อ่านแล้วเล่า

เนรเทศ

91-1 เนรเทศ

เรื่อง เนรเทศ
ผู้แต่ง ภู กระดาษ
สำนักพิมพ์ มติชน
ราคา 180 บาท

ได้ยินชื่อเสียงของ เนรเทศ มาสักพักแล้วล่ะค่ะ ก่อนจะตัดสินใจซื้อเมื่องานหนังสือที่ผ่านมา
วันนี้ได้ฤกษ์หยิบมาอ่าน นับว่าเป็นการเปิดโลกทัศน์การอ่านสำหรับตัวเองไปอีกขั้น

เนรเทศ นำเสนอเรื่องราวเหตุการณ์ธรรมดาๆ ที่พบได้บ่อยๆ ทุกวันหยุดยาวประจำชาติ
เป็นการบรรยายเหตุการณ์การเดินทางของครอบครัวครอบครัวหนึ่งเอาที่แสนธรรมดา
เอาไว้อย่างน่าสนใจ

เมื่อสิ้นสุดการปิดเทอมฤดูร้อน สายชน ไซยปัญญา กับแม่ของเขา ผู้เป็นย่าของลูกสาว .. อุ่น
โจ้ หลานชายบ้านใกล้เรือนเคียง และวิญญาณของ ล. ไซยปัญญา ภรรยาที่เสียชีวิตไปแล้ว
ทั้งหมดออกเดินทางจากชลบุรี อันเป็นจังหวัดที่เขาทำงาน ออกเดินทางเพื่อกลับสู่บ้านเกิด
หมู่บ้านงาเอก จังหวัดศรีสะเกษ เพื่อให้อุ่นกลับไปเรียนเมื่อเปิดเทอม

การเดินทางที่ทีแรกวางแผนกันไว้ว่าจะให้น้องชายผู้ทำงานในโรงงานชิ้นส่วนรถยนต์
ที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ขับรถมารับทุกคนที่บ้านของเขาที่ชลบุรี
และไปรับน้องสาวอีกคน ซึ่งทำงานอยู่ ณ โรงงานเชือดชำแหละไก่สด ที่บางเสาธง สมุทรปราการ
กลับสู่หมู่บ้านงาเอก บ้านเกิด
แต่เมื่อทุกอย่างผิดแผน คนทั้งหมดจึงต้องออกเดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะ
อันเป็นที่มาของการเดินทางอันทุลักทุเลตลอดเรื่อง

หนังสือเล่มนี้บรรยายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสั้นๆ ชั่วหนึ่งเที่ยวการเดินทางจากชลบุรีไปศรีสะเกษ
มีตัวละครเพียงน้อยนิดดังได้กล่าวไปแล้ว
ที่แปลกคือมีผีภรรยาผู้ที่ติดอยู่ในมโนสำนึกของสายชนตลอดการเดินทางด้วย
ผีภรรยาผู้นี้แทบไม่มีบทบาทใดๆ เลย ..
แต่คาดว่าผู้เขียนคงตั้งใจซ่อนอะไรบางอย่าง (ที่เราหาไม่เจอ ;P) เอาไว้ที่เธอคนนี้

ผู้เขียนได้บรรยายภาพฉากในสังคมเอาไว้ชัดเจนละเอียดลออ
(โดยเฉพาะตอนเริ่มเรื่องที่ศาลารอรถ จังหวัดชลบุรี)
ถ้าเวลาผ่านไปอีกสักห้าสิบปี
หนังสือเล่มนี้คงเป็นอีกหนึ่งอ้างอิงให้ลูกหลานที่อ่านได้เห็นภาพสังคมในยุคเราๆ

สายชน, ล., อุ่น, ย่า, และโจ้
พวกเขาตั้งต้นรอรถโดยสารกันตั้งแต่เก้านาฬิกา จวบจนเที่ยงสิบห้า
(อาหารยังไม่ตกถึงท้องใคร เพราะกลัวจะพลาดเที่ยวรถที่ไม่รู้ว่ามา)
รถโดยสารคันแรกถึงตะบึงเข้ามา
พวกเขาใช้เวลารอคอยรถถึงสามชั่วโมงเศษ เพื่อเดินทางเพียงหนึ่งชั่วโมงครึ่ง
เข้าสู่ตัวเมืองชลบุรี ต่อรถอีกครั้งไปยังสถานีขนส่งหมอชิตใหม่
และซื้อตั๋วอีกครั้ง เพื่อจะได้ออกเดินทางกลับบ้านในเวลาราวเที่ยงคืน
ทั้งเด็ก คนแก่ วัยรุ่น ชายหนุ่ม และวิญญาณ ทั้งหมดตั้งเดินทางเช่นบุคคลที่ถูกเนรเทศ
จากบ้านเกิด ไปสู่แห่งหนอื่นเพื่อทำงาน และจากที่ทำงานสู่บ้านเกิด
นี่เป็นเพียงครั้งแรกของครอบครัวนี้
แต่เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นทุกวันหยุดยาวของบ้านเรา

ครอบครัวถูกแบ่งแยก พ่อแม่ลูกไม่ได้อยู่ด้วยกัน
ด้วยพ่อต้องทำงานหาเงิน ส่งไปให้ปู่ย่าตายายเลี้ยงดูบุตรของตน
หน้าที่ของผู้เป็นพ่อแม่จึงมิใช่การอบรมเลี้ยงดูบุตรอีกต่อไป
พวกเขามีหน้าที่แต่เพียงหาเงิน และให้เงินทำหน้าที่เหล่านั้นแทน
ไม่มีใครมีความสุข แต่ทุกคนก็ทำ เพราะมันเป็นหน้าที่ที่สังคมกำหนดไว้
เป็นหน้าที่ที่ถูกที่ควร ที่สังคมได้ตัดสินและวางกรอบไว้แล้ว

