อ่านแล้วเล่า

เด็กน้อยโตเข้าหาแสง

เรื่อง เด็กน้อยโตเข้าหาแสง
ประสบการณ์ คบเด็ก (เป็น) สร้างบ้าน (ได้)

ของ ป้ามล ทิชา ณ นคร
ผู้เขียน มิลินทร์
สำนักพิมพ์ สวนเงินมีมา
เลขมาตรฐานหนังสือ 9786167368269

เด็กน้อยโตเข้าหาแสง เป็นหนังสือเล่าประสบการณ์การทำงาน
ที่ต้องต่อสู้ ฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ เพื่อช่วยเหลือเด็กและเยาวชน
โดยไม่แบ่งแยก ไม่ตัดสิน ไม่ป้ายสีดำสีขาว ..
ตลอดชีวิตการทำงานของป้ามล ทิชา ณ นคร

ป้ามลเริ่มต้นชีวิตการทำงานด้วยการเป็นครูที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี
แต่ถูกให้ออกจากราชการเพราะขัดผลประโยชน์กับนายทุนท้องถิ่น
หลังทำงานเป็นครูเพียง 1 ปี ป้ามลจึงเดินทางเข้ากรุงเทพฯ
เข้าทำงานกับสหทัยมูลนิธิ ซึ่งมีหน้าที่ช่วยเหลือเด็กกำพร้า
และจัดหาครอบครัวอุปถัมภ์ให้กับพวกเขา

ป้ามลทำงานกับเด็กด้วยแนวคิดที่ว่า ผลประโยชน์ของเด็กสำคัญที่สุด
ป้ามลเห็นความสำคัญของเด็กมาตั้งแต่แรก
และบ่มเพาะความคิดเช่นนั้นไปพร้อมกับการทำงานตลอด 20 ปีต่อมา
การทำงานในรูปแบบของมูลนิธิ
ที่ต้องประสานงานกับราชการมาตลอด ไม่ค่อยราบรื่นนัก
ป้ามลต้องต่อสู้เพื่อเด็กด้วยกำลังใจที่เข้มแข็ง แน่วแน่
ซึ่งหล่อหลอมให้ป้ามลเป็นคนที่เชื่อมั่น และศรัทธาในเด็กๆ

และแล้ว เมื่อป้ามลได้มาดูแลบ้านกาญจนาภิเษก ในปี พ.ศ. 2546
ป้ามลจึงเข้ามาด้วยความเชื่อมั่นว่าเด็กทุกคนมีความดีอยู่ในตัว

เราเพิ่งได้ทำความเข้าใจความแตกต่างระหว่าง
“บ้าน” ต่างๆ ที่เราเคยได้ยินชื่อในข่าว

บ้านเมตตา หมายถึงบ้านแรกรับ
เป็นสถานที่แรกสำหรับเด็กที่ต้องคดี
ซึ่งคดีความยังอยู่ในกระบวนการ ยังไม่ได้รับการตัดสินเป็นที่สิ้นสุด
บ้านเมตตามีอยู่หลายบ้าน กระจายกันไปในแต่ละจังหวัด
เมื่อคดีความถูกตัดสินแล้ว เด็กจึงถูกส่งตัวไปยัง “บ้าน” ต่อมา
ได้แก่ บ้านกรุณา บ้านมุฑิตา บ้านอุเบกขา ตามความเหมาะสม

ส่วนบ้านกาญจนาภิเษก ที่เป็นต้นเรื่องในหนังสือเล่มนี้นั้น
เพิ่งถูกสร้างขึ้นภายหลัง ตามแนวคิดของคุณหญิงจันทนี สันตะบุตร
ที่ต้องการสร้าง “บ้าน” สำหรับเด็กที่ต้องคดี
เป็นบ้านที่เป็นพื้นที่การเรียนรู้
ที่จะบ่มเพาะให้เด็กเป็นคนดีก่อนคืนกลับสู่สังคม
เป็น “บ้าน” ที่ไม่มีประตู ไม่มีกำแพงสูง
ไม่มีหอตะโกน ไม่มีหลุมระบายอารมณ์

เด็กที่ต้องการมาอยู่ที่บ้านกาญจนาฯ
จะต้องยื่นความจำนงขอมาอยู่เอง โดยได้รับคำยินยอมจากบิดามารดา
และจะต้องมีโทษเหลืออยู่อย่างน้อยหนึ่งปีครึ่ง

แนวคิดของบ้านกาญจนภิเษกนี้เอง
เป็นแนวความคิดเดียวกันกับที่ป้ามลเองก็เชื่อว่า
สถานพินิจไม่ควรเป็นระบบที่กันคนเลวออกจากคนดี
เพราะท้ายที่สุดแล้ว พวกเขาก็จะต้องออกไปอยู่ร่วมกับสังคมภายนอก
เราควรจะเปลี่ยนแปลงเขา ดึงด้านดีในตัวพวกเขาออกมา
ดึงความรักตัวเอง ความเชื่อมั่นในความดีของตัวเอง
ให้พวกเขาเข้มแข็งพอ กล้าหาญพอ ที่จะปฏิเสธความไม่ดี
ที่จะเข้ามาในชีวิตของพวกเขา ภายหลังจากที่พ้นโทษ

ตอนอ่านเล่มนี้ เรานึกถึงสิ่งที่คุณครูโคบายาชิบอกกับโต๊ะโตะจัง
ครูบอกว่า ที่จริงแล้วหนูเป็นคนดีนะ
ตอนที่เราอ่านตอนนั้น เรารู้สึกค่อนข้างจะเฉยๆ
พอเข้าใจอย่างผิวเผินบ้างแหละ
แต่มากระจ่างใจตอนที่อ่าน เด็กน้อยโตเข้าหาแสง นี่เอง

ป้ามลเชื่อว่าเด็กทุกคนมีความดีอยู่ในตัว
ป้าบอกเด็กๆ ผ่านการแสดงออกเสมอๆ
ป้ามลเชื่อว่า ถ้าผู้ใหญ่สนับสนุน หรือเปิดโอกาส
ความดีเหล่านั้นก็จะฉายแสงออกมา
นี่เป็นความคิดที่ฟังดูเข้าใจง่าย ยอมรับได้
แต่ถ้าเราบอกว่า ป้ามลเชื่อมั่นในแนวคิดนี้
แม้แต่กับเด็กที่ก่อคดีร้ายแรง
คดีฆ่าคนตาย คดีโทรม ปล้น ยกพวกตีกัน ค้ายาเสพติด ฯลฯ
เป็นเด็กก่อคดีร้ายแรงขนาดที่เคยขึ้นหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์มาแล้วล่ะ ..

พลังความเชื่อของป้ามลเข้มแข็ง แข็งแรงมาก
มันกลายเป็นแรงสนับสนุนที่แม้เด็กๆ เอง
ที่ยังไม่เชื่อในความดีของตน ก็เริ่มจะคล้อยตาม

ความเชื่อที่ว่านั้น ส่งผ่านมาในรูปแบบของการไว้วางใจ
บ้านกาญจนาฯ เป็นบ้านที่ไม่มีรั้ว ไม่มีผู้คุม
เราตกใจมากที่ได้รู้ว่า เด็กๆ ที่ก่อคดีอุกฉกรรจ์เหล่านี้ –
ได้กลับบ้านเดือนละหนึ่งครั้ง
เด็กๆ สามารถใช้โทรศัพท์ได้อย่างอิสระตามกำหนดเวลา
เปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้ทำครัว ได้เข้าใกล้อาวุธอย่างมีดและไฟ ฯลฯ
สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นตามกฎกติกาที่ทั้งเด็กๆ และป้ามลร่วมกันตั้งขึ้นมา

เมื่อป้ามลมอบความไว้วางใจให้เขา
พวกเขาก็พร้อมที่จะมอบความรักและความซื่อสัตย์ให้แก่ป้า

อีกหนึ่งเครื่องมือที่ป้าเลือกนำมาใช้กับเด็กๆ คือ
การเขียนสมุดบันทึกก่อนนอน
เจ้าหน้าที่จะแจกสมุดประจำตัวให้กับเด็กๆ
เขาจะเขียนอะไรก็ได้ ไม่มีข้อกำหนด ไม่มีถูกผิด
ซึ่งป้ามลและเจ้าหน้าที่ทุกคนจะนำไปอ่านในวันรุ่งขึ้น
ก่อนจะนำสมุดไปคืนเด็กๆ ในช่วงบ่ายของแต่ละวัน

สมุดบันทึกจะทำให้เจ้าหน้าที่ทุกคนรู้จักเด็กมากขึ้น
ได้เห็นตัวตนของพวกเขาในแง่อื่น ในแง่ที่เป็นคนเหมือนๆ กัน
แทนการมองจากความผิดที่พวกเขาทำ

นอกจากนี้ ยังอาจมองเห็นสัญญาณเตือนบางอย่าง
ที่จะช่วยให้เกิดการแก้ไขก่อนที่ปัญหาจะเกิดขึ้น

ไม่น่าเชื่อว่าเด็กๆ ที่มีปัญหาในห้องเรียน
จะยอมเขียนสมุดบันทึกทุกคืนกันจนเป็นกิจวัตร
เหตุผลก็คือ ในการเขียนสมุดบันทึกเล่มนี้ เขาจะเขียนอะไรก็ได้ทั้งหมด
ไม่มีใครบอกว่าเขาเขียนผิด ลายมือไม่สวย หรือเขียนสิ่งที่ไม่เหมาะสม
มันคือพื้นที่เปิดกว้าง ..
นี่อาจเป็นครั้งแรกที่มีคนเปิดพื้นที่ให้เขาพูดจริงๆ
มีคนรับฟังพวกเขาจริงๆ
ความอัดอั้นภายใน ได้ถูกระบายออกผ่านสมุดบันทึกเล่มนั้น

ป้ามลเชื่อว่าการเขียนจะทำให้พวกเขาได้ทบทวนตัวเอง
ได้กลั่นกรองความคิด และทำให้พวกเขาละเอียดอ่อนมากขึ้น

ยังมีเครื่องมือและวิธีการต่างๆ อีกมากมายที่ถูกเล่าเอาไว้ในหนังสือเล่มนี้
วิธีการต่างๆ ก่อกำเนิดขึ้นจากเด็กๆ เอง
ป้าเลือกวิธีการต่างๆ ที่เหมาะสำหรับเด็กแต่ละกลุ่ม แต่ละคน
ก่อนจะเลือกวิธีการ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการรู้จักเด็กๆ อย่างแท้จริง

สิ่งที่ฟังดูเหมือนจะเป็นอุดมคติ ได้เกิดขึ้นจริง
ด้วยวิธีลงมือลงใจปฏิบัติอย่างจริงจังของป้ามล
หนังสือเล่มนี้เต็มไปด้วยพลัง
ตอนเที่เราอ่าน เราได้รับพลังบวกจากป้ามลมาเต็มๆ
ผู้เขียนถ่ายทอดพลังเหล่านั้นออกมาได้ดีมากๆ
ไม่น่าเชื่อว่าหนังสือที่มีเนื้อหาดูจะหนักหน่วงอย่างนี้
เป็นหนังสือที่เราอ่านแล้ววางไม่ลง

เราอาจจะมองว่า เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องไกลตัวเรา
เด็กแบบนี้ไม่มีทางมาข้องแวะกับเราหรอก
หากในความเป็นจริงแล้ว
พวกเขาอาจเป็นแค่เพื่อนเราคนใดคนหนึ่งที่เป็นเด็กหลังห้อง
เรียนไม่เก่ง ติดเกม ไม่ทำการบ้าน และสุดท้ายก็สอบตก
เด็กที่ครูไม่รัก เขาอาจโดดเรียน หรือถูกสั่งพักการเรียน
ห่างไกลจากห้องเรียนและโรงเรียนออกไปเรื่อยๆ
พ่อแม่ดุด่า ไม่เข้าใจ โรงเรียนไม่ต้องรับ
เขาค่อยๆ ถอยห่างออกไปยังโลกอีกใบ
โลกที่มีคนมองเห็นเขา เปิดรับเขา ยกย่องเชิดชูเขา
ในโลกใบนั้น เขาพร้อมจะทำอะไรก็ได้เพื่อให้เป็นที่ยอมรับ
และนั่น ก็นำพาให้เด็กดีๆ คนหนึ่ง ต้องกลายเป็นเด็กที่ต้องคดี
เส้นทางมันเริ่มต้นอย่างธรรมดาๆ นี่เอง
เราอาจเป็นกลไกใดกลไกหนึ่ง
ที่ผลักเขาออกไปเดินบนเส้นทางสายนั้นโดยที่ไม่รู้ตัว

แต่ก็เป็นเราอีกเช่นกัน ที่จะตัดตอนเส้นทางสายนั้น
แค่เรามองเขา รับฟังเขา เข้าใจ และยอมรับเขาในแบบที่เขาเป็น
คนหนึ่งคนไม่ได้ต้องการอะไรมากมายเลย
แค่เพียงได้เป็นส่วนหนึ่งของบ้าน ของโรงเรียน ของสังคม
มีพื้นที่ให้เขาได้แสดงคุณค่า ได้มีประโยชน์ต่อใครสักคน

หนังสือเล่มนี้ เป็นหนังสือที่เหมาะเป็นอย่างยิ่ง
สำหรับพ่อแม่ผู้ปกครอง และครู
อยากจะแนะนำมากๆ อ่านกันเถอะ
แล้วเราจะเปลี่ยนสายตาที่ใช้มองเด็กๆ เกเร
เด็กหัวสี แต่งตัวฉูดฉาด เด็กแก๊งเอะอะโวยวาย
ลองมองผ่านรูปลักษณ์ภายนอก
เข้าไปมองที่หัวใจของพวกเขา ตัวตนของพวกเขา
ยอมรับเขา และให้โอกาสเขาได้เป็นอย่างที่เขาเป็น
ด้วยรักและแนะนำค่ะ 🙂

Comments are closed.