อ่านแล้วเล่า

เย็นลมป่า

เรื่อง เย็นลมป่า
ผู้แต่ง ชวน หลีกภัย
สำนักพิมพ์ มติชน
เลขมาตรฐานหนังสือ 9743221255

ป่า ใน เย็นลมป่า ไม่ใช่ป่า!!
ป่าในที่นี้ไม่ใช่ป่าเขาลำเนาไพรอันเขียวขจี
แต่เป็นป่าในความหมายของที่พึ่งสุดท้ายแห่งการหลบหนีภัยใดๆ –
อันเกิดแต่เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ
ที่เกิดแก่ประชาชน คนหนุ่มสาว และชาวบ้านในพื้นที่ล่อแหลม
ป่าในที่นี้ เป็นพื้นที่ซ่อนตัวของเหล่า ทปท.
(กองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย)
เป็นที่ที่ก่อให้เกิดหลายสิ่งหลายอย่าง .. ที่ได้ถูกบันทึกเอาไว้ในหนังสือเล่มนี้

หนังสือของคุณชวนก็เหมือนกับตัวของคุณชวน คือสุขุม คมคาย ลึกซึ้ง
เล่าเรื่องกระชับ ไม่เยิ่นเย้อ ไม่ฟูมฟาย
และเราก็เพิ่งรู้ว่า คุณชวนก็ช่างประชดประชันไม่ใช่น้อยเหมือนกัน

เย็นลมป่า เล่าถึงผลกระทบหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ
ที่มีต่อชาวบ้านในชนบททั้งในส่วนรวม ..
และในระดับปัจเจกชน ต่างกรรมต่างวาระ

แต่ทั้งหมดนั้นเป็นเหตุการณ์ที่คุณชวนเห็นด้วยตา สัมผัสรับรู้ด้วยตนเอง
ในส่วนแรกเริ่ม เป็นเหตุการณ์ที่เกิดจากความระวังระแวงกันเอง
ความไม่มั่นคงมั่นใจในสถานการณ์ในชีวิตประจำวัน
ความธรรมดากลายเป็นไม่ธรรมดา
อะไรๆ ก็กลายเป็นต้นเหตุแห่งความระแวงได้ทั้งนั้น

คุณชวนในขณะนั้นเพิ่งพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
ในรัฐบาลของหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช
คุณชวนถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ และถูกตามล่า

และนี่คือบันทึกเรื่องราวที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น

วันที่คุณชวนถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์
พรรคประชาธิปปัตย์ถูกกดดันให้ถอดชื่อคุณชวนออกจากพรรค
ถอดออกจากการเป็นรัฐมนตรี
วันที่ใครๆ หนีเข้าป่า แต่คุณชวนยืนยันมั่นคงที่จะปักหลักสู้ ..
ตามวิถีทางที่เขาเชื่อ .. ด้วยความจริง และความจริงใจ
เมื่อวันเวลาผ่านไป เมื่อทุกอย่างคลี่คลาย
ในนามแห่งความถูกต้อง ในฐานะแห่งนิติศาสตร์บัณฑิต
คุณชวนได้ค้นหาหลักฐานมายืนยันการถูกใส่ร้ายป้ายสีต่างๆ นานา
นักหนังสือพิมพ์หลายคนยอมรับว่าได้รับเงินมาเพื่อนั่งเทียนเขียนข่าวเท็จ
ผู้มีอำนาจด้วยกันยอมรับว่าเข้าใจผิด ฯลฯ

เย็นลมป่า ส่วนแรก ถูกเขียนและตีพิมพ์ในช่วงปี พ.ศ. 2521
ในระยะเวลาที่เหตุการณ์ครั้งวันที่ 6 ตุลาฯ ยังกรุ่นๆ อยู่
ผู้คนยังคงหลงเหลือความทรงจำเข้มข้นต่อเหตุการณ์นั้น
ผู้ที่สูญเสีย ยังคงทำใจไม่ได้

และ เย็นลมป่า อีกบางส่วน ค่อยทยอยถูกตีพิมพ์หลังจากนั้น
ทั้งในปี พ.ศ. 2535 และล่าสุดในปี พ.ศ. 2537

นอกจากนี้ เรายังได้เห็นเค้าลางอันน่าจะเป็นที่มา
ของเหตุการณ์ไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
มันมีพัฒนาการ มีวิวัฒนาการมาอย่างน่าคิด 
และน่าทบทวนเพื่อหาแนวทางแก้ไข
อย่างเป็นเหตุเป็นผล อย่างเข้าอกเข้าใจ ไม่ใช่ใช้กำลัง

เย็นลมป่า สำหรับเรา เป็นอีกมุมมองที่มองกลับไปในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ
ในมุมมองของฝ่ายปกครอง ของทหาร ตำรวจ และชาวบ้านในพื้นที่
เราได้มองเห็นความโหดร้าย ความสูญเสีย ฯลฯ ที่ครอบครัวข้างหลังได้รับ
ในรูปแบบที่หนังสือบันทึกเหตุการณืในมุมของนักศึกษาที่หนีเข้าป่าไม่ได้เล่าถึง
เป็นอีกหนึ่งหนังสือประวัติศาสตร์ที่น่าอ่าน และควรอ่านเพื่อคิดและมองให้รอบด้าน
เพื่อที่เราจะไม่ต้องเดินซ้ำรอยเดิม ..
ไม่ว่าจะเป็นการเดินตามรอยเท้าของผู้ที่ถือหางฝ่ายนักการเมือง หรือฝ่าย ทปอ. ก็ตาม

 

Comments are closed.