ดังนั้นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายในเล่ม ..
จึงเป็นภาพซ้ำ ภาพจำ ที่ได้เห็นในข่าวบ่อยๆ ตอนสงกรานต์ ตรุษจีน หรือขึ้นปีใหม่ ฯลฯ
เราทุกคนต่างออกเดินทาง ไปเยี่ยงมนุษย์ผู้ถูกเนรเทศ
ชีวิตถูกแขวนไว้กับความ (ไม่) รับผิดชอบ ของระบบขนส่งมวลชน
อันมีผลพวงต่อเนื่องมาจากระบบการปกครองอีกที

ผู้เขียนได้เชื่อมโยงเนื้อหาวิถีชีวิตในปัจจุบันของชนชั้นแรงงาน
เข้ากับประวัติศาสตร์การปกครอง (โดยระบอบประชาธิปไตย) แห่งสยามประเทศ
เขาได้สอดแทรกประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ย้อนหลังไปนับร้อยปี
และประวัติศาสตร์การเมืองไทยแบบเป็นห้วงๆ ลงลึกตามแต่ผู้เขียนจะหยิบยกมาเล่า
โดยมากจะจับตอนที่มีการเปลี่ยนแปลงขั้วอำนาจโดยการปฏิวัติรัฐประหาร
นับแต่เมื่อจอมพล ป. ทำรัฐประหารยึดอำนาจจาก พล ร. ต. ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์
ที่อยู่ภายใต้การบัญชาการของนายปรีดี พนมยงค์
เมื่อสำเร็จก็ให้นายควง อภัยวงศ์ มาเป็นนายกรัฐมนตรี
เป็นได้เพียง 5 เดือน คณะราษฎร์ฯ ก็ปลดนายควง และจอมพล ป. ก็ขึ้นเป็นนายกเสียเอง
โดยได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายตำรวจ นำโดย พล.ต.อ. เผ่า และฝ่ายทหารของ พล อ. สฤษดิ์
ผู้เขียนลากภาพเส้นการเมืองจากประวัติศาสตร์ครั้งนั้น จวบจน (เกือบ) ปัจจุบัน
ถึงในสมัยของนางยิ่งลักษณ์ทีเดียว
แม้ไม่ชัดเจน แจ่มแจ้ง แต่ก็เป็นหนังสือไทยน้อยเล่ม
ที่บันทึกประวัติศาสตร์การเมืองแห่งปัจจุบันเอาไว้

สิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่ขัดใจเราก็คือ
ในช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์ทั้งหมดในเล่ม ผู้เขียนลงบันทึกเวลาเป็นคริสตศักราชทั้งหมด
ซึ่งมันตะหงิดๆ ใจเวลาอ่านตลอดเรื่อง เพราะมันไม่เชื่อมโยงกับข้อมูลที่มีอยู่เดิมในหัว
อ่านแล้วก็เลยอ่านผ่านๆ ขี้เกียจมานั่งทบทวนเทียบปี พ.ศ.
ทำให้ขาดอรรถรสด้านนี้ไปพอสมควร

อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นจุดเด่นของหนังสือเล่มนี้ก็คือ
ในขณะที่ผู้เขียนเล่าเรื่องของครอบครัวไซยปัญญาไปได้ค่อนเล่ม
ผู้เขียนก็แทรกเรื่องราวของนิทานพื้นบ้านเรื่องหนึ่งเอาไว้
(จริงๆ มีตอนเปิดเรื่องครั้งหนึ่ง และพบในตอนปิดเรื่องอีกครั้งหนึ่งด้วย)
เป็นอรรถรสที่แปลกๆ ดี

ภาษาที่ใช้บรรยายในเนรเทศ เป็นภาษาถิ่นอีสานบ้านเราแท้ๆ
แต่กลับสละสลวยงดงาม ไม่เชยแม้สักนิด
อ่านแล้วสนุกกับเสนาะสำเนียงที่ใช้บรรยายกันตั้งแต่เปิดเล่ม
แต่ภายหลังจากการเปิดเรื่อง (และปิดเรื่อง) อย่างแปลกประหลาดในชั่วหนึ่งตอนจบ
ภาษาต่อจากนั้นก็กลับเรียงง่ายขึ้น (แต่ยังคงคอนเซ็ปต์ภาษาถิ่น)

นอกจากนี้ ในการบรรยายเนื้อหา
ก็มักจะมีสร้อยคำแปลกๆ เช่น “กรุงเทพฯ กรุงไทย” “พี่น้องป้องปายไทยหมู่บ้าน”
(ซึ่งทีแรกเราเข้าใจว่าเป็นชื่อหมู่บ้านด้วยซ้ำ .. ถึงตอนนี้ก็ยังไม่แน่ใจเลย .. ฮา)

โดยสรุปแล้ว เนรเทศ มีอะไรหลายๆ อย่างที่น่าสนใจ
แต่เนื้อหายังไม่กลมกล่อม ลงตัว ได้น้ำได้เนื้อเท่าที่ควรค่ะ
เป็นหนังสือที่แปลก น่าจดจำ แต่ยังไม่เป็นที่ประทับใจสำหรับเราค่ะ

Comments are closed.