉุกใจคิดบ้างเลยว่า
เหตุการณ์มันออกจะซ้ำรอยกันขนาดนั้น
เซ็งจิตที่ต้องคอยลุ้นไปกับเธอจริงๆ

คนเราเมื่อทำผิดไปแล้ว ก็จำต้องยอมรับผลของความผิดบาปนั้น
หากแต่ผลที่ว่า มันตกถึงฝ่ายชายและฝ่ายหญิงได้ไม่เท่าเทียมกันเอาเสียเลย
นิทานเรื่องกากี จึงไม่ได้ประนามฝ่ายหญิงแต่เพียงอย่างเดียว
หากแต่เตือนใจ สอนใจฝ่ายหญิงด้วยว่า หากทำผิดไปแล้ว
โทษจะตกถึงฝ่ายชายที่ร่วมกันกระทำผิดโดยเท่าเทียมกันนั้น
ไม่ได้แม้สักครึ่งกับโทษที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงเลย

107-3 เรือนนพเก้า

นิยายในส่วนของภาคปัจจุบันนั้นเป็นนิยายเบาสมอง คอมเมดี้
ในขณะที่นิยายภาคอดีต อึดอัด ขัดข้องใจ ดราม่า
เมื่อสองส่วนถูกผนวกรวมในเล่มเดียวกัน เล่าสลับไปสลับมา
คนอ่านเลยคล้ายคนบ้า เดี๋ยวขำเดี๋ยวเครียด

ในตอนใกล้จบ ทึ่งในความแผลงของผู้เขียนจริงๆ เลยค่ะ
นอกจากในเวลาปกติ ผีจะหลอกคนแล้ว นิยายเรื่องนี้มีฉากคนหลอกผีด้วยค่ะ
เด็กๆ จากวิชาการละครกลุ่มนี้ (นำโดยแดนสรวง)
รวมกลุ่มกันทุ่มเทเขียนบท ซักซ้อมดิบดี
เพื่อจะเล่นละครหลอกผีให้หมดห่วงและไปผุดไปเกิด .. ไอเดียบรรเจิดจริงๆ ค่ะ (ฮา)

เล่มนี้เล่าด้วยสำนวนเบาๆ ตลกขบขัน
หยอกล้อคนอ่านให้คอยหัวเราะกับสำนวนของผู้เขียนเป็นระยะๆ
เป็นหนังสือที่ยังไม่ต้องดูพล็อตอะไรนะ อ่านเอาสำนวนอย่างเดียวก็สนุกแล้ว
แถมพล็อต ยังเป็นนิยายเหนือจริงแฟนตาซี สไตล์นามปากกา ‘แก้วเก้า’ ด้วยค่ะ
เป็นนิยายที่อ่านเพลินๆ พรวดๆ ได้เลย ^^

Comments are closed